'หมอเปรม' เตรียมซัก นโยบายรัฐบาล ปม ดิจิทัลวอลเล็ต
"นพ.เปรมศักดิ์" (หมอเปรม ) เตรียมซัก "รัฐบาล" ปมดิจิทัลวอลเล็ต ห่วงใช้งบกลางแจกประชาชน กระทบการแก้ปัญหาภัยพิบัติฉุกเฉิน พร้อมมองนโยบายเกี่ยวกับการคลัง ต้องฟังเสียงให้รอบด้าน
นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ (หมอเปรม ) สว. กลุ่มสาธารณสุข กล่าวถึงการเตรียมอภิปรายในวันแถลงนโยบายรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ต่อรัฐสภา วันที่ 12 - 13 ก.ย.นี้ว่า ตนตั้งใจจะอภิปรายเรื่องนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต และนโยบายด้านสาธารณสุข มุ่งไปในทางที่ให้เห็นปัญหาที่แท้จริงของประชาชน โดยเฉพาะการแจกเงิน ไม่ใช่คำตอบที่แก้ปัญหาความยากจนได้ แต่เมื่อรัฐบาลได้หาเสียงไว้ ต้องทำตามสัญญาประชาคม อย่างไรก็ตามต้องไม่ผิดกฎหมายและจริยธรรม
"ผมอยากให้ดำเนินการให้ไม่เป็นที่กังขา ของประชาชนและสามารถอธิบายได้ถึงกลุ่มที่ยังรอคอยการช่วยเหลือจากรัฐบาล ว่าจะดำเนินการอย่างไร เช่นงบ68จะเอามาจากส่านไหน ทำอย่างไรไม่ให้ผิดหลักกฏหมายและไม่กระทบต่องบกลาง ที่จะต้องนำไปช่วยเหลือภัยพิบัติฉุกเฉินและเหตุการณ์เฉพาะหน้าที่ไม่มีใครคาดคิดที่รัฐบาลต้องมีเงินสำรองไว้แก้ปัญหา ดังนั้นรัฐบาลต้องวางแผนงานอย่างดี เช่นกรณี น้ำท่วม ที่ต้องใช้งบกลางเพื่อแก้ปัญหา" นพ.เปรมศักดิ์ กล่าว
เมื่อถามว่านโยบายรัฐบาลที่ระบุว่าจะทำเร่งด่วน 10 ข้อมองว่าข้อไหนที่ทำได้ยาก นพ.เปรมศักดิ์กล่าวว่า เป็นเรื่องของนโยบายการคลัง ที่ต้องทำความเข้าใจทุกภาคส่วนเพราะธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)โดยผู้ว่าธปท. ยืนหลักอย่างแข็งแกร่งมาตลอด ซึ่งจะต้องมีความเห็นชอบเสียก่อนถึงจะดำเนินการไม่ให้มีข้อขัดแย้งกัน ทำให้ดำเนินการตามที่ประกาศไว้ไม่ได้ นโยบายการเงินการคลัง เป็นเรื่องสำคัญเนื่องจากเกี่ยวข้องกับวินัยการเงินการคลังของประเทศ หากไม่มีหลักจะกลายเป็นปัญหาได้ จะ กระตุ้นเศรษฐกิจ ก็จะเกิดปัญหาใหม่ที่ร้ายแรงกว่า ดังนั้นรัฐบาลต้องฟังเสียงองค์กรที่เป็นหลักในเรื่องวินัยการเงินการคลัง คือธปท.ด้วย
นพ.เปรมศักดิ์ กล่าวด้วยว่าส่วนอื่นๆที่เป็นประชานิยมก็ต้องเป็นการประเมินผลได้ว่าการทำประชานิยมกระทบต่อเงินที่ใช้บริหารปกติของกระทรวง ทบวง กรมต่างๆหรือไม่ เพราะแน่นอนว่าประชานิยมคือต้องการสร้างฐานเสียงไว้ล่วงหน้า รอรับการเลือกตั้งในปี70 บางทีรัฐบาลอาจต้องมองเรื่องสถานะการเงินการคลังในช่วงนี้ไปก่อนไม่ใช่ว่ามองเฉพาะหน้าเท่านั้น
นพ.เปรมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ส่วน นโยบายสาธารณสุข ที่ตนเตรียมอภิปรายนั้นคือนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ที่ขณะนี้มาเป็นเฟสที่ 3 แล้วซึ่งจังหวัดที่จะต้องดำเนินการให้เหมือนกับเป็นหัวใจที่สุดคือกรุงเทพฯ เพราะกรุงเทพฯเป็นที่รวมของคนจากทุกภาคทุกจังหวัด จะสามารถใช้ 30 บาทรักษาทุกที่ กับศูนย์บริการสุขภาพของ กทม.ได้หรือไม่ หรือจะสามารถใช้กับร้านยาในโครงการของ สปสช. หรือการให้บริการอีกเจ็ดอย่างของ สปชส. ให้เกิดการครอบคลุมและสร้างความพึงพอใจให้กับผู้รับบริการให้ได้เพราะกรุงเทพฯมีประชากรแฝงจำนวนมาก ดังนั้นถ้าดำเนินการในกรุงเทพฯได้ไม่ดี เท่ากับเป็นความล้มเหลวของนโยบายดังกล่าว.