‘ปดิพัทธ์-พิษณุโลก’วัด‘พลังส้ม‘ สัญญาประะชาชน คือเกียรติการเมือง

‘ปดิพัทธ์-พิษณุโลก’วัด‘พลังส้ม‘ สัญญาประะชาชน คือเกียรติการเมือง

"ปดิพัทธ์ สันติภาดา" อดีต สส.พิษณุโลก เขต 1พรรคก้าวไกล ต้องพ้นจากตำแหน่ง สส.เพราะคำวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล พร้อมด้วยการตัดสิทธิทางการเมืองอีก 10 ปี เขากล่าวในวันที่ต้องติดโทษแบนทางการเมืองถึงความฝันสูงสุดคืออยากเห็น "อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน"

KEY

POINTS

  • "ปดิพัทธ์  สันติภาดา" เป็นหนึ่งใน 11 กรรมการบริหารพรรคก้าวไกล ที่ถูกตัดสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลา 10 ปี และต้องพ้นจากตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 
  • "ปดิพัทธ์" มีภารกิจด่วนต้องรักษาพื้นที่ สส.พิษณุโลก เขต 1 ให้อยู่กับพรรคประชาชนต่อไปในศึกเลือกตั้งซ่อม
  • "ปดิพัทธ์" ย้ำว่า ความทรงเกียรติไม่ได้อยู่ที่ตำแหน่ง แต่การรู้สึกมีเกียรติ เกิดจากการที่ตนเองได้รักษาสัญญาตอนเลือกตั้งได้  
  • อดีต สส.พิษณุโลก มีความฝันเรียบง่ายคือ "อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน"
  • คำวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล "ปดิพัทธ์"มองว่าเป็นเพียงความเห็นของคน 9 คนเท่านั้น

"พรรคที่ได้รับการชนะบนดิน เลือกตั้งเข้ามาไม่สามารถได้อำนาจรัฐ นอกจากไม่ได้เป็นรัฐบาลแล้ว ยังถูกยุบพรรค กรรมการบริหารถูกตัดสิทธิ และยังลามไปถึงเรื่องของ ป.ป.ช.อีก คุณดูหน้าผม ถูกตัดสินว่าเป็นพวกล้มล้างการปกครอง เป็นพวกชั่ว พวกกบฏ เรื่องแบบนี้ใครๆ ก็รู้ว่าไม่ใช่เรื่องจริง"

"ปดิพัทธ์ สันติภาดา" อดีต สส.พิษณุโลก เขต 1 พรรคก้าวไกล ในวัย 43 ปีให้สัมภาษณ์พิเศษ "กรุงเทพธุรกิจ" ภายหลังที่ 143 สส.อดีตพรรคก้าวไกล ยกพรรคเข้าร่วมสังกัดเป็นสมาชิกพรรคประชาชน 

จากผลพวงของคำวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกลเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2567 ในข้อหาเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครอง และล้มล้างการปกครอง จากการเสนอร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา112 

"ปดิพัทธ์" เป็นหนึ่งใน 11 กรรมการบริหารพรรคก้าวไกล ที่ถูกตัดสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลา 10 ปี อีกทั้งยังต้องพ้นจากตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 

"อ๋อง ปดิพัทธ์" เล่าความรู้สึกภายหลังที่ตัวเองต้องติดโทษแบนไร้ตำแหน่งทางการเมือง แต่เขากลับมองว่าการตัดสิทธิไม่สามารถปิดกั้นความคิดทางการเมืองของเขาได้

"คุณคิดว่าถ้านักการเมืองเก่าๆ ที่ทำประเทศได้แค่นี้ สมควรนำประเทศนี้ต่อไป ก็ไม่จำเป็นต้องมีพวกผม ผมคิดว่าความทรงเกียรติไม่ได้อยู่ที่ตำแหน่ง ความรู้สึกภูมิใจในตัวเอง และการรู้สึกมีเกียรติ เกิดจากการที่ผมรักษาสัญญาตอนเลือกตั้งได้"

"ปดิพัทธ์" กล่าวคำอำลาสุดท้ายระหว่างปฏิบัติหน้าที่รองประธานสภาฯ ขณะทำหน้าที่ประธานที่ประชุมสภาฯ บนบัลลังก์เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2567 โดยย้ำว่า "อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน"

"อ๋อง"ยอมรับว่ารู้ผลคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญมาก่อนหน้านี้แล้วว่าที่สุด "พรรคก้าวไกล" จะถูกยุบพรรค และตนเองที่เป็นอดีตกรรมการบริหารพรรคจะถูกตัดสิทธิด้วย

"จริงๆ เรารู้อยู่แล้วว่าสิ่งเหล่านี้ต้องเกิดขึ้น เพราะเราไปชนะในเกมที่ออกแบบให้เราแพ้ คำพูดของอาจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นจริงนะครับ เขาอยากอยู่ยาว"

 

"ปดิพัทธ์" ย้ำอีกว่า ถ้าทำลายความหวังของประชาชนด้วยการยุบพรรค ตัดสิทธิแกนนำมีคดีความต่างๆ มากมาย คุณคิดว่าจะมีคนเก่งๆ ในประเทศนี้อีกกี่คนที่กล้ามาเล่นการเมือง

"ทำการเมืองแบบสีเทา สร้างความจงรักภักดี แต่บริหารประเทศ แล้วประชาชนเดือดร้อน ผมว่าคนกลุ่มนั้นต่างหาก ที่กำลังทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์และความจงรักภักดีกลายเป็นเครื่องมือของพวกเขา"

ปดิพัทธ์

หวั่นอันตรายต่อนิติบัญญัติ ไม่แก้ ม.112 

อดีตรองประธานสภาฯ หนึ่งเดียวจากพรรคก้าวไกลมองคำวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกลเป็นคำวินิจฉัยที่ร้ายแรงมาก เพราะประเด็นยุบพรรคหรือไม่ยุบพรรคก้าวไกล ไม่ได้ขึ้นกับประเด็นกฎหมาย และไม่ได้ขึ้นกับสัดส่วนความผิด แต่เป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงของสังคมไทย

เมื่อถามว่าพรรคประชาชน อาจไม่ลดเพดาน และไม่เลิกแก้ไข มาตรา 112  "ปดิพัทธ์" กล่าวว่า คำถามนี้ต้องถามกลับไปที่องค์กรอิสระมากกว่าว่าเขาใช้อำนาจล้นเกินหรือไม่ ในการจะมาห้าม สส.ในการเสนอแก้ไขกฎหมาย แล้วข้อหานั้นมันรุนแรงและเป็นธรรมกับพวกเราหรือไม่

"กระบวนการทางนิติบัญญัติ เป็นกระบวนการที่รอบคอบที่สุด ปลอดภัยที่สุดแแล้วใช้เสียงข้างมากในการตัดสิน เพราะฉะนั้นกฏหมายฉบับนี้ (แก้ไข ม.112) ยังไม่ถูกบรรจุด้วยซ้ำ แต่ทุกคนทำให้ดูเป็นการทำลายล้างประเทศนี้ ผมคิดว่าถ้าเรื่องนี้ สส.กลัวและขยายขอบเขตตัวเองจนไม่กล้าที่จะทำอะไร ผมว่าเรื่องนี้เป็นอันตรายต่อระบบนิติบัญญัติ"

"ต่อให้ย้ายไปอยู่บ้านหลังใหม่ ถ้ามีเพื่อนสมาชิกต้องการจะแก้ไข แม้คำวินิจฉัยผูกพันได้ แต่ว่าคำวินิจฉัยไม่ได้ห้ามให้ สส.เสนอกฎหมาย ถ้าเราศึกษาคำวินิจฉัยอย่างดีแล้ว เราก็มาทำงานนิติบัญญัติในกรอบที่มีการตีความไว้ กระบวนการนิติบัญญัติของเรามันรอบคอบมากพอ ที่จะไม่ทำให้กฎหมายที่เขาเรียกว่า ล้มล้างการปกครองออกจากสภาได้"

ถามย้ำว่า ศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าการดำเนินนโยบายของพรรคก้าวไกลเป็นการดึงสถาบันลงมาเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชน  "ปดิพัทธ์" ตอบว่า "อันนั้นเป็นแค่ความคิดเห็นของคน 9 คนในประเทศนี้"

"ปดิพัทธ์"บอกถึงความจำเป็นต้องมีศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ว่า "เราต้องการองค์กรตุลาการด้านรัฐธรรมนูญแน่ๆ  แต่ถ้าเป็นศาลรัฐธรรมนูญแบบเดิม ผมว่าสังคมจำนวนมากก็ไม่เห็นด้วย ดังนั้นต้องมีการจัดการองค์กรใหม่ภายใต้การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ในครั้งต่อไป"

เมินคำสบประมาทนั่งรองประธานสภาฯ

ในห้วงที่พรรคก้าวไกลกำลังเดินเกมจัดตั้งรัฐบาล ชื่อ ”ปดิพัทธ์“ เกือบขึ้นสู่จุดสูงสุดประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ด้วยกลไกของรัฐธรรมนูญการผนึกกำลังกันของพรรคร่วมรัฐบาลที่ไม่ต้องการให้ "ก้าวไกล" เป็นรัฐบาล ทำให้ "ปดิพัทธ์"ได้เพียงตำแหน่งรองประธานสภาฯ เท่านั้น

"ผมก็ไม่ได้บอกว่าผมสมบูรณ์แบบ ผมก็ทำผิดพลาดหลายอย่าง แต่ถามว่าวันนี้ผมสอบผ่านไหม กลายเป็นรองประธานสภาฯ ที่ทำงานได้ไหม  ผมไม่ได้พูดถึงตำแหน่งใหญ่ที่สุดไหมนะครับ จะเป็นเจ้าอาวาสอะไรผมไม่สนนะครับ แต่พี่น้องประชาชน เพื่อนสมาชิกเห็นว่าผมเป็นรองประธานสภาฯ ได้คำตัดสินก็เป็นไปตามนั้น

ปดิพัทธ์

"ปดิพัทธ์" รบุว่า แม้ตนเองจะถูกตัดสิทธิ 10 ปี ก็ตาม แต่ก็เสียดายโอกาสสำหรับประเทศ

"ผมกำลังพัฒนาสภาอยู่ดีๆ  ผมกำลังทำความโปร่งใสให้สภา ผมกำลังนำพาสภาไปสู่ความเป็นสากล หยุดผมไม่แน่ใจจะมีใครมาทำอีกหรือเปล่า เรื่องนี้ไอ้ตำแหน่งของเรา มันเป็นแค่ทางผ่านไปสู่การทำประเทศให้ดีขึ้น ถ้าผมไม่อยู่ตำแหน่งนี้ ผมก็หาวิธีอื่น ที่จะทำให้ประเทศดีขึ้น อาจจะสนับสนุนคนอื่นให้มาอยู่ในตำแหน่งนี้"

"ผมคิดว่าความทรงเกียรติไม่ได้อยู่ที่ตำแหน่ง ความรู้สึกภูมิใจในตัวเอง และการรู้สึกมีเกียรติ เกิดจากการที่ผมรักษาสัญญาตอนเลือกตั้งได้  ถ้าเราคิดว่าเรื่องนี้เป็นเกียรติเป็นศักดิ์ศรี ในบรรดาเครื่องแต่งกาย ในบรรดารถยนต์ที่มันใหญ่ขึ้น ในบรรดาคนเดินตามที่มากขึ้น ผมว่าไม่ถือว่าเป็นเกียรติที่แท้จริง"

อดีตรองประธานสภาฯ ระบุว่า "ถ้าเราคิดว่าเรื่องนี้เป็นเกียรติเป็นศักดิ์ศรี ในบรรดาเครื่องแต่งกาย ในบรรดารถยนต์ที่มันใหญ่ขึ้น ในบรรดาคนเดินตามที่มากขึ้น ผมว่าไม่ถือว่าเป็นเกียรติที่แท้จริง"

ปดิพัทธ์

 "ปดิพัทธ์" อดีต สส.พิษณุโลก 2 สมัย ยังไม่ละทิ้งพรรคแถวสามคือ "พรรคประชาชน" เพราะเขามีภารกิจสำคัญต้องช่วย  "โฟล์ค" ณฐชนน ชนะบูรณาศักดิ์  ผู้สมัคร สส.พิษณุโลก เขต 1 พรรคประชาชนที่จะมีการเลือกตั้งในวันที่ 15 กันยายน 2567 ซึ่งต้องสู้กับ “จเด็ศ จันทรา” ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย

"ผมคิดว่าพื้นที่สำหรับ จ.พิษณุโลกเป็นพื้นที่โอบรับแนวคิดทางการเมืองแบบนี้  ต้องการนักการเมืองเดินดิน กินข้าวแกง ไม่ซื้อสิทธิขายเสียง ไม่ได้เป็นบ้านใหญ่ ไม่ได้เป็นผู้มีบารมี เพราะฉะนั้น ถ้า 5 ปีนี้ชาวพิษณุโลกได้สัมผัสผมในฐานะตัวแทนพรรคอนาคตใหม่ และพรรคก้าวไกล ผมก็คิดว่าเสียงส่วนใหญ่พี่น้องชาวพิษณุโลกก็จะเลือก สส.แบบนั้น เพราะเขารู้อยู่แล้วว่านิยามของคำว่าการเมือง ไม่ใช่นักการเมืองแบบอุปภัมภ์แล้ว เป็นนักการเมืองทำงานนิติบัญญัติ แล้วเป็นปากเป็นเสียงทำนโยบายให้กับพี่น้องประชาชน"

"ปดิพัทธ์" บอกว่า เมื่อเราชนะทางความคิดแล้ว เราก็คิดว่าจะชนะใจประชาชนได้ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ประมาท เพราะว่าการเลือกตั้งซ่อม สส. ไม่มีปัจจัยการเลือกตั้งล่วงหน้า เรื่องการเลือกตั้งนอกเขต ดังนั้นผู้สมัคร สส.ต้องทำงานหนักมากพอ แล้วกลไกการหาเสียงต้องเต็มที่มากกว่าที่ผ่านมา

ถามว่า พรรคประชาชนมีโอกาสชนะเลือกตั้งทั่วไปในปี 2570 หรือไม่ "ปดิพัทธ์" บอกเพียงว่า "ตอนนี้ถือว่าเร็วเกินไปที่จะพูด ถ้าเราทำงานได้ดี ผมก็เชื่อมั่นว่าพี่น้องประชาชนจะมอบความไว้วางใจให้พวกเรา แต่ถ้าคนในประเทศบอกว่า การเลือกตั้ง ปี 2570 ไม่ต้องไปเลือก เพราะเลือกตั้งไปแล้ว ยังไงชนะเลือกตั้งก็โดนยุบ คุณคิดว่าอันตรายต่อประเทศไหมครับ ถ้าเลือกตั้ง 2570 คนบอกเลือกไปก็เท่านั้น สุดท้ายก็มีคนมาจิ้มว่าใครเป็น ถ้าเลือกตั้งไปแล้วไม่ได้เป็นคนที่ทหารชอบ ก็มีการยึดอำนาจผมว่า อันนั้นต่างหากที่เป็นความคิดที่อันตรายต่อสังคมไทย ไม่เป็นอันตรายต่อพรรคเท่าไร"

ปลุกเปลี่ยนประเทศเลือกพรรคประชาชน

"ปดิพัทธ์"ย้ำถึงผู้นำพรรคประชาชนคนปัจจุบัน "ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุุฒิ" สส.บัญชีรายชื่อ ว่า ไม่ว่าใครจะอาสาตัวมาเป็นแคนดิเดตนายกฯก็ตาม แต่พรรคไม่ได้มีผู้นำเพียงคนเดียว แต่พรรคมีทีมผู้นำหลายคนที่แข็งแรงพอที่จะนำพรรคไปสู่อนาคตที่ดีได้

"แต่ถ้าทำลายความหวังของประชาชนด้วยการยุบพรรค ตัดสิทธิแกนนำมีคดีความต่างๆ มากมาย คุณคิดว่าจะมีคนเก่งๆในประเทศนี้อีกกี่คนที่กล้ามาเล่นการเมือง คุณคิดว่าถ้านักการเมืองเก่าๆ ที่ทำประเทศได้แค่นี้ สมควรนำประเทศนี้ต่อไป ก็ไม่จำเป็นต้องมีพวกผม แต่ถ้าถึงเวลาเปลี่ยนประเทศไทยให้มีการกระจายอำนาจ ให้การเอาทหารออกจากการเมือง ให้มีการทลายทุนผูกขาด สร้างงานสร้างอาชีพใหม่ ให้มีการส่งเสริมวัฒนธรรม ไม่ปิดกั้นความคิดคน อันนั้นคือความจำเป็นต้องมีพวกเรา"

"เขาห้ามให้ผมหมดสิทธิการเป็น สส.เฉยๆ แต่ไม่ได้ห้ามผมพูด ห้ามผมคิด ห้ามผมเขียน ห้ามผมรณรงค์ ห้ามผมมีส่วนร่วมทางการเมืองอื่นๆ  ดังนั้้น ผมก็ใช้สิทธิตามพลเมืองในการทำหน้าที่ทางการเมืองต่อไป"

‘ปดิพัทธ์-พิษณุโลก’วัด‘พลังส้ม‘ สัญญาประะชาชน คือเกียรติการเมือง

"ปดิพัทธ์" พูดถึงอนาคตทางการเมืองหลังถูกตัดสิทธิ 10 ปีว่า ความฝันของตนเองเรียบง่าย ตรงกับพรรคอนาคตใหม่ พรรคก้าวไกล คืออำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน มีประเทศที่เป็นปกติ ไม่มีการรัฐประหาร มีระบบเศรษฐกิจที่ไม่ผูกขาด มีรัฐสวัสดิการที่ดูแลประชาชน 

"เพราะฉะนั้นตราบใดที่พรรคประชาชนดำเนินแนวทางนี้ ผมจะเป็นพันธมิตรที่แข็งแรงต่อไป" 

ภูมิใจคนพิษณุโลกเลือกผู้แทนไม่ซื้อเสียง

"ปดิพัทธ์" ระบุว่าอยากจะขอบคุณชาวพิษณุโลกที่ให้โอกาส ถ้ามองกลับไปตอน 5 ปีก่อน คนอายุ  38 ปี เดินแจกใบปลิวในตลาด  แล้วพี่น้องประชาชนให้ความไว้วางใจจนชนะเลือกตั้งได้อันนั้นเป็นพระคุณยิ่งใหญ่ ตนเองก็ตอบแทนด้วยการทำงานแบบตรงไปตรงมา แล้วยึดมั่นในอุดมการณ์ ผมก็อยากจะบอกว่าผู้แทนเป็นอย่างไร มันสะท้อนคนในจังหวัดนั้น 

"ผมก็ยิ่งภูมิใจว่าคนพิษณุโลก สามารถเลือก สส.ผู้สมัครที่ไม่ซื้อเสียงแม้แต่บาทเดียวจนชนะได้ จนทำลายความเชื่อของคนในพื้นที่ว่าจะต้องเริ่มต้นด้วยการซื้อหัวคะแนนก่อน เราสามารถเป็น สส.ที่อภิปรายในสภาได้มากที่สุด มากกว่า สส.คนใดในพิษณุโลกตั้งแต่มีมา แต่ว่าอาจจะไปงานศพได้ไม่มากเท่า อาจจะเป็นเจ้าภาพกฐินได้ไม่มากเท่า อาจทำบุญโลงศพไร้ญาติได้ไม่มากเท่า แต่ สส.คนนี้ได้คะแนนเพิ่มขึ้น 6,000 คะแนน จนกลับมาป้องกันแชมป์ได้ ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นความสำเร็จของคนพิษณุโลก"

เหล่านี้คือเรื่องที่ "ปดิพัทธ์" ได้ผ่านการทำหน้าที่ สส.มากว่า 5 ปี และรองประธานสภาฯ คนที่1 อีก 1 ปี ซึ่งเขาย้ำในวันที่เขาต้องติดโทษแบนการเมือง 10 ปี และกว่าจะกลับมามีตำแหน่งทางการเมืองได้ต้องรอถึงปี 2577 

ขณะเดียวกัน "ปดิพัทธ์" ยังต้องเผชิญความเสี่ยงตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต จากข้อกล่าวหาฝ่าฝืนจริยธรรมกรณีเป็น 1 ใน 44 สส.ร่วมลงชื่อแก้ไข มาตรา 112 อนาคตทางการเมืองของ "อ๋อง" ต้องขึ้นอยู่กับการชี้ชะตาขององค์กรอิสระ