พท.-ภท.ขยับหมาก ‘สภาล่าง’ ‘รอมชอม-ถ่วงดุล’ ?

พท.-ภท.ขยับหมาก ‘สภาล่าง’  ‘รอมชอม-ถ่วงดุล’ ?

จับตาสัญญาณขยับดุล“สภาล่าง” รอมชอมอำนาจ“เพื่อไทย”และ“ภูมิใจไทย”  หรือ “คานอำนาจ”และ“ถ่วงดุล” เพื่อไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ถือไพ่เหนือคุมอำนาจต่อรอง

KEY

POINTS

  • “พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน”ลาออกจากรองประธานสภาฯคนที่2เพื่อชิงรองประธานสภาคนที่1 นัยเรื่องนี้ไม่มีอะไรซับซ้อน เป็นการเคลียร์กันระหว่าง “พรรคเพื่อไทย” และ “พรรคภูมิใจไทย”
  • เป็นที่รู้กันว่า “พรรคเพื่อไทย”ในฐานะพรรคแกนนำ มีอำนาจบริหารอยู่ในมือ ย่อมมุ่งหมายที่จะใช้กลไกนิติบัญญัติเป็นไม้เป็นมือในการดัน “สารพัดเรือธงรัฐบาล”เพื่อต่อยอดไปถึงการเมืองสนามเลือกตั้งในอนาคต 
  • หากยึดธรรมเนียมปฏิบัติ 2 ยุคที่ผ่านมาเมื่อตำแหน่งประธานสภาตกเป็นของพรรคร่วมรัฐบาล รองประธานคนที่1ต้องเป็นพรรคแกนนำ ไม่แปลก หากเพื่อไทยจะรวบอำนาจส่วนนี้ไว้เอง อีกทั้งยังเป็นการลดแรงต่อรอง ในห้วงที่ภูมิใจไทยถือไพ่เหนือ คุมอำนาจสภาสูง
  • สัญญาณขยับดุล“สภาล่าง” มุมหนึ่งอาจมองว่าเป็นการรอมชอมอำนาจระหว่าง“พรรคเพื่อไทย”และ“ภูมิใจไทย”  ขณะที่ อีกมุมก็มองได้เช่นกันว่า เป็นการ“คานอำนาจ”และ“ถ่วงดุล” เพื่อไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ถือไพ่เหนือคุมอำนาจต่อรองจนเกินไป

สัญญาณขยับดุลอำนาจ “สภาล่าง” ตอกย้ำชัดหลังการลาออกจากตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ของ“พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน”สส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย 

นัยเรื่องนี้ไม่มีอะไรซับซ้อน “วิสุทธิ์ ไชยณรุณ” สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปรัฐบาล เคลียร์ชัด เป็นการตกลงร่วมกันระหว่าง “พรรคเพื่อไทย” และ “พรรคภูมิใจไทย” ในการสลับ “พิเชษฐ์” ขึ้นมาทำหน้าที่รองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง แทนปดิพัทธ์ สันติภาดา อดีต สส.พิษณุโลก และอดีตรองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง หลังยุบพรรคก้าวไกล 

ขณะที่ “ภราดร ปริศนานันทกุล” สส.อ่างทอง รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย จากเดิมถูกวางตัวให้เป็นรองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง ถูกขยับไปเป็นรองประธานสภาฯ คนที่สองแทน

ต้องจับตาการจัดสรรดุลอำนาจใหม่ในสภาล่าง จากเดิม“ปดิพัทธ์”ในฐานะรองประธานสภา คนที่หนึ่ง ได้รับมอบหมายให้ดูด้านการพิจารณากฎหมายทั้งหมด ด้านระเบียบวาระการประชุม รวมทั้งงานด้านการต่างประเทศ และงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการประชาสัมพันธ์

ขณะที่ “พิเชษฐ์”ตำแหน่งรองประธานสภา คนที่สอง เดิมที ได้รับมอบหมายให้ดูแลเรื่องการกลั่นกรองกระทู้ถาม และญัตติ เรื่องที่ประธานสภาฯ แจ้งต่อที่ประชุม การรับรองรายงานการประชุม และเรื่องอื่นๆ ที่ไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติ หรือพระราชกำหนด รวมทั้งการพิจารณาการลาการประชุมของสมาชิก การพิจารณาส่งข้อหารือของสมาชิกให้รัฐมนตรี และผู้เกี่ยวข้องรับทราบ

พท.-ภท.ขยับหมาก ‘สภาล่าง’  ‘รอมชอม-ถ่วงดุล’ ?

จริงอยู่ว่า หลังจากมีการโหวตเลือกรองประธานคนที่หนึ่งและสองแล้ว ต้องขึ้นอยู่กับ“วันมูหะมัดนอร์ มะทา”ประธานสภาฯ ว่าจะมีการจัดสรรดุลอำนาจ แบ่งงานรองประธานสภา ทั้งสองคนใหม่ หรือไม่ อย่างไร 

ในความเป็นจริง เป็นที่รู้กันว่า “พรรคเพื่อไทย”ในฐานะพรรคแกนนำ มีอำนาจบริหารอยู่ในมือ ย่อมมุ่งหมายที่จะใช้กลไกนิติบัญญัติเป็นไม้เป็นมือในการดัน “สารพัดเรือธงรัฐบาล”เพื่อต่อยอดไปถึงการเมืองสนามเลือกตั้งในอนาคต 

โดยเฉพาะอำนาจของ “หมออ๋อง”ปดิพัทธ์ ที่เคยรับผิดรอบเรื่องการพิจารณากฎหมายทั้งหมด ด้านระเบียบวาระการประชุม ย่อมมีผลในแง่การวางหมากการเมืองในอนาคตอย่างเลี่ยงไม่ได้

เทียบกับธรรมเนียมปฏิบัติในยุคที่ผ่านมา เช่นใน ยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำรัฐบาล ตำแหน่งประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ได้อยู่ในการครอบครองของพรรคแกนนำ แต่เป็น ชวน หลีกภัย จากพรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้คุมบัลลังก์นิติบัญญัติ

 โดยเวลานั้น มีการแบ่งงานให้รองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง คือ “สุชาติ ตันเจริญ” จากพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะพรรคแกนนำ ดูแลร่างกฎหมายที่จะเข้าสู่การบรรจุวาระ ขณะที่รองประธานสภาฯ คนที่สอง คือ “ศุภชัย โพธิ์สุ”จากพรรคภูมิใจไทย ดูแลเรื่องการบรรจุกระทู้และญัตติ

 

หรือใน ยุครัฐบาล 2566 ซึ่งต้องเริ่มนับตั้งแต่ “พรรคก้าวไกล” และ “พรรคเพื่อไทย” ยังจับมือกันตั้งรัฐบาล เวลานั้น ก้าวไกลเป็นพรรคแกนนำรัฐบาล เมื่อก้าวไกลชิงตำแหน่งประมุขนิติบัญญัติไม่สำเร็จ จึงจำเป็นต้องยึดตำแหน่งรองประธานสภาฯคนที่หนึ่ง ไว้ที่ “หมออ๋อง”ปดิพัทธ์  เพื่อผลักดันสัญญาประชาคม นโยบาย 100 วัน เร่งผลักดันร่างกฎหมาย 45 ฉบับ 8 ด้าน

ฉะนั้น หากยึดธรรมเนียมปฏิบัติ 2 ยุคที่ผ่านมา แน่นอนว่าในวันที่แปรเปลี่ยนจากพรรคก้าวไกล เป็นพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำรัฐบาล ท่ามกลางกระแสข่าวการทวงคืนประธานสภาฯ แต่ไม่เป็นผล จึงไม่แปลก หากเพื่อไทยจะรวบอำนาจส่วนนี้ไว้เอง อีกทั้งยังเป็นการลดแรงต่อรอง ในห้วงที่ภูมิใจไทยถือไพ่เหนือ คุมอำนาจสภาสูง คือ สว.ไว้ในมือ ไปในคราวเดียวกันอีกด้วย

ในส่วนของ “พิเชษฐ์” ที่ขยับขึ้นรองประธานสภาฯ คนที่หนึ่งนั้น ไม่ได้ถือว่าเหนือความคาดหมาย แถมในห้วงที่ผ่านมา แม้จะเป็นรองประธานสภาฯคนที่สอง แต่ได้รับสัญญาณจากต้นสังกัด คือพรรคเพื่อไทย ถืออำนาจในมืออยู่มิใช่น้อย   

ต่างจาก "หมออ๋อง" ซึ่งเป็นรองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง จากพรรคก้าวไกล ซึ่งถูกผลักไปเป็นฝ่ายค้าน ที่แทบจะขยับขับเคลื่อนงานนิติบัญญัติไม่ได้เลย 

พท.-ภท.ขยับหมาก ‘สภาล่าง’  ‘รอมชอม-ถ่วงดุล’ ?

อันที่จริง ข่าวคราวการทวงคืน “รองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง” มาไว้ในการครอบครองของพรรคเพื่อไทย เคยถูกปล่อยออกมาก่อนหน้านี้ สอดรับกับวาระเลือกรองประธานสภาฯ ที่ทิ้งช่วง ยืดเยื้อมาตั้งแต่วันที่ 14 ส.ค. ทั้งที่เวลานั้น ภูมิใจไทยมีมติส่ง “ลูกแบด” ภราดร ขึ้นมาชิงตำแหน่งเรียบร้อยแล้ว

แต่เวลานั้นมีการยกเหตุผลอุบัติเหตุการเมือง หลัง “เศรษฐา ทวีสิน” พ้นจากตำแหน่ง จึงจำเป็นต้องเซ็ตทีมบริหารให้เรียบร้อยเสียก่อนทำให้ต้องมีการเลื่อนวาระดังกล่าวออกไป แบบไม่มีกำหนด

ต้องจับตาสัญญาณขยับดุล“สภาล่าง” มุมหนึ่งอาจมองว่าเป็นการรอมชอมอำนาจระหว่าง“พรรคเพื่อไทย”และ“ภูมิใจไทย”  ขณะที่ อีกมุมก็มองได้ว่า เป็นการ“คานอำนาจ”และ“ถ่วงดุล” เพื่อไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ถือไพ่เหนือคุมอำนาจต่อรองมากไปกว่านี้