'ลูกประดู่' เจ้าที่แรง 'เก้าอี้ ผบ.ทร.'ร้อนฉ่า
เปิดสูตร "บิ๊กดุง" เลือก ผบ.ทร. คนใหม่ ไม่ต้องเป็นที่หนึ่ง แต่ต้องดี-เก่ง หากมีประวัติโกง ไม่หนุน มองวิ่งเต้นการเมืองเรื่องปกติ หากเลือกคนไม่ถูก สังคมจะประณามเอง
KEY
POINTS
- ในช่วง "โผทหาร" ยังอึมครึม พล.ร.อ.อะดุง พันธ์เอี่ยม ผบ.ทร.เสนอชื่อคนนอก 5 ฉลามทัพเรือ "พล.ร.อ.จิรพล ว่องวิทย์" เป็น ผบ.ทร.คนใหม่
- ผบ.ทร.ได้ชี้แจงในที่ประชุมถึงเหตุผลในการเลือก พร้อมประกาศว่า จะรับผิดชอบทุกอย่าง หากใครมีข้อสงสัย ก็พร้อมไปชี้แจงเอง จนเป็นที่มาของคำว่า "ผบ.ทร. แรงมาก"
- ท่ามกลางการปล่อยข่าวดิสเครดิต พล.ร.อ.จิรพล เป็นระยะๆ ไปถึงขั้นเตรียมร้องเรียนนายกฯ และรมว.กลาโหม "บิ๊กดุง" คงต้องสะสางปัญหานี้
ดูเหมือนยังไม่จบ แม้สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมส่ง "โผทหาร" ถึงสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เมื่อ 9 ก.ย.2567 ที่ผ่านมา เพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 ที่ต้องนำส่งก่อน 15 ก.ย.2567
ส่วนขั้นตอนต่อจากนี้ ขึ้นอยู่กับ "แพทองธาร ชินวัตร" นายกฯ และ "ภูมิธรรม เวชยชัย" รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม จะพิจารณา โดยไม่ได้มีข้อบังคับว่าต้องทูลเกล้าฯ ภายในกี่วัน แต่ต้องก่อน 30 ก.ย.2567
แม้ปัจจุบัน ผบ.เหล่าทัพ ได้เซ็นกำกับโผเหล่าทัพตัวเองไปเรียบร้อยแล้ว แต่การประชุมบอร์ดปรับย้ายเมื่อ 3 ก.ย.2567 ที่ผ่านมา "สุทิน คลังแสง" รักษาการ รมว.กลาโหม นั่งเป็นประธาน ยังไม่ได้ลงนาม ภายหลังการประชุมมาราธอนร่วม 3 ชั่วโมง
"กองทัพเรือ"ใช้เวลานานที่สุดกว่า 1 ชั่วโมง หลัง "บิ๊กดุง" พล.ร.อ.อะดุง พันธ์เอี่ยม ผบ.ทร.คนปัจจุบัน ยืนยันเสนอชื่อคนนอก 5 ฉลามทัพเรือ
และไม่ได้จบโรงเรียนนายเรือ ตามประเพณีกองทัพเรือยึดปฏิบัติกันมา แต่จบนายเรือเยอรมัน "บิ๊กแมว" พล.ร.อ.จิรพล ว่องวิทย์ (ตท.23 ) ที่ปรึกษาพิเศษ ทร. เป็น ผบ.ทร.
พล.ร.อ.อะดุง ได้ชี้แจงในที่ประชุมเหตุผลเลือก พล.ร.อ.จิรพล เป็น ผบ.ทร. ว่ามีคุณสมบัติเหมาะสม
ส่วน แคนดิเดต 3 คน ที่อยู่ใน 5 ฉลามทัพเรือ ประกอบด้วย พล.ร.อ.สุวิน แจ้งยอดสุข (ตท.25) รอง ผบ.ทร. อาสุโสสูงสุด พล.ร.อ.ชลธิศ นาวานุเคราะห์ (ตท.23) ผู้ช่วย ผบ.ทร. พล.ร.อ. วรวุธ พฤกษารุ่งเรือง เสนาธิการทหารเรือ แต่ละคนมีจุดบกพร่อง
พร้อมประกาศในที่ประชุมว่า จะรับผิดชอบทุกอย่าง หากใครมีข้อสงสัย ก็พร้อมไปชี้แจงด้วยตนเอง จนเป็นที่มาคำว่า "ผบ.ทร. แรงมาก"
ในขณะที่ ผบ.เหล่าทัพ อื่นๆ ต่างให้เกียรติ เพราะมองว่า เรื่องภายในกองทัพเรือ ไม่มีใครรู้ดีกว่า พล.ร.อ.อะดุง แม้จะมีคำถามคาใจ แต่ไม่คัดค้าน หรือเข้าไปแทรกแซง จนถึงขั้นยกมือโหวตให้เสียหลักการ เพราะจะสะท้อนถึงความไม่เป็นหนึ่งเดียวของ ผบ.เหล่าทัพ
ในช่วง "โผทหาร" ยังอึมครึม พล.ร.อ.อะดุง เดินทางไปต่างประเทศ มีกำหนดกลับ 18 ก.ย.ท่ามกลางการปล่อยข่าวดิสเครดิต พล.ร.อ.จิรพล เป็นระยะผ่านทางไลน์ เผยแพร่กันในกองทัพเรือ และส่งให้สื่อมวลชน มีเนื้อหาความด่างพร้อยเกี่ยวกับประวัติการทำงานที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ยังมีการปล่อยข่าวไปถึงขั้น เตรียมร้องเรียนนายกฯ และ รมว.กลาโหม ว่าการปรับย้ายภายในกองทัพเรือ โดยเฉพาะเก้าอี้ ผบ.ทร. ทำผิดจริยธรรมและเป็นไปด้วยความไม่ยุติธรรม หวังกดดัน พล.ร.อ.อะดุง
ล่าสุด พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รมช.กลาโหม ได้เชิญ พล.อ.สนิธชนก สังขจันทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม และ พล.อ.พิสิษฐ์ นพเมือง เจ้ากรมพระธรรมนูญ เข้าพบหารือเรื่องการจัดทำโผทหารของเหล่าทัพ รวมถึงข้อบังคับตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551
ทั้งนี้หากย้อนไปดูบทสัมภาษณ์ พล.ร.อ.อะดุง เกี่ยวกับการคัดเลือก ผบ.ทร.คนใหม่ตอนหนึ่งไว้อย่างน่าสนใจ
พล.ร.อ.อะดุง ระบุว่า ความขัดแย้งภายในกองทัพเรือไม่เคยมี เพียงแต่ลูกน้องยังอยู่ไม่สบาย เขาไม่ได้ขัดแย้งกับใคร เพียงแต่เขาอยากได้ชีวิตที่ดีขึ้น นายทหารก็เติบโตไปตามรุ่น ตามความรู้ความสามารถของตัวเอง หากเราเลือกคนดี คนเก่ง ก็จบ ใครดี ใครเก่ง ก็เตรียมขึ้น
ยอมรับว่า มีวิ่งบ้าง ระบบประเทศไทย หนีไม่พ้นระบบอุปถัมภ์ ใครอยากช่วยลูกน้องของตัวเอง ถ้าเป็นคนดีแล้วเก่ง ก็จะให้ แต่ถ้าเคยทำความผิดมา ผมไม่ช่วย ผมจะช่วยคนดีคนเก่ง แต่ต้องยอมรับว่า ตามทฤษฎีไม่มีใครเกิดมาสมบูรณ์แบบ ผมเลือกคนขึ้นมาไม่ได้พิจารณาแค่ว่า ได้อันดับที่ 1 ไม่เช่นนั้น ลำดับที่ 2 ที่ 3 ก็ไม่ได้ขึ้นกัน
ผมมองว่าทุกคนมีความรู้ความสามารถจะให้คะแนนดี 50% ให้คะแนนเก่ง 50% ใครดีมากก็เป็น 70% อาจจะไม่ต้องได้ที่ 1 ถึงที่ 3 แต่เมื่อนำคะแนนมารวมกันแล้ว ถือว่าใช้ได้ แต่ถ้าใครดีด้วย เก่งด้วย ถือว่าเป็นผู้ที่ต้องได้รับการยอมรับในสังคม" พล.ร.อ.อะดุง กล่าว พร้อมยอมรับว่า
ทุกครั้งที่มีการปรับย้าย คลื่นใต้น้ำของกองทัพเรือจะรุนแรงมาก เหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะเราไม่เคยชี้ว่า ใครจะได้ขึ้น ถือเป็นข้อดีของกองทัพเรือ กองทัพเรือไม่เคยปูเส้นทางเอาไว้ให้ใคร ทุกคนไปสู้กัน แต่เหล่าทัพอื่น มีการชี้เอาไว้แล้วว่า คนนี้เตรียมเป็น เพราะฉะนั้นอย่ามองว่าเป็นแง่ลบ ทุกคน Fair Play หมด เมื่อมาถึงปีสุดท้ายถึงมีการต่อสู้กัน ส่วนใครจะสู้อย่างไร มีวิทยายุทธ์ ก็งัดกันออกมา
แต่ของเหล่าทัพอื่นเขาบอกว่าผมแพ้คุณตั้งแต่ คุณชี้กันเอาไว้แล้ว ก็เลยไม่มีข่าว อย่างกองทัพบก เขาก็มีคนของเขา ว่าต้องเติบโตมาจากไหน แต่กองทัพเรือทุกคน Fair Play หมด สมัยก่อนกองทัพอากาศต้องเป็นนักบินเครื่องบินหัวแหลม หรือนักบินไอพ่น คนอื่นไม่ใช่ ก็ได้แค่มอง แต่ตอนนี้ก็คือเปิดกว้างนักบินขนส่งอย่างซี 130 ก็เป็นได้ เพราะถือว่าแฟร์ เพราะฉะนั้น อย่ามองเป็นแง่ลบ แต่ตอนจบขอเก่งและดี ใครเคยมีประวัติโกงกิน ไม่ต้องขึ้น ก็แค่นี้เอง การวิ่งเต้นนักการเมือง ผมถือเป็นเรื่องปกติ ใครมีฤทธิ์เดชอะไรก็วิ่งกันไป
พล.ร.อ.อะดุง ยังตอบคำถาม แข็งแค่ไหน? หากฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซงว่า ผบ.ทร.มีหน้าที่ดำรงความถูกต้องให้กับกองทัพเรือ เขาบอกว่าคนเป็น ผบ.ทร.มีหน้าที่อยู่เรื่องเดียวคือ เลือกคนให้ถูก หากเลือกไม่ถูกก็โดนสังคมประณามเอง ทุกคนมาถึงจุดนี้ถือว่าเก่งทุกคน เพราะเวลาบริหาร หากเป็นคนที่ฉลาดก็บริหารได้ คนไม่เก่งก็ใช้สตาฟได้ แต่เราต้องการภาพลักษณ์กองทัพเรือที่เห็นคนที่ควรได้และได้เป็น
"ผมมีม็อตโต้ของผม ตอนมอบนโยบาย I will do my best (ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด) แต่ประเทศของเรามักเน้นเรื่องความสามัคคี ความจริงแล้วไม่มีหรอก เพราะสุดท้ายก็ฆ่ากัน เพื่อจะแย่งตำแหน่ง เพราะฉะนั้น ทำหน้าที่ตัวเองให้ดีที่สุด แต่ถ้าปกป้องประเทศชาติ อันนี้ต้องสามัคคี ถือว่าถูกต้องแล้ว" พล.ร.อ.อะดุง กล่าว
ขณะที่ ภูมิธรรม ในฐานะ รมว.กลาโหมคนใหม่ เข้ากระทรวงเป็นครั้งแรก 16 ก.ย.นี้ พร้อมรับประทานอาหารร่วมกับ ผบ.เหล่าทัพ
ในขณะเดียวกัน สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ประสาน พล.ร.อ.อะดุง ให้เดินทางกลับต่างประเทศก่อนกำหนด
โผทหารขึ้นชื่อเป็นของร้อน ทุกรัฐบาลต้องเตรียมตั้งรับ โดยเฉพาะ "เก้าอี้ ผบ.ทร."เหล่าทัพเดียวที่รอ พล.ร.อ.อะดุง มาสางปัญหา