'เรืองไกร' ร้องสอบ 'นายกฯ' ตั้ง รมช. ส่อผิดจริยธรรม เผยมีอีกหลายกรณี

'เรืองไกร' ร้องสอบ 'นายกฯ' ตั้ง รมช. ส่อผิดจริยธรรม เผยมีอีกหลายกรณี

"เรืองไกร" ร้อง กกต. สอบนายกฯ ตั้ง รมช.คมนาคม ฝ่าฝืนจริยธรรม ข้อ 8 หรือไม่ พร้อมย้ำจะทำหน้าที่ตรวจสอบจริยธรรมต่อไปและจะมีตามมาอีกมากมายหลายกรณี

วันที่ 14 ก.ย. 2567 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เปิดเผยว่า วันนี้ตนได้ส่งหนังสือทางไปรษณีย์ EMS ถึง กกต. เพื่อขอให้ตรวจสอบนายกรัฐมนตรี (นางสาวแพทองธาร ชินวัตร) ว่า กรณีเสนอชื่อนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นั้นจะเข้าข่ายมีความไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์

ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) หรือไม่ และการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม ข้อ 8 หรือไม่และเข้าข่ายเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (4) ประกอบมาตรา 160 (4) (5) หรือไม่นายเรืองไกร กล่าวว่า ในหนังสือดังกล่าว มีข้อเท็จจริงอันควรขอให้ กกต. ตรวจสอบ ดังนี้

ข้อ 1. เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2565 ศาลจังหวัดกาญจนบุรี ได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ อ1141/2565 ดังนี้
“พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 มาตรา 65 (1), 126 จำคุก 2 ปี และปรับ 40,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี และปรับ 20,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษให้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 จ่ายสินบนนำจับอีกกึ่งหนึ่งของค่าปรับแก่ผู้แจ้งความนำจับ ริบธนบัตรรัฐบาลไทย จำนวน 1,500 บาท เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งจำเลยมีกำหนด 20 ปี” 

ข้อ 2. คำพิพากษาดังกล่าว มีส่วนที่ระบุชื่อนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ ไว้ด้วย ดังนี้

“โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2563 เวลากลางวัน หลังจากมีประกาศให้มีการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรีและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี ก่อนถึงวันที่กำหนดเลือกตั้งตามประกาศผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี จำเลยได้ให้ทรัพย์สินเป็นเงินสดคนละ 500 บาท แก่ ... จำนวน 3 คน รวม 1,500 บาท ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี และเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี เขตเลือกตั้งที่ 5 ตำบลหนองบัว อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งสามคนดังกล่าว

ให้ลงคะแนนเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี ให้แก่นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ ซึ่งเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี หมายเลข 3 ... อันเป็นการจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครอื่น อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เหตุเกิดที่ตำบลหนองบัว อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี

เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2563 เจ้าพนักงานจับกุมจำเลยพร้อมยึดธนบัตรรัฐบาลไทย ฉบับละ 500 บาท จำนวน 3 ฉบับ รวม 1,500 บาท อันเป็นทรัพย์สินที่จำเลยมอบให้แก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนสามคนเพื่อจูงใจให้ลงคะแนนแก่ผู้สมัครอื่นเป็นของกลางธนบัตรรัฐบาลไทย จำนวน 1,500 บาท ของกลาง เจ้าพนักงานเก็บรักษาไว้ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 มาตรา 4, 32, 65, 126 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 ริบธนบัตรรัฐบาลไทย จำนวน 1,500 บาท เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยมีกำหนด 20 ปี และจ่ายสินบนนำจับไม่เกินกึ่งหนึ่งจากเงินค่าปรับแก่ผู้แจ้งความนำจับจำเลยให้การรับสารภาพ”

ข้อ 3. กรณีตามคำพิพากษาซึ่งจำเลยให้การรับสารภาพนั้น ปรากฏข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ ในส่วนที่ระบุว่า “เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งสามคนดังกล่าวให้ลงคะแนนเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี ให้แก่นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ ซึ่งเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี หมายเลข 3 ...” ซี่งหากนำแนวคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 21/2567 ในส่วนที่วินิจฉัยว่า “...การพิจารณาว่าบุคคลใดมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) ... เป็นดุลพินิจของนายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นผู้พิจารณาในฐานะผู้รับผิดชอบ...” กรณี จึงเป็นความรับผิดชอบของนายกรัฐมนตรีที่จะต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาดังกล่าวด้วย ดังนั้น จึงเหตุอันควรขอให้ กกต. ตรวจสอบว่า นายกรัฐมนตรีจะมีเหตุสิ้นสุดลงเฉพาะตัวจากการใช้ดุลพินิจเสนอชื่อนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม หรือไม่

ข้อ 4. มาตรฐานทางจริยธรรม ข้อ 8 กำหนดว่า  “ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ เพื่อตนเอง หรือผู้อื่น หรือมีพฤติการณ์ที่รู้เห็นหรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ”

นายเรืองไกร สรุปเพิ่มเติมว่า ดังนั้น โดยผลของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 21/2567 ทำให้การตรวจสอบทางด้านจริยธรรมจะมีตามมาอีกมากมายหลายกรณี