‘จริยธรรม’ ของแสลงนักเลือกตั้ง เช็ก 2 ขั้ว ‘เกมฮั้ว’ รื้อ รธน. ?

‘จริยธรรม’ ของแสลงนักเลือกตั้ง   เช็ก 2 ขั้ว ‘เกมฮั้ว’ รื้อ รธน. ?

ปม "จริยธรรม" ของแสลง สัญญาณจากนักการเมืองเล่นบท "รวมการเฉพาะกิจ" ชงรื้อรัฐธรรมนูญ จับตาศึกนิติสงครามฝ่าย "นิติบัญญัติ-บริหาร" vs "ตุลาการ"

KEY

POINTS

  • ปม "จริยธรรม" ของแสลง สัญญาณจากนักการเมืองเล่นบท "รวมการเฉพาะกิจ" ในการชงรื้อรัฐธรรมนูญ
  • ส่องรัฐธรรมนูญ 2560 จริยธรรมร้ายแรง "ปิดฉากการเมือง"
  • จับตาศึกนิติสงครามฝ่าย "นิติบัญญัติ-บริหาร" vs "ตุลาการ" ที่สุดใครจะได้-จะเสีย มากกว่ากันระหว่าง“นักเลือกตั้ง”และ“องค์กรอิสระ” 

ผลพวงจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 14 ส.ค.2567 ที่ผ่านมา มีมติ 5 ต่อ 4 เสียงให้ “เศรษฐา ทวีสิน”พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากกรณีแต่งตั้ง “พิชิต ชื่นบาน” รวมไปถึงคดีอื่นๆ นับแต่มีการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นรัฐมนตรี ได้วางมาตรฐาน “จริยธรรม” ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรี หรือ สส.ไว้สูงลิบ  

โดยเฉพาะคำวินิจฉัยคดีเศรษฐา ซึ่งเป็นคดีล่าสุด ที่เป็นเสมือนฉากจบ หลังนั่งเก้าอี้นายกฯ ได้เพียง 358 วัน ไม่เพียงแต่จะตีตราสถานะอดีตนายกฯ ในบทบาทต่างๆ ที่จะติดตัวไปตลอดเท่านั้น แต่ยังคงทิ้งไว้ซึ่งคำถามปลายเปิด เช่น คำว่า “ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์” ที่กำลังเป็นที่ถกเถียงอยู่ในเวลานี้ ซ้ำเป็นเกมเข้าทางบรรดานักร้องเรียนรายวัน ยื่นร้องหน่วยงานต่างๆ ไม่มีหยุดหย่อน

เช็กสัญญาณฟากฝั่งการเมืองนาทีนี้ คำว่า “จริยธรรม” กลายเป็นของแสลง ที่ตามหลอกหลอนบรรดานักเลือกตั้งซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยเฉพาะโฉมหน้า ครม.ชุดปัจจุบันที่มีบางคนไม่ได้ไปต่อ บางคนอาจไม่มีคดีความติดตัว แต่หากเลือกที่จะลุยไฟเสนอชื่อไม่แคล้วที่จะถูกสารพัดเกมไล่ล่าจากฝ่ายค้าน-ฝ่ายแค้นตามเล่นงานในภายหลัง 

‘จริยธรรม’ ของแสลงนักเลือกตั้ง   เช็ก 2 ขั้ว ‘เกมฮั้ว’ รื้อ รธน. ?

ในช่วงที่ผ่านมา จึงไม่แปลกที่จะได้เห็นสัญญาณจากนักการเมืองเวลานี้ ที่กำลังเล่นบท "รวมการเฉพาะกิจ" ในการชงรื้อกฎหมายสำคัญนั่นคือ รัฐธรรมนูญ

ทั้งสัญญาณจากพรรคแกนนำ คือ พรรคเพื่อไทย ล่าสุด “ชูศักดิ์ ศิรินิล” รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เตรียมยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราต่อรัฐสภาคือ เรื่องจริยธรรม การปรับปรุงบทบัญญัติที่กำหนดไว้ในคุณสมบัติ ว่าต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ที่ต้องกำหนดนิยามให้ชัดเจน

โดยรายละเอียดดังกล่าว ยังต้องระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ เพียงแต่ต้องปรับปรุงรายละเอียด แบบ “พบกันครึ่งทาง”

ไม่ต่างจากท่าทีของ “พรรคร่วมรัฐบาล” ที่ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย มองว่า ถ้าแก้ไขให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย พรรคภูมิใจไทยก็พร้อมสนับสนุน... ทุกอย่างควรจะมีกรอบ หากไม่มีกรอบ แล้วปล่อยให้ปลายเปิด ก็ไม่ทราบว่าจะเริ่ม และสิ้นสุดตรงไหน

เช่นเดียวกัน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาชาติ พูดถึงเรื่องนี้ว่า พรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นมาตรฐานจริยธรรม และความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ เนื่องจากตีความกว้างเกินไป ฉะนั้นจึงควรมีการกำหนดนิยามให้ชัดเจน เพราะถ้ากฎหมายเขียนคลุมเครือ ไม่ชัดเจน ก็จะทำให้เป็นสมบัติส่วนตัวขององค์กรอิสระ ที่จะเอาไปใช้อย่างไรก็ได้

หรือแม้แต่ฝ่ายค้านอย่าง “พรรคประชาชน”  ล่าสุดมีคำยืนยันมาจาก "ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล" สส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน(วิปฝ่ายค้าน) ยอมรับว่า มีการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ รายมาตรา กลุ่มประเด็น ว่าด้วยจริยธรรมทั้งระบบ ต่อ “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” ประธานรัฐสภา เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้รอบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระ

เมื่อไล่ลึกไปที่ประเด็นการเสนอแก้ไขของพรรคประชาชน ยังได้โฟกัส การยกเลิกอำนาจของคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบจริยธรรมนักการเมือง

ต้องไม่ลืมว่า เวลานี้พรรคประชาชนที่แปรสภาพมาจากพรรคก้าวไกล ซึ่งถูกยุบพรรคในคดีเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายมาตรา 112 อีกทั้งยังมี สส.บางส่วนที่อยู่ในกลุ่มร่วมลงชื่อแก้ไขมาตรา 112 ที่ยังมี “คดีจริยธรรมร้ายแรง”ซึ่งเป็นดาบสอง ต่อจากคดียุบพรรคค้างอยู่ในชั้นการพิจารณาของ ป.ป.ช. 

‘จริยธรรม’ ของแสลงนักเลือกตั้ง   เช็ก 2 ขั้ว ‘เกมฮั้ว’ รื้อ รธน. ?

ทำไปทำมา การเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญของพรรคประชาชน อาจเป็นการ “แก้เกม” หวังผลไปถึงคดีความที่ค้างคาอยู่ใน ป.ป.ช.เวลานี้หรือไม่ แม้ตามรายงานข่าวจะบอกว่า สส.จำนวนดังกล่าว ไม่ได้ร่วมลงชื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อสกัดข้อครหาในเรื่องประโยชน์ทับซ้อนก็ตาม

นับตั้งแต่มีการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ประเด็นจริยธรรมได้ถูกกำหนดไว้ในมาตรา 219 ให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ เป็นผู้กำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมขึ้นมาบังคับใช้ ในการจัดทำ ต้องรับฟังความเห็นของสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และคณะรัฐมนตรีด้วย 

โดยเนื้อหา ต้องระบุให้ชัดแจ้งด้วยว่า การฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมใด มีลักษณะร้ายแรง

ขณะที่ “คดีจริยธรรม” ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ถูกพูดถึงเป็นคดีแรก เกิดขึ้นเมื่อปี 2564 คือ คดีของ “ปารีณา ไกรคุปต์”  อดีต สส.ราชบุรี ซึ่งถูกป.ป.ช.ชี้มูลความผิด กรณีบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนใน จ.ราชบุรี อันเป็นการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัว และส่วนรวม อันเป็นการดำเนินการที่เข้าข่ายที่ผิด "จริยธรรมร้ายแรง" ซึ่งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.)ว่าด้วย ป.ป.ช.ฉบับใหม่ ป.ป.ช.มีอำนาจไต่สวนจริยธรรมของนักการเมือง

ก่อนที่ ป.ป.ช.จะยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา โดยระบุว่า “ขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งให้ผู้คัดค้านพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันหยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้คัดค้าน และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง มีกำหนดเวลาไม่เกิน 10 ปี” กระทั่งศาลฎีกาพิพากษาให้ “ปารีณา” มีความผิดตามคำร้องของป.ป.ช. และตัดสิทธิการเมืองตลอดชีวิต มาจนถึงปัจจุบัน 

‘จริยธรรม’ ของแสลงนักเลือกตั้ง   เช็ก 2 ขั้ว ‘เกมฮั้ว’ รื้อ รธน. ?

นอกจากนี้ ยังมีในส่วนของคดีนักการเมือง ที่ถูกวินิจฉัยผิดจริยธรรมตามมาอีกมากมาย อาทิ คดี "3 สส.ภูมิใจไทย" ได้แก่ ฉลอง เทอดวีระพงศ์ และภูมิศิษฏ์ คงมี อดีต สส.พัทลุง นาที รัชกิจประการ อดีต สส.บัญชีรายชื่อ รวมไปถึง สส.พลังประชารัฐ "ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์" ที่ถูกตัดสิทธิการเมืองตลอดชีวิต ในคดีเสียบบัตรแทนกัน

รวมไปถึงคดี "อนุรักษ์ ตั้งปณิธานนท์" อดีต สส.มุกดาหาร พรรคเพื่อไทย ที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลในคดีจริยธรรมอย่างร้ายแรง จากกรณีการเรียกรับเงินจำนวน 5 ล้านบาท จาก"ศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์" สมัยเป็นอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เพื่อแลกกับการผ่านงบประมาณ ซึ่งถูกตัดสิทธิการเมืองตลอดชีวิตเช่นเดียวกัน 

เมื่อปม “จริยธรรม”กลายเป็นของแสลง “นักเลือกตั้ง”จึงต้องหาจังหวะรุกคืบ ด้วยการชงรื้อรัฐธรรมนูญรายมาตรา 

ศึกนิติสงครามที่เกิดขึ้น ระหว่างฝ่าย "นิติบัญญัติ-บริหาร" กับ "ฝ่ายตุลาการ" ต้องดูในระยะต่อไปว่า ที่สุดใครจะได้-จะเสีย มากกว่ากันระหว่าง “นักเลือกตั้ง” และ “องค์กรอิสระ” 

 

 


พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์