ปชน.ชง2ปมแก้รัฐธรรมนูญ รื้อยุบพรรค-ริบอำนาจศาลชี้ขาดจริยธรรม

ปชน.ชง2ปมแก้รัฐธรรมนูญ รื้อยุบพรรค-ริบอำนาจศาลชี้ขาดจริยธรรม

พรรคประชาชน ชง2ปมแก้รัฐธรรมนูญ60 รื้อทบทวนเงื่อนไขยุบพรรค-นิยามมาตรฐานจริยธรรม ริบอำนาจศาลชี้ขาดจริยธรรม หวั่นประชามติยืดเยื้อ

 ที่รัฐสภา นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน  ให้สัมภาษณ์ถึงการยื่นร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของพรรคประชาชน ว่า เป็นการยื่นร่างแก้ไขประเด็นการลบล้างผลพวงจากรัฐประหาร ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ยกเลิกมาตรามาตรา 279 ที่เกี่ยวกับประกาศและคำสั่ง คสช.รวมถึงเพิ่มหมวดการป้องกันรัฐประหารไปแล้ว คาดว่าจะพิจารณาในวันที่ 25 ก.ย.นี้

นายพริษฐ์ กล่าวต่อว่า ส่วนร่างแก้ไขเพิ่มเติมที่กำลังดำเนินการ คือ การแก้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ โดยมี 2 ประเด็น ได้แก่ 1.ทบทวนแก้ไขอำนาจการยุบพรรค ซึ่งจะต้องมีการยื่นร่างแก้ไข พ.ร.ป.พรรคการเมือง เพื่อให้สถาบันการเมืองยึดโยงกับประชาชน รวงมมถึงเงื่อนไขการยุบพรรค ซึ่งคาดว่าจะมีร่างฉบับกลางที่เซ็นร่วมกันในกรรมาธิการ (กมธ.) พัฒนาการเมืองฯ และอาจจะมีร่างของพรรคการเมืองอื่นยื่นประกบ

2.ทบทวนอำนาจเกี่ยวกับมาตรฐานทางจริยธรรม ที่ถูกเพิ่มเช้ามาในรัฐธรรมนูญ 60 ซึ่งไม่ใช่ว่าเราไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องจริยธรรม แต่ต้องการให้ผู้ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ สามารถปฏิบัติงานด้วยมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างสุจริต

ทั้งนี้การที่รัฐธรรมนูญ 60 นำมาตราฐานทางจริยธรรมมาบรรจุในกฎหมาย อาจเกิดปัญหา เพราะเป็นเรื่องที่มีความเป็นนามธรรมสูง แต่ละคนนิยามไม่เหมือนกัน แต่กลับให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ผูกขาดนิยามมาตรฐานทางจริยธรรม และบังคับใช้กับทุกองค์กร

ดังนั้น เมื่อมีการยื่นเรื่องให้วินิจฉัย องค์กรที่วินิจฉัยไต่สวนคือศาลรัฐธรรมนูญ เรามองว่าเรื่องนี้เป็นปัญหา จึงเสนอให้เปลี่ยนเป็นความรับผิดชอบทางการเมือง เช่น หากเกิดกรณีการแต่งตั้งบุคคลมาเป็นรัฐมนตรีจะต้องแสดงความรับผิดชอบต่อกระแสข้อวิจารณ์ทางสังคม ซึ่งท้ายที่สุดจะส่งผลไปถึงคูหาเลือกตั้ง

นายพริษฐ์ กล่าวว่า ส่วนร่างแก้ไขเพิ่มเติมในประเด็นเดียวกันของพรรคอื่น ต้องดูเนื้อหารายละเอียด แต่มองว่าหลายพรรคเห็นปัญหาคล้ายกัน แต่แนวทางการแก้ไขอาจแตกต่าง อย่างไรก็ตาม ทุกพรรคการเมืองที่ยื่นร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จะไปจบที่การพิจารณาร่วมกันในที่ประชุมรัฐสภา หากภาพรวมเห็นปัญหาตรงกัน แต่แตกต่างกันในรายละเอียด มองว่าเป็นโอกาสดีที่จะรับประกัน และถกเถียงเพิ่มเติมในชั้น กมธ.

ส่วนกรณีที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เหมือนเดิม คือ ไม่แก้หมวด 1 และหมวด 2 นั้นจุดยืนของพรรคประชาชนยังคงเหมือนเดิม ทั้งนี้ การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ผ่านมา ยังไม่เคยเห็นการยกเว้นปรับปรุงเนื้อหาหมวด 1 เพียงแต่วางกรอบไว้ว่า การแก้ไขจะไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองหรือรูปแบบรัฐ อีกทั้งที่ผ่านมา ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็มีการปรับปรุงหมวด 1 และหมวด 2 ซึ่งไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองแต่อย่างใด

 ส่วนคำถามปะชามติ พรรคประชาชนให้ความสำคัญ แม้รัฐบาลจะมีจุดยืนไม่ต้องการแก้ไขเนื้อหาในหมวด 1 และหมวด 2 แต่คำถามประชามติควรถามในลักษณะที่เปิดกว้าง และไม่นำเงื่อนไขดังกล่าวมากำหนดไว้ในคำถาม หากรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยังคงยืนยันประเด็นคำถามเดิม ซึ่งเป็นการถามสองเรื่องในคำถามเดียวกัน กังวลว่าจะเกิดความไม่ชัดเจนกับประชาชนที่เห็นด้วยในบางส่วนของคำถาม ทำให้ส่งผลไปถึงการลงประชามติ ซึ่งพรรคประชาชนประเมินว่า โอกาสที่จะทำให้ประชามติผ่านความเห็นชอบลดน้อยลง

ส่วนการพุดคุยกับฝั่งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) หรือไม่ เพราะต้องพึ่งเสียงเห็นชอบ 1 ใน 3 นายพริษฐ์ กล่าวว่า หลังจากนี้คงต้องมีการพูดคุยกันทุกฝ่าย และมองว่าในวันที่ 25 ก.ย.นี้ จะเป็นครั้งแรกที่จะได้เห็นสภาชุดใหม่เข้ามามีส่วนการพิจารณารัฐธรรมนูญ ต้องดูท่าทีการอภิปรายและการแสดงความเห็น รวมถึงการลงมติว่ามีจุดยืนอย่างไร ทั้งนี้ ยังไม่มีการพูดคุยกันกับ สว.แต่คาดหวังว่าร่างแก้ไขเพิ่มเติมที่บรรจุระเบียบวาระไว้แล้ว ซึ่งมีเรื่องลบล้างผลพวงจากการทำรัฐประหาร ป้องกันการทำรัฐประหารในอนาคต รวมถึงลบล้างผลพวงคำสั่ง คสช.ทุกฝ่ายทางการเมืองจะมีจุดร่วมกัน เพื่อรักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตย และไม่ต้องการให้เกิดรัฐประหารขึ้นอีกในอนาคต แม้จะเห็นต่างกันเชิงนโยบาย

นายพริษฐ์ ยังกล่าวว่า กระบวนการทำฉบับใหม่อาศัยเวลา หากเดินตามรถแบบของรัฐบาล ที่ต้องทำประชามติ 3 ครั้ง และ 1 ปีที่ผ่านมายังไม่ได้เริ่มดำเนินการ ยอมรับกังวลใจมีความเสี่ยงหากรัฐบาลไม่วางแผนอย่างรอบคอบ อาจจะไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่บังคับใช้ก่อนการเลือกตั้งครั้งต่อไป ทั้งนี้ฝ่ายค้านไม่ได้นิ่งนอนใจ รอชมอย่างเดียวและพยายาม ยื่นข้อเสนอและเร่งรัด กระบวนการตรงนี้ให้รัฐบาลดำเนินการโดยเร็วที่สุด