พลิกปูม 13 คดี ‘สินบนข้ามชาติ’ บทพิสูจน์ ‘รัฐบาล’ ปราบโกง?

พลิกปูม 13 คดี ‘สินบนข้ามชาติ’  บทพิสูจน์  ‘รัฐบาล’ ปราบโกง?

ทั้งหมดคือ ข้อมูลเกี่ยวกับคดีสินบนข้ามชาติในไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน วัดฝีมือ “รัฐบาลแพทองธาร” จะฝ่าบทพิสูจน์ “รัฐบาลปราบโกง” ได้หรือไม่ ต้องติดตาม

KEY

POINTS

  • พลิกปูม 13 คดีสินบนข้ามชาติ ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน 
  • ‘สินบนเทศกาลหนัง’ คืบ อสส.รุกไล่เอาเงินคืนกลับสู่แผ่นดินกว่า 10.4 ล้านบาท
  • เรื่องฉาวโฉ่ที่จบไปแล้วมีทั้ง ‘CTX 9000’ เอาผิดใครไม่ได้ ‘GT200’ ไร้เงา ‘บิ๊กกองทัพ’ ถูกกล่าวหา
  • สินบนโรงไฟฟ้าขนอม ไม่ฟ้องเอกชน สินบนโรลส์-รอยซ์การบินไทย เอาผิดได้แค่บอร์ด
  • ยังเหลือคดี CCTV สภาฯ-ซื้อเวชภัณฑ์ยา-เหมืองแร่ข้ามชาติ สอบอยู่

คดีสินบนข้ามชาติล่าสุด "เดียร์ แอนด์ คอมพานี" ดำเนินธุรกิจรถแทรกเตอร์ในชื่อ "จอห์น เดียร์" ที่ตกลงยอมจ่ายเงิน 9.93 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 336 ล้านบาท) ให้แก่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ (SEC) หรือ ก.ล.ต.สหรัฐ เพื่อยุติคดีการจ่ายสินบนแก่เจ้าหน้าที่ของไทย แลกกับผลตอบแทนทางธุรกิจ กำลังเป็นประเด็นครึกโครม และถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง

กรณีนี้ SEC ระบุในผลการสอบสวนว่า ผู้บริหารระดับสูง และพนักงานของ บริษัท เวิร์ทเก้น (ประเทศไทย) จำกัด (Wirtgen (Thailand) Co.,Ltd.) บริษัทในเครือของเดียร์ ได้จ่ายสินบนให้แก่เจ้าหน้าที่ในหลายหน่วยงานของไทย รวมถึง “กองทัพอากาศไทย” และ “กรมทางหลวง” นับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2560 ไปจนถึงปี 2563 

ในรูปของเงินสด การเลี้ยงอาหาร การจ่ายเงินในรูปค่าที่ปรึกษา การพาเที่ยวต่างประเทศโดยอ้างว่าไปดูงานในสวิตเซอร์แลนด์ และประเทศอื่นๆ ในยุโรป รวมทั้ง “การให้ความบันเทิงในสถานอาบอบนวด” โดยเรื่องนี้ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบของหน่วยงานรัฐ และองค์กรอิสระ อย่างสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อย่างเข้มข้น

ข้อมูลเบื้องต้น กรุงเทพธุรกิจ ตรวจสอบพบว่า บริษัท เวิร์ทเก้นฯ เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐระหว่างปีงบประมาณ 2546-2567 รวม 8 แห่ง 23 สัญญา รวมมูลค่า 307,440,439 บาท หากโฟกัสเฉพาะของ “กรมทางหลวง-กองทัพอากาศ” ระหว่างปีงบประมาณ 2560-2563 ซึ่งถูกระบุจาก SEC ว่าเป็นช่วงที่เกิดปัญหา พบว่า เป็นคู่สัญญาอย่างน้อย 8 รายการ รวมวงเงินกว่า 165 ล้านบาท

แต่หลายคนอาจลืมไปแล้วว่า ที่ผ่านมา ประเทศไทยเคยเกิดกรณี “สินบนข้ามชาติ” มาแล้วไม่ต่ำกว่า 12 ครั้ง หากรวมกรณีของ “จอห์น เดียร์” จะเป็นครั้งที่ 13 โดยประเด็นสินบนข้ามชาตินี้กลายเป็นเรื่องใหญ่ ร้อนถึงคณะกรรมการ ป.ป.ช.ต้องออกมาตั้งคณะกรรมการประสานงาน และเร่งรัดการดำเนินคดีทุจริตระหว่างประเทศ เพื่อโฟกัสประเด็น “สินบนข้ามชาติ” โดยเฉพาะ

สำหรับสินบนข้ามชาติที่ปรากฏชื่อทางการไทยเข้าไปเกี่ยวข้องอีกอย่างน้อย 12 คดี มีรายละเอียดโดยสังเขป ดังนี้

1.คดีสินบนจัดเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพมหานคร ระหว่างปี 2545-2550

คดีนี้ถูกปูดขึ้นเมื่อต้นปี 2553 พลันที่ศาลสูงสหรัฐ และเอฟบีไอ ดำเนินคดีตามกฎหมายการกระทำอันเป็นการทุจริตข้ามชาติ (Foreign Corrupt Practices Act) หรือ FCPA ของสหรัฐ กับนายเจอรัลด์ และนางแพทริเซีย กรีน สองนักธุรกิจสหรัฐ ในข้อหาให้สินบนกับนางจุฑามาศ ศิริวรรณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ ททท. โดยปลายปี 2553 ศาลมีคำพิพากษาให้จำคุกนายเจอรัลด์ และนางแพทริเซีย 6 เดือน กักบริเวณในบ้านอีก 6 เดือน จ่ายเงินชดใช้ 2.5 แสนดอลลาร์ (ราว 8 ล้านบาท)

ตัดภาพมาที่ไทย สำนักงาน ป.ป.ช. ไต่สวนข้อเท็จจริงนางจุฑามาศ และบุตรสาว ที่ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวพันกับกรณีดังกล่าว โดยใช้ข้อมูลจากเอฟบีไอ และกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ พร้อมกับเส้นทางการเงินของนางจุฑามาศ ที่นำไปฝากต่างประเทศ จนในช่วงปี 2554 คณะกรรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดนางจุฑามาศ และบุตรสาว เรียกรับสินบนจาก สามี-ภรรยานักธุรกิจสหรัฐประมาณ 1.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 60 ล้านบาท) ปัจจุบันคดีนี้ศาลมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้จำคุกนางจุฑามาศ 50 ปีและ น.ส.จิตติโสภา (บุตรสาว) 40 ปี สั่งริบเงินกระทำผิดในต่างประเทศกว่า 1.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ความคืบหน้าล่าสุด สำนักงานอัยการสูงสุดของไทย (อสส.) แจ้งเรื่องดังกล่าวให้สำนักงานอัยการสูงสุดเกาะเจอร์ซีย์รวมถึงการประสานกับพนักงานอัยการสหรัฐอเมริกา และกระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกา เพื่อขอให้สหรัฐอเมริกาได้ส่งเงินจำนวน 10.46 ล้านบาท คืนให้กับประเทศไทยเพื่อเป็นรายได้ของแผ่นดินต่อไป

2.คดีจัดซื้อเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิดในสนามบิน หรือ “CTX 9000”

คดีดังกล่าวทางการไทยจัดซื้อเครื่อง CTX 9000 จากบริษัท จีอีอินวิชั่น (GE InVision) อย่างไรก็ดีในปี 2547 บริษัทแห่งนี้ถูก SEC ตรวจสอบตามกฎหมาย FCPA โดยพบว่า บริษัทมีการจ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่ของจีน ฟิลิปปินส์ รวมเตรียมการจะจ่ายสินบนให้กับไทยด้วย โดยบริษัทแห่งนี้ถูกปรับเงิน 800,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 24 ล้านบาทขณะนั้น) และยอมรับสารภาพแลกกับการไม่ถูกฟ้องคดี

ในไทยคดีนี้ถูกคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) หน่วยงานเฉพาะกิจที่ถูกตั้งขึ้นหลังรัฐประหาร 2549 ตรวจสอบ ก่อนจะส่งสำนวนไปยัง ป.ป.ช.ไต่สวนต่อ โดยมีนักการเมืองระดับชาติ และข้าราชการระดับสูงถูกกล่าวหากว่า 30 คน ทั้ง “ทักษิณ ชินวัตร” นายกฯ ขณะนั้น และ “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รมว.คมนาคม ขณะนั้น อย่างไรก็ดีบทสรุปของเรื่องนี้เมื่อปี 2556 ป.ป.ช.มีมติยกคำร้องกล่าวหา เนื่องจากได้ขอเอกสารต่างๆ การสอบสวนคดีสินบนนี้จากกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ โดยได้รับการตอบกลับว่า ไม่พบการให้สินบน หรือเสนอผลประโยชน์ตอบแทนใดๆ ทำให้ไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอเอาผิดได้

3.คดีสินบนข้ามชาติปลูกปาล์มน้ำมันที่ประเทศอินโดนีเซีย

คดีนี้บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้รับเรื่องร้องเรียนกล่าวหาว่า ผู้บริหารระดับสูงในบริษัท พีทีที.กรีนเอเนอร์ยี่ฯ บริษัทลูกที่บริหารการลงทุนโครงการปลูกปาล์มน้ำมันที่ประเทศอินโดนีเซีย 5 โครงการ อาจไม่มีความคุ้มค่า และอาจสร้างความเสียหายให้บริษัทกว่า 2 หมื่นล้านบาท โดยในผลการสอบสวนของ ปตท.พบว่าโครงการดังกล่าวมีการจ่ายค่านายหน้าแพงเกินจริง 2 โครงการ ได้แก่ โครงการ PT.Az Zhara และ PT.KPI

ปัจจุบันคดีนี้ ป.ป.ช.ยังคงดำเนินการไต่สวนอยู่โดยองค์คณะไต่สวนชุดใหญ่ (กรรมการ ป.ป.ช. 9 คน เป็นองค์คณะ) ตั้งแต่ช่วงปี 2560 เป็นต้นมา แต่ปัจจุบันผ่านมากว่า 7 ปีเศษแล้ว ยังคงไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร นอกจากการแจ้งข้อกล่าวหากับอดีตผู้บริหารระดับสูงบางรายเท่านั้น แม้ว่าในสำนวนการไต่สวนจะพบเส้นทางการเงิน เชื่อมโยงไปยังบัญชีเงินฝาก และบริษัทในต่างประเทศ และพบ “อดีตนักการเมือง” บางคนเข้าไปเกี่ยวข้องก็ตาม

4.คดีการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิด และสารเสพติด หรือ “GT200” และ “Alpha6”

คดีนี้มีการร้องเรียนกล่าวหาตั้งแต่ปี 2550 ว่า การจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิด GT200 และ Alpha6 ใช้งานไม่ได้จริง กระทั่งมีการพิสูจน์ด้วยหลักนิติวิทยาศาสตร์ แม้ว่าบุคลากรจากกองทัพจะพยายามตอบโต้ว่า เครื่องนี้ใช้งานได้จริงก็ตาม กระทั่งข้อเท็จจริงปรากฏเมื่อปี 2557 เมื่อศาลประเทศอังกฤษ พิพากษาจำคุก ตัวแทนเอกชนที่จัดจำหน่ายเครื่อง GT200 เนื่องจากเห็นว่า เครื่องดังกล่าวใช้งานไม่ได้จริง เป็นการหลอกลวงเพื่อขายของเท่านั้น และรัฐบาลได้เลิกซื้อเครื่องมือดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา

โดยในไทยมีอย่างน้อย 10 หน่วยงานรัฐที่จัดซื้อเครื่องมือดังกล่าว ใช้วงเงินงบประมาณอย่างน้อย 767 ล้านบาท ส่งผลให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนเรื่องนี้เกือบ 20 สำนวน มีผู้ถูกกล่าวหาตั้งแต่ บุคคลในกองทัพ-ข้าราชการระดับสูง-สำนักงานตำรวจแห่งชาติ-หน่วยงานภายใต้กระทรวงมหาดไทย แต่ไม่ปรากฏชื่อผู้บริหารระดับสูง หรือ “บิ๊กกองทัพ” เป็นผู้ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด

กระทั่งช่วงปี 2564 คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดคดีดังกล่าวไปกว่า 15 สำนวน และส่งเรื่องไปยังอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อสั่งฟ้องคดีแล้วทั้งหมด โดยบางคดีมีผลคำพิพากษาออกมาแล้ว โดยจำคุกเอกชนผู้นำเข้าเครื่องมือนี้ 9 ปี ส่วนที่เหลือบางคดีจำคุกผู้บริหารหน่วยงานที่จัดซื้อ บางคดียกฟ้อง เช่น กรณีแพทย์หญิง คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ อดีต ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กับพวกรวม 10 คน จัดซื้อเครื่อง GT200 และ Alpha6 เมื่อปี 2551 ศาลยกฟ้องเนื่องจากเห็นว่า ไม่มีเจตนาจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย เป็นต้น

5.คดีสินบนข้ามชาติบริษัท โรลส์-รอยซ์ฯ กรณีขายเครื่องยนต์ให้ “การบินไทย”

คดีนี้สำนักงานป้องกัน และปราบปรามการทุจริตของสหราชอาณาจักร (SFO) เปิดเผยว่า บริษัท โรลส์-รอยซ์ เอกชนผู้ผลิตเครื่องยนต์ระดับโลก ให้การยอมรับว่า ติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐในหลายประเทศ รวมถึงไทย วงเงินประมาณ 1.2 พันล้านบาท ระหว่างปี 2534-2548 รวม 3 ครั้ง ได้แก่ 2534-2535 2535-2540 และ 2547-2548 เพื่อให้การบินไทยจัดซื้อเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ T-800 แต่ในสำนวนของ SFO มิได้ระบุชื่อผู้ได้รับเงินสินบนแต่อย่างใด

ความคืบหน้าคดีนี้ ป.ป.ช.ได้ดำเนินการไต่สวน มีมติไม่แจ้งข้อกล่าวหาแก่ “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รมว.คมนาคม แต่แจ้งข้อกล่าวหากับนายทนง พิทยะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) นายกนก อภิรดี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมการ และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัทการบินไทย ที่เหลือคือ กลุ่มอดีตคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และคณะอนุกรรมการพิจารณาแผนการลงทุนระยะยาวของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) รวม 10 ราย หลังจากนั้นเมื่อปี 2565 คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดกลุ่มบุคคลข้างต้น และเป็นผู้ฟ้องคดีเอง เรื่องยังอยู่ระหว่างการไต่สวนในชั้นศาล

6.คดีสินบนข้ามชาติบริษัท โรลส์-รอยซ์ฯ กรณีเอื้อประโยชน์ให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.

กรณีนี้กระทรวงยุติธรรมสหรัฐ และ SEC พบว่า บริษัท โรลส์-รอยซ์ เอ็นเนอร์จี ซิสเต็ม อิงค์ ได้ติดสินบนเจ้าหน้าที่ และผู้บริหาร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. กว่า 11 ล้านดอลลาร์ หรือราว 385 ล้านบาทในช่วงปี 2546-2556 เพื่อให้ซื้อเครื่องยนต์ของโรลส์-รอยซ์ มาใช้ใน 6 โครงการ

ตามสำนวนของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ และSEC พบว่า บริษัท โรลส์-รอยซ์ฯ และบริษัทลูกอย่าง PRESI และพนักงาน ได้แก่ ผู้บริหาร 1 ราย พนักงาน 3 ราย และบุคลากรไม่ระบุตำแหน่งอีกจำนวนหนึ่ง มีส่วนรู้เห็นในการจ่ายสินบนให้กับบริษัทนายหน้า รวมถึงบริษัทให้คำปรึกษาทางการค้าในการเซ็นสัญญา ภายใต้ข้อตกลงว่า บริษัทนายหน้า จะสนับสนุนบริษัท PRESI ให้ได้ทำธุรกิจร่วมกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ ได้แก่ บริษัท ปตท.สผ.

ในส่วนทางการไทย ป.ป.ช.ดำเนินการไต่สวน และมีมติชี้มูลความผิด บุคลากรที่เกี่ยวข้องไปแล้วเมื่อต้นปี 2567 คือ นายจิตรพงษ์ กว้างสุขสถิตย์ กรรมการบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ กับพวก ปัจจุบันได้ส่งสำนวนไปยังอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อพิจารณาฟ้องต่อศาลแล้ว

7.คดีสินบนข้ามชาติจัดซื้อกล้อง CCTV ติดในรัฐสภา

คดีดังกล่าวกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ เปิดเผยข้อมูลว่า บริษัท ไทโก้ อินเตอร์เนชั่นแนล สัญชาติสหรัฐ ติดสินบนผ่านบริษัทลูกในประเทศไทย ผ่าน “ที่ปรึกษา” รายหนึ่ง ประมาณ 292,286 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 12 ล้านบาท) ในโครงการหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทำให้บริษัทลูกในไทยได้กำไรจากโครงการสนามบินนานาชาติแห่งใหม่ กทม. เป็นเงิน 879,258 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 35 ล้านบาท) นอกจากนี้ในช่วงเวลาเดียวกันยังจ่ายเงินจำนวนหนึ่งให้กับ “ที่ปรึกษา” อีกรายหนึ่ง เพื่อให้ได้มาซึ่งสัญญาการติดตั้งกล้องซีซีทีวีในรัฐสภาเมื่อปี 2549 ด้วย

สำหรับบริษัท ไทโก้ฯมีบริษัทลูกในไทยคือ บริษัท ไทโก้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จำกัด ต่อมา เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ไทโก้ ไฟร์ซีเคียวริตี้ แอนด์ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทแห่งนี้เป็นคู่สัญญาจัดซื้อกล้องซีซีทีวี และโสตทัศนอุปกรณ์กับ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร บริษัท การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย และเมืองพัทยา ราว 28 สัญญา รวมเป็น 182 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นคู่สัญญาจัดซื้อกล้อง CCTV 2 โครงการ ของสภาผู้แทนราษฎร วงเงินประมาณ 56.3 ล้านบาท

ส่งผลให้รัฐสภาไทยมีการตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงเรื่องนี้ โดยเมื่อปี 2560 พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ ประธานคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง เปิดเผยว่าข้อกล่าวหานี้ “มีมูล” ก่อนจะส่งเรื่องให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ขณะนั้นดำเนินการต่อ ปัจจุบันความคืบหน้าเรื่องนี้ยังอยู่ระหว่างการไต่สวนในชั้น ป.ป.ช.

8.คดีสินบนข้ามชาติจัดซื้อเวชภัณฑ์ยา

กรณีนี้ กระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกา เผยแพร่รายงานว่า บริษัท Bio-Rad ยอมเสียค่าปรับเพื่อไม่ต้องรับโทษในคดีอาญาและแพ่ง วงเงิน 55 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการจ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่รัฐในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยผ่านทางบริษัท Diamed Thailand เป็นเงินกว่า 7 แสนดอลลาร์สหรัฐ (ราว 24 ล้านบาท) ระหว่างปี 2008-2010 (พ.ศ.2550-2553)

รายงานของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ ระบุว่า บริษัท Bio-Rad ขายอุปกรณ์ตรวจค่าต่างๆ ในโลหิตผ่านบริษัท Daimed Thailand ซึ่งขายต่อให้ตัวกลางก่อนถึงโรงพยาบาลรัฐ โดยตัวกลางรับส่วนต่าง 13% เก็บไว้เอง 4% และจ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ 9% โดยระหว่าง พ.ศ.2550-2553 บริษัท Diamed Thailand ได้จ่ายค่านายหน้าทั้งหมด 708,608 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 24 ล้านบาท) ขณะที่บริษัททำเงินจากการค้าครั้งนี้ถึง 5.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งค่าใช้จ่ายให้นายหน้าไม่ได้ถูกระบุรวมไปกับบัญชีการทำการค้าระหว่างประเทศ โดยความคืบหน้าปัจจุบัน คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังอยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริง

9.คดีสินบนข้ามชาติจัดซื้อใบยาสูบจากเอกชนในสหรัฐ ระหว่างปี 2543-2547

กรณีนี้ SEC และกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ จับกุมดำเนินคดีข้อหาอาชญากรรมทางเศรษฐกิจกับบริษัท ยูนิเวอร์แซล คอร์ป และบริษัท อลิอันซ์ วัน อินเตอร์เนชั่นแนล กรณีติดสินบนเจ้าหน้าที่โรงงานยาสูบของไทย โดยบริษัท ยูนิเวอร์แซล คอร์ป ร่วมมือกับเอกชนอีก 3 แห่ง ติดสินบนประมาณ 8 แสนดอลลาร์สหรัฐ (ราว 25.7 ล้านบาท) เพื่อแลกเปลี่ยนสัญญาซื้อขายยาสูบมูลค่าราว 11.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 369 ล้านบาท) ส่วนบริษัท อลิอันซ์ วันฯ ได้ร่วมมือด้วยติดสินบนพนักงานโรงงานยาสูบไทยประมาณ 1.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 38 ล้านบาท) เพื่อแลกเปลี่ยนสัญญาซื้อขายมูลค่า 18.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 587 ล้านบาท) รวมแล้วมีการรับเงินสินบนประมาณ 64 ล้านบาท

โดยปี 2553 คณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน กรณีกล่าวหา นายสุชน วัฒนพงษ์วานิช ขณะดำรงตำแหน่ง ผอ.โรงงานยาสูบ พัวพันรับสินบนสั่งซื้อใบยาสูบจากบริษัทตัวแทนจำหน่ายในสหรัฐ ช่วงปี 2543-2547 อย่างไรก็ดีหลังไต่สวนมายาวนานกว่า 13 ปี คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติเป็นเอกฉันท์ยกคำร้องกล่าวหา นายสุชน กับพวก โดยระบุว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเป็นเอกฉันท์ ด้วยคะแนนเสียง 8 เสียง เห็นว่าไม่ปรากฏพยานหลักฐานเพียงพอที่จะฟังได้ว่ากระทำความผิดตามที่กล่าวหา

10.คดีสินบนข้ามชาติเลี่ยงภาษีสรรพสามิตในการจำหน่ายสุราในไทย

คดีดังกล่าว SEC เผยแพร่รายงานเมื่อประมาณปี 2554 ระบุว่า บริษัท ดิอาจิโอ พีแอลซี บริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่ของโลก ยอมจ่ายค่าปรับกว่า 492 ล้านบาท ในข้อหาจ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่รัฐหลายประเทศ รวมถึงไทยผ่านบริษัท DT (Diageo Moet Hennessy Thailand) เป็นเงินกว่า 5.9 แสนดอลลาร์สหรัฐ(ราว 18 ล้านบาท) ให้กับบริษัทที่ปรึกษาทางการเมือง โดยมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของไทยเป็นผู้รับผลประโยชน์ โดยเริ่มตั้งแต่ช่วงเม.ย. 2547 - ก.ค.2551 เดือนละ 12,000 ดอลลาร์สหรัฐ/เดือน รวม 49 เดือน โดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงของไทยดังกล่าว เคยนั่งเก้าอี้รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี ที่ปรึกษา รมว.เกษตรและสหกรณ์ รวมถึงเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยด้วย

อย่างไรก็ดีผ่านมาราว 12 ปี เมื่อต้นปี 2567 คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติยกคำร้องกล่าวหาทั้ง 2 สำนวนดังกล่าว ด้วยมติเอกฉันท์ 5 เสียง (จำนวนกรรมการ ป.ป.ช.เท่าที่มีอยู่ขณะนั้น) เห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหามิได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวตกไป

11.คดีเจ้าหน้าที่รัฐไทยรับสินบนเอื้อประโยชน์บริษัททำเหมืองแร่ข้ามชาติ

คดีนี้มีรายงานข่าวจากสำนักงาน ป.ป.ช.ช่วงปี 2558 ว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ข้อมูลและหลักฐานจากคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ และการลงทุนของประเทศออสเตรเลีย (ASIC) ที่ส่งมาให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.) พบว่า มีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไทย ถูกร้องเรียนว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำการทุจริตในการขุดเหมืองแร่ทองคำในไทย โดยมีการโอนเงินจากประเทศออสเตรเลียมายังประเทศไทย ที่อาจเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการขอใบอนุญาตขุดเหมืองแร่ทองคำ หรือเกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจเหมืองแร่ทองคำ พร้อมทั้งให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่รัฐในไทยด้วย

ข้อมูลในสำนวนการไต่สวนเบื้องต้นของ ป.ป.ช. พบว่ามีชื่อของ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ อดีต รมว.มหาดไทย และนายประเสริฐ บุญชัยสุข อดีต รมว.อุตสาหกรรม สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นหนึ่งในผู้ถูกกล่าวหา รวมถึงบริษัทเอกชนกลุ่มบริษัท คิงส์เกตฯ ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหา โดยระบุว่า กระทำความผิดต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น ตามนัยมาตรา 66 และมาตรา 88 แห่ง พ.ร.บ.ป.ป.ช. โดยเรียกรับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ หรือให้ ขอให้ หรือรับว่า จะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อให้กลุ่มบริษัท คิงส์เกต ได้ประโยชน์ในการสำรวจและทำเหมืองแร่ ในพื้นที่ จ.สระบุรี จ.ลพบุรี จ.เพชรบูรณ์ จ.พิจิตร และ จ.พิษณุโลก โดยมิชอบ

เรื่องนี้ น.ส.สุภา กรรมการ ป.ป.ช.ผู้รับผิดชอบสำนวน เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบเส้นทางการเงินพบว่า มีการพักเงินที่ฮ่องกง และสิงคโปร์ อย่างไรก็ดีขณะนี้อยู่ระหว่างรอการยืนยันข้อมูลอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ดียังไม่ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานในต่างประเทศมากนัก ส่วนกรณีการปฏิบัติหน้าที่ทางอาญาของเจ้าหน้าที่รัฐนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดทางอาญาแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องไปแล้ว

12.สินบนข้ามชาติสร้างโรงไฟฟ้าขนอม

กรณีนี้เกิดขึ้นเมื่อปี 2558 โดยสำนักงานสืบสวนพิเศษของอัยการกรุงโตเกียว สืบสวน บริษัท มิตซูบิชิ ฮิตาชิ พาวเวอร์ ซิสเต็มส์ (MHPS) ในข้อหาละเมิดกฎหมายป้องกันการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม โดยจ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่ทางการไทย นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ MHPS ได้ให้สินบนเจ้าหน้าที่ทางการไทย ผ่านนายเป็นมูลค่า 60 ล้านเยน หรือ 20 ล้านบาท โดย MHPS สืบสวนภายใน และยืนยันว่าเจ้าหน้าที่บริษัทประพฤติผิดจริง

ต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช.ดำเนินการไต่สวน และมีมติชี้มูลความผิดเจ้าหน้าที่รัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้องเมื่อปี 2562 โดยระบุว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติชี้มูลความผิดเจ้าหน้าที่ของรัฐ 4 ราย กรณีร่วมกันเรียกรับเงินจำนวน 20 ล้านบาท จากบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น ที่รับว่าจ้างก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนอม จ.นครศรีธรรมราช แลกกับการอนุญาตให้ใช้ท่าเทียบเรือชั่วคราวบริเวณโรงไฟฟ้า ตลอดจนให้เรือลำเลียงเข้าเทียบท่าเพื่อขนถ่ายชิ้นส่วนของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าโดยไม่ชอบ และชี้มูลความผิด บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) รวมถึงผู้บริหารระดับสูงของบริษัท อีก 2 ราย ในฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้ง 4 รายในการกระทำความผิดดังกล่าว

อย่างไรก็ดีบริษัท ซิโน-ไทยฯ ได้ออกแถลงการณ์ปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว โดยนายภาคภูมิ ศรีชำนิ เคยชี้แจงต่อสาธารณะว่า ไม่เคยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบ และมั่นใจว่าสามารถชี้แจงแสดงหลักฐานโต้แย้งการถูกกล่าวหาข้างต้นได้ และบริษัทขอยืนยันจะสู้จนถึงที่สุด

ต่อมาปลายปี 2563 คณะกรรมการ ป.ป.ช.เสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 เสียงมีมติ ไม่ฟ้องบริษัท ซิโน-ไทยฯ และตัวแทนผู้มีอำนาจรวม 3 ราย ในคดีนี้ เนื่องจากเห็นว่า มีการแจ้งข้อกล่าวหาไม่ตรงตัวบทกฎหมายตั้งแต่ต้น เพราะตามข้อเท็จจริงในสำนวนต้องแจ้งความผิดฐานเป็นผู้ให้สินบน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 แต่กลับมีการแจ้งข้อกล่าวหาผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่รัฐรับสินบน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 ดังนั้นหากส่งฟ้องศาลไป ผู้ถูกกล่าวหาในกลุ่มเอกชนอาจพ้นผิด ส่งผลให้มีการฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐ 4 คนเพียงอย่างเดียว โดยเมื่อปี 2565 ศาลอาญาคดีทุจริต และประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษาจำคุกเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องไปหมดแล้ว

ทั้งหมดคือ ข้อมูลเกี่ยวกับคดีสินบนข้ามชาติในไทยตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน วัดฝีมือ “รัฐบาลแพทองธาร” จะฝ่าบทพิสูจน์ “รัฐบาลปราบโกง” ได้หรือไม่ ต้องติดตาม

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์