นิติสงคราม 3 ฝ่าย‘แก้รธน.’ พท.เกราะป้อง'นายกฯอิ๊งค์' -ปชน.เล่นบท'ถูกกระทำ'

นิติสงคราม 3 ฝ่าย‘แก้รธน.’ พท.เกราะป้อง'นายกฯอิ๊งค์'  -ปชน.เล่นบท'ถูกกระทำ'

จับตา “ศึกนิติสงคราม” ระหว่างฝ่าย “นิติบัญญัติ-บริหาร”และ“ฝ่ายตุลาการ” กำลังก่อตัวขึ้นเป็นระยะ ตอกย้ำชัดด้วยสัญญาณจากฝ่ายการเมือง ถึงความพยายามในการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 

KEY

POINTS

  • “ศึกนิติสงคราม” ระหว่างฝ่าย “นิติบัญญัติ-บริหาร”และ“ฝ่ายตุลาการ”  ตอกย้ำชัดด้วยสัญญาณ “ขั้วรัฐบาล”และ“ขั้วฝ่ายค้าน” ถึงความพยายามในการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 
  • “พรรคเพื่อไทย”  มีบทเรียน คดี“เศรษฐา ” ที่ถูกตีตราด้วยคำว่า “ไร้จริยธรรม” หรือคำว่า “ไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์” ที่จะติดตัวไปถึงบทบาทต่างๆ หลังจากนี้ จึงจำต้องสร้างเกราะป้องกันนายกฯแพทองธาร ชินวัตร เพราะไม่เช่นนั้น อาจสุ่มเสี่ยงทำให้อำนาจเปลี่ยนมือไปยังพรรคอื่นได้โดยง่าย 
  • “พรรคประชาชน” ที่เวลานี้กำลังเล่นบทเป็นฝ่าย“ผู้ถูกกระทำ” ชิงจังหวะเสนอเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 โดยไล่ย้อนหลังไปถึงยุครัฐประหาร 2549 อันเป็นเสมือนต้นทางด่านแรก
  • สัญญาณมาจาก ประธานรัฐสภา “วันนอร์” ประเมินเบื้องต้นว่า เร็วสุดการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เป็นรายมาตรา น่าจะเกิดขึ้นในช่วงกลางเดือน ต.ค.2567

“ศึกนิติสงคราม” ระหว่างฝ่าย “นิติบัญญัติ-บริหาร”และ“ฝ่ายตุลาการ” กำลังก่อตัวขึ้นเป็นระยะ ตอกย้ำชัดด้วยสัญญาณจากฝ่ายการเมืองทั้งที่อยู่ใน “ขั้วรัฐบาล”และ“ขั้วฝ่ายค้าน” ถึงความพยายามในการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 

โดยเฉพาะ “พรรคเพื่อไทย” ในฐานะแกนนำรัฐบาล ซึ่งมีบทเรียนกรณีศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยให้“เศรษฐา ทวีสิน”พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากกรณีแต่งตั้ง“พิชิต ชื่นบาน” เป็นรัฐมนตรี  ซึ่งศาลได้วางมาตรฐาน“จริยธรรม”ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรี หรือ สส.ไว้สูงลิบ

อีกทั้งเวลานี้ ยังเกิดข้อถกเถียงถึงผลคำวินิจฉัย 14 ส.ค. 2567 ทั้งคำว่า“จริยธรรม” รวมถึงคำว่า“ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์” ที่กลายเป็นคำถามปลายเปิด ตีความได้อย่างกว้างขวาง จนเข้าทางเกมบรรดา “นักร้องเรียนรายวัน”  ในการยื่นร้องหน่วยงานต่างๆ ไม่หยุดหย่อน

จึงไม่แปลกที่เวลานี้ จะมีสัญญาณล่าสุดจาก “พรรคเพื่อไทย” เปิด 6 ประเด็นในการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติมเป็นรายมาตรา ประกอบด้วย

1.แก้ไขมาตรา 98 (7) ว่าด้วยการกำหนดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น สส.ซึ่งห้ามบุคคลที่ต้องโทษจำคุก โดยพ้นโทษไม่ถึง 10 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดที่ทำโดยประมาท หรือลหุโทษ ให้รวมถึงความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วย

2. แก้ไขมาตรา 160 ว่าด้วยคุณสมบัติของรัฐมนตรีใน 3 ประเด็น คือ (4) ว่าด้วยมีความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์ โดยแก้ไขให้เป็น “ไม่มีพฤติกรรมหรือการกระทำที่ประจักษ์ว่า ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต” โดยกำหนดให้ใช้บังคับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไขบังคับใช้

นิติสงคราม 3 ฝ่าย‘แก้รธน.’ พท.เกราะป้อง\'นายกฯอิ๊งค์\'  -ปชน.เล่นบท\'ถูกกระทำ\'

(5) ไม่มีพฤติกรรมที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง โดยแก้ไขให้ชัดเจนว่า ต้องเป็นคดีที่อยู่ระหว่างการดำเนินการในศาลฎีกา และ (7) ว่าด้วยไม่ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอลงโทษ เว้นแต่ทำผิดโดยประมาท ความผิดลหุโทษหรือ ความผิดฐานหมิ่นประมาท แก้ไขให้นำกรณีดังกล่าวเป็นเหตุความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 170 แทน

3.แก้ไขกลุ่มมาตราที่เกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริตและจริยธรรมที่กำหนดเป็นคุณสมบัติของรัฐมนตรี คือ มาตรา 201 มาตรา202 มาตรา 222 มาตรา 228 มาตรา 232 มาตรา 238 และ มาตรา246

4.แก้ไข มาตรา 211 ว่าด้วยมติของศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยคดีต่างๆ ที่กำหนดให้ถือเสียงข้างมาก แก้ไขโดยกำหนดเงื่อนไข กรณีเป็นคำวินิจฉัยให้สมาชิกภาพ สส.-สว. สิ้นสุดลง หรือความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว และการวินิจฉัยว่ามีการฝ่าฝืนตามมาตรา 144 ให้ใช้เสียง 2 ใน 3 ของตุลาการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ และแก้ไขเรื่องคำวินิจฉัยที่ผูกพันกับทุกองค์กรนั้นให้เฉพาะคำวินิจฉัยที่เป็นประเด็นหลักโดยตรงของเรื่องที่วินิจฉัยเท่านั้นที่จะผูกพัน

5.แก้ไข 235 ว่าด้วยอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่เกี่ยวกับการพิจารณาคดีของสส. ซึ่งต้องส่งให้ศาลฎีกาในประเด็นมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ที่กำหนดให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งโดยไม่มีกำหนดเวลา และเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งอีกไม่เกิน 10 ปี โดยแก้ไขระยะเวลา การเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง 5 แต่ไม่มีการเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง

นิติสงคราม 3 ฝ่าย‘แก้รธน.’ พท.เกราะป้อง\'นายกฯอิ๊งค์\'  -ปชน.เล่นบท\'ถูกกระทำ\'

6.แก้ไข มาตรา 255 ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรรมนูญ ซึ่งเติมความเป็นวรรคสอง ให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับฉบับใหม่สามารถทำได้

และแก้ไขมาตรา 256 (8) กำหนดรายละเอียดของบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ต้องผ่านการออกเสียงประชามติ คือ แก้ไขเพิ่มเติมหมวด1 บททั่วไป หมวด2 พระมหากษัตริย์ และการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เท่านั้น ซึ่งได้ตัดเงื่อนไข ในประเด็นการแก้ไขเกี่ยวกับคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจของศาลหรือองค์กรอิสระ หรือ เรื่องที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติหน้าที่หรืออำนาจนั้นได้ออก

 มาตรา 160 บทเรียนหลอนเพื่อไทย

ปฏิเสธไม่ได้ว่า คดีนายกฯเศรษฐาที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยพ้นจากตำแหน่ง หลังนั่งเก้าอี้ได้เพียง 358 วัน ซ้ำยังถูกตีตราด้วยคำว่า “ไร้จริยธรรม” หรือคำว่า “ไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์” ที่จะติดตัวไปถึงบทบาทต่างๆ หลังจากนี้ 

 หลายฝ่ายพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เป็น“อุบัติเหตุการเมือง” ที่อยู่เหนือความคาดหมาย ซึ่งพรรคเพื่อไทยย่อมรู้ดีถึงบทเรียนที่เกิดขึ้นจึงจำต้องสร้างเกราะป้องกันนายกฯแพทองธาร ชินวัตร ตั้งแต่การฟอร์มทีมครม.ชุดปัจจุบัน ที่มีบางรายไม่ได้ไปต่อ ส่วนบางรายแม้ไม่มีคดีติดตัว แต่หากเลือกที่จะลุยไฟเสนอชื่อ ย่อมไม่แคล้วจะถูกสารพัดเกมไล่ล่าจากฝ่ายค้าน-ฝ่ายแค้น ตามมาเล่นงานในภายหลังได้ 

หรือแม้แต่ การเสนอแก้ไขมาตรา 160 ว่าด้วยคุณสมบัติของรัฐมนตรี ซึ่งเป็นปฐมเหตุทำให้เศรษฐาต้องหลุดเก้าอี้ ย่อมหวังผลไปถึงการสร้างเกราะป้องกันสถานะนายกฯของแพทองธาร 

เพราะไม่เช่นนั้น อาจสุ่มเสี่ยงทำให้อำนาจเปลี่ยนมือไปยังพรรคอื่นได้โดยง่าย หากเป็นเช่นนั้นอำนาจที่ว่า "รอมชอม" ถึงเวลาจริงก็อาจแปรเปลี่ยนไป

 พรรคประชาชนชง"ริบอำนาจป.ป.ช."

ไม่ต่างจาก “ขั้วฝ่ายค้าน” อย่าง “พรรคประชาชน” ที่ได้รับผลไม้พิษจากคดียุบพรรคก้าวไกล จากกรณีการเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อีกทั้วเวลานี้ยังมีดาบสองจ่อ นั่นคือ"คดีจริยธรรมร้ายแรง"ที่ค้างอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)

เจาะลึกไปที่ร่างรัฐธรรมนูญ “เวอร์ชั่นสีส้ม” ที่ได้ยื่นร่างแก้ไขต่อ “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” ประธานรัฐสภา แล้ว มีทั้งประเด็นการลบล้างผลพวงจากรัฐประหาร ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ยกเลิกมาตรามาตรา 279 ที่เกี่ยวกับประกาศและคำสั่ง คสช.รวมถึงเพิ่มหมวดการป้องกันรัฐประหาร

รวมทั้งร่างแก้ไขเพิ่มเติมที่กำลังดำเนินการ คือการแก้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ โดยมี 2 ประเด็น ได้แก่ 

1.ทบทวนแก้ไขอำนาจการยุบพรรค ซึ่งจะต้องมีการยื่นร่างแก้ไข พ.ร.ป.พรรคการเมือง เพื่อให้สถาบันการเมืองยึดโยงกับประชาชน รวมถึงเงื่อนไขการยุบพรรค 

และ 2.ทบทวนอำนาจเกี่ยวกับมาตรฐานทางจริยธรรม ที่ถูกเพิ่มเช้ามาในรัฐธรรมนูญ 2560

 รื้อรัฐธรรมนูญ 2560 ล้างมรดกคสช.

อย่างที่รู้กันว่า ประเด็น “จริยธรรมนักการเมือง” ถือเป็นผลพวงมาจากรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ออกโดยรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)

เหนือไปกว่านั้น หลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ไม่ถึงปี ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ก็จัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมเสร็จ ใช้ชื่อว่า “มาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ” ประกาศใช้เมื่อ 30 ม.ค.2561

ที่สำคัญคือมาตรฐานทางจริยธรรมดังกล่าวนี้ ยังใช้บังคับกับ สส. สว. และครม.ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 219 วรรคสองอีกด้วย  

หลังจากนั้น ก็มีนักการเมืองที่ถูก “ยาแรง” ด้วยข้อกล่าวหาผิดมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง มาแล้วหลายราย ส่งผลให้นักเลือกตั้งที่เข็ดขยาดเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ยิ่งเพิ่มดีกรีมากขึ้น จากคดี "เศรษฐา" ล่าสุด

นิติสงคราม 3 ฝ่าย‘แก้รธน.’ พท.เกราะป้อง\'นายกฯอิ๊งค์\'  -ปชน.เล่นบท\'ถูกกระทำ\'

ไม่ต่างจาก“พรรคประชาชน” ที่เวลานี้กำลังเล่นบทเป็นฝ่าย“ผู้ถูกกระทำ” ชิงจังหวะเสนอเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 โดยไล่ย้อนหลังไปถึงยุครัฐประหาร 2549 อันเป็นเสมือนต้นทางด่านแรก ผ่าน 4 วาระ ลบล้าง"มรดก”รัฐประหาร 2549 ที่เสนอไปยังรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็น

วาระ 1 ปฏิรูปกองทัพ จากการที่ สนช. 2549 ออก พ.ร.บ. ระเบียบราชการกลาโหม 2551 

วาระ 2 ทบทวนบทบาทของ กอ.รมน. จากการที่ สนช. 2549 ออก พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงภายในฯ พ.ศ. 2551 ฟื้นคืนชีพ กอ.รมน. ให้เข้ามารับผิดชอบภารกิจเรื่อง “ความมั่นคงภายใน”

วาระ 3 กระจายอำนาจ จากการที่ สนช. 2549 แก้ไขมาตรา 30 ของ พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ ยกเลิกข้อความที่เคยกำหนดว่ารัฐบาลจะต้องเพิ่มสัดส่วนรายได้ท้องถิ่นเป็น 35% ภายในปีไหน จนทำให้ตัวเลขดังกล่าวลดมาอยู่ที่ 29.1% 2 ปีติด ภายใต้รัฐบาลเศรษฐา

วาระ 4 ป้องกันรัฐประหาร โดยเตรียมเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื้อหาสำคัญคือการยกเลิกมาตรา 279 ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560

ล่าสุดมีสัญญาณมาจาก ประธานรัฐสภา “วันนอร์” ประเมินเบื้องต้นว่า เร็วสุดการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เป็นรายมาตรา น่าจะเกิดขึ้นในช่วงกลางเดือน ต.ค.2567

ระหว่างนี้ ต้องจับตา“นิติสงคราม”ที่กำลังก่อตัวขึ้นเป็นระยะ น่าจะมีอีกหลายช็อตให้ต้องจับตา หลังจากนี้!