ชำแหละวิกฤติความมั่นคง โจทย์ใหญ่ ‘รัฐบาลแพทองธาร’

ชำแหละวิกฤติความมั่นคง  โจทย์ใหญ่ ‘รัฐบาลแพทองธาร’

สถานการณ์ความมั่นคงไทย ที่มีปัจจัยทั้ง ในและนอก ประเทศ คือ โจทย์ใหญ่ที่นายกฯ “แพทองธาร” ต้องเร่งทำให้บรรลุเป้าหมาย ก่อนเผชิญปัญหา-ความขัดแย้งใหม่ในรูปแบบเก่า

KEY

POINTS

 Key Point : 

  • นักศึกษาหลักสูตรความมั่นคง 5 รุ่น นำเสนอ สถานการณ์ความมั่นคง ที่ "รัฐบาล-แพทองธาร" ต้องเผชิญในห้วง5 ปี (2566-2570)
  • ถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่ ต้องเร่งแก้ไข ก่อนปัญหาสะสม และลามเป็นความขัดแย้ง
  • ผลการศึกษา พบว่าสถานการณ์ความมั่นคง ยังวนเวียนในประเด็น การเมือง ทว่าไม่ใช่การเมืองในประเทศเท่านั้น
  • เพราะยังรวมถึงการเมืองนอกประเทศ ในระดับประเทศเพื่อนบ้านและ ระดับสากล ที่ประเทศมหาอำนาจอยู่ในภาวะตึงเครียด
  • นอกจากปัญหาแล้วยังมีข้อเสนอแนะ ที่ขีดเส้นไฮไลต์ คือ สร้างความร่วมมือระหว่างพรรคการเมือง รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นในระบอบการปกครองเป็นธรรม โปร่งใส

นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ.2566-2570 ถูกบรรจุไว้ในหนังสือยุทธศาสตร์ทหาร พ.ศ.2567-2576 เป็นส่วนหนึ่งการแถลงผลการศึกษาเพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติ หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่นที่ 66 รวมทั้งวิทยาลัยเสนาธิการทหาร (วสท.) รุ่นที่ 65 วิทยาลัยการทัพบก (วทบ.) รุ่นที่ 69 วิทยาลัยการทัพเรือ (วทร.) รุ่นที่ 56 และวิทยาลัยการทัพอากาศ (วทอ.) รุ่นที่ 58

การประเมินสถานการณ์ความมั่นคงไทย 5 ปี(2566-2570)นับต่อจากนี้ เปรียบเหมือนโจทย์ใหญ่ที่นายกฯ “แพทองธาร ชินวัตร” ต้องเร่งดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ ความมั่นคงภายในและภายนอก ห้วงระยะที่ 2 คือ “ปัญหาเก่าหมดไป ปัญหาใหม่ไม่เกิด”

เพราะความท้าทายที่ “รัฐบาลแพทองธาร” ต้องเผชิญประเด็นความมั่นคงภายใน เนื่องจากปัจจุบันความศรัทธาต่อสถาบันหลักของชาติ มีแนวโน้มรุนแรง และขยายเป็นวงกว้างมากขึ้น กลุ่มที่มีแนวคิดต่อต้านสถาบันที่กล้าแสดงออกพื้นที่สาธารณะ และออนไลน์ รูปแบบทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ บิดเบือน เสียดสี พาดพิง เสี่ยงเผชิญหน้าคนเห็นต่าง นำไปสู่การใช้ความรุนแรง ขยายตัวหลากหลายอาชีพ หลายช่วงวัย

ในขณะที่คนในสังคมมีความแตกแยกอุดมการณ์สุดขั้ว มีการแบ่งกลุ่ม พวกเขา พวกเรา อาจนำไปสู่การใช้ความรุนแรงต่อกัน โดยมีสาเหตุจากแนวคิด อุดมการณ์การเมือง ความเชื่อ ศาสนา โดยความเคลื่อนไหวพื้นที่ออนไลน์ พื้นที่สาธารณะ ควบคู่การยื่นหนังสือสถานเอกอัครราชทูตประเทศต่างๆ องค์กรระหว่างประเทศ

ชำแหละวิกฤติความมั่นคง  โจทย์ใหญ่ ‘รัฐบาลแพทองธาร’

แนวโน้มกลุ่มที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ โครงการรัฐ จะออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้แก้ปัญหา ในกรณีที่ไม่ได้รับการตอบสนองก่อให้เกิดผลกระทบต่อภาพลักษณ์รัฐบาล เช่น การชุมนุม การประท้วง การจัดกิจกรรมยกระดับข้อเรียกร้องในสังคมออนไลน์

ส่วนปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ มีความพยายามจัดตั้ง ฟื้นฟู กลุ่มใช้ความรุนแรงรุ่นใหม่มาทดแทน แต่ขีดความสามารถยังไม่เทียบเท่ารุ่นเก่า กลุ่มผู้ก่อเหตุยังเห็นประโยชน์การเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิในการปกครองตนเอง และความพยายามเชื่อมโยงการเมืองระดับพื้นที่และระดับประเทศไว้ด้วยกัน เรียกร้องให้มีระบบการปกครองแบบจัดการตนเอง

ในขณะที่ ความมั่นคงระหว่างประเทศ ไทยยังต้องเผชิญปัญหาประเทศรอบบ้าน ทั้งกรณีการสู้รบระหว่าง เมียนมากับชนกลุ่มน้อย ส่งผลกระทบความมั่นคงที่สำคัญของไทย ทั้งความปลอดภัยของประชาชนตามแนวชายแดน ปัญหาผู้หนีภัยสู้รบ และแรงกดดันในการมีส่วนร่วมของไทย ในการแก้ไขปัญหาจากอาเซียนและประชาคมระหว่างประเทศ

ชำแหละวิกฤติความมั่นคง  โจทย์ใหญ่ ‘รัฐบาลแพทองธาร’

 มีความเป็นไปได้ ที่ไทยและประเทศรอบบ้านจะเกิดความขัดแย้งในระดับจำกัด จากปัญหาเส้นเขตแดนทั้งทางบกทางทะเล การแย่งชิงทรัพยากร แหล่งพลังงาน แม้ไม่มีสิ่งบอกเหตุการใช้กำลังทหารคุกคามต่อกัน แต่การพัฒนากองทัพและสะสมอาวุธของประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้เกิดความหวาดระแวงต่อกัน

เพราะปัจจุบันสถานการณ์กัมพูชา หลังพรรคประชาชนกัมพูชาของ “ฮุนเซน” ชนะการเลือกตั้ง 2566  และ “ฮุนมาเนต” มีบทบาทสานต่องานการเมือง โดยที่ผ่านมาถูกกล่าวหาใช้อำนาจปราบปรามคู่แข่งคนสำคัญ สื่ออิสระ และภาคประชาสังคม และยกประเด็นปัญหาพิพาทเขตแดนมาใช้ทางการเมือง

ส่วนความขัดแย้งในหลายพื้นที่ที่เกิดจากการแข่งกันประเทศมหาอำนาจ ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน เช่น ภูมิภาคอินโดแปซิฟิค ช่องแคบไต้หวัน ทะเลจีนใต้ อยู่ในสภาวะตึงเครียด ส่งผลเกิดความเปลี่ยนแปลงโครงสร้างขั้วอำนาจโลกในอนาคต

ดังนั้นการดำเนินยุทธศาสตร์การต่างประเทศของไทย ต้องให้ความสำคัญกับการรักษาสมดุลเชิงรุก ที่จะไม่เลือกข้างประเทศมหาอำนาจ แต่ใช้แนวทางปฏิบัตินิยมที่ยึดมั่นในหลักการ โดยแสดงจุดยืนในประเด็นที่จำเป็นต่อผลประโยชน์ของชาติ

ขณะเดียวกัน การพัฒนาเป็นมหาอำนาจระดับกลาง และมีบทบาทในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้อาเซียนเป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองให้ประเทศไทย เช่นเดียวกับการกระจายความเสี่ยงด้วยการสร้างสัมพันธ์ประเทศอื่น ลดการพึ่งพาประเทศมหาอำนาจเพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ช่วยให้ประเทศไทยมีศักยภาพพร้อมเผชิญกับความไม่แน่นอน

อย่างไรก็ตาม จากผลการศึกษาเพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติ หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่นที่ 66 ในเรื่องความมั่นคงที่ประเทศไทยต้องเผชิญ พร้อมให้ข้อเสนอแนะเป็นแนวทางให้ “รัฐบาลแพทองธาร” 

อาทิ ประเทศไทยเปลี่ยนรัฐบาลบ่อยครั้งและมีความขัดแย้งทางการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคง ดังนั้นควรเสริมสร้างการเมืองให้มีเสถียรภาพ เช่น การส่งเสริมประชาธิปไตย มีการเลือกตั้งเป็นธรรม สร้างความร่วมมือระหว่างพรรคการเมือง รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นในระบอบการปกครองเป็นธรรม โปร่งใส

ชำแหละวิกฤติความมั่นคง  โจทย์ใหญ่ ‘รัฐบาลแพทองธาร’

นโยบายต่างประเทศ ไทยมีความสัมพันธ์ทางทหาร เศรษฐกิจ กับหลายประเทศ รวมถึงสหรัฐฯ จีน ซึ่งทั้งสองประเทศมีบทบาทสำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้น ควรสร้างสมดุลรักษาสัมพันธ์ 2 ประเทศ โดยไม่ให้ประเทศใดมีอิทธิพลเหนือกว่าจนเกินไป

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่ง จากผลการศึกษาของนักศึกษา วปอ.รุ่น 66 ที่นำเสนอต่อรัฐบาล เป็นแนวทางบริหารราชการแผ่นดินและแก้ไขปัญหาในอนาคตต่อไป.