เปิด 'ร่างแก้รธน.' ฉบับ 'ปชน.' รื้อจริยธรรม-ตัดอำนาจ 'ป.ป.ช.' สอบจริยธรรมสส.

เปิด 'ร่างแก้รธน.' ฉบับ 'ปชน.' รื้อจริยธรรม-ตัดอำนาจ 'ป.ป.ช.' สอบจริยธรรมสส.

เปิดร่างแก้รธน.รายมาตรา ของ “ปชน.” แก้ 10 มาตรา หั่นปมจริยธรรมสุดซอย ทั้งนักการเมือง-ตุลาการศาลรธน. ตัดอำนาจ “ป.ป.ช.” สอบจริยธรรม เพิ่มฟาสแทร็ก สอบ “ป.ป.ช.” พร้อมคลายโทษประหารชีวิตทาง

ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า เว็ปไซต์ของรัฐสภา ได้เผยแพร่รายละเอียดของร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ... (แก้ไขเพิ่มเติมคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานจริยธรรม) ซึ่งเป็นฉบับที่สส.ของพรรคประชาชนยื่นเสนอ เมื่อวันที่ 24 ก.ย.

โดยมีเนื้อหาและสาระของการแก้ไขมีรายละเอียดสำคัญ คือ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติม ใน 4 ประเด็น คือ คุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ บทบัญัติที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานจริยธรรม การเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง และการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง  และ กระบวนการร้องเรียนกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

ทั้งนี้การเสนอร่างแก้ไขดังกล่าวให้เหตุผลไว้ด้วยว่า การกำหนดคุณสมบัติและการกระทำของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ต้องเป็นไปตามมาตรฐานจริยธรรม ที่ถูกกำหนดโดยศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ มีลักษณะเป็นนามธรรม เปิดช่องให้ตีความหลากหลายยและกว้างขวาง ซึ่งนำไปสู่การใช้ดุลยพินิจที่ไม่เป็นธรรม หรือ เสี่ยงถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ผิดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และขัดกับหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ขณะที่บทบัญญัติที่เกี่ยวกับการเข้าชื่อร้องเรียน ป.ป.ช.  กำหนดขั้นตอนที่เปิดช่องให้ใช้ดุลยพินิจที่ไม่เป็นธรรม

ขณะที่รายละเอียดมาตราที่ถูกแก้ไขเพิ่มเติมมีทั้งสิ้น 10 มาตรา  ได้แก่

  • หั่น เกณฑ์คุณสมบัติ รัฐมนตรี ซื่อสัตย์-ไม่ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรม

แก้ไขมาตรา 160 ว่าด้วยคุณสมบัติของรัฐมนตรี โดยตัด (4) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์  และ (5) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ออกไป

แก้ไขมาตรา 168 ว่าด้วยการให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่พ้นจากตำแหน่งให้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ภายใต้เงื่อนไขต่างๆ โดยได้ตัดถ้อยคำที่โยงกับ มาตรา 160 (4) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และ (5) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรงออกไป

แก้ไขมาตรา 186  ในหมวดการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ซึ่งกำหนดให้นำเงื่อนไขที่กำหนดให้ สส. และสว. ปฏิบัติหน้าที่ มาบังคับใช้กับรัฐมนตรี โดยได้ตัดถ้อยคำในวรรคท้าย ที่ระบุโยงการกระทำที่กำหนดไว้ในมาตรฐานทางจริยธรรม ออกไป

  • ตุลาการศาลรธน. ถูกแก้ ปมจริยธรรม - ริบอำนาจมาตรฐานจริยธรรม ใช้กับนักการเมือง

แก้ไขมาตรา  201 ว่าด้วยคุณสมบัติของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยตัด (4) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ออกไป

แก้ไขมาตรา 202 ว่าด้วยลักษณะต้องห้ามของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยตัด (10) มีพฤติการณ์อันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ออกไป

แก้ไขมาตรา 208 ว่าด้วยการพ้นจากตำแหน่งของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้แก้ (5) ที่กำหนดให้พ้นตำแหน่งเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้พ้นจากตำแหน่งด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ เพราะเหตุฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้แก้ไขเป็น “ศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้พ้นจากตำแหน่งตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ”

แก้ไขมาตรา 219 ว่าด้วยบทบัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระร่วมกันกำหนดมาตรฐานจริยธรรมใช้บังคับ ที่ครอบคลุมให้ใช้กับ สส. สว. และครม. ได้แก้ไขให้เป็น “ให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระต่างมีอำนาจกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรรมที่ใช้บังคับกับผู้ดำรงตำแหน่งและหัวหน้างานหน่วยธุรการขององค์กรตนเอง”

  • ตัดอำนาจ ป.ป.ช. สอยจริยธรรม ลดโทษประหารชีวิตทางการเมือง

แก้ไขมาตรา 234 ว่าด้วย หน้าที่และอำนาจของ ป.ป.ช.  โดยตัดถ้อยคำใน (1) ที่กำหนดให้ ป.ป.ช.มีอำนาจไต่สวนและมีความเห็นกรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ออก  และตัด (4) ว่าด้วยหน้าที่และอำนาจอื่นที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายออก

แก้ไข มาตรา 235 ว่าด้วยการตรวจสอบ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มีพฤติกรรมร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดขั้นตอนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ  โดยได้ตัด (1) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ให้เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัย

นอกจากนั้นยังแก้ไขในส่วนของบทกำหนดโทษ ที่ให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้ที่ถูกพิพากษา จากเดิมที่กำหนดเวลา 10 ปี เป็น 5 ปี และตัดการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งออก ทำให้บทลงโทษดังกล่าวเหลือเพียงการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง 5 ปี เท่านั้น และยังแก้บทลงโทษของผู้ถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ที่รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดโทษ ตัดสิทธิลงเลือกตั้ง สส. สว. สมาชิกท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นตลอดชีวิต และไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ แก้ไขระยะเวลาเป็นไม่เกิน 5 ปี

  • เพิ่มฟาสแทร็ก สอบ "ป.ป.ช." ปมร่ำรวยผิดปกติ ทุจริต

แก้ไขมาตรา 236 ว่าด้วยการตรวจสอบ ป.ป.ช. ที่ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งให้สิทธิ สส.สว. หรือ ประชาชนไม่น้อย 2หมื่นคนเข้าชื่อ และยื่นต่อประธานรัฐสภา ทั้งนี้ได้แก้ไข ในส่วนของหน้าที่ของประธานรัฐสภา จากเดิมที่กำหนดให้ ประธานรัฐสภาใช้ดุลยพินิจพิจารณาว่ามีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำตามที่ถูกกล่าวหา ก่อนส่งไปยังประธานศาลฎีกา ให้ตั้งคณะผู้ไต่สวนอิสระ แต่การแก้ไขของพรรคประชาชน กำหนดเป็นบทบังคับให้ “ประธานรัฐสภาเมื่อรับเรื่องแล้ว ต้องเสนอเรื่องไปยังประธานศาลฏีกาเพื่อตั้งคณะผู้ไต่สวนอิสระ” ถือเป็นการกำหนดให้ประธานรัฐสภามีหน้าที่เป็นเพียงบุรุษไปรษณีย์เท่านั้น 

ทั้งนี้ในรายละเอียดของเนื้อหาดังกล่าวนั้น ทางพรรคประชาชนเตรียมแถลงรายละเอียดอีกครั้งในเร็วๆ นี้.