แก้รธน.‘จริยธรรม’ส่อสุดซอย ‘สภาผัวเมีย-นิรโทษกรรม’บทเรียน ‘2นายกฯชินวัตร’

แก้รธน.‘จริยธรรม’ส่อสุดซอย ‘สภาผัวเมีย-นิรโทษกรรม’บทเรียน ‘2นายกฯชินวัตร’

ถอดรหัสแก้รธน.‘จริยธรรม’เสี่ยงสุดซอย ย้อนรอย ‘สภาผัวเมีย-นิรโทษกรรม’ บทเรียน ‘2นายกฯชินวัตร’ เช็กสัญญาณ‘เพื่อไทย-พรรคร่วมรัฐบาล’ส่งสัญญาณถอย

KEY

POINTS

  • “เดจาวู” รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ปมร้อนแก้รัฐธรรมนูญวนลูป 
  • ปมแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวดจริยธรรมของพรรคเพื่อไทย ถูกมองว่าไม่ต่างอะไรจากการสร้าง“เกราะป้องกัน” ให้กับ “นายกฯอิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร เพื่อไม่ให้เพลี่ยงพล้ำเป็นรอบที่สอง ต่อจาก  “เศรษฐา ทวีสิน”
  • ลำพังแค่เสียงพรรคร่วมรัฐบาลที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดใน “สภาล่าง” หากเห็นพ้องต้องกัน ก็คงผ่านฉลุยไม่มีอะไรน่ากังวล ทว่าเมื่อจับสัญญาณการเช็กแถว“พรรคร่วม”รวมถึงสัญญาณ นอก “ขั้วอำนาจ” ภายใต้ "ซูเปอร์ดีล" ต่างๆเวลานี้อาจไม่เป็นเช่นนั้น
  • ย้อนรอยจาก“สภาผัวเมีย-นิรโทษกรรม”สู่ "จริยธรรม” ปมเสี่ยงซ้ำรอยนายกฯ "ชินวัตร" 
  • หากการเมืองวนลูปกลับไป เหมือนยุคอดีตอีกครั้ง อำนาจที่ดูเหมือนรอมชอมเวลานี้ อาจกลับกลายเป็นพรรคเพื่อไทย และ“นายกฯอิ๊งค์” จะเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำเสียเองทำไปทำมาจะไปเข้าทางอำนาจบางกลุ่มที่จ้อง “ล้มกระดาน” ในท้ายที่สุด

“เดจาวู” รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ปมร้อนแก้รัฐธรรมนูญวนลูป ฝุ่นควันการเมืองส่อแววคุกรุ่นอีก? 

 “6 ประเด็นร้อน” ซึ่งพรรคเพื่อไทย “ซุ่มเงียบ” เสนอร่างแก้ไข ต่อ “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” ประธานสภาผู้แทนราษฎร ไปเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา 

ไฮไลต์สำคัญ อยู่ที่ประเด็น“จริยธรรม” ผู้ดำรงตำแหน่งการเมือง ทั้งการแก้ไขมาตรา 160 ว่าด้วยคุณสมบัติของรัฐมนตรี(4) ว่าด้วยมีความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์ โดยแก้ไขให้เป็น “ไม่มีพฤติกรรมหรือการกระทำที่ประจักษ์ว่า ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต” โดยกำหนดให้ใช้บังคับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไขบังคับใช้

ขณะที่ (5) ที่ระบุว่า ไม่มีพฤติกรรมที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง แก้ไขให้ชัดเจนว่า ต้องเป็นคดีที่อยู่ระหว่างการดำเนินการในศาลฎีกาและ (7) ว่าด้วยไม่ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอลงโทษ เว้นแต่ทำผิดโดยประมาท ความผิดลหุโทษหรือ ความผิดฐานหมิ่นประมาท แก้ไขให้นำกรณีดังกล่าวเป็นเหตุความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 170 แทน

นอกจากนี้ ยังเสนอแก้ไขกลุ่มมาตราที่เกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริตและจริยธรรมที่กำหนดเป็นคุณสมบัติของรัฐมนตรี คือ มาตรา 201 มาตรา 202 มาตรา 222 มาตรา 228 มาตรา 232 มาตรา 238 และมาตรา246

แก้รธน.‘จริยธรรม’ส่อสุดซอย ‘สภาผัวเมีย-นิรโทษกรรม’บทเรียน ‘2นายกฯชินวัตร’

 

แน่นอนว่า ปมแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวดจริยธรรมของพรรคเพื่อไทย ถูกมองว่าไม่ต่างอะไรจากการสร้าง“เกราะป้องกัน” ให้กับ “นายกฯอิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร เพื่อไม่ให้เพลี่ยงพล้ำเป็นรอบที่สอง ต่อจาก  “เศรษฐา ทวีสิน” อดีตนายกรัฐมนตรี  ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญตีตราด้วยคำว่า“ไร้จริยธรรม”หรือคำว่า“ไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์”ที่จะติดตัวไปถึงบทบาทต่างๆ หลังจากนี้

 เพราะหากเป็นเช่นนั้นย่อมสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุการเมือง จนอำนาจเปลี่ยนมือไปยังพรรคอื่น แม้เวลานี้จะยังอยู่ในโหมดรอมชอมก็ตาม

สถานการณ์เช่นนี้ ย่อมต้องจับตารัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่เวลานี้ถือเสียงในสภาฯ 324 เสียง (จากเดิม 325 เสียง “สุวรรณา กุมภิโร”สส.บึงกาฬ พรรคภูมิใจไทย ถูกศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่เมื่อวันที่18 ก.ย.2567) ลำพังแค่เสียงพรรคร่วมรัฐบาลที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดใน “สภาล่าง” หากเห็นพ้องต้องกัน ก็คงผ่านฉลุยไม่มีอะไรน่ากังวล ที่เหลือก็แค่ลุ้น“สภาสูง” ที่ถูกปกคลุมด้วยสีน้ำเงิน 

สัญญาณพรรคร่วม"324เสียง" รื้อจริยธรรมฉลุย?

ทว่าเมื่อจับสัญญาณการเช็กแถว“พรรคร่วมรัฐบาล”รวมถึงสัญญาณนอก “ขั้วอำนาจ” ภายใต้ "ซูเปอร์ดีล" ต่างๆเวลานี้อาจไม่เป็นเช่นนั้น

“พรรคภูมิใจไทย” ซึ่งก่อนหน้านี้ “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯและรมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรค เคยพูดถึงประเด็นนี้ว่า หากแก้ไขเพื่อให้เกิดความชัดเจนก็ไม่ขัดข้อง

 ล่าสุดหลังการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 24 ก.ย.ที่ผ่านมา ทั้ง “นายกฯอิ๊งค์” และ “มท.หนู อนุทิน”ประสานเสียงชิงสยบเกม “กลับลำ” ของพรรคร่วมรัฐบาลในประเด็นดังกล่าว บอกว่า พรรคร่วมรัฐบาลยังไม่ได้พูดคุย ตอนนี้ขอโฟกัสการช่วยเหลือประชาชนก่อน

 สัญญาณไม่ปกติจาก “พลพรรคสีน้ำเงิน” จึงน่าสนใจว่า กำลังเล่นอีกหน้าหรือไม่?

แก้รธน.‘จริยธรรม’ส่อสุดซอย ‘สภาผัวเมีย-นิรโทษกรรม’บทเรียน ‘2นายกฯชินวัตร’

 โดยเฉพาะ “แก๊งยังบลัดภูมิใจไทย” นำโดย“ไชยชนก ชิดชอบ” สส.บุรีรัมย์ เลขาธิการพรรค กรวีร์ ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง ในฐานะกรรมการบริหารพรรค แนน บุณย์ธิดา สมชัย สส.อุบลราชธานี โฆษกพรรค ร่วมแถลงจุดยืนของพรรค คล้อยหลังไม่กี่ชั่วโมงถัดมาว่า มติที่ประชุมสส.ภูมิใจไทย “เห็นด้วย”กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เดินหน้าไปสู่การทำประชามติ

 เมื่อนักข่าวถามย้ำถึงประเด็นการแก้บางมาตราในเรื่องของจริยธรรม “ลูกแชมป์ กรวีร์” ย้ำเช่นเดิมว่า ถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญควรแก้ไขทั้งฉบับ คนแก้ต้องเป็นคนกลางจากทุกภาคส่วน ดังนั้น จุดยืนของพรรคตั้งแต่สมัยที่แล้ว เรายืนยันมาตลอดว่า หากจะแก้ไขธรรมนูญ ควรเดินไปสู่มาตรา 256 และยกร่างฉบับใหม่ทั้งฉบับ ยกเว้นแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2

นัยจากการตอบคำถามของ “กรวีร์” ที่ย้ำถึง 2 รอบ สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อเปิดทางให้มีการตั้ง ส.ส.ร. ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ถูกตีความว่า เป็นการ “คัดค้าน”การเสนอแก้ไขรายมาตรา โดยเฉพาะประเด็นจริยธรรมแบบมีชั้นเชิง โดยไม่มีคำว่า “คัดค้าน”อยู่ในคำแถลง

น่าสนใจว่า นอกเหนือจาก “กรวีร์” ที่ออกมาแสดงความเห็น ก่อนหน้ายังมีสัญญาณมาจาก “ภราดร ปริศนานันทกุล” รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่เวลานี้สวมหมวกรองประธานสภาผู้แทนราษฎร และเป็นพี่ชาย“กรวีร์” ที่จู่ๆ ออกมาให้ข่าวในนาม “สมาชิกรัฐสภา”

วันนั้น “ภราดร”พูดว่า มีคำถามว่า จริยธรรมเป็นไม้บรรทัดที่ต้องเข้มงวดกับนักการเมืองหรือไม่ ประชาชนมีมุมมองแบบไหน เป็นการแก้เพื่อผลประโยชน์ของนักการเมืองหรือไม่ นักการเมืองมองแทนประชาชนไม่ได้ คนพูดต้องเป็นประชาชน ดังนั้นต้องคิดให้รอบคอบ ต้องแก้เพื่อประโยชน์ของประชาชน โดยประชาชนเลือก ส.ส.ร. เขียนกติกา รวมถึงจริยธรรมด้วย จะเข้มงวดแค่ไหน

“ผู้มีส่วนได้เสียไปพูด สังคมไม่ฟัง เรื่องนี้คุยกับเพื่อนสส. บอกว่าอันตราย และเซนซิทีฟ ควรทำประชามติ”

จับจังหวะ“พรรคสีน้ำเงิน” ที่โยนบทให้ 2 พี่น้อง“ปริศนานันทกุล” ลูกชายบ้านใหญ่อ่างทอง แสดงท่าที “ไม่เห็นด้วย” กับการแก้รัฐธรรมนูญรายมาตราของพรรคเพื่อไทย ถือว่ามีนัยที่น่าสนใจ โดยเฉพาะ“ภราดร” ที่เวลานี้เป็นรองประธานสภาฯ มีหน้าที่ควบคุมอำนาจในส่วนของการพิจารณากฎหมายและวาระที่จะบรรจุเข้าสู่สภา อาจเป็นการส่งสัญญาณถึงเกมต่อรองอะไรบางอย่างหรือไม่ 

แก้รธน.‘จริยธรรม’ส่อสุดซอย ‘สภาผัวเมีย-นิรโทษกรรม’บทเรียน ‘2นายกฯชินวัตร’

"ปชป.-รทสช." จาก"สภาผัวเมีย-นิรโทษกรรม" สู่ "จริยธรรม”

ไม่ต่างจาก “พรรคประชาธิปัตย์” พรรคร่วมรัฐบาลป้ายแดง ล่าสุดมีสัญญาณมาจาก “ชัยชนะ เดชเดโช”รองหัวหน้าพรรค ประกาศชัด “ไม่สนับสนุนให้มีการแก้ไขจริยธรรม เพราะคนที่เข้าสู่ตำแหน่ง ทุกคนต้องยินดีที่จะให้ตรวจสอบมาตรฐานจริยธรรม และจริยธรรมที่มีอยู่”

แน่นอนว่า จังหวะ “ค่ายสีฟ้า” เวลานี้ กำลังเผชิญความท้าทายท่ามกลางวิกฤติ “คะแนนนิยม” และ“ความศรัทธา” ที่แทบไม่เหลือทุนเดิม หลังการพลิกขั้วร่วมรัฐบาลเพื่อไทย

หากยังจำกันได้ ในยุครัฐบาลเพื่อไทยในอดีต ขณะที่ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เป็นนายกฯ ในช่วงปลายรัฐบาลก็เคยเกิดเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกัน 

ไล่มาตั้งแต่การเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ2550 จำนวน 3 ฉบับ ประกอบด้วย  1.ร่างแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา68 ประเด็น “ห้ามไม่ให้สมาชิกพรรคการเมือง หรือ สส.ลงสมัคร สว. แต่หากจะลง ต้องพ้นจากการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง หรือสส.มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีถึงจะลงสมัครได้”

2.ร่างแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 115 เรื่องที่มา สว.(5)  ประเด็นคุณสมบัติต้องห้าม ที่ระบุว่า “ไม่เป็นบุพการี คู่สมรส หรือบุตรของผู้ดํารงตําแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง” 

3.ร่างแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 190 ว่าด้วยหนังสือสัญญาใด มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทย มีสิทธิอธิปไตย หรือมีเขตอํานาจตามหนังสือสัญญา หรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ

โฟกัสที่ร่างที่ 1 และ 2 คือเรื่องที่มา สว. และเรื่องโทษแบน 5 ปี การพิจารณาวาระแรก เพื่อไทยยังคงไว้ซึ่งคุณสมบัติต้องห้ามประเด็นดังกล่าว แต่ด้วยยี่ห้อเพื่อไทย ที่เวลานั้นครองเสียงข้างมาในสภาฯ เมื่อกฎหมายผ่านวาระแรก และเข้าสู่ชั้นคณะกรรมาธิการฯ กลับมีการแก้ไขด้วยการ “ตัดข้อความดังกล่าวออกทั้งหมด”

แก้รธน.‘จริยธรรม’ส่อสุดซอย ‘สภาผัวเมีย-นิรโทษกรรม’บทเรียน ‘2นายกฯชินวัตร’

เมื่อเสียงข้างน้อยโดยเฉพาะ “พรรคประชาธิปัตย์” ซึ่งเวลานั้นเป็นหัวขบวนพรรคฝ่ายค้าน และเป็นปฏิปักษ์ค่ายชินวัตร ไม่อาจทัดทานเสียงข้างมากได้ สุดท้ายต้องมาต่อสู้กันในรัฐสภา ในการลงมติรายมาตรา วาระที่ 2 

เวลานั้นพรรคฝ่ายค้านรวมถึง สว.ในขั้วอนุรักษนิยมได้รุมชำแหละประเด็นที่มา สว.เปรียบเปรยว่า เป็นการเปิดทางไปสู่การเป็น “สภาผัวเมีย” ในท้ายที่สุด

ด้วยสถานการณ์การเมืองที่สุกงอม ณ เวลานั้น พรรคเพื่อไทยรู้ดีถึงสัญญาณไม่ชอบมาพากล ในที่สุดจึงยอมถอยประเด็น“สภาผัวเมีย”และคงไว้ซึ่งคุณสมบัติต้องห้ามตามที่เสนอวาระแรก

"นิรโทษกรรม"วาทกรรมกลับบ้านแบบเท่ๆ

นอกเหนือจากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับที่เป็นเสมือนสารตั้งต้นการเมืองที่คุกรุ่นแล้ว ฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้พรรคเพื่อไทยและ “นายกฯยิ่งลักษณ์” ต้องหลุดจากอำนาจเนื่องจากการชุมนุมกลุ่มกปปส.นำมาสู่การรัฐประหารคือ การออก “กฎหมายนิรโทษกรรม”

ที่ขึ้นต้นเป็น“ฉบับประชาชน” พอเหลาไปเหลามา เป็น“ฉบับสุดซอย” เปิดทาง“นายใหญ่”พรรคเพื่อไทยกลับบ้าน“แบบเท่ๆ”

เมื่อเป็นเช่นนี้ พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งในอดีตเป็นปฏิปักษ์ค่ายชินวัตร และคัดค้านทั้งร่างรัฐธรรมนูญและกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับเพื่อไทยแบบดุเดือดในอดีต มาถึงเวลานี้ แม้จะแปรเปลี่ยนเป็นพรรคร่วมรัฐบาล แต่หากยังขืนอุ้มกฎหมายที่ถูกตั้งคำถาม ว่าจะกลายเป็น “ฉบับสุดซอย เวอร์ชั่น 2”

แน่นอนว่า นอกเหนือจากจะถูกตั้งคำถามถึงเกมผลประโยชน์ ภายใต้จุดยืนที่เปลี่ยนไปแล้ว ผลที่จะตามมา ก็จะมีแต่เสียกับเสีย จากที่คะแนนนิยมดิ่งลงอยู่แล้ว ทำไปทำมาจะกลับกลายเป็นว่าติดลบลงไปเรื่อยๆ

ไม่ต่างจาก “พรรครวมไทยสร้างชาติ” ที่เหล่าพลพรรคเคยอยู่หน้าฉากการเมืองยุครัฐบาลในอดีต แถมเวลานั้นยังเป็นปฏิปักษ์พรรคเพื่อไทย ที่ย่อมถูกตั้งคำถามไม่ต่างจากพรรคประชาธิปัตย์ หากยังขืนสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ"(ส่อ)สุดซอย" 

เป็นเช่นนี้ที่ประชุมสส.จึง มีมติร่วมกัน มาตรฐานทางจริยธรรมของนักการเมือง ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมีความเหมาะสมแล้ว เพื่อให้ได้นักการเมืองที่มีความซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส ไร้ประวัติด่างพร้อย ดังนั้น พรรครวมไทยสร้างชาติจึงมีมติไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรฐานทางจริยธรรมของนักการเมือง ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

ต้องยอมรับว่า พรรคเพื่อไทยในยุค “หลานอิ๊งค์” มีบทเรียนจากยุครัฐบาล “อาปู” มาแล้ว แม้เวลานี้จะคุมเสียงข้างมากในสภาฯ แต่คงต้องประเมินความคุ้มได้-คุ้มเสีย 

เพราะหากการเมืองวนลูปกลับไป เหมือนยุคอดีตอีกครั้ง อำนาจที่ดูเหมือนรอมชอมเวลานี้ อาจกลับกลายเป็นพรรคเพื่อไทย และ“นายกฯอิ๊งค์” จะเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำเสียเองทำไปทำมาจะไปเข้าทางอำนาจบางกลุ่มที่จ้อง “ล้มกระดาน” ในท้ายที่สุด