'สว.สายน้ำเงิน' ลับ ลวง พราง 'ยื้อ' รื้อ 'รัฐธรรมนูญ60'
มีสัญญาณ การ "แก้รธน.ทั้งฉบับ" โดย "สสร." จะถูกยื้อออกไป หลัง ของ "สว.สายน้ำเงิน" กลับลำ คืนเกณฑ์เสียงข้างมาก2ชั้นใน กฎหมายประชามติ
KEY
POINTS
Key Point :
- กมธ.ประชามติ วุฒิสภา ใช้การประชุมนัดสุดท้าย เพื่อทำรายงานเสนอต่อวุฒิสภา กลับลำ หนุนใช้ "เสียงข้างมาก2ชั้น" เพื่อแก้รัฐธรรมนูญ
- เรื่องนี้มีความแปลก ซึ่ง "นันทนา นันทวโรภาส" บอกว่า เป็นการกลับมติที่ประชุม ทั้งที่ลงมติชี้ขาด เรื่อง คำแปรญัตติ ของสว.ตัวตึงไปแล้ว
- ใช้จังหวะ "ทีเผลอ" และ "ชะล่าใจ" ลงให้ที่ประชุมกมธ. ที่มีแต่พวกตัวเอง ไม่มีคนค้าน ลงมติ 17 :1
- สัญญาณนี้ยังมองออกได้ว่า มติวุฒิสภาคงไม่ต่างกัน
- ผลต่อไปคือ จะทำให้ปฏิทินทำประชามติ เพื่อนำไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญญทั้งฉบับ ยืดออกไป อย่างน้อย 1 ปี
บันไดก้าวแรก ที่นำไปสู่การ “จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” ตามที่รัฐบาล ของ “พรรคเพื่อไทย” ปัดหมุดไว้ภายในเทอมของ “นายกฯ-แพทองธาร ชินวัตร” ดูท่าจะยืดยาวออกไป
เพราะ ขั้นตอนการทำ ประชามติ ขอความเห็นชอบจากประชาชน ตามไทม์ไลน์ ต้น ก.พ. 68 มีเรื่องลับ ลวง พราง ในชั้นการแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ที่ขณะนี้อยู่ในชั้นการพิจารณาของ กรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ ของวุฒิสภา ที่มี “พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร” สว.สายกฎหมาย ที่อดีตก่อนหน้า มีอาชีพรับราชการ ในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ กว่า 20 ปี ตำแหน่งสุดท้ายก่อนเกษียณ คือ “ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดบุรีรัมย์” เป็นประธานกมธ.
โดยเมื่อ 25 ก.ย. ถือเป็นการประชุมนัดสุดท้ายของ กมธ.ฯ วางวาระ พิจารณาร่างรายงานของกมธ.พิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่..) คือ การทบทวนงาน ที่ “กมธ.” ทำมาทั้ง 4 ครั้ง ก่อนจะเสนอรายยงานให้ “วุฒิสภา” พิจารณา
ซึ่งปกติการประชุมนัดสุดท้ายจะ “ไม่มีอะไร” เพราะผ่านการพิจารณาเนื้อหารายมาตราทั้งหมด รวมถึงผ่านการพิจารณาคำแปรญัตติ ของ “สว.” ที่เสนอและมีข้อสรุปชัดเจนแล้ว
ทว่าการประชุมนัดสุดท้าย ของ “กมธ.ประชามติ วุฒิสภา” ไม่ธรรมดา เพราะมีการ “กลับลำ” ของมติที่ประชุม ในประเด็นหัวใจคือ “เกณฑ์การผ่านประชามติที่ สภาฯ แก้ไขให้ใช้เสียงข้างมากชั้นเดียว” โดยมติข้างมาก 17 ต่อ 1 เห็นชอบให้เติมวรรคใหม่ กำหนดเงื่อนไข ฟื้นเสียงข้างมาก 2 ชั้น ในกระบวนการทำประชามติ เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมัฐธรรมนูญ
คือ “ต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียง เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ” และ “เสียงเห็นชอบนั้นต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ”
ว่ากันวงในว่า เพราะมีแรงเขย่าจาก "การแก้รัฐธรรมนูญ รายมาตรา ว่าด้วย แก้ปมความซื่อสัตย์สุจริตและ การกำกับนักการเมือง ด้วยมาตรจริยธรรม"
ที่ "เพื่อไทย" เดินเกมร่วมกับ "พรรคประชาชน" ข้าม "หัวพรรคร่วมรัฐบาล"
สำหรับเหตุของการกลับมติ จากผู้ที่นั่งประชุมในกมธ. “ดร.นันทนา นันทวโรภาส” สว. ฐานะกมธ.เสียงข้าง เล่าว่า การเสนอให้ทบทวนเรื่องนี้ มีเรื่องแปลก เพราะจู่ๆ ประธานกมธ. คือ “พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ” แจ้งต่อที่ประชุมว่า ขอให้พิจารณาเรื่องที่ "สว.พิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์” ซึ่งเสนอคำแปรญัตติ ให้ใช้เกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้นต่อการแก้รัฐธรรมนูญขึ้นมาพิจารณาอีกครั้ง ทั้งที่การประชุมครั้งก่อนหน้านั้นไม่เห็นด้วยกับคำแปรญัตติที่เสนอ และให้สิทธิผู้แปรญัตติ นำไปถกเถียงกันในที่ประชุม สว.
“เรื่องนี้มีความแปลก เพราะตั้งแต่การประชุมนัดแรกๆ ได้คุยกันไว้ว่าจะเป็นชอบกับร่างที่สภาฯเสนอมา แต่พอมาการประชุมที่เป็นวาระทบทวน ที่ไม่มีอะไรแล้ว การเสนอให้พิจารณาและมีการลงมติอีกครั้ง ยอมรับว่ากมธ.ในฝ่ายที่สนับสนุนเนื้อหาเดิมจากสภาฯ นั้น ที่มาจากสัดส่วนของ ครม. 5 คน ลาการประชุม รวมถึงที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ อย่าง ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ประภาส ปิ่นตบแต่ง” ดร.นันทนา เล่าเบื้องหลัง
พร้อมยอมรับว่าเป็นการไม่รู้ทันเกมของอีกฝ่าย แม้มองเห็นสัญญาเตือนก่อนหน้า ที่ สายสีน้ำเงิน ส่ง สว.ตัวตึง “พิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์” มายื่นคำแปรญัตติเป็นหัวเชื้อไว้แล้ว
ทั้งนี้ในการพิจารณาคำแปรญัตติ ของ “สว.พิสิษฐ์” ที่ให้กลับไปใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น เมื่อ 18 ก.ย. นั้น ที่ประชุมได้ถกเถียงกันในรายละเอียดอย่างหนักถึงขั้นต้องใช้การลงมติสู้กันถึง 2 รอบ
รอบแรก พบว่าได้เสียงเสมอกันที่ 12 ต่อ 12 และ ประธานที่ประชุมคือ “พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ” เตรียมลงมติชี้ขาด แต่เกมนี้ถูกเบรก โดย “กมธ.ฯในสายที่หนุนสภาฯ” ทั้ง “นิกร จำนง - ปริญญา-นันทนา-วุฒิสาร” ที่ยกคำอธิบายและเหตุผล ในความจำเป็นที่ต้องทำประชามติ รอบแรก ในเดือนก.พ.68 ช่วงเดียวกับการเลือกตั้งท้องถิ่นทั่วประเทศ เพื่อประหยัดงบประมาณและลดการเสียเวลาของประชาชน ทำให้ต้องลงมติซ้ำอีกครั้ง ก่อน “ฝ่ายหนุนสภาฯ” จะชนะในที่สุด ด้วยคะแนน 16 เสียง ต่อ 8 เสียง
ซึ่งถือว่าเป็น จบในยกสุดท้ายของการพิจารณา ที่ “ฝ่ายหนุนสภาฯ” ชนะในประเด็นหัวใจ และไม่คิดว่าจะต้องสู้อะไรกันอีกแล้ว
ทว่าความชะล่าใจ กลายเป็นจุดอ่อน ทำให้มาแพ้ในช่วง “เวลาทดเจ็บ” ที่ “สายตรงบ้านใหญ่” เดินเกมให้ทบทวนมติอีกครั้ง โดยไม่มีใครทัดทาน เพราะไม่อยู่ในที่ประชุม ถือว่า “สว.สายน้ำเงิน” ชนะ และเชื่อว่าจะปิดฉาก End Game ในที่ประชุมวุฒิสภาเช่นกัน
เพราะจากสัญญาณ 17 ต่อ 1 ที่โหวตชนะขาดในที่ประชุม กมธ. ถือเป็นสัญญาที่ชัดเจนของทิศทางโหวตในที่ประชุมวุฒิสภา ที่เสียงข้างมากเกินครึ่ง เป็นของ “ฝ่ายสีน้ำเงิน”
เมื่อเป็นเช่นนี้ ไทม์ไลน์ แก้รัฐธรรมนูญ ของ “พรรคเพื่อไทย” จะเปลี่ยนไป และคาดว่าจะยื้อให้การ เริ่มต้นแก้รัฐธรรมนูญ โดย “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” เลื่อนออกไป อย่างน้อย 1 ปี
เพราะ 1.หากมติที่ประชุมวุฒิสภา เห็นชอบ กับกมธ.ฯ ต้องส่งคืน สภาฯ เพื่อให้ตั้งกรรมาธิการร่วมกัน ฝั่งละ 10 คน
2.กมธ.ร่วมกันต้องใช้เวลาพิจารณาถกเถียง แน่นอนว่า “สภาฯ” จะไม่ยอมให้ปรับแก้ไขตามวุฒิสภา และยืนตาม ร่างฯ ที่สภาฯ เห็นชอบ จากนั้นต้องให้แต่ละ สภา คือ “สภาผู้แทนราษฎร” และ “วุฒิสภา” ลงมติ
3.หากมีแค่สภาใดสภาหนึ่งไม่เห็นชอบแล้ว “ร่างพ.ร.บ.ประชามติ” ต้องยับยั้งไว้ 6 เดือน และเมื่อพ้นเวลาดังกล่าว “สภาฯ” จึงจะมีสิทธิลงมติยืนยัน ร่างฯ ในฉบับที่สภาฯเห็นชอบ หรือ ร่างที่กรรมาธิการร่วมกัน แก้ไขโดยใช้มติเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของ สส.ที่มีอยู่ จากนั้นถึงจะเข้าสู่ขั้นตอนการบังคับใช้กฎหมายได้
หากนับปฏิทิน ที่มีจุดเริ่มต้น 30 ก.ย. ที่วุฒิสภาจะพิจารณา "ร่างฯ ที่ กมธ.วุฒิสภา” แก้ไข จะพบว่าในกระบวนการตั้ง “กมธ.ร่วมกัน” และส่งให้สภาฯ เห็นชอบ ต้องใช้เวลาอีกประมาณ 45 วัน และแม้จะใช้ช่วงเวลาปิดสมัยประชุมพิจารณาได้ แต่การลงมตินั้นต้องรอให้ เปิดสมัยประชุม ในช่วงเดือน ธ.ค. 67
หากผลโหวต ของ 2 สภาฯ จบภายก่อนสิ้นปี 67ได้ แต่ผลค้านกันชัดเจน ต้องยับยั้งร่างกฎหมายนี้นาน 6 เดือน หรือกินเวลาไปถึง กลางปี 68 และกว่าที่ร่างพ.ร.บ.จะบังคับใช้และเข้าสู่กระบวนการทำประชามติรอบแรก ไวสุด ปลายปี 68 หรือ ต้นปี69
ดังนั้น การเดินเกมของ “สว.สายน้ำเงิน” รอบนี้ มองเป็นอื่นไปไม่ได้ว่า จุดประสงค์ คือ เพื่อยื้อ เกมรื้อรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ถูกออกแบบมาเพื่อ “ใครบางคน”.