‘แพทองธาร’ จ่อนอนค้างเชียงราย แก้ น้ำท่วม ‘ศปช.’ สั่ง 2 กรม ป้องกันเหตุในอนาคต
“จิรายุ” เผย “ภูมิธรรม” ถก ศปช. แก้วิกฤติน้ำท่วม สั่ง กรมอุตุฯ ศึกษาฝนตกเฉพาะที่ซ้ำซาก พร้อมเตือนภัย ป้องกันเหตุในอนาคต ระบุ เชียงราย น้ำผสมโคลน อันตรายกว่าปกติ กู้ภัยยาก อาจเกิดซ้ำอีก สั่ง กรมทรัพยากรธรณี ศึกษา นายกฯ ลงพื้นที่ 27 ก.ย.67 นี้ ค้างแม่สาย 1 คืน เร่งเยียวยาเร็วที่สุด
ที่ห้องประชุม 108 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ในฐานะกรรมการ ศปช. เปิดเผยว่า นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) ครั้งที่ 2 โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมด้วยคณะทำงาน และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
นายภูมิธรรม กล่าวก่อนการประชุมว่า ต้องมีการประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่เหมือนกับทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะเป็นฝน และดินโคลนทำให้เกิดปัญหาตามมาที่หลังภายหลังจากน้ำลด ซึ่งจะต้องเร่งคลี่คลายอย่างรวดเร็ว เพราะหากดินโคลนค้างอยู่ในท่อจะกลายเป็นหินปูนขึ้นมาได้ ปัจจุบันระดับโคลนที่ค้างอยู่สูงถึง 1-2 เมตร ทำให้ยากในการฟื้นฟูสภาพในพื้นที่
นายภูมิธรรม กล่าวว่า ขณะนี้ได้จัดตั้งคณะที่ปรึกษาผู้มีความเชี่ยวชาญ โดยมีนายปลอดประสพ สุรัสวดี เป็นที่ปรึกษาคณะทำงาน นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี มาเป็นโฆษกประจำศูนย์ฯ เพื่อทำหน้าที่ชี้แจงสถานการณ์รายวันได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ จากการตั้งข้อสังเกตปริมาณฝนที่เกิดขึ้นไม่ได้มากกว่า แต่เป็นการตกเฉพาะที่แบบซ้ำซาก ซึ่งน่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ (Climate Change ) จึงมอบหมายให้กรมอุตุนิยมวิทยาไปศึกษาให้ถ่องแท้ ซึ่งถือว่าเป็นภารกิจหลักที่ต้องชี้แจง และเตือนภัย เพื่อป้องกันเหตุที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เป็น 2 ลักษณะผสมของฝนและดินโคลน ซึ่งสถานการณ์ตรงนี้แตกต่างจากที่อื่น เพราะเป็นน้ำผสมดินโคลน ดังนั้น เป็นน้ำที่อันตรายกว่าน้ำท่วมปกติ คล้ายกับภูเขาไฟระเบิดที่เป็นลาวาผสมน้ำไหลลงมา และเชื่อว่าอาจจะเกิดขึ้นได้อีก โดยมอบหมายให้กรมทรัพยากรธรณีไปศึกษาให้ครบถ้วน
นายภูมิธรรม ระบุว่า น้ำผสมโคลนที่ตกค้างอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้การกำจัด และกู้ภัยเป็นไปได้ยาก ถือเป็นเรื่องใหม่ที่ประเทศไทยพบเจอ กรมป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จะต้องร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดการกับเรื่องนี้ ส่วนฝ่ายกองทัพก็ต้องเข้ามาศึกษาตั้งแต่เบื้องต้นรวมทั้งจะแก้ปัญหาในอนาคตอย่างไร รวมถึงการจัดหาเครื่องมือที่เหมาะสมเข้าไปในพื้นที่ประสบภัย
นายภูมิธรรม ยังกล่าวถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ที่อำเภอเมือง และอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ว่า ปัญหาที่พบขณะนี้คือ รถขนาดใหญ่วิ่งได้แค่บนถนนหลวง ไม่สามารถเข้าไปตามซอกซอยได้ และไม่สามารถเข้าไปกู้ภัยได้ จากสถิติบ้าน 1 หลัง ต้องใช้กำลังพลถึง 30 คน ภายใน 1 วัน มีประชาชนเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก จึงต้องใช้แผนระดมพล และเครื่องมือที่จำเป็นเข้าไปในพื้นที่ ซึ่งยอมรับว่าเครื่องมือขาดแคลนอยู่มาก เพราะไม่เคยเจอเรื่องนี้
นายภูมิธรรม กล่าวว่า ในวันศุกร์ที่ 27 กันยายน 2567 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องทุกส่วน จะเดินทางไปยังอำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ซึ่งน้ำกกทะลักเข้ามา มีโคลนไปอยู่ตามบ้าน และพื้นที่เศรษฐกิจ ซึ่งจะไปติดตามการแก้ปัญหาที่จุดนั้น โดยจะเดินทางไปสองวัน และจะพักที่อำเภอแม่สาย 1 คืน และในช่วงเช้าจะเดินทางไปที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะติดตามสถานการณ์น้ำหลาก จากนั้นมอบหมายให้รัฐมนตรีแยกย้ายลงพื้นที่ไปในจุดต่างๆ และเมื่อนายกรัฐมนตรีไปถึง ก็จะได้ประชุมวอร์รูม สรุปสถานการณ์เชียงรายในปัจจุบันว่าเป็นอย่างไร ดำเนินการอะไรไปแล้วบ้าง และมีปัญหาอะไรที่ต้องคลี่คลาย โดยนายกรัฐมนตรีจะรับฟังรายละเอียดต่างๆ เพื่อสั่งการและแก้ไขปัญหาให้ทันท่วงทีต่อไป
นายภูมิธรรม กล่าวต่อว่า คณะทำงาน ศปช. จะมีการประชุมทุกวันในเวลา 09:00 น. เพื่อประเมินสถานการณ์และรับทราบรายงานจากทุกพื้นที่ เพื่อดูว่าจะมีการแก้ไขอย่างไร ซึ่งจะมี 2 คณะทำงาน ที่ดำเนินการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า คลี่คลายเหตุการณ์ต่างๆ ให้รวดเร็วที่สุด ส่วนปัญหาการเยียวยา ที่มีกฎระเบียบ และดำเนินการในภาวะปกติ เป็นอุปสรรค เพราะสิ่งที่ประชาชนเผชิญอยู่ตอนนี้ เขาอยากรู้ว่ารัฐบาลจะดูแลเขาอย่างไร และที่ผ่านมาการเยียวยามีปัญหาเรื่องความล่าช้า โดยนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ดูแลว่าจะทำอย่างไรให้กระบวนการตรงนี้ให้ถูกกฎหมาย แต่รวบรัดให้เร็วที่สุด เพื่อให้เงินถึงมือประชาชน ให้ประชาชนมั่นใจว่ารัฐบาลไม่ได้ทอดทิ้ง ซึ่งลักษณะน้ำท่วมแบบพิเศษนี้จะต้องมีการกำหนดค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม
โดยที่ประชุมเห็นชอบแผนการดำเนินงานการช่วยเหลือฟื้นฟู เพื่อแก้ไขปัญหาดินโคลนถล่มในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ประกอบด้วย การดำเนินการในพื้นที่อำเภอเมืองเชียงราย และการดำเนินการในพื้นที่อำเภอแม่สาย ดังนี้ การดำเนินการในพื้นที่อำเภอเมืองเชียงราย แบ่งเขตการดำเนินงานในเขตเทศบาลนครเชียงราย จำนวน 745 หลัง และนอกเขตเทศบาล จำนวน 6,614 หลัง กำหนดดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 29 กันยายน 2567 ส่วนการดำเนินการในพื้นที่อำเภอแม่สาย แบ่งการดำเนินการเป็น 5 โซน กำหนดดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 30 วัน หรือประมาณวันที่ 20 ตุลาคม 2567
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์