‘ชาละวันคลาส’ เรือดำน้ำพันธุ์ไทย ดีล‘เพื่อไทย’ สานไอเดีย‘บิ๊กตู่’
ชาละวันคลาส” เรือดำน้ำพันธุ์ไทย ถูกพูดถึงอีกครั้งในวงการประชุมหน่วยความมั่นคง หลัง “ภูมิธรรม” ขอทบทวนเรือดำน้ำจีนใหม่อีกรอบ ท่ามกลางกระแสข่าวมี“ดีลลับ”กับคนเพื่อไทย หวังผลักดันโครงการวิจัยและพัฒนาเรือดำน้ำขนาดเล็กให้ประสบความสำเร็จ
KEY
POINTS
- “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ รมว.กลาโหม ขอดึงเรือดำน้ำจีนกลับมาทบทวนใหม่ เพราะมองว่าเป็นเรื่องใหญ่ ไม่ควรทำอะไรผลีผลาม
- โครงการวิจัยและพัฒนาเรือดำน้ำขนาดเล็กรุ่นแรก “ชาละวันคลาส”กำลังเป็นตัวแปรถูกสอดแทรกขึ้นมาในระหว่างรัฐบาลเพื่อไทยยังไม่ตกผนึกเรือดำน้ำจีน
ในระหว่างที่ “เรือดำน้ำจีน” ค้างอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาล รอบรรจุเข้าวาระคณะรัฐมนตรี(ครม.)ขออนุมัติเปลี่ยนแปลงสัญญา
2 ส่วน คือ การขยายเวลาสัญญาต่อเรือดำน้ำออกไปประมาณ 1,200 วัน และการเปลี่ยน เครื่องยนต์เรือดำน้ำ จากเยอรมนี MTU 396 เป็นเครื่องยนต์จีน CHD 620
“ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ รมว.กลาโหม ขอดึงเรื่องกลับมาทบทวนใหม่ เพราะมองว่าเป็นเรื่องใหญ่ ไม่ควรทำอะไรผลีผลาม ฝ่ายการเมืองต้องสำรวจความต้องการประชาชน ควบคู่ไปกับคำนึงถึงความจำเป็นของกองทัพ ซึ่งต้องใช้เวลาอีกระยะเนื่องจากเพิ่งเข้ารับตำแหน่ง เพื่อได้ข้อสรุปที่ดี
ส่วน “กองทัพเรือ”เข้าใจรัฐบาลเพื่อไทย เนื่องจากโครงการเรือดำน้ำเป็นของรัฐบาลในอดีต เข้าตำราเนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง แต่เอากระดูกมาแขวนคอ อาจต้องรับแรงกระแทกจากผู้ที่ไม่เห็นด้วย จนถูกมองดึงจังหวะเพื่อหาทางออกวิน-วินทั้ง ทร.ไทย-ฝ่ายการเมือง-ประชาชน
โครงการวิจัยและพัฒนาเรือดำน้ำขนาดเล็กรุ่นแรก “ชาละวันคลาส” Chalawan class โดยมีระวางขับน้ำ 150-300 ตัน มีกำลังพล ประจำเรือ 10 นาย ระยะปฏิบัติการ 300ไมล์ทะเล กำลังเป็นตัวแปรถูกสอดแทรกขึ้นมาในระหว่างรัฐบาลเพื่อไทยยังไม่ตกผนึกเรือดำน้ำจีน
เพราะปัจจุบันกระทรวงกลาโหม ให้ความสำคัญเรื่องอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เพื่อให้กองทัพยืนได้ด้วยขาตัวเอง ลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ ประหยัดงบประมาณและสร้างรายได้ อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาศักยภาพบุคลากรของกองทัพ
สำหรับความเป็นมาของโครงการวิจัยและพัฒนา เรือดำน้ำขนาดเล็ก สืบเนื่องจากในอดีต “กองทัพเรือ” มีแนวคิดวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับยานใต้น้ำกลับคืนมาอีกครั้ง หลัง 70 ปีที่แล้ว เคยมีเรือดำน้ำเข้าประจำการ โดยให้สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพเรือ(สวพ.ทร.)เป็นผู้ดำเนินการวิจัย มี พล.ร.ต.พงศ์สรร ถวิลประวัติ เป็นนายทหารโครงการ
โครงการแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ระยะที่หนึ่ง ศึกษาความเป็นไปได้เกี่ยวกับขีดความสามารถของยานใต้น้ำเบื้องต้น ค้นหาข้อมูลเพื่อเสนองบฯในการสร้างยานใต้น้ำ การออกแบบ ถ่ายโอนเทคโนโลยีที่จำเป็นจากต่างประเทศในส่วนที่ต้องการความปลอดภัยสูง และที่จำเป็นต่อการสร้างยานใต้น้ำ
เพื่อนำไปสู่ระยะที่สอง หลังได้รับความเห็นชอบและอนุมัติงบประมาณจากสำนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม จำนวน 24,953,200 บาท และจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จำนวน 5 ล้านบาท มีระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี ระหว่างปี 2549-2552 เริ่มในปีงบประมาณ 2548
กองทัพเรือ สร้างยานใต้น้ำสำเร็จ โดยมีขนาดความยาว 11 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.8 เมตร ระวางน้ำประมาณ 27 ตัน ส่วนขีดความสามารถปฏิบัติการน้ำลึกไม่เกิน 50 เมตร ระยะเวลาปฏิบัติการใต้น้ำ 3-5 ชั่วโมง ความเร็ว 5 น็อต บรรจุลูกเรือได้ 3 คน
ยานใต้น้ำของกองทัพเรือ นอกจากใช้ฝึกหัดกำลังพลในการสร้างความคุ้นเคยกับการปฏิบัติการใต้น้ำ ดัดแปลงในภารกิจอื่น ทั้งทางยุทธการ การหาข่าว การสำรวจใต้น้ำ และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นการพัฒนาการต่อเรือในประเทศให้มีความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยีจากการวิจัยนี้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับกองทัพเรือและประเทศชาติ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและ รมว.กลาโหม ขณะนั้น เล็งเห็นความสามารถของบุคลากรกองทัพเรือ จึงได้ให้แนวคิดให้กองทัพเรือไปวิจัยสร้างเรือดำน้ำขนาดเล็ก โดยมี นาวาเอก สัตยา จันทรประภา รอง ผบ.โรงเรียนนายทหารเรือขั้นต้น กรมยุทธศึกษาทหารเรือ เป็นหัวหน้าโครงการและเป็นหนึ่งในทีมสร้างยานใต้น้ำ
พร้อมทีมงาน ประกอบด้วย นาวาสถาปนิก 25 นายที่สำเร็จการศึกษาต่างประเทศ ด้าน สถาปนิกทหารเรือ และสาขาอื่นๆเข้าร่วม ร่วมถึงได้รับการอบรมจากประเทศอังกฤษ ตลอดจนมีทีมที่ปรึกษาจากอังกฤษให้ข้อเสนอแนะ
ตามกรอบระยะเวลาโครงการวิจัยและพัฒนาเรือดำน้ำขนาดเล็ก เริ่มตั้งแต่เดือน ต.ค.2560 ใช้เวลาในการออกแบบ 4 ปี สร้าง 2 ปี และฝึกเจ้าหน้าที่ 1 ปี รวมเป็น 7 ปี เบื้องต้นคาดการณ์ว่าใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท
หากได้รับการสนับสนุนต่อเนื่องจะเสร็จสิ้นโครงการภายในปีนี้ 2567
พร้อมตั้งชื่อไม่เป็นทางการ “ชาละวันคลาส” (Chalawan class) สนับสนุนปฏิบัติการทางเรือ และการปฏิบัติการพิเศษ เพิ่มขีดความสามารถทางยุทธการ การหาข่าว สอดแนม การสนับสนุนการฝึกปราบเรือดำน้ำ สนับสนุนชุดปฏิบัติการพิเศษ
ทว่า เป็นเรื่องน่าเสียดายที่โครงการดังกล่าวถูกชะลอหลังดำเนินงานมาเพียง 2 ปี ใช้งบประมาณ 70 ล้านบาท เหตุกองทัพเรือขาดแคลนงบประมาณสนับสนุนมาจนถึงปัจจุบันนี้
เมื่อเร็วๆนี้ “ชาละวันคลาส” เรือดำน้ำพันธุ์ไทย ถูกพูดถึงอีกครั้งในวงการประชุมหน่วยความมั่นคง หลัง “ภูมิธรรม” ขอทบทวนเรือดำน้ำจีนใหม่อีกรอบ ท่ามกลางกระแสข่าวมี“ดีลลับ”กับคนเพื่อไทย หวังผลักดันโครงการวิจัยและพัฒนาเรือดำน้ำขนาดเล็กให้ประสบความสำเร็จ