'ก้าวหน้า' สไตล์ พรรคสีส้ม หรือติดในกรงคิดของตัวเอง?

'ก้าวหน้า' สไตล์ พรรคสีส้ม หรือติดในกรงคิดของตัวเอง?

ท่ามกลางเสียงเฮ เสียงแซ่ซ้องยกใหญ่ของประชาชนกลุ่มเปราะบาง คนยากจนผู้ด้อยโอกาสในสังคม หลายล้านคน หลังได้รับเงิน 1 หมื่นบาท จากรัฐบาล “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร ตามนโยบายแจกเงิน“ดิจิทัล วอลเล็ต” เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่อีกด้าน พรรคการเมืองบางพรรคกำลังจดจ่ออยู่กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ2560 อ้างเป็นผลพวงจากการรัฐประหาร และไม่เป็นประชาธิปไตย

ดูเหมือนสะท้อนชัด ตามการวิเคราะห์ของ “ทักษิณ ชินวัตร” ที่ว่า พรรคเพื่อไทย เน้นแก้ปัญหา “เศรษฐกิจ” แต่พรรคประชาชน หรืออดีตพรรคก้าวไกล เน้นแก้ปัญหา “การเมือง”  

แต่ที่น่าคิดกว่านั้น คือ กระแสการเมืองไทย จะสวิงไปทางไหน ระหว่างพลังหนุนมุ่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังตกต่ำ และประชาชนต่างเดือดร้อนกันถ้วนหน้า โดยเฉพาะคนยากคนจน คนหาเช้ากินค่ำ ที่ไม่มีเงินออม และมีหนี้สินแทบทุกครัวเรือน กับการแก้ปัญหาทางการเมืองให้เป็น ประชาธิปไตย เพื่อการเมืองที่ดีขึ้น และเศรษฐกิจจะดีขึ้นตามมา เป็นเรื่องที่ต้องจับตามองกันต่อไป

ที่สำคัญไปกว่านั้น พรรคประชาชน หรือ อดีตพรรคก้าวไกล จะยังคงครองใจประชาชน จนสามารถชนะเลือกตั้งครั้งหน้าได้อีกครั้งหรือไม่ นอกจากการบริหารประเทศของรัฐบาลเพื่อไทย เป็นเครื่องตัดสินแล้ว ในความเป็นพรรคประชาชน ก็อาจเป็นเครื่องตัดสินได้เช่นเดียวกัน

ยิ่งถ้ามองในแง่มุมที่ แก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการอิสระ อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์เอาไว้ ก็ยิ่งเห็นชัด       

“แก้วสรร” ได้เผยแพร่บทความเรื่อง กระแส “ก้าวหน้า...ตาสว่าง” ของพรรคสีส้ม (28ก.ย.67) ในรูปแบบ ถาม-ตอบ อย่างน่าสนใจ

โดยเฉพาะการโยงกับกระแสการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีในสหรัฐอเมริกา ที่ชาวโลกให้ความสนใจ  

เริ่มจาก... 

“ถาม ทำไมคุณ กมลา แฮร์ริส  ถึงกระแสแรงมากในหมู่หนุ่มสาวอเมริกัน

ตอบ การหาเสียงเป็นเรื่องของการชูธงแล้วโบกเรียกผู้คนให้มาสนับสนุน หนุ่มสาวทุกยุคถูกดึงดูดได้ดีด้วย ธง“ก้าวหน้า” ส่วนก้าวไปทางไหนจึงจะได้ชื่อว่าไปข้างหน้านั้น ก็แตกต่างกันไป สำหรับหนุ่มสาวอเมริกันยุคนี้แล้วธง “Woke” ในมือ กมลา แฮร์ริส แทงใจดำได้มากๆ เลย

ถาม อะไรคือกระแส “Woke” ในอเมริกา

ตอบ คำนี้แปลตรงตัวก็หมายถึงการตื่นรู้ เดิมทีใช้ปลุกระดมคนผิวสีให้ตื่นรู้ถึงการถูกกดขี่ในสังคมอเมริกัน   ต่อมาก็นำมาใช้ขยายถึง ความตาสว่าง ตื่นรู้ ต่อสู้เพื่อสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค นานา ไม่จำกัดเฉพาะการต่อสู้ของคนสีผิวอีกต่อไป จนอเมริกันรวมเรียกกระแสเหล่านี้เป็น “Woke Culture” เลยทีเดีย

ถาม ปัจจุบันขยายครอบคลุมถึง การต่อสู้กับปัญหาใดบ้าง

ตอบ นอกจากสิทธิดั้งเดิมพื้นฐานต่างๆแล้ว ก็มีสิทธิที่ฮิตขึ้นมาใหม่อีกไม่น้อย ทั้งสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิงที่จะทำแท้งได้โดยเสรี, สิทธิของเพศที่สาม, สิทธิทางมนุษยธรรมของผู้อพยพที่ต้องต้อนรับเลี้ยงดู, สิทธิของสตรี แล้วเลยขึ้นไปบนท้องฟ้า จนถึงสิทธิในโลกที่ชั้นบรรยากาศไม่ร้อนไม่รั่วด้วย 

ถาม ลามไปถึงยูเครนด้วยไหม

ตอบ นั่นเป็นสิทธิในระบอบประชาธิปไตยของมนุษยชาติ ที่มนุษย์ในอเมริกาต้องช่วยกันดูแลปลดปล่อยโดยไม่มีพรมแดน

ถาม ฟังดูแล้ว พรรคสีส้มบ้านเรา ก็ชูธง “ก้าวหน้าตาสว่าง” แบบนี้เหมือนกัน

ตอบ ผมว่ากระแสเดียวกันเลยล่ะครับ ทั้งสิทธิของแรงงานพม่าที่สังคมไทยต้องวิตกดูแล, สิทธิของเพศที่สามที่จะแต่งงานได้, เสรีภาพในโรงเรียน รวมถึงสิทธิที่มนุษย์เช่นฝรั่งจะข้ามชาติมาร่วมมือต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไทย  ทั้งหมดนี้พรรคส้มไทยสมาทานชูธงมาแล้วทั้งนั้น 

ถาม Woke ในอเมริกา ชูธงสิทธิดูหมิ่นประมุข ด้วยหรือไม่

ตอบ ธงนี้มันไม่แทงใจดำในสังคมอเมริกัน ไม่เหมือนธงเลิก ๑๑๒ ที่เป็นธงหลักของ Woke ไทย พวกนี้เขาโบกธงนี้ไปแล้วว่า ถ้าคนไทยไม่ตาสว่างเรื่องนี้ก็จะดักดานเป็นทาสไปตลอด เขาลากธงนี้ ย้อนขึ้นไปถึง ๒๔๗๕ ต่อกับกระแสคณะราษฎร์ จนทำให้ดูขลังเป็นภารกิจประวัติศาสตร์ขึ้นมาเลยทีเดียว

ถาม เดินตามพวก Woke แล้ว เปลี่ยนบ้านเปลี่ยนเมืองได้ไหม

ตอบ เปลี่ยนโลกในโลกโซเชียลได้ แต่โลกจริงๆนั้นไม่มีความหมาย Woke ไทยทำได้อย่างเก่งแค่จลาจลระลอกใหญ่ หรือชนะเลือกตั้งเป็นครั้งคราวเท่านั้น กระแสพวกนี้ ทำงานปฏิวัติจริง จัดตั้งจริง ตายจริงแบบเหมาเจ๋อตุงไม่ได้ ครั้นจะให้ทำงานบริหารจริงจนสร้างโลกใหม่ได้จริงแบบเติ้งเสี่ยวผิง ก็ทำไม่ได้อีกเหมือนกัน  

ถาม วันนี้ ก็เลยต้องเดินหน้าสร้างแพคเก็จรัฐธรรมนูญใหม่ต่อไป

ตอบ Woke เป็นพวกที่ถูกจองจำติดอยู่ในกรงความคิด ถ้าไม่ติดอยู่ในกรง ป่านนี้ก็ยอมแขวน ๑๑๒ จนได้เป็นรัฐบาลไปแล้ว  

คุณเห็นไหม...ขนาดไปเยี่ยมชาวบ้านที่จมน้ำต่อหน้าต่อตา หัวหน้าพรรคส้มเขายังไม่ยอมมีอะไรติดไม้ติดมือไปช่วยเหลือบ้างเลย เขาประกาศว่าเราคนไทยต้องไม่ยอมอยู่ในวัฒนธรรมอุ้มชูสร้างบุญคุณกันอีกต่อไป นี่คือตัวอย่างของ “กรงความคิด” ที่ชัดเจนมากๆ

ถาม แล้วอย่างนี้..คนไทยรุ่นใหม่ ก็จะก้มหน้าก้มตาเลือกพรรคส้มต่อไป

ตอบ น่าจะเป็นเช่นนั้น ได้เลือกจนรู้สึกโก้และก้าวหน้าแล้ว ก็เดินออกจากคูหามาเล่นเฟสบุ๊คกันต่อไปเช่นเดิม     ชีวิตนี้อย่าไปคิดซีเรียสกับความจริงและทางเดินอะไรจริงๆให้ปวดกบาล ประเทศนี้สังคมนี้มันดักดานจนไม่มีอะไรให้ผูกพันแล้ว”....

ประเด็นที่น่าวิเคราะห์ให้ชัดยิ่งขึ้นของพรรคประชาชน หรือ อดีตพรรคก้าวไกล ก็คือ รากแห่งที่มาของพรรคการเมืองนี้ มีวาระที่ต้องชน “เพดาน” และบรรลุเพดาน “การเปลี่ยนแปลง” อย่างมีนัยสำคัญในทางการเมืองของไทย เพื่อนำประเทศไปสู่ ระบอบ “เสรีประชาธิปไตย” โดยมีสหรัฐอเมริกา เป็นแม่แบบ ซึ่งความเป็นพรรคการเมือง เป็นอีกแนวทางต่อสู้ ควบคู่ไปกับการปลุกกระแสตื่นรู้ “ตาสว่าง” ในสังคมไทย ผ่านหลากหลายช่องทาง โดยเฉพาะโลกโซเชียล สื่อสังคมออนไลน์ที่มาแรง และระดมมวลชนลงท้องถนน ถ้ามีความจำเป็นต้องต่อสู้ขั้นเด็ดขาด เห็นได้ชัดในช่วงรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 

ดังนั้น อุดมการณ์ในการต่อสู้ทางการเมือง จึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับ วันเวลาที่จะต้องสำเร็จ เพียงแต่ขอให้สามารถปักหมุด ชูธงต่อสู้ได้ ถือว่าสำเร็จแล้ว เพราะนั่นเท่ากับทำให้เรื่องที่ต้องการต่อสู้เป็นประเด็นในสังคมได้นั่นเอง เรื่องนี้ “แกนนำ” ที่อยู่เบื้องหลังบางคนเคยพูดเอาไว้ 

ดังนั้น ไม่แปลกที่พรรคสีส้ม จะชูธงแก้ปัญหา “การเมือง”เป็นลำดับแรก โดยเฉพาะโครงสร้างอำนาจทางการเมืองในระบบอุปถัมภ์ ที่พวกเขาเห็นว่า “กดบีบ” สิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค เท่าเทียม ตลอดจนเป็น “อุปสรรค” ต่อการพัฒนาประชาธิปไตย 

 

และไม่แปลก ที่ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องของประชาชน เป็นเรื่องรอง แม้เข้าขั้นวิกฤติอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน?

สังเกตหรือไม่ การมีบทบาทเป็น “ฝ่ายค้าน” ในรัฐสภา ก็เช่นเดียวกัน น้อยนักที่จะเห็นส.ส.อดีตพรรคก้าวไกล หรือพรรคประชาชน นำปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนมาอภิปรายอย่างจริงจัง ตรวจสอบการบริหารประเทศของรัฐบาลอย่างที่ควรจะเป็น เมื่อเทียบกับหลายเรื่อง ที่มี “ธง” ทางการเมืองอยู่แล้ว

ด้วยเหตุนี้ พรรคประชาชน หรือ อดีตพรรคก้าวไกล จึงยังห่างไกลความเป็นพรรค “มวลชน” และได้กระแสนิยมจากทุกชนชั้น นอกจากกระแส “คนรุ่นใหม่” 

เมื่อเป็นเช่นนี้ โอกาสที่พรรคประชาชน หรือ พรรคสีส้ม จะชนะเลือกตั้งแบบถล่มทลาย จึงเป็นไปได้ยาก รวมถึงโอกาสที่จะจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวด้วย ตราบที่ยังเป็นพรรคมวลชนไม่ได้ และอุปสรรคสำคัญของการเป็นพรรคมวลชนก็คือ การเข้าถึงประชาชนรากหญ้า คนยากคนจน เพราะการ “ต่อสู้” ยังคงวนเวียนอยู่กับระดับบนนั่นเอง 

ส่วนที่เอาชนะเลือกตั้งมาได้เมื่อปี 2566 ก็ไม่แน่ว่า เป็นผลสำเร็จมาจากการเข้าถึงคนรุ่นใหม่เพียงอย่างเดียว อย่าลืมว่า ในการรณรงค์หาเสียง มีนโยบายประชานิยม อย่างหนึ่งที่อดีตพรรคก้าวไกล นำเสนอได้อย่างเข้าตาประชาชน คือ นโยบายเบี้ยผู้สูงอายุ 3,000 บาทถ้วนหน้า ซึ่งสังคมไทย กำลังอยู่ในช่วงสังคมผู้สูงอายุ ที่ลูกหลานมีภาระที่ต้องดูแล การที่คนแก่ได้สวัสดิการ 3,000บาท ถือว่า ลดภาระของครอบครัวลงไปได้มาก จึงไม่แต่คนแก่เท่านั้นที่นิยม หากแต่ลูกหลานในครอบครัวก็นิยมไปด้วย 

และนโยบายนี้เอง ที่ถือว่า เติมเต็มนโยบายเจาะใจกลุ่มคนรุ่นใหม่ อยู่แล้ว คะแนนจึงพลิกความคาดหมาย....  

  แม้กระทั่งวันนี้ ความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ที่พรรคประชาชนยึดเป็นวาระสำคัญเร่งด่วน แต่ประชาชนต้องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ก็ทำนองเดียวกัน  

   “พริษฐ์ วัชรสินธุ” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) แถลงจุดยืนของพรรคในการเดินหน้าจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คู่ขนานกับยื่นร่างแก้ไขเป็นรายมาตราว่า พรรค ปชน.ยืนยันมาตลอดว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 มีปัญหาเรื่องความชอบธรรมทางประชาธิปไตย ทั้งที่มา กระบวนการ และเนื้อหา 

ดังนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องเดินหน้า 2เส้นทางแบบคู่ขนาน คือการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยโดยเร็วที่สุด โดย ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด กับอีกทางคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราในประเด็นที่สำคัญและจำเป็นเร่งด่วน

“พริษฐ์” ชี้ว่า เนื่องจากการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องอาศัยเวลา 1-2 ปีขึ้นไป และมีความเสี่ยงว่าจะไม่ทันบังคับใช้ก่อนการเลือกตั้งครั้งถัดไป เราจึงจำเป็นต้องเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา เพื่อให้บางปัญหาทางการเมืองได้รับการแก้ไขไปพลางก่อน ในช่วงเปลี่ยนผ่าน และเพื่อทำให้การเมืองมีเสถียรภาพและมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศและความเป็นอยู่ของประชาชน.... 

ถ้า “จุดยืน” ยังเป็นเช่นนี้ ก็แสดงว่า ปัญหาของประชาชน ยังไม่มีความจำเป็นเท่ากับ ปัญหาการเมืองหรือไม่ และถ้าปัญหาการเมืองต้องใช้เวลาหลายสิบปี แล้วปัญหาความเดือดร้อนเร่งด่วนของประชาชน เมื่อไหร่จะได้รับแก้ไข?

ไม่รู้ว่า กรณีเช่นนี้ เป็นเรื่องเดียวกันกับที่ “แก้วสรร” เห็นหรือไม่ ว่า “ติดกรง” แห่งอุดมการณ์ ความคิด ความเชื่ออะไรก็แล้วแต่ ที่กักขังตัวเอง?