'ภูมิธรรม' ขออย่ามอง ร่างประชามติ มีใบสั่ง ปัดยื้อ รธน.60 มรดก คสช.

'ภูมิธรรม' ขออย่ามอง ร่างประชามติ มีใบสั่ง ปัดยื้อ รธน.60 มรดก คสช.

"ภูมิธรรม" วอน สว. เสียงข้างน้อย อย่ามองร่างประชามติ ลงคะแนนเสียงแบบ 2 ชั้นมีใบสั่ง ย้ำรัฐบาลไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 และกฎหมายเกี่ยวกับสถาบัน ปัดยื้อ รธน.60 มรดก คสช.เพื่อประโยชน์การเมือง

30 ก.ย.2567 ที่องค์การทหารผ่านศึก (อผศ.) นายภูมิธรรม เวชชยชัย รองนายกรัฐมนตรีร้อยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สัมภาษณ์ถึงกรณีที่จะมีการประชุมวุฒิสภาเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่…) พ.ศ… วุฒิสภา ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว กมธ.เสียงส่วนมากแก้ไขหลักเกณฑ์การออกเสียงประชามติ ต้องใช้เสียงสองชั้น จนถูกข้อครหาว่ามีใบสั่ง ว่า จะมาพูดว่ามีใบสั่ง ก็พูดยาก เพราะเราไม่มีหลักฐานอะไร หากไม่พูดก็จะก่อให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีต่อกัน แต่ตนมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะจะสามารถทำให้รัฐธรรมนูญฉบับที่เป็นปัญหาจะคลี่คลายไปยังจุดที่เป็นปัญหาได้อยู่แล้ว 
ซึ่งเราอยากกราบเรียนว่าเราอยากจะแก้ร่างประชามติ ที่จะต้องใช้เสียง 2 ชั้น ให้มันง่ายขึ้น เพื่อที่จะสามารถแก้ได้แต่ไม่ได้หมายความว่า จะสามารถทำอะไรได้ทั้งหมด เพราะทุกอย่างมีกฎเกณฑ์กติกาอยู่แล้ว 

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็ยืนยันมาตลอดว่าไม่แตะต้องกฎหมายสำคัญ เช่น หมวด 1 หมวด 2 หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ฉะนั้นมองว่า ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ก็อยากวิงวอนสมาชิกวุฒิสภา ใช้ดุลพินิจพิจารณาให้ดีว่าเรื่องนี้ไม่ได้คิดว่าจะเป็นการผลักดันให้เกิดปัญหา ที่จะมาอำนวยประโยชน์ให้กับนักการเมือง เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราอยากจะทำให้เกิดประชามติ ที่มีโอกาสในการมาเข้าร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งอยากให้คำนึงถึงสิ่งต่างๆ เหล่านี้ให้มากขึ้น และหวังว่าการพิจารณาของสมาชิกวุฒิสภาจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศสูงสุด 

เมื่อถามว่าการที่ กมธ. เปลี่ยนมติร่างประชามติมาใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้นถูกมองว่าต้องการจะยื้อรัฐธรรมนูญปี 60 ซึ่งเป็นมรดกของ คสช. นายภูมิธรรม กล่าวว่า เราไม่อาจจะสรุปไปแบบนั้น ถือเป็นความเห็นหนึ่งจะรู้สึกได้เช่นกัน และคนมองว่าหลายคนก็รู้สึกได้เช่นกัน แต่สิ่งที่สำคัญ กมธ.ที่เป็นกลุ่มไปกลับมตินั้นก็เป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ใน กมธ.ไม่กี่คน คนก็ยังไม่มั่นใจว่าวุฒิสมาชิกในส่วนคนอื่นจะรู้สึกอย่างนั้นด้วยหรือไม่ ยังไงก็ขอเรียนสมาชิกวุฒิสภาว่าเรื่องนี้เป็นเจตนาที่จะทำให้สิ่งที่มีปัญหาอยู่มันหลุดพ้นจากกรอบ  ซึ่งจะทำให้การแก้ไขปัญหาได้ดีขึ้น ก็หวังว่า จะช่วยกันพิจารณาไตร่ตรองเรื่องนี้ให้ดี

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่จำเป็นต้องนัดคุยกับพรรคร่วมเป็นพิเศษ เพราะทุกวันนี้ก็มีการพูดคุยกันอยู่แล้ว