'เรืองไกร' ยื่น กกต.สอบ 'อิ๊งค์' ปมถือหุ้นอัลไพน์ฯเกิน 30 วันหลังนั่งนายกฯ
มาตามนัด! 'เรืองไกร' ยื่นคำร้อง กกต.สอบ 'นายกฯอิ๊งค์' ปมถือหุ้น 'สนามกอล์ฟอัลไพน์' เกิน 30 วันหลังรับตำแหน่ง แถมมีปัญหาข้อกฎหมาย ส่อผิดจริยธรรมหรือไม่ จี้ส่งศาล รธน.ชี้ขาดคุณสมบัติโดยเร็ว ลั่นงานนี้เหนื่อยแน่ จ่อยื่น ป.ป.ช.เพิ่มอีก
เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2567 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เข้ายื่นคำร้องต่อ กกต. ให้ตรวจสอบ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กรณีเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท อัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์ สปอตคลับ จำกัด ตั้งแต่ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกฯ ตั้งแต่วันที่ 16 ส.ค. 2567 จนถึงวันที่ 3 ก.ย.2567 เข้าข่ายไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักจักษ์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4) หรือไม่ และการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมข้อ 8 หรือไม่ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่
นายเรืองไกร กล่าวว่า จากข้อมูลสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (บอจ.5) กรมธุรกิจการค้า ณ วันที่ 30 เม.ย. 2567 บริษัทอัลไพน์ ฯ มีผู้ถือหุ้น มีบุคคลถือหุ้น 4 คน คือ คุณหญิงพจมาน ดามาพงษ์ 10 % และ ลูก 3 คน ในจำนวนเท่ากัน คือคนละ 30% ซึ่งพอมาถึงวันที่ 16 ส.ค. 2567 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติเลือกน.ส.แพทองธาร เป็นนายกฯ และมีพระราชโองการแต่งตั้งในวันดังกล่าว ยังไม่พบการโอนหุ้น จนกระทั่งต้นเดือน ก.ย. ก่อนตั้งคณะรัฐมนตรีจึงพบว่า มีการโอนหุ้นในชื่อของน.ส.แพทองธาร ในวันที่ 3 ก.ย.ไปให้คุณหญิงพจมานจำนวน 30 % และไปยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในวันถัดไป จึงเห็นข้อเท็จจริงชัดจากใบขอยื่นบัญชี รายละเอียดผู้ถือหุ้น ทั้ง ณ วันที่ 30 เม.ย. และวันที่ 4 ก.ย. ว่าเป็นช่วงที่น.ส.แพทองธารเป็นนายกฯ แล้ว ซึ่งการเป็นนายกฯ และถือหุ้นบริษัทอัลไพน์ 30% ถือว่าฝ่าฝืนพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ซึ่งกำหนดไห้ถือได้ไม่เกิน 5% ดังนั้นในประเด็นนี้จะยื่นต่อ ป.ป.ช.ต่อไป
นอกจากนี้ สัดส่วนการถือหุ้น 30% ถือว่าเป็นเจ้าของ เข้าลักษณะตามที่มาตรฐานทางจริยธรรมกำหนดไว้หรือไม่ โดยเฉพาะข้อ 8 ซึ่งมีคำพิพากษาของศาลฎีกา ในคดีของน.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ และนางกนกวรรณ วิลาวรรณ เรื่องที่ดินสปก. ครอบครองต่อเนื่องมาจากบิดา เข้าข่ายประพฤติเสื่อมเสีย โดยเป็นคดีที่มีลักษณะคล้ายกัน และยังเข้าข่ายขัดกันแห่งผลประโยชน์ ซึ่งมีคดีตัวอย่าง เป็นคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรณีกองทุนฟื้นฟูขายที่ดินรัชดา ให้กับคุณหญิงพจมาน และนายทักษิณ ชินวัตร ไปลงชื่อเป็นพยาน และคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ได้อธิบายความไว้ชัดว่า การที่อดีตอธิบดีกรมที่ดิน เพิกถอนการจดทะเบียนที่ดินธรณีสงฆ์ ต่อมาอดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทยไปยกเลิกเพิกถอน ศาลชี้ว่ากระทำความผิด ซึ่งหมายความว่า คำสั่งเพิกถอนการแบ่งแยกโฉนด การจดทะเบียนโฉนดไม่ชอบ ซึ่งก็ไม่ชอบมาจนถึงปัจจุบัน ขณะที่ตามระเบียบบริหาราชการแผ่นดินกำหนดให้คนเป็นนายกฯ ต้องรับผิดชอบทุกกระทรวง ทบวง กรม ตรงนี้ก็อยู่ในคำพิพากษา ที่ดินรัชดาด้วย
นายเรืองไกร กล่าวอีกว่า จึงต้องมายื่นเรื่องนี้ให้กกต.ตรวจสอบ และคิดว่า พยานหลักฐานต่างๆ กกต.หาได้ไม่ยาก เพราะทั้งหมดล้วนเป็นเอกสารราชการ ซึ่งตนเห็นว่า พยานหลักฐานเหล่านี้สามารถทำให้เชื่อได้ว่า มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า น.ส.แพทองธารฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมที่สามารถยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยเร็ว ตนมองว่า น้ำหนักของเอกสารหลักฐาน 90% จึงไม่น่าจะช้า ดังนั้นกกต.ควรรีบทำเรื่องนี้เพราะเป็นการกล่าวหาบุคคลสำคัญที่เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร คือตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พยานหลักฐานที่ตนนำมายื่นก็ถือว่าหนาแล้ว เชื่อว่านายกฯ ต้องใช้ทีมกฎหมายจำนวนมากในการแก้ข้อกล่าวหาเรื่องนี้ น่าจะเหนื่อย เพราะน้ำหนักที่ตนให้กับเรื่องนี้ถึง 90%
เมื่อถามว่า ยังเป็นช่วงรอยต่อหรือไม่ว่า หลังรับตำแหน่ง จะต้องดำเนินการลาออกภายใน 15 วัน นายเรืองไกร กล่าวว่า เป็นความเข้าในคาดเคลื่อน เพราะช่วงรอยต่อของการยื่นบัญชี เลขา ป.ป.ช.เคยพูดไว้ และตนเคยติงไปแล้วว่า พ.ร.บ.จัดการหุ้นส่วน และหุ้นของรัฐมนตรีปี พ.ศ. 2543 ไม่ได้เขียนว่าให้นับจากวันที่ ถวายสัตย์ปฏิญาณ แต่ต้องแจ้งภายใน 30 วัน ก็รอมาจนถึงวันนี้ นับจากวันที่ 16 ส.ค. มาจนถึง 16 ก.ย. ถือว่าเลยเวลามาแล้ว การถือหุ้นใน 20 บริษัทถือว่าเป็นการถือหุ้นไม่ถึง เพราะเป็นการถือในลักษณะโฮลดิ้งอยู่ด้วย ดูมาหมดแล้ว ดังนั้นถ้านายกฯ ถือเกิน 5% จะต้องแจ้งภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้ง ไม่ใช่วันถวายสัตย์ปฏิญาณ และเป็นระยะเวลา 30 วัน ไม่ใช่ 15 วัน ดังนั้นที่เลขา ป.ป.ช.พูดน่าจะคาดเคลื่อน
เมื่อถามย้ำว่า เรื่องนี้เข้าข่ายเป็นผิดการถือหุ้น 5% หรือความผิดเรื่องที่ดินไม่ชอบ นายเรืองไกร กล่าวว่า ทั้ง 2 เรื่อง และมีเรื่องอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย จะมีการให้ข้อมูลภายหลัง