งัดผลสอบ กสม.ร้อง กกต.สอย 'นายกฯอิ๊งค์-สมศักดิ์-ทวี' ปมนักโทษชั้น 14

งัดผลสอบ กสม.ร้อง กกต.สอย 'นายกฯอิ๊งค์-สมศักดิ์-ทวี' ปมนักโทษชั้น 14

'เรืองไกร' งัดผลสอบ กสม.ฉบับเต็ม ร้อง กกต.ส่งศาล รธน.สอย 'นายกฯอิ๊งค์-สมศักดิ์-ทวี' ส่อฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง ปมนักโทษชั้น 14 รพ.ตำรวจ เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ ม.160

เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2567 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เปิดเผยว่า วันนี้ได้ส่งหนังสือทางไปรษณีย์ EMS เพื่อขอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตรวจสอบนายกรัฐมนตรี (น.ส.แพทองธาร ชินวัตร) ว่า กรณีเสนอชื่อนายสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และกรณีเสนอชื่อ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เข้าข่ายมีความไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) หรือไม่ และการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม ข้อ 8 หรือไม่ และเข้าข่ายเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี รวมทั้งนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะเคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (4) ประกอบมาตรา 160 (4) (5) หรือไม่

โดยนายเรืองไกร กล่าวว่า หลังจากศึกษารายงานผลการตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่ 221/2567 วันที่ 30 ก.ค. 2567 ซึ่งมีทั้งสิ้น 20 หน้า พบว่า มีเหตุอันควรขอให้ กกต. ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ด้วยเว็บไซต์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เปิดเผยรายงานผลการตรวจสอบ ที่ 221/2567 ลงวันที่ 30 กรกฎาคม 2567 เรื่อง การเลือกปฏิบัติและสิทธิของผู้ต้องขัง กรณีร้องเรียนว่า นายทักษิณ ชินวัตร ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลดีกว่าผู้ต้องขังรายอื่น ความละเอียดนายกรัฐมนตรีควรทราบแล้วนั้น

ข้อ 2 รายงานผลการตรวจสอบ ที่ 221/2567 หน้า 18 ข้อ 3.7 ระบุไว้ว่า

“3.7 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเห็นว่า การละเมิดสิทธิมนุษยชนในกรณีตามคำร้องนี้ นอกจากจะมีสาเหตุเกิดจากการกระทำหรือละเลยการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานของรัฐแล้ว ยังมีสาเหตุจากกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 ข้อ 5 (2) ที่กำหนดห้ามผู้ต้องขังเข้าอยู่ในห้องพักพิเศษแยกจากผู้ป่วยทั่วไป เว้นแต่ต้องพักรักษาตัวในห้องควบคุมพิเศษตามที่สถานที่รักษาผู้ต้องขังจัดให้ ซึ่งเปิดโอกาสให้สถานที่รักษาใช้ดุลพินิจโดยขาดการพิจารณาจากเรือนจำที่ส่งตัวผู้ต้องขังออกไป และข้อ 7 ในส่วนที่เกี่ยวกับกรณีที่ผู้ต้องขังรักษาตัวนอกเรือนจำเป็นเวลานานเกิน 30 วัน 60 วัน และ 120 วัน ให้ผู้บัญชาการเรือนจำมีหนังสือขอความเห็นชอบจากอธิบดีและรายงานผู้บังคับบัญชาเพื่อทราบตามลำดับชั้น พร้อมกับความเห็นของแพทย์ผู้ทำการรักษาและหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่มีข้อกำหนดว่าหากเลยระยะเวลา 120 วันไปแล้ว ต้องดำเนินการอย่างไร ซึ่งอาจเป็นช่องว่างให้ผู้ต้องขังรักษาอาการป่วยนอกเรือนจำได้เป็นระยะเวลานานเกินไปโดยไม่มีการตรวจสอบ อีกทั้งการที่ผู้ต้องขังรักษาตัวเกิน 60 วัน และ 120 วัน แต่ให้ผู้บัญชาการเรือนจำขอความเห็นชอบจากอธิบดีกรมราชทัณฑ์และรายงายปลัดกระทรวงยุติธรรมหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมแล้วแต่กรณีเพื่อทราบเท่านั้น ย่อมก่อให้เกิดภาวการณ์ตรวจสอบถ่วงดุลและนำไปสู่การใช้อำนาจในทางที่ผิดได้ จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งในกรณีดังกล่าวต่อไป”

ข้อ 3 รายงานผลการตรวจสอบ ที่ 221/2567 หน้า 20 ข้อ 4.2.3 ระบุไว้ว่า

“4.2.3 ข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน ให้กระทรวงยุติธรรมแก้ไขปรับปรุงกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 ดังนี้

1) แก้ไขข้อ 5 (2) ที่กำหนดห้ามผู้ต้องขังเข้าอยู่ในห้องพักพิเศษแยกจากผู้ป่วยทั่วไป เว้นแต่ต้องพักรักษาตัวในห้องควบคุมพิเศษตามที่สถานที่รักษาผู้ต้องขังจัดให้ โดยควรกำหนดว่า “ในกรณีสถานที่รักษาผู้ต้องขังมีความจำเป็นต้องให้ผู้ต้องขังพักรักษาในห้องพิเศษหรือห้องอื่นนอกเหนือจากห้องปกติ ต้องได้รับความเห็นชอบจากเรือนจำและกรมราชทัณฑ์เสียก่อน เว้นแต่ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนที่หากไม่ดำเนินการทันทีจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ต้องขังนั้น ให้ดำเนินการไปก่อนแล้วรีบขอความเห็นชอบ โดยต้องระบุเหตุผลความจำเป็นประกอบการขอความเห็นชอบนั้นด้วย”

2) แก้ไขข้อ 7 ในส่วนที่เกี่ยวกับกรณีที่ผู้ต้องขังรักษาตัวนอกเรือนจำเป็นเวลานาน ให้ปลัดกระทรวงยุติธรรมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมแล้วแต่กรณี ต้องให้อำนาจในการพิจารณาความเห็นของอธิบดีกรมราชทัณฑ์ประกอบความเห็นของแพทย์ผู้ทำการรักษา มิใช่เพียงรับทราบ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการใช้อำนาจในการเอื้อประโยชน์ให้ผู้ต้องขังรายหนึ่งรายใดได้ออกไปรักษาตัวนอกเรือนจำโดยไม่มีเหตุอันควร”

ข้อ 4 กฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 ให้ไว้ ณ วันที่ 25 กันยายน 2563 โดยนายสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7 วรรคหนึ่ง และมาตรา 55 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมโดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการราชทัณฑ์

ข้อ 5 พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 7 บัญญัติว่า

“มาตรา 7 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้”

ข้อ 6 ดังนั้น กรณีตามรายงานผลการตรวจสอบของ กสม. ที่ 221/2567 วันที่ 30 ก.ค. 2567 จึงอยู่ในความรับผิดชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งมีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง 2 คน คือ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ซึ่งต่อมาทั้งสองคนยังคงได้รับการเสนอชื่อให้เป็นรัฐมนตรีโดยนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

ข้อ 7 หากพิจารณาตามแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 21/2567 เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2567 ย่อมจะทำให้เห็นได้ว่านายกรัฐมนตรี (นางสาวแพทองธาร ชินวัตร) จะต้องรู้หรือควรรู้ตามรายงานผลการตรวจสอบของ กสม. ที่ 221/2567 วันที่ 30 ก.ค. 2567 อยู่แล้วว่า กฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 มีการออกมาเพื่อการเอื้อประโยชน์ให้ผู้ต้องขังรายหนึ่งรายใดได้ออกไปรักษาตัวนอกเรือนจำโดยไม่มีเหตุอันควร และเป็นช่องว่างให้ผู้ต้องขังรักษาอาการป่วยนอกเรือนจำได้เป็นระยะเวลานานเกินไปโดยไม่มีการตรวจสอบ อีกทั้งการที่ผู้ต้องขังรักษาตัวเกิน 60 วัน และ 120 วัน แต่ให้ผู้บัญชาการเรือนจำขอความเห็นชอบจากอธิบดีกรมราชทัณฑ์และรายงานปลัดกระทรวงยุติธรรมหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมแล้วแต่กรณีเพื่อทราบเท่านั้น ย่อมก่อให้เกิดภาวการณ์ตรวจสอบถ่วงดุลและนำไปสู่การใช้อำนาจในทางที่ผิดได้

ข้อ 8 กรณีที่นายกรัฐมนตรี (นางสาวแพทองธาร ชินวัตร) รวมทั้งบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรี ซึ่งจะต้องรู้หรือควรรู้ว่ามีรายงานผลการตรวจสอบของ กสม. ที่ 221/2567 วันที่ 30 ก.ค. 2567 ออกมาแล้ว แต่ไม่นำมาประกอบการพิจารณาแต่งตั้งรัฐมนตรี จึงอาจทำให้นายกรัฐมนตรี (นางสาวแพทองธาร ชินวัตร) รวมทั้ง นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะเคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มีหรือเคยมีพฤติการณ์ที่เข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม ข้อ 8 ที่กำหนดว่า “ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ เพื่อตนเอง หรือผู้อื่น หรือมีพฤติการณ์ที่รู้เห็นหรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ” ดังนั้น กกต. จึงควรส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม