ขยับเรตติ้ง‘นายกฯ-เพื่อไทย’ เกม 2 ขา รัฐบาลสะสมแต้ม

ขยับเรตติ้ง‘นายกฯ-เพื่อไทย’ เกม 2 ขา รัฐบาลสะสมแต้ม

“นายใหญ่-ขุนพลเพื่อไทย” ต้องวางเกม ลักษณะ“เดินทั้งสองขา” ทางหนึ่งทำงานในนามรัฐบาล สร้างผลงานโดดเด่น ทางหนึ่งรวบรวม“ขุนพลบ้านใหญ่” เข้าสังกัดให้มากที่สุด และอาจขยับไปถึงขึ้นผนวกพรรคการเมืองอื่นเข้าร่วมสังกัด

KEY

POINTS

  • ผลสำรวจ "นิด้าโพล" คะแนนนิยมของ "แพทองธาร ชินวัตร" พุ่งแรงแซง "กระแสสีส้ม" หลัง "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" ติดโทษแบนทางการเมือง
  • ทว่า "นายใหญ่-ขุนพลเพื่อไทย" ยังวางเกมสองขา ทางหนึ่งปั้นผลงานของรัฐบาลให้ดีที่สุด ทางหนึ่งดึง "บ้านใหญ่" ให้กับมาร่วมงานกับพรรคเพื่อไทย
  • เนื่องจากกระแสของ "เพื่อไทย" อาจจะไม่ดีเหมือนเก่า ดังนั้นการเมืองสไตล์ "บ้านใหญ่" ยังตอบโจทย์ได้มาก

แม้เทอมการทำงานของรัฐบาลเพื่อไทย จะเหลืออีกกว่า 2 ปีครึ่ง แต่บรรดาพรรคการเมืองไม่ชะล่าใจ ต่างขยับวางยุทธศาสตร์ เลือกตั้งปี 2570 เอาไว้แต่เนิ่นๆ เพื่อเตรียมการเตรียมพร้อม ช่วงชิงความได้เปรียบจากคู่แข่ง-คู่แค้น และเร่งสะสมคะแนนนิยม

ยิ่งผลสำรวจความนิยมทางการเมือง ไตรมาส 3 ปี 67 ของศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้า” สะท้อนให้เห็นเรตติ้งของ “ผู้นำพรรค-พรรคการเมือง” ยิ่งทำให้ต้องตระหนักถึงเสียงสะท้อนจากประชาชน เพื่อปิดจุดอ่อน เสริมจุดแข็งให้มากขึ้น “นิด้าโพล” สำรวจ

บุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี พบว่า

  • อันดับ 1 ร้อยละ 31.35 ระบุว่าเป็น “นายกฯอิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร พรรคเพื่อไทย 
  • อันดับ 2 ร้อยละ 23.50 ระบุว่า ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้
  • อันดับ 3 ร้อยละ 22.90 ระบุว่าเป็น “ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ” พรรคประชาชน
  • อันดับ 4 ร้อยละ 8.65 ระบุว่าเป็น “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” พรรครวมไทยสร้างชาติ
  • อันดับ 5 ร้อยละ 4.80 ระบุว่าเป็น “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” พรรคไทยสร้างไทย
  • อันดับ 6 ร้อยละ 4.00 ระบุว่าเป็น “อนุทิน ชาญวีรกูล” พรรคภูมิใจไทย
  • อันดับ 7 ร้อยละ 1.15 ระบุว่าเป็น “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” พรรคพลังประชารัฐ

พรรคการเมืองที่ประชาชนจะสนับสนุน พบว่า

  • อันดับ 1 ร้อยละ 34.25 พรรคประชาชน
  • อันดับ 2 ร้อยละ 27.15 พรรคเพื่อไทย
  • อันดับ 3 ร้อยละ 15.10 ยังหาพรรคการเมืองที่เหมาะสมไม่ได้
  • อันดับ 4 ร้อยละ 9.95 พรรครวมไทยสร้างชาติ 
  • อันดับ 5 ร้อยละ 4.40 พรรคประชาธิปัตย์
  • อันดับ 6 ร้อยละ 3.55 พรรคภูมิใจไทย
  • อันดับ 7 ร้อยละ 2.05 พรรคพลังประชารัฐ
  • อันดับ 8 ร้อยละ 1.70 พรรคไทยสร้างไทย

“นิด้าโพล” ยังเปรียบเทียบ ผลสำรวจพรรคการเมือง ที่ประชาชนจะสนับสนุน ตั้งแต่ไตรมาส 1 ด้วยว่า ตัวเลขของพรรคเพื่อไทย อยู่ที่ 22.10% จากนั้นช่วงไตรมาส ตกลงไปอยู่ที่ 16.85% และ ไตรมาส 3 ล่าสุด อยู่ที่ 27.15% เพิ่มขึ้นประมาณ10%

ขณะที่พรรครวมไทยสร้างชาติ ตัวเลขขยับขึ้นต่อเนื่อง จาก 5.10% ในไตรมาสแรก มาอยู่ที่ 7.55% ในไตรมาส 2 ล่าสุด ขึ้นมาอยู่ที่ 9.95%

ต้องยอมรับว่าคะแนนของ “แพทองธาร” พุ่งกระฉูดขึ้นมาตั้งแต่นั่งเก้าอี้นายกฯ เพราะหากดูผลสำรวจไตรมาส 2 ปี 67 เจ้าตัวอยู่ลำดับที่ 5 มีเพียงร้อยละ 4.85 โดยอยู่ที่ “เศรษฐา ทวีสิน” ร้อยละ 12.85 เมื่อรวมกันมีเพียง 17.7 แต่เมื่อเปลี่ยนตัวผู้นำ แต้มกลับพุ่งขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 31.35

เมื่อเจาะยุทธศาสตร์การเมืองของ “นายใหญ่-เพื่อไทย” ที่คู่ขนานกันไป ได้โฟกัสไปที่ภารกิจรวบรวม “บ้านใหญ่” ให้กลับเข้ามาสังกัด “ค่ายสีแดง” 

ตัวอย่างล่าสุดในพื้นที่ จ.ขอนแก่น มีความเป็นไปได้สูงที่จะดึง “ตระกูลช่างเหลา” กลับมาสังกัด โดย “วัฒนา ช่างเหลา” ผู้สมัครชิงเก้าอี้ นายก อบจ. ขอนแก่น ลาออกจากพรรคภูมิใจไทย มาสมัครเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย 

แม้ “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รมว.คมนาคม ขุนพลคนสำคัญของ “ค่ายสีแดง” จะยืนยันว่า “วัฒนา” ไม่ได้ชิงเก้าอี้ นายก อบจ. ขอนแก่น ในนามพรรคเพื่อไทย แต่ในทางลับรับรู้กันว่า “บิ๊กสีแดง” สนับสนุน “วัฒนา-ตระกูลช่างเหลา”

“นายใหญ่” มองทะลุว่า “เพื่อไทย” ต้องมีอาวุธหนักมาสู้กับ “กระสีส้ม” เนื่อง “กระแสสีแดง” ที่เคยป็อบปูลาร์ นับตั้งแต่เปลี่ยนขั้ว จับมือ “ทีมลุง” จัดตั้งรัฐบาล ยังไม่เห็นทางที่ความนิยมทางการเมืองจะฟื้นกลับมาเหมือนเก่า

จากผลสำรวจซึ่งเป็นที่ยอมรับ แม้คะแนนนิยมของ “แพทองธาร” และ “พรรคเพื่อไทย” จะกระเตื้องขึ้นมาบ้าง แต่ยังไม่มีอะไรการันตีว่าจะเรตติ้งของหัวหน้าพรรคเพื่อไทยในตำแหน่งนายกฯ จะขาขึ้นไปเรื่อยๆ  

เวลาที่เหลืออีกกว่า 2 ปีครึ่ง ยังต้องเผชิญสถานการณ์ ที่อาจได้เพิ่มหรือลดแต้ม กว่าจะถึงช่วงใกล้เลือกตั้ง ก็ยังยากจะประเมินสถานการณ์จากเวลานี้

ฉะนั้น “นายใหญ่-ขุนพลเพื่อไทย” ต้องวางเกม ลักษณะ“เดินทั้งสองขา” ทางหนึ่งทำงานในนามรัฐบาล สร้างผลงานโดดเด่น ทางหนึ่งรวบรวม“ขุนพลบ้านใหญ่” เข้าสังกัดให้มากที่สุด และอาจขยับไปถึงขึ้นผนวกพรรคการเมืองอื่นเข้าร่วมสังกัด

การเลือกตั้งซ่อม สส.เขต 1 พิษณุโลก ล่าสุด น่าจะเป็นโมเดลสำคัญในการขับเคลื่อนการเมืองในอนาคต หาก “เพื่อไทย” รวบรวม “บ้านใหญ่”กลับมาได้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็น “ขุมกำลัง” ของพรรคร่วมรัฐบาล ด้วยกันเอง 

ทางหนึ่งทำให้ “พรรคร่วมรัฐบาล” อ่อนแอลง ทางหนึ่งทำให้ “เพื่อไทย” มีขุมกำลังที่แข็งแกร่ง และอีกทางหนึ่งจะทำให้การตัดแต้มทางการเมืองกันเองเหลือน้อยที่สุด คู่ต่อสู้จะมีแค่ “ค่ายสีแดง” กับ “ค่ายสีส้ม” หากเป็นเช่นนี้ โอกาสชนะมีสูง

อีกพรรคที่ต้องจับตาคือ “พรรครวมไทยสร้างชาติ” แต้มการเมืองจาก “ฝั่งอนุรักษนิยม” ดีขึ้นตามลำดับ จากการยืนหนึ่งในขั้วดังกล่าว ผนวกกับพื้นที่ภาคใต้ มีการสนธิกองกำลังระดับพื้นที่ กับกองกำลังส่วนกลาง ที่เริ่มลงตัวมากขึ้น

โดยเฉพาะ “ทีมเลขาฯขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม วางเครือข่ายภาคใต้ร่วมกับ “ลูกหมี” ชุมพล จุลใส จนมีเครือข่ายกว้างขวางมากขึ้น ผนวกกับกระแสต้านพรรคประชาธิปัตย์ เป็นแรงส่งให้พรรครวมไทยสร้างชาติ มีคะแนนนิยมขยับขึ้นเรื่อยๆ 

ต้องจับตา “เพื่อไทย” และ “รวมไทยสร้างชาติ” ในสนามเลือกตั้งรอบหน้า ในเชิงพื้นที่ยุทธศาสตร์

 “เพื่อไทย” มีแต้มในภาคเหนือ-ภาคอีสาน “รวมไทยสร้างชาติ” มีแต้มในภาคใต้ หากมีปฏิบัติการแบ่งพื้นที่กันเล่น แบ่งโซนกันเก็บเก้าอี้ สส.เพื่อสู้กับ“กระแสสีส้ม” โอกาสที่จะคว้าชัยในการเลือกตั้ง 70 ก็มีไม่น้อยเช่นกัน