ส่องปมม็อบล้ม‘นายกฯอิ๊งค์’ ลุ้นคดีการเมืองในศาล รอเงื่อนไขลงถนน

ส่องปมม็อบล้ม‘นายกฯอิ๊งค์’ ลุ้นคดีการเมืองในศาล รอเงื่อนไขลงถนน

ส่องปมม็อบล้ม‘นายกฯอิ๊งค์’ ลุ้นคดีการเมืองในศาล รอเงื่อนไขลงถนน พท.ปิดช่องมวลชนจัดตั้ง "นายทุน"เลือกข้างชนะ

KEY

POINTS

  • สูตรล้ม "นายกฯอิ๊งค์" ถูกชงผ่านวงลับ ก่อนจะเปิดหน้าขับเคลื่อน สูตรแรกเดินหน้าเอาผิดตามช่องทางกฎหมาย สูตรสองเกณฑ์มวลชนลงถนน
  • ทว่าปัจจัยก่อน "ม็อบ" อาจจะไม่ง่ายเหมือนเก่า เนื่องจากเงื่อนไขในการขับไล่รัฐบาล ยังไม่มีประเด็นให้จุดชนวนมากพอ
  • ที่สำคัญ "ม็อบจัดตั้ง" ที่มักจะมาจาก "พรรคการเมือง" ไม่แข็งแรงเหมือนเก่า เช่นเดียวกับ "นายทุน" เลือกอยู่ข้างเดียวกับ "ชินวัตร-เพื่อไทย" ไปเสียแล้ว

รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร เข้ารับตำแหน่งได้ไม่ถึงเดือน แต่กำลังเจอแรงเสียดทานทางการเมืองตามบดขยี้ ตามจังหวะที่ยังมี “ตาอยู่” หวังนั่งเก้านายกฯ จึงเป็นโอกาสของ “นักขายฝัน” ชงสูตรล้ม“นายกฯอิ๊งค์”

สูตรแรก ใช้กลไกทางกฎหมายฟ้องร้องดำเนินคดีหลายปม ในช่วงที่ผ่านมาจึงมีปรากฎการณ์ระดมพล “นักร้อง” ยื่นฟ้องศาล-องค์กรอิสระ เพื่อเปิดแผลเอาไว้ เมื่อถึงเวลาอาจจะเข้าทาง ก็สามารถหยิบปมร้องมาเชือดรัฐบาลได้ทันที

สูตรการเมืองบนถนน มีความพยายามเช็คกระแส “กลุ่มต้านชินวัตร” ว่ายังแข็งแรง-แข็งแกร่งเหมือนเก่าหรือไม่ โดยเฉพาะการเคลื่อนของกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ซึ่งมีส่วนผสมของ “แกนนำเสื้อเหลือง-แกนนำเสื้อแดง” คอยกำกับอยู่หลังฉาก

โดย คปท.จัดการชุมนุมต้านรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน บริเวณข้างทำเนียบรัฐบาล ฝั่งสะพานเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ อยู่แรมเดือน แต่ไม่สามารถปลุกกระแสได้ มาในช่วงรัฐบาลแพทองธาร “กลุ่มคปท.” จัดการชุมนุมไปหนึ่งครั้ง แต่จำนวนมวลชนมีไม่มากพอ

ล่าสุด มีความเคลื่อนไหวจาก “สนธิ ลิ้มทองกุล” อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) หรือที่รู้จักกันในนาม “กลุ่มคนเสื้อเหลือง” ประกาศปลุกมวลชนขับไล่รัฐบาล โดยวางเงื่อนไข ให้ทำงานก่อน หากกระทำผิดจริยธรรม พร้อมเดินขบวนครั้งสุดท้ายของชีวิต

อย่างไรก็ตาม การจะปลุกกระแส “ม็อบต้านรัฐบาล” อาจไม่ง่ายเหมือนเก่า เนื่องจาก “ตระกูลชินวัตร” ไม่ใช่ศัตรูของ “หัวขบวนอนุรักษนิยม” อีกต่อไป ต่างฝ่ายต่างต้องพึ่งพากัน โดยศัตรูจุดร่วมเดียวกันคือ “พลังสีส้ม”

ขณะเดียวกัน “รัฐบาลแพทองธาร” เพิ่งเข้ามาบริหารประเทศ เงื่อนไขการบริหารผิดพลาด หรือมีการทุจริตยังไม่เกิดขึ้น ส่งผลให้แรงต้านยังมีน้อยอยู่ การจะปลุกม็อบในทันทีทันใดไม่ใช่เรื่องง่าย

ย้อนกลับไปในอดีตยุค “รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร” มีโอกาสได้บริหารประเทศยาวนาน โดยเฉพาะ “ทักษิณ 1” อยู่ครบเทอม แต่มีปมผลประโยชน์ทับซ้อนในหลายเรื่อง อาทิ การขายหุ้นชินคอร์ป ให้แก่บริษัทเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ (พีทีอี) จำกัด (เทมาเส็ก) หรือ กองทุนเพื่อการลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ การซื้อที่ดินรัชดา เป็นต้น

เมื่อมีผลประโยชน์ทับซ้อน การปลุกกระแสต้านจึงทำได้ง่ายขึ้น ความเชื่อมั่นของ “ทักษิณ” ในขณะนั้นลดน้อยลง เป็นแรงส่งให้ “มวลชน” ออกมาชุมนุมบนท้องถนน

เช่นเดียวกับการชุมนุม “กลุ่มกปปส.” ในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร “สุเทพ เทือกสุบรรณ” แกนนำกปปส. เลี้ยงกระแสด้วยการจัดการชุมนุมระดมพล ดักทางเอาไว้ก่อนว่า จะมีการเสนอ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ให้กับ “ทักษิณ” เมื่อถึงวัน ว. เวลา น. “เพื่อไทย” โหวต พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับสุดซอย การชุมนุมของ “สุเทพ-กปปส.” จึงจุดติด มีเหตุผลให้มวลชนลงถนน

ดังนั้น เมื่อดูจากเงื่อนไขของการชุมนุมขับไล่ “รัฐบาลแพทองธาร” เมื่อยังไม่มีปมชัดเจนมากพอ จึงไม่แปลกที่ “สนธิ” จะทิ้งเวลารอจังหวะไตรมาสแรกของปี 2568 เพื่อประเมินสถานการณ์อีกครั้ง

นอกจากนี้ ต้องยอมรับว่า การทำ “ม็อบลงถนน” มักจะมี “พรรคการเมือง” คอยให้การสนับสนุนงานด้าน“มวลชน” เพราะหากไม่มี “มวลชนจัดตั้ง” หวังพึ่งพา “มวลชนออแกนิค” การเอาชนะรัฐบาล ย่อมทำได้ยาก

การชุมนุมของ “กลุ่มพันธมิตร” เอง ก็ยากที่จะปฏิเสธว่ามี “มวลชนจัดตั้ง” โดยมีแนวร่วมจากกลุ่มต่างๆ ทยอยเข้ามาผนึกพลัง จนดึงดูดมวลชนเข้ามาเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ 

เช่นเดียวกับการชุมนุมของ “กลุ่มกปปส.” บรรดา สส.พรรคประชาธิปัตย์ ลาออกจากตำแหน่งมาร่วมเดินขบวน ผนึกกำลังกับ“แกนนำปชป.” ขึ้นเวทีปราศรัยต่อเนื่อง จนสามารถสร้างเงื่อนไขให้เกิดการรัฐประหารรัฐบาลยิ่งลักษณ์

ไม่ต่างจากการชุมนุมของ “กลุ่มคนเสื้อแดง” ที่ออกมาล้มรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต่างก็มี “มวลชนจัดตั้ง” จากพรรคการเมืองสีแดง คอยจัดส่งมวลชนให้สู่สถานที่การชุมนุม

พรรคการเมืองที่พอมีศักยภาพในการระดม “มวลชนจัดตั้ง” ส่วนใหญ่มารวมกลุ่มอยู่ในขั้วรัฐบาลปัจจุบัน ดังนั้นม็อบระลอกใหม่จึงยากที่จะมี “มวลชนจัดตั้ง” คอยรักษาเวทีการชุมนุมเอาไว้

ขณะเดียวกัน ยังมีบทเรียนจาก “ม็อบสีส้ม” แม้จะมีผู้ร่วมชุมนุมจำนวนมาก แต่การชุมนุมไม่มีเวทีถาวร ไม่มีมวลชนจัดตั้ง ชุมนุมนัดเย็น-ค่ำกลับ ทำให้ “รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” สามารถควบคุมสถานการณ์เอาไว้ได้ จนมวลชนอ่อนแรงลงไปเอง

ที่สำคัญการทำม็อบต้องมี “ท่อน้ำเลี้ยง” โดยมักจะมาจาก “นายทุน” ระดับบิ๊กเนม ซึ่งมีสายป่านยาวเหยียด มาร่วมลงขัน 

อย่างในช่วงรัฐบาลทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ในทางลับรู้กันดี เช็คกันได้ว่า ใครคือ “นายทุน” คอยสนับสนุนเสบียงเลี้ยงม็อบ

ทว่า บริบทของ “รัฐบาลแพทองธาร” บรรดา “นายทุน” ที่เคยสหบาทา “ตระกูลชินวัตร” พลิกมาอยู่ขั้วเดียวกัน เนื่องจากมี “กระแสสีส้ม” เป็นศัตรูแทนที่ “ชินวัตร-เพื่อไทย” ฉะนั้น “นายทุน” ระดับบิ๊กเนม คงไม่สนับสนุน “ม็อบล้มนายกฯอิ๊งค์”

เมื่อมองเกมทั้งกระดาน ปัจจัยกำเนิด “ม็อบลงถนน” ที่จะมีพลังมากพอจะโค่นล้ม “รัฐบาลแพทองธาร” ยังมีน้อยมาก หากไม่เดินเกมพลาดจน “หัวขบวนอนุรักษนิยม” ต้องเปลี่ยนเกม เปลี่ยนหัวขบวนใหม่