เปิดทริปโรดโชว์ต่างประเทศ พิสูจน์ภาวะผู้นำ ‘แพทองธาร’

เปิดทริปโรดโชว์ต่างประเทศ พิสูจน์ภาวะผู้นำ ‘แพทองธาร’

เปิดทริปเดินสายโรดโชว์ต่างประเทศ ประเดิมตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ "แพทองธาร ชินวัตร" ซึ่งนายกฯ หญิงจะต้องโชว์ภาวะความเป็นผู้นำของไทยต่อเวทีนานาชาติ เพื่อพิสูจน์ความเชื่อมั่น และคะแนนนิยมจะยังครองใจคนไทยไปจนถึงการเลือกตั้งหรือไม่

KEY

POINTS

  • เปิดทริปโรดโชว์แรกของ "นายกฯ แพทองธาร" เดินทางเยือน "กาตาร์" โชว์ภาวะผู้นำในต่างประเทศร่วมประชุมระดับผู้นำกรอบความร่วมมือเอเชีย (ACD) 
  • คิวถัดไป "แพทองธาร" เตรียมร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 44 และ 45 ที่ สปป.ลาว เตรียมหารือทวิภาคีกับผู้นำมหาอำนาจโลก เล็งถกชาติเพื่อนบ้านแก้ปัญหาลุ่มน้ำโขง
  • ไม่ถึง 1 เดือนเต็มหลังเข้ารับตำแหน่งนายกฯ อย่างทางการ "แพทองธาร" ในฐานะเป็นนายกฯ อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย ต้องเผชิญบททดสอบสำคัญในการแก้วิกฤติประเทศทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง
  • เหลือเวลาอีก 3 ปีของอายุรัฐบาลแพทองธาร นับจากนี้จะต้องพิสูจน์ผลงาน และคะแนนนิยมในฐานะนายกฯ จะยังครองใจคนไทยไปจนถึงวันเลือกตั้งหรือไม่

บทบาทแรกในต่างประเทศสำหรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของ “แพทองธาร ชินวัตร” คือ การเดินทางไปร่วมประชุมระดับผู้นำกรอบความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue: ACD) ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 2 - 4 ตุลาคม 2567 ณ กรุงโดฮา รัฐกาตาร์

ถือเป็นครั้งแรกในการปฏิบัติภารกิจนายกฯ ซึ่ง “แพทองธาร” มีคิวจะขึ้นกล่าวถ้อยแถลงในฐานะที่เคยเป็นเจ้าภาพระดับผู้นำ ครั้งที่ 2 เมื่อปี 2559 และในฐานะประธานเอซีดีในวันที่1 มกราคม 2568

ภารกิจนี้นายกฯ จะอาศัยเวทีต่างประเทศทริปแรก ด้วยการโชว์บทบาทผู้นำผลักดันให้ ACD เป็นเวทีหารือระดับนโยบายเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศในทวีปเอเชีย ส่งเสริมผลประโยชน์ร่วมกัน และเป็นเวทีที่ประเทศสมาชิกสามารถแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นด้วยความเข้าใจ และไว้เนื้อเชื่อใจกัน

คิวเดินสายครั้งแรกในฐานะนายกฯ หญิงคนที่ 2 ของประเทศไทยครั้งนี้ ยังถือว่าเป็น “ผู้นำหญิง” หนึ่งเดียวในภูมิภาค ซึ่งชาติสมาชิกของ ACD มีทั้งประเทศ 35 ประเทศ อาทิ กาตาร์ จีน ยูเออี ซาอุดีอาระเบีย เกาหลีใต้ สปป.ลาว กัมพูชา เมียนมา และเวียดนาม เป็นต้น

หัวข้อหลักที่จะมีการหารือระหว่างชาติสมาชิกจะมีทั้งการทูตเชิงกีฬาหรือ Sport Diplomacy โดยมีวาระการประชุมที่สำคัญ ที่ฝ่ายไทย โดยนายกฯ จะกล่าวถ้อยแถลง ในนามหัวหน้าคณะผู้แทนประเทศสมาชิก เป็นลำดับที่ 2 ต่อจากกาตาร์ ซึ่งเป็นประเทศเจ้าภาพ

อีกทั้ง “แพทองธาร” จะย้ำความพร้อมการเป็นประธาน และเจ้าภาพจัดการประชุม ACD ในปีหน้า ตั้งแต่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป โดยจะเน้นความสำคัญของการเงินเพื่อการพัฒนา หรือ Financing for Development เพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา

เปิดทริปโรดโชว์ต่างประเทศ พิสูจน์ภาวะผู้นำ ‘แพทองธาร’

สำหรับกรอบความร่วมมือเอเชีย หรือ ACD นั้นเป็นความคิดริเริ่มจาก “ทักษิณ ชินวัตร” ขณะดำรงตำแหน่งนายกฯ เพื่อให้ประเทศในเอเชีย มีเวทีของตนเอง เพื่อหารือความร่วมมือในระดับทวีป รวมเอเชียเข้าด้วยกัน เสริมสร้างเจตนารมณ์ทางการเมืองร่วมกันของรัฐบาลประเทศเอเชีย และเปิดโอกาสให้มีแนวทางร่วมมือในประเด็นที่สร้างสรรค์

ทั้งนี้ เป้าประสงค์หลักของ ACD เป็นการส่งเสริมการพึ่งพาอาศัยกันระหว่างประเทศเอเชียในทุกสาขาความร่วมมือ โดยใช้ประโยชน์จากจุดแข็ง และโอกาสร่วมกันของเอเชีย ซึ่งจะช่วยลดปัญหาความยากจน และยกระดับความเป็นอยู่ของประชากรในเอเชีย พัฒนาสังคมองค์ความรู้ภายในเอเชีย และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชน และสังคม

รวมทั้งขยายตลาดการค้า และการเงินภายในเอเชีย และเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับประเทศเอเชีย แทนที่การแข่งขัน ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของเอเชียในตลาดโลก

ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรี ยังมุ่งหวังที่จะสานต่อแนวคิดนี้ในการดำรงตำแหน่งประธาน ACD ในวันที่ 1 มกราคม 2568 นี้โดยเล็งเห็นว่า ACD  จะเป็น "เวทีหารือของเอเชีย" (converging forum of Asia) และเน้นย้ำว่า ไทยในฐานะผู้เป็นสะพานเชื่อม ACD มุ่งหวังที่จะทำงานร่วมกับทุกประเทศสมาชิก เพื่อสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน 

โดย นายกรัฐมนตรีได้แสดงวิสัยทัศน์ในเวที ACD เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ที่ผ่านมา โดยย้ำว่า ประเทศไทยมีความกังวลอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมที่เลวร้ายลง ซึ่งส่งผลกระทบอย่างหนักต่อพลเรือนผู้บริสุทธิ์  พร้อมทั้งมองว่า ศตวรรษที่ 21 ถูกกล่าวขานว่าเป็น "ศตวรรษแห่งเอเชีย" และยกเอเชียเปรียบเสมือนแหล่งพลังงาน และครัวของโลก ทั้งนี้ประเทศไทยขอเชิญชวน ประเทศสมาชิก ACD มาร่วมกันพัฒนาเส้นทางการค้าใหม่ๆ เพื่อเชื่อมต่อ และกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วทั้งเอเชียในฐานะที่เอเชียเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลก

นายกฯ ยังได้หารือทวิภาคีกับนายกรัฐมนตรีกาตาร์ พร้อมขอบคุณฝ่ายกาตาร์ที่มีส่วนในการไกล่เกลี่ยให้การปล่อยตัวประกันไทย และขอให้กาตาร์ช่วยเจรจาเพื่อการปล่อยตัวเพิ่มเติมด้วย

อีกทั้งยังใช้โอกาสในการพบกับเจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์ โดยย้ำว่าไทยพร้อมที่จะริเริ่มความร่วมมือใหม่ๆ กับกาตาร์ อาทิ ด้านซอฟต์พาวเวอร์ ความร่วมมือด้านบุคลากร เพื่อ up-skill re-skill บุคลากรไทยเพื่อรองรับความสามารถในการแข่งขันต่างๆ

"แพทองธาร" ยังระบุถึงผลสำเร็จในการเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ว่า หลายประเทศตื่นตัวที่จะเข้ามาลงทุนในไทย พร้อมทั้งย้ำจุดยืนของไทยในการส่งเสริมสันติภาพ และความมั่งคั่งร่วมกัน ไทยอยากเห็น และผลักดันให้เกิดสันติภาพ โดยให้ความสำคัญกับการปกป้องชีวิตบริสุทธิ์ และกฎบัตรสหประชาชาติ

ปิดจ็อบภารกิจแรกในต่างประเทศ “แพทองธาร” คิวถัดไป คือ การร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 44 และ 45 ที่นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว ระหว่างวันที่ 8-11 ตุลาคม 2567

เปิดทริปโรดโชว์ต่างประเทศ พิสูจน์ภาวะผู้นำ ‘แพทองธาร’

“แพทองธาร” มีบทบาทพิสูจน์ความเป็นผู้นำของไทยครั้งแรกในการหารือทวิภาคีกับชาติมหาอำนาจของโลก ทั้ง สหรัฐอเมริกา รัสเซีย จีน สหภาพยุโรป รวมทั้งชาติผู้นำในเอเชียทั้งญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ด้วย

ทั้งนี้ “แพทองธาร” จะโชว์ภาวะผู้นำไทยในการหารือทวิภาคีผู้นำเพื่อนบ้านแก้ปัญหาน้ำโขง ซึ่งคาดว่าจะมีการเจรจาระดมสรรพกำลัง เพื่อบริหารจัดการน้ำระหว่างประเทศ เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยได้ประสบอุทกภัยอย่างหนักในภาคเหนือ และตามแนวชายแดนลุ่มน้ำโขง

แนวทางการบริหารจัดการน้ำระหว่างประเทศ คาดว่าจะใช้กรอบความร่วมมือของประเทศในอนุภูมิภาค ACMECS เป็นกลไกสำคัญ ในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งของแม่น้ำโขงในระยะยาว

โดยก่อนหน้านี้ “มาริษ เสงี่ยมพงษ์” รมว.ต่างประเทศ ได้หารือร่วมกับเอกอัครราชทูตกลุ่มสมาชิกยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง : Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy หรือ ACMECS (แอ็กเม็กส์) จำนวน 5 ประเทศ ประกอบด้วย กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย เพื่อริเริ่มความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาอุทกภัยลุ่มน้ำโขงแล้ว

การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งนี้ “แพทองธาร” จะใช้โอกาสเวทีดังกล่าวแสดงบทบาทนำของไทยในการดำเนินการตามฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียนเพื่อแก้ไขปัญหาในประเทศเมียนมาด้วย

การก้าวเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการมาเกือบ 1 เดือนนับแต่แถลงนโยบายต่อรัฐสภา “นายกฯ อุ๊งอิ๊ง” ก็เริ่มต้องเจอบทพิสูจน์จากวิกฤติต่างๆ ให้เข้ามารับมือ และโชว์บทบาทภาวะความเป็นผู้นำที่มีอายุน้อยที่สุดจากบรรดา 31 นายกฯ ของไทย

เปิดทริปโรดโชว์ต่างประเทศ พิสูจน์ภาวะผู้นำ ‘แพทองธาร’

ศึกแรกที่ต้องเร่งรับมือวิกฤติเศรษฐกิจปากท้องที่กำลังรุมเร้าคนหาเช้ากินค่ำ และก็ได้ นโยบาย “เงินหมื่นดิจิทัลวอลเล็ต” เฟสแรก เป็นผลงานแรกในการช่วยเหลือ “กลุ่มคนเปราะบาง” ก่อน

ตามมาด้วยวิกฤติอุทกภัยใน จ.เชียงราย จ.เชียงใหม่ ที่นายกฯ ต้องเร่งรับมือเพื่อคลี่คลายวิกฤติอุทกภัยไม่ให้บานปลายซ้ำรอยนายกฯ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร”

ขณะที่ปัญหาทางการเมือง “แพทองธาร” ยังต้องเจอความเสี่ยงที่ยังไม่อาจรู้สถานการณ์ทางการเมืองในอนาคตได้ว่าจะอยู่ในตำแหน่งนายกฯ ไปได้ถึงครบวาระหรือไม่ เพราะบรรดานักร้องทั้งมืออาชีพ และสมัครเล่นต่างเดินสายยื่นร้องต่อองค์กรอิสระ เพื่อหวังใช้ทางลัดในการโค่นล้ม “แพทองธาร” ให้พ้นจากตำแหน่งอยู่ตลอดเวลา

ล่าสุด “นายกฯ อุ๊งอิ๊ง” ยังต้องโชว์ภาวะความเป็นผู้นำในการเข้าไปเยียวยา และให้กำลังใจครอบครัวผู้สูญเสียและบาดเจ็บจากเหตุการณ์ไฟไหม้รถบัสของนักเรียนจากโรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม จ.อุทัยธานี

ทั้งหมดนี้ไม่น่าจะมีวิกฤติทั้งเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองเพียงเท่านี้ ขณะที่ “รัฐบาลแพทองธาร” ยังมีอายุการบริหารราชการแผ่นดิน  ในอีก 3 ปีต่อจากนี้ไป ซึ่งจะต้องพิสูจน์ผลงาน ความท้าทายในคะแนนนิยมความเป็นผู้นำด้วยว่าจะครองใจคนไทยไปได้ตลอดหรือไม่ก่อนจะถึงวันเลือกตั้งในปี 2570
 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์