ผู้บริหาร กทม.แจงแผนเช่ารถขยะไฟฟ้า ยันพร้อมให้สอบทุกขั้นตอน ปิดช่องโกง

ผู้บริหาร กทม.แจงแผนเช่ารถขยะไฟฟ้า ยันพร้อมให้สอบทุกขั้นตอน ปิดช่องโกง

ทีมผู้บริหาร กทม.ตั้งโต๊ะแจงละเอียด ปมแผนเช่ารถขยะไฟฟ้า 9 เดือน แทนที่คันเก่าหมดสัญญา พร้อมบริหารนำรถเก่าที่ใช้กว่า 1 พันคันอุดช่องโหว่ก่อนเริ่มสัญญาใหม่ เผยเตรียมจัดซื้อทดแทนตั้งแต่ปี 66 แต่ติดข้อร้องเรียน ทำโครงการชะงัก พร้อมให้ตรวจสอบทุกขั้นตอน ปิดช่องทุจริต

เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2567 ที่ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร กทม. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการแถลงข่าวเรื่องการเช่ารถเก็บขนมูลฝอยที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (EV) ของกรุงเทพมหานคร โดยมี นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) และนายภาณุวัฒน์ อ่อนเทศ ผู้อำนวยการสำนักงานจัดการมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล สสล. ร่วมแถลง

นายจักกพันธุ์ กล่าวว่า เมื่อก่อนกรุงเทพมหานครใช้วิธีการจัดซื้อรถเก็บขนมูลฝอย (รถขยะ) แต่ตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมากรุงเทพมหานครใช้วิธีการเช่ารถเก็บขนมูลฝอย โดยระหว่างปี 2545 - 2563 มีการเช่ารถเก็บขนมูลฝอยแล้วทั้งสิ้น 28 สัญญา วงเงินรวม 21,974,978,103 บาท 

ทั้งนี้ รถเก็บขนมูลฝอยที่จะหมดสัญญาเช่าในปี 2567 - 2568 มีดังนี้  1. รถยกภาชนะ 3 ลบ.ม. จำนวน 102 คัน หมดสัญญา 102 คัน วันที่ 30 ก.ย. 67  2. รถแบบอัด 2 ตัน จำนวน 152 คัน หมดสัญญา 68 คัน วันที่ 22 พ.ย. 67 อีก 84 คัน วันที่ 22 ธ.ค. 67  3.รถยกภาชนะ 8 ลบ.ม. จำนวน 124 คัน หมดสัญญา 58 คัน วันที่ 19 ธ.ค. 67 อีก 66 คัน วันที่ 27 ธ.ค. 67  4. รถแบบอัด 5 ตัน จำนวน 464 คัน หมดสัญญา 92 คัน วันที่ 22 ธ.ค. 67 หมดสัญญา 92 คัน วันที่ 19 มี.ค. 68 หมดสัญญา 110 คัน วันที่ 27 มี.ค. 68 และอีก 170 คัน หมดสัญญาวันที่ 20 เม.ย. 68 และยังมีรถที่จะหมดสัญญาเช่าในวันที่ 16 มิ.ย. 69 11 ม.ค. 70 และ 31 มี.ค. 70 ด้วย ซึ่งปี 70 ถือว่าเป็นปีที่สัญญาเก่าทั้งหมดจะจบลง 

ผู้บริหาร กทม.แจงแผนเช่ารถขยะไฟฟ้า ยันพร้อมให้สอบทุกขั้นตอน ปิดช่องโกง

นายจักกพันธุ์ กล่าวอีกว่า เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 67 ตามจริงแล้ว กทม. ควรจะต้องมีรถยกภาชนะ 3 ลบ.ม. จำนวน 102 คัน มาทดแทนรถที่หมดสัญญา โดยก่อนที่จะหมดสัญญาเช่าอย่างน้อย 1 ปี กทม. จะตั้งโครงการขึ้นมาเพื่อเป็นการเช่าทดแทนรถที่จะหมดสัญญาเช่า เพื่อนำเข้ากระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ในปี 66 กทม. ตั้งโครงการเช่ารถเก็บขนมูลฝอยขึ้นมา 4 โครงการ แสดงให้เห็นว่า กทม. ได้เตรียมความพร้อมในเรื่องนี้ ย้ำว่าทุกครั้งที่ผ่านมา กทม. ตั้งโครงการเช่ารถเก็บขยะขึ้นมาโดยในวัตถุประสงค์ไม่เคยระบุประเภทของเชื้อเพลิงที่ใช้ แต่ระบุประเภทรถ จำนวนคัน และงบประมาณที่ใช้

หลังจากที่ผู้บริหารชุดนี้เข้ามาได้มีการหารือกับสำนักสิ่งแวดล้อมว่า รถขยะที่ กทม. ใช้อยู่ปัจจุบันควรจะเปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้าหรือไม่ เมื่อเกิดแนวคิดนี้จึงหาข้อมูล 3 ด้านคือ 1. หลักเกณฑ์ในการเช่ารถขยะไฟฟ้า 2. ราคา 3. ประสิทธิภาพการใช้งาน ในส่วนของการนำรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้ามาใช้ในราชการ เริ่มต้นจากมติ ครม. เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 64 ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

 1. มีมติเป็นหลักการให้ทุกส่วนราชการพิจารณาดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (รถยนต์ไฟฟ้า: EV) มาใช้ในราชการแทนรถยนต์เดิมที่หมดอายุการใช้งาน

2. ในระยะแรกให้ส่วนราชการที่มีที่ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครถือปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวอย่างเคร่งครัด

ผู้บริหาร กทม.แจงแผนเช่ารถขยะไฟฟ้า ยันพร้อมให้สอบทุกขั้นตอน ปิดช่องโกง

โดยเมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2565 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เห็นชอบในหลักการกำหนดให้หน่วยงานในสังกัด กทม. จัดซื้อจัดจ้างรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV)  ภายหลังจากมีการเห็นชอบในหลักการกำหนดให้หน่วยงานในสังกัด กทม. จัดซื้อจัดจ้างรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า กทม. ได้ร่วมกับสถาบันวิจัยและบริการวิชาการด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ศึกษาและทดลองการใช้รถเก็บขยะพลังงานไฟฟ้า ทั้งนี้ การเช่ารถเก็บขนมูลฝอยพลังงานไฟฟ้าสามารถดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และวงเงินงบประมาณที่กำหนดไว้ได้ มิต้องขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดงบประมาณ

“การที่เราจะนำรถไฟฟ้ามาเช่าแทนรถดีเซล ดูจากวัตถุประสงค์แล้วไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง เราจึงเริ่มดำเนินการโครงการนี้ แต่ระหว่างดำเนินการ ทางสำนักสิ่งแวดล้อมตั้งข้อสงสัยว่าสามารถดำเนินโครงการนี้ได้จริงหรือไม่ จึงทำเรื่องหารือถึงปลัดกรุงเทพมหานคร โดยปลัด กทม. ส่งสำนักงบประมาณพิจารณา และได้รับคำตอบว่าเนื่องจากวัตถุประสงค์ของโครงการไม่ได้ระบุประเภทการใช้พลังงาน ดังนั้นการที่สำนักสิ่งแวดล้อมจะใช้รถประเภทใดก็แล้วแต่ก็สามารถดำเนินการได้ แต่ต้องเป็นวงเงินเดิมไม่เปลี่ยนแปลง หากมีการเปลี่ยนวงเงินและวัตถุประสงค์ต้องเสนอสภา กทม. แต่ในขณะที่กำลังดำเนินโครงการนั้นได้รับการร้องเรียนว่าเป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกต้อง ทำให้โครงการต้องหยุดชะงักลงและเป็นอันต้องยกเลิกไป ดังนั้นในปีงบประมาณ 2568 สำนักสิ่งแวดล้อมจึงเสนอโครงการเช่ารถขยะไฟฟ้าทั้งหมดจำนวน 4 โครงการ ซึ่งผ่านสภา กทม. เรียบร้อยแล้ว” นายจักกพันธุ์ กล่าว

นายจักกพันธุ์ กล่าวด้วยว่า สุดท้ายแล้ว ในส่วนรถขยะที่หมดสัญญา 30 ก.ย. 67 ซึ่งจะทำให้ใน กทม. ไม่มีรถขยะมาใช้ สำนักสิ่งแวดล้อมจึงได้รับอนุมัติจัดสรรงบกลางเพื่อไปดำเนินโครงการจัดหารถขยะมาใช้ในช่วงสั้น ๆ ระยะเวลาเช่าไม่เกิน 270 วัน (9 เดือน) เนื่องจากเห็นสมควรว่าเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน ทั้งนี้ ได้มีการเปรียบเทียบค่าเช่ารถดีเซลกับรถไฟฟ้าในช่วงระยะเวลา 9 เดือน พบว่ารถยกภาชนะ 3 ลบ.ม. หากเป็นรถดีเซลมีค่าเช่า 2,082 บาท/คัน/วัน แต่รถไฟฟ้ามีค่าเช่า 1,665 บาท/คัน/วัน รถยกภาชนะ 8 ลบ.ม. หากเป็นรถดีเซลมีค่าเช่า 2,542 บาท/คัน/วัน แต่รถไฟฟ้ามีค่าเช่า 2,033 บาท/คัน/วัน รถแบบอัด 2 ตัน หากเป็นรถดีเซลมีค่าเช่า 2,371 บาท/คัน/วัน แต่รถไฟฟ้ามีค่าเช่า 1,896 บาท/คัน/วัน และรถแบบอัด 5 ตัน หากเป็นรถดีเซลมีค่าเช่า 2,800 บาท/คัน/วัน แต่รถไฟฟ้ามีค่าเช่า 2,240 บาท/คัน/วัน ดังนั้น หากสามารถเช่ารถไฟฟ้าได้ในช่วงระยะเวลา 9 เดือน จะประหยัดงบประมาณได้ถึง 127,289,084 บาท ซึ่งถือเป็นประโยชน์กับประชาชนและประโยชน์กับทางราชการ

นอกจากนี้ ในส่วนของต้นทุนพลังงานรถไฟฟ้ายังประหยัดกว่ารถดีเซลด้วย ดังนี้ รถยกภาชนะ 3 ลบ.ม. หากเป็นรถดีเซลมีต้นทุนพลังงาน 1,056 บาท/คัน/วัน ส่วนรถไฟฟ้ามีต้นทุนพลังงาน 264 บาท/คัน/วัน รถยกภาชนะ 8 ลบ.ม. หากเป็นรถดีเซลมีต้นทุนพลังงาน 1,280 บาท/คัน/วัน ส่วนรถไฟฟ้ามีต้นทุนพลังงาน 300 บาท/คัน/วัน รถแบบอัด 2 ตัน หากเป็นรถดีเซลมีต้นทุนพลังงาน 1,200 บาท/คัน/วัน ส่วนรถไฟฟ้ามีต้นทุนพลังงาน 300 บาท/คัน/วัน และรถแบบอัด 5 ตัน หากเป็นรถดีเซลมีต้นทุนพลังงาน 1,353 บาท/คัน/วัน ส่วนรถไฟฟ้ามีต้นทุนพลังงาน 648 บาท/คัน/วัน

จ่อศึกษาข้อมูล เปรียบเทียบราคา-การปล่อยมลพิษ ก่อนเสนอโครงการเช่ารถขยะไฟฟ้า

ขณะที่ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงเหตุผลที่เสนอโครงการเช่ารถเก็บขนมูลฝอยพลังงานไฟฟ้าว่า ก่อนเสนอโครงการได้มีการศึกษาค้นคว้าข้อมูลว่ารถเก็บขนมูลฝอยพลังงานไฟฟ้ามีการใช้งานอยู่จริงหรือไม่ ประสิทธิภาพเป็นอย่างไร มีหน่วยราชการใดใช้รถเก็บขนมูลฝอยพลังงานไฟฟ้าในการเก็บขนมูลฝอยบ้าง พบว่าในพื้นที่ที่มีเขตติดต่อกับกรุงเทพมหานคร เทศบาลตำบลสำโรงเหนือ เทศบางตำบลบางปู และองค์การบริหารส่วนตำบลบางเพรียง จ.สมุทรปราการ ได้ใช้รถเก็บขนมูลฝอยพลังงานไฟฟ้า กรุงเทพมหานครไม่ใช่ที่แรกที่จะใช้รถประเภทดังกล่าว โดยจากการศึกษาติดตามการดำเนินการในเทศบาลข้างเคียงที่ได้มีการใช้รถเก็บขนมูลฝอยพลังงานไฟฟ้าเป็นประจำมาระยะเวลาหนึ่ง (ตั้งแต่ประมาณเดือน ม.ค. 67) พบว่าสามารถใช้งานได้ดีและเต็มศักยภาพ

ส่วนผู้อำนวยการสำนักงานจัดการมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล กล่าวเสริมว่า ในเรื่องของการเปรียบเทียบมลพิษต่าง ๆ ได้มีการศึกษาจากงานวิจัยในหลาย ๆ พื้นที่เกี่ยวกับรถเก็บขนมูลฝอยพลังงานไฟฟ้า ซึ่งพบว่ารถยกภาชนะ 3 ลบ.ม. รถยกภาชนะ 8 ลบ.ม. รถแบบอัด 2 ตัน และรถแบบอัด 5 ตัน หากเป็นรถดีเซลจะปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2,256 กิโลคาร์บอน (kgCO2) ต่อเที่ยว ส่วนรถไฟฟ้าจะปล่อยก๊าซเรือนกระจก 192 kgCO2 ต่อเที่ยว 

การปล่อย PM2.5 รถยกภาชนะ 3 ลบ.ม. รถดีเซลจะปล่อย PM2.5 ประมาณ 40 กรัม/คัน/วัน รถยกภาชนะ 8 ลบ.ม. รถดีเซลจะปล่อย PM2.5 ประมาณ 72 กรัม/คัน/วัน รถแบบอัด 2 ตัน รถดีเซลจะปล่อย PM2.5 ประมาณ 48 กรัม/คัน/วัน และรถแบบอัด 5 ตัน รถดีเซลจะปล่อย PM2.5 ประมาณ 90 กรัม/คัน/วัน แต่หากเป็นรถยกภาชนะ 3 ลบ.ม. รถยกภาชนะ 8 ลบ.ม. รถแบบอัด 2 ตัน และรถแบบอัด 5 ตัน ที่เป็นรถไฟฟ้าจะไม่ปล่อย PM2.5

การปล่อยคาร์บอนมอนอกไซด์ รถยกภาชนะ 3 ลบ.ม. รถยกภาชนะ 8 ลบ.ม. รถแบบอัด 2 ตัน และรถแบบอัด 5 ตัน ที่เป็นรถดีเซลจะปล่อยคาร์บอนมอนอกไซด์ประมาณ 8, 11, 8, และ 11 กรัม/คัน/วัน ส่วนที่เป็นรถไฟฟ้าจะปล่อยคาร์บอนมอนอกไซด์ 0 กรัม/คัน/วัน

การปล่อยไฮโดรคาร์บอน รถยกภาชนะ 3 ลบ.ม. รถยกภาชนะ 8 ลบ.ม. รถแบบอัด 2 ตัน และรถแบบอัด 5 ตัน ที่เป็นรถดีเซลจะปล่อยไฮโดรคาร์บอนประมาณ 356, 428, 428, 535 กรัม/คัน/วัน ส่วนที่เป็นรถไฟฟ้าจะปล่อยคาร์บอนมอนอกไซด์ 0 กรัม/คัน/วัน

การปล่อยก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน รถดีเซลประเภทรถยกภาชนะ 3 ลบ.ม. จะปล่อยก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจนประมาณ 666 กรัม/คัน/วัน รถยกภาชนะ 8 ลบ.ม. จะปล่อยก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจนประมาณ 1,200 กรัม/คัน/วัน รถแบบอัด 2 ตัน จะปล่อยก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจนประมาณ 800 กรัม/คัน/วัน และรถแบบอัด 5 ตัน จะปล่อยก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจนประมาณ 1,500 กรัม/คัน/วัน ส่วนที่เป็นรถไฟฟ้าทั้ง 4 ประเภท จะปล่อยก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน 0 กรัม/คัน/วัน

จากการเปรียบเทียบค่ามลพิษต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่อง PM2.5 ซึ่งเป็นปัญหาที่กรุงเทพมหานครประสบทุกปี จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่สำนักสิ่งแวดล้อมตัดสินใจที่จะใช้รถไฟฟ้า ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาโดยเริ่มต้นที่ตัวเรา เนื่องจากรถของเราต้องวิ่งเข้าพื้นที่ชุมชน ซอยต่าง ๆ ทุกวัน และระหว่างการดำเนินการเก็บขนมูลฝอยในแต่ละวันก็จะมีการปล่อยมลพิษจากตัวรถ โดยตัวเลขข้างต้นคำนวณจากการใช้รถ 200 กม./วัน และค่ามลพิษคิดจากปริมาณการใช้น้ำมัน ทั้งนี้ หากเริ่มต้นปรับเปลี่ยนรถราชการมาใช้รถไฟฟ้าก็จะสามารถลดปัญหามลพิษในกรุงเทพมหานครได้ส่วนหนึ่ง

  • ย้ำตรวจสอบทุกขั้นตอน ปิดโอกาสทุจริต

นายจักกพันธุ์ กล่าวว่า จะเห็นได้ว่าการใช้รถไฟฟ้าเมื่อเปรียบเทียบรถดีเซลทั้งโครงการเช่ารถฯ จะใช้งบประมาณที่ถูกกว่า ต้นทุนพลังงานถูกกว่า และมลภาวะต่าง ๆ น้อยกว่า  ส่วนปัญหาที่พบ เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 67 สำนักสิ่งแวดล้อมควรจะได้รถ 3 ลบ.ม. มาใช้ จำนวน 102 คัน แต่ปรากฏว่าหลังจากที่มีการมายื่นซองพบว่าเอกสารรถไฟฟ้าไม่ตรงกับ TOR ซึ่งแน่นอนว่ากรณีเอกสารไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วน ไม่สมบูรณ์ คณะกรรมการก็จะไม่สามารถที่จะเสนอเรื่องให้ผู้มีอำนาจสั่งจ้างได้ จึงทำให้ต้องยกเลิก เช่นเดียวกันกับกรณีก่อนหน้านี้ หากสำนักสิ่งแวดล้อมเสนอขอเช่ารถสามล้อไฟฟ้ามาแล้วถ้าตรวจสอบพบว่าแพงกว่าการซื้อก็ต้องยกเลิกเช่นกัน ฉะนั้น ยืนยันว่าเราพยายามตรวจสอบทุกขั้นตอนเพื่อไม่ให้มีการทุจริตเกิดขึ้น

นายจักกพันธุ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้เกิดปัญหารถยกภาชนะขนาด 3 ลบ.ม. ที่สัญญาเช่าหมดไปแล้วเรายังไม่มีใช้ ส่วนรถที่ยังมีใช้อยู่ประมาณกว่า 1,000 คัน ทั้งรถยกภาชนะ 3 ลบ.ม. รถยกภาชนะ 8 ลบ.ม. รถแบบอัด 2 ตัน และรถแบบอัด 5 ตัน พบว่าวิ่งไม่ครบ 200 กม./วัน ตามสัญญา จึงได้มีการวางแผนแก้ปัญหาการจัดหารถยกภาชนะขนาด 3 ลบ.ม. ไม่ทันเวลาสิ้นสุดสัญญา โดยนำรถประเภทอื่นที่วิ่งไม่ถึง 200 กม./วัน มาเข้าจัดเก็บทดแทนรถยกภาชนะ 3 ลบ.ม. 102 คันที่หมดสัญญาเช่า ดังนี้ รถขนาด 2 ตัน จำนวน 55 คัน รถขนาด 5 ตัน จำนวน 99 คัน รถเปิดข้าง 2 ตัน จำนวน 4 คัน รถกระบะเทท้าย จำนวน 2 คัน โดยมีการตั้งวางภาชนะขนาด 8 ลบ.ม. และใช้รถยกภาชนะขนาด 8 ลบ.ม. เข้ายกภาชนะ จำนวน 23 คัน ตั้งถังขยะ ขนาด 240 ลิตร หรือ 130 ลิตร แทนภาชนะขนาด 3 ลบ.ม. เพิ่มรอบและความถี่ในการจัดเก็บ และปรับเปลี่ยนวิธีการทิ้งขยะโดยนัดเวลาทิ้ง นัดเวลาเก็บ ตลอดจนรถเก็บขยะ 2 ตัน เข้าจัดเก็บกรณีถนนแคบ รถเก็บขยะ 5 ตัน เข้าจัดเก็บกรณีถนนกว้าง ซึ่งทำให้ปัญหาในขณะนี้หมดไป แต่ในอนาคตสัญญาที่จะทยอยหมด (ปี 67 68 69 70) ก็ต้องมีการหารถมาทดแทน

ส่วนโฆษก กทม. กล่าวทิ้งท้ายว่า การที่เรามาแถลงข่าวในวันนี้เพราะที่ผ่านเราโดนตั้งคำถามเข้ามามาก จึงต้องการที่จะทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนให้ดียิ่งขึ้น ขอย้ำว่าการทำงานทุกอย่างของ กทม. ต้องโปร่งใส รอบคอบ รวดเร็ว รับฟัง และมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญคือ หากวันนี้เราไม่กล้าที่จะเปลี่ยนแปลง ไม่กล้าตัดสินใจ ทุกอย่างก็จะเป็นเหมือนเดิม เราจะได้รถที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีราคาที่สูง แต่เชื่อว่าต่อจากนี้รถขยะใหม่จะให้บริการประชาชนได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น