รมว.กต.เผยไทยย้ำผู้นำอาเซียนพร้อมเป็นเจ้าภาพแก้ปัญหา 'เมียนมา' ธ.ค.ปีนี้
"มาริษ"เผย"ไทย" ย้ำที่ประชุมอาเซียนพร้อมเป็นเจ้าภาพ ตั้งวงหารืออาเซียนแก้ปัญหาเมียนมากลาง ธ.ค.นี้ มั่นใจจะเป็นการพูดคุยตามฉัันทามติ 5 ข้อคลี่คลายความขัดแย้งในเมียนมา
เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2567 นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 44 และ 45 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ที่นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ถึงการแก้ไขปัญหาในเมียนมาว่า ตนได้เสนอในที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนที่ สปป.ลาว ว่า ไทยพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดการหารืออย่างไม่เป็นทางการระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนในเรื่องเมียนมา (Extended Informal Consultation) ในช่วงกลางเดือนธันวาคมปีนี้ ตามที่ได้ประสานงานกับ สปป.ลาว ในฐานะประธานอาเซียน
ซึ่งในวันนี้ (9 ต.ค.) ที่ประชุมสุดยอดอาเซียนนั้น นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวย้ำในเรื่องดังกล่าว และได้รับการตอบรับอย่างดีจากทั้งสปป. ลาว ในฐานะประธานอาเซียนปีนี้ และประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ ว่า เป็นข้อริเริ่มที่ดี โดยไทยจะประสานงานอย่างใกล้ชิดกับ สปป.ลาว เกี่ยวกับรายละเอียดการจัดการประชุมดังกล่าวต่อไป
นายมาริษ มั่นใจว่า การหารืออย่างไม่เป็นทางการครั้งนี้ จะเป็นโอกาสดีที่จะพูดคุยกันอย่างเปิดอก และร่วมกันหาวิธีการสนับสนุนการดำเนินการของอาเซียนตามแนวทางฉันทามติ 5 ข้อ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยไทยเชื่อมั่นว่า ทุกประเทศสมาชิกอาเซียน มีความปรารถนาดีต่อเมียนมา และต้องการเห็นการแก้ปัญหาโดยสันติผ่านการพูดคุยกัน เพื่อให้ความสงบสุขกลับคืนสู่เมียนมาโดยเร็ว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ยังย้ำว่า การเป็นเจ้าภาพการหารืออย่างไม่เป็นทางการครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการทางการทูตเชิงรุกและ สร้างสรรค์ของไทย ที่จะช่วยคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งในเมียนมา ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่สำคัญของไทย เพราะที่สุดสันติภาพ จะนำมาซึ่งความมั่นคง และความมั่งคั่งของพี่น้องประชาชนทุกประเทศในภูมิภาค
ร่วมวง อาเซียน-สภาที่ปรึกษาธุรกิจ
ขณะเดียวกัน นายมาริษ เข้าพบหารือระหว่างผู้นำอาเซียนกับสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน ในห้วงการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 44 และ 45 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง โดยเน้นย้ำปัจจัยสำคัญ 3 ประการ ที่จะช่วยให้ภาคธุรกิจ สามารถก้าวทันตามกระแสโลกได้ ได้แก่ “การส่งเสริมประชาคมอาเซียนที่แข็งแกร่งและเชื่อมโยงกันอย่างไร้รอยต่อ” เพราะการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล เป็นกุญแจสำคัญในจุดนี้ ซึ่งประเทศไทย หวังว่า กรอบความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน (DEFA) จะเป็นกรอบความตกลงที่มีมาตรฐานสูง มีความทันสมัย ครอบคลุม และสร้างมูลค่า โดยหวังว่าจะมีการสรุปการเจรจาได้ภายในปี 2025 ตามเป้าหมายที่วางไว้ รวมถึง “การดึงอาเซียนเข้าสู่ห่วงโซ่มูลค่าโลก” ซึ่งความตกลงทางการค้าของอาเซียน ที่ได้รับการปรับปรุง จะทำให้ภูมิภาค มีความสามารถในการแข่งขันในระดับโลกมากขึ้น ในฐานะตลาด และฐานการผลิตเดียวแบบบูรณาการ นอกจากนี้ ต้องจะเปิดโอกาสทางการตลาดใหม่ ๆ ผ่านการเพิ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจ กับประเทศคู่ค้าสำคัญ ซึ่งทั้งหมดนี้ จะช่วยเสริมสร้างการค้าภายในอาเซียน และการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานและช่วยให้อาเซียนสามารถรับมือกับความผันผวนและความท้าทายทางเศรษฐกิจโลกได้
และสุดท้ายคือ “การสร้างบรรยากาศการลงทุนที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ” ในฐานะหุ้นส่วนที่น่าเชื่อถือและไว้ใจได้ โดยประเทศไทย จะยังมุ่งมั่นที่จะพัฒนาระบบกฎระเบียบ การทำให้บริการภาครัฐเป็นดิจิทัล การลดขั้นตอนต่าง ๆ และสร้างนโยบายที่ดึงดูดการค้าและการลงทุน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างห่วงโซ่อุปทานที่ปลอดภัย หลากหลาย และยืดหยุ่นสำหรับชุมชนธุรกิจ
นายมาริษยังเห็นว่า ท่ามกลางกระแสลมแรงที่ชะลอการเติบโตของเศรษฐกิจโลก นำมาสู่ความจำเป็นที่มากขึ้นของรัฐบาล และภาคธุรกิจอาเซียน จะต้องร่วมมือกัน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และรักษาให้อาเซียนเป็นจุดเด่นในภูมิทัศน์ของเศรษฐกิจโลก พร้อมยืนยันว่า ประเทศไทย พร้อมที่จะได้ทำงานใกล้ชิดกับ ASEAN-BAC (อาเซียน-แบค) เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ซึ่งจะนำไปสู่เสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองที่มากขึ้นสำหรับประชาชนอาเซียนต่อไป
ขณะเดียวกัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ยังเข้าร่วมการประชุมหารือระหว่างผู้นำอาเซียน กับผู้แทนเยาวชนอาเซียน ในห้วงการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 44 และ 45 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ที่นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ระหว่างวันที่ 8 – 11 ตุลาคม 2567 โดยได้แสดงความยินดีที่ได้มีโอกาสพบ และรับฟังวิสัยทัศน์ผู้แทนเยาวชนอาเซียน พร้อมชื่นชมวิสัยทัศน์ของเยาวชนในการสร้างความหลากหลาย และความยืดหยุ่นให้เกิดขึ้นในภูมิภาค พร้อมเชื่อมั่นว่า เยาวชนอาเซียน จะเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมความเข้าใจ และความร่วมมือซึ่งกันและกันในครอบครัวอาเซียน ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบสำคัญ ที่จะส่งเสริม และสนับสนุนการทำงานของรัฐบาลในประเทศอาเซียน ดังนั้น เวทีการพบปะผู้แทนเยาวชนอาเซียน จึงเป็นเวทีที่มีคุณค่า และควรมีการจัดประชุมขึ้นเป็นประจำทุก ๆ ปี
ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเยาวชนอาเซียน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ยังได้เสนอข้อเสนอ เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเยาวชนอาเซียน รวมทั้งเยาวชนอาเซียน จะมีทักษะที่สำคัญ และจำเป็นต่อยุคศตวรรษที่ 21 เช่น ทักษะการคิด และวิเคราะห์อย่างมีวิจารณญาณ และมีความสามารถในการแก้ไขปัญหาที่มีความซับซ้อน เพื่อให้เยาวชนเป็นพลังกำลังสำคัญในการพัฒนาภูมิภาคอย่างยั่งยืน รวมถึงยังควรเพิ่มบทบาทเยาวชนอาเซียน ต่อการรับมือภัยธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม จากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ เพราะเยาวชน ยังจะต้องอาศัย และมีชีวิตต่ออยู่กับผลกระทบที่มนุษย์กระทำในวันนี้ ดังนั้น ตนจึงสนับสนุนเพิ่มการมีส่วนร่วมของเยาวชน เพื่อร่วมกับสร้างความตระหนักรู้ และความหมายความสำคัญของความร่วมมือกัน ในการลดผลกระทบจากสิ่งแวดล้อม ภัยพิบัติ และทำให้โลกเกิดความยั่งยืน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่ออนุชนคนรุ่นหลังต่อไป
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ยังสนับสนุนให้เครือข่ายเยาวชนอาเซียน มีความสามัคคี และมีมิตรภาพที่ยั่งยืนยาวนาน ผ่านการประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกัน, มีเวทีการพูดคุยร่วมกัน หรือมีการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน เช่น การจัดค่ายเยาวชนอาเซียน เพื่อส่งเสริมให้อาเซียนสามารถบรรลุเป้าหมายการเป็นภูมิภาคที่มีความยั่งยืน เจริญรุ่งเรือง และมีความมั่นคงประสบผลได้สำเร็จ