'ปริญญา' เชื่อเป็นผลเสียต่อ 'รัฐบาล' หากไม่ตามตัว 'พิศาล' ดำเนินคดีตากใบ

'ปริญญา' เชื่อเป็นผลเสียต่อ 'รัฐบาล' หากไม่ตามตัว 'พิศาล' ดำเนินคดีตากใบ

"ปริญญา" ชี้ ปมตาม "พิศาล" ดำเนินคดีตากใบ ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว มองเป็นผลเสียต่อ "รัฐบาล-พท." หากไม่ชัดเจนตามตัวกลับไทยก่อนขาดอายุความ 25 ต.ค.

ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล นักวิชาการคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ว่า กรณีคดีตากใบที่จะหมดอายุความในวันที่ 25 ต.ค. ตนมองว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ ฐานะที่กำกับสำนักงานสำรวจแห่งชาติ (สตช.) ควรกำชับสตช. ฐานะหน่วยงานในกำชับประสานงานกับตำรวจประเทศอื่น เพื่อนำตัว พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ฐานะอดีตแม่ทัพภาค4 จำเลยที่ 1 ในคดีตากใบกลับมาดำเนินคดีภายในระยะเวลาที่เหลืออีก 10 วันก่อนที่คดีหมดอายุความ หากรัฐบาลไม่ทำอะไรและปล่อยให้คดีขาดอายุความเชื่อว่าจะมีผลกระทบต่อรัฐบาล

“ปัจจุบันรัฐบาลอยู่ระหว่างการสร้างผลงานของรัฐบาลและคะแนนนิยมของ น.ส.แพทองธาร เพิ่มมากขึ้น แต่หากกรณีนี้รัฐบาลไม่แสดงออกว่าได้ทำเต็มที่ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับกรณีที่จับตัวได้หรือไม่ ไม่ใช่เรื่องดีต่อรัฐบาล ดังนั้นในช่วงเวลาที่เหลือสังคมรอดูว่าพรรคเพื่อไทยจะแสดงออกอย่างไร และเรื่องนี้อาจถูกโยงไปยังนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ว่า ได้ช่วยรุ่นน้องหรือเพื่อนหรือไม่ และเป็นปัญหาได้”  นายปริญญา กล่าว

นายปริญญา กล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีที่พรรคเพื่อไทยระบุว่าคดีของพล.อ.พิศาลเป็นเรื่องส่วนตัวนั้น ตนมองว่าการถูกตั้งข้อหาและการขึ้นศาลเป็นเรื่องส่วนตัว แต่พล.อ.พิศาลเป็นสส.บัญชีรายชื่อ  พรรคเพื่อไทย ดังนั้นพรรคต้องตอบคำถามว่าเรื่องดังกล่าวจะทำอย่างไร ซึ่งไม่ใช่เรื่องส่วนตัว  ส่วนกรณีที่พรรคเตรียมประชุมวันที่ ​(15 ต.ค.) เพื่อพิจารณาสถานะของพล.อ.พิศาลนั้น ต้องรอฟังท่าทีของพรรค

“หากพูดไม่อ้อมค้อม พล.อ.พิศาล ในทางการเมืองยากจะกลับมาเป็นสส. เพราะลาหยุดตั้งแต่โดนคดีสั่งฟ้อง  มีความประจักษ์ว่าหลบออกไปก่อนให้คดีความขาดอายุ คำถามใหญ่ตามมา คือ เป็น สส. ทำไมไม่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แม้ขณะนี้ทางกฎหมายพล.อ.พิศาล ถือเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ตอนนี้ มีคำสั่งให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมต่อสู้คดี ไม่ควรหนี แต่เมื่อหนีคำสั่งศาล พรรคต้องพิจารณา” นายปริญญา กล่าว

เมื่อถามว่าในทางกฎหมายสามารถยืดอายุความได้หรรือไม่ นายปริญญา กล่าวว่า หาก พ้น 25 ต.ค. อายุความ 20 ปีจะหมดไป และสามารถใช้เป็นข้อต่อสู้ว่าอายุความหมดลงแล้ว ถือว่าเรื่องจบลง อย่างไรก็ดีขณะนี้ไม่ใช่เรื่องกฎหมาย แต่เป็นคำถามใหญ่ว่า จากนี้จะเอาอย่างไรต่อกรณีที่มีเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่รัฐทำให้ประชาชนเสียชีวิตหลายครั้ง รัฐบาลต้องแสดงออกบางอย่าง หากปล่อยให้อายุความขาด และบอกว่าเป็นเรื่องส่วนบุคคล ผลเสียหายจะเกิดขึ้นกับรัฐบาล

ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีที่รัฐบาลไม่ทำอะไรเพียงพอเท่ากับเป็นการช่วยเหลือหรือไม่ นายปริญญากล่าวว่า "อาจจะถูกมองอย่างนั้น และน.ส.แพทองธาร อาจถูกมองว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ได้".