20 ปีตากใบ บทพิสูจน์วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด? (1)

20 ปีตากใบ บทพิสูจน์วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด? (1)

“จากพยานหลักฐาน ที่ได้จากการไต่สวน แม้ผู้ต้องหาทั้ง 8 จะไม่ประสงค์ต่อผลที่จะให้ผู้ตายถึงแก่ความตายก็ตาม แต่การจัดหารถเพียงจำนวน 25 คันในการบรรทุกผู้ชุมนุมประมาณพันกว่าคน อันเป็นการบรรทุกที่แออัดเกินกว่าจะเป็นวิธีการบรรทุกคนที่เหมาะสม

โดยผู้ต้องหาที่ 1 ที่ 7 รู้อยู่แล้วว่า จำนวนรถกับจำนวนคนไม่เหมาะสมกัน ผู้ต้องหาที่ 2 ถึงที่ 6 และที่ 8 ซึ่งเป็นคนขับรถก็เห็นถึงสภาพการบรรทุกผู้ชุมนุมดังกล่าว อันเป็นเหตุให้ผู้ตายทั้ง 78 คน ขาดอากาศหายใจในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่ 

การกระทำของผู้ต้องหาทั้ง 8 ย่อมเล็งเห็นผลได้ว่า การกระทำดังกล่าวจะทำให้ผู้ตายขาดอากาศหายใจ และถึงแก่ความตายได้ ดังนั้น การกระทำของผู้ต้องหาทั้งแปดจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น คดีมีพยานหลักฐานพอฟ้อง จึงสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 8 ตามข้อกล่าวหาดังกล่าว” (แถลงการณ์คดีตากใบ โดยงานโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุก, 18 กันยายน 2567)

“ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.578/2567 ที่ผู้เสียหาย ได้แก่ ครอบครัวผู้เสียชีวิต และผู้ได้บาดเจ็บ จากเหตุการณ์ตากใบ เป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาต่อเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์การสลายการชุมนุมหน้า สภ.ตากใบ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547

ในส่วนของจำเลยที่ 1, 3, 4, 5, 6, 8, 9 มีมูลความผิดในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่น ร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น และร่วมกันหน่วงเหนี่ยว ให้ประทับฟ้องไว้” (คำตัดสินให้ประทับรับฟ้องคดี เนื่องด้วยคดีมีมูล, ศาลจังหวัดนราธิวาส 23 สิงหาคม 2567)

ถ้อยคำแถลงของหน่วยงานในองคาพยพแห่งกระบวนการยุติธรรมทางอาญาข้างต้น อาจทำให้ผู้ติดตามข่าวการสลาย และขนย้ายผู้ชุมนุมหน้า สภ.ตากใบ ที่มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวถึง 85 คน เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 รู้สึกว่าคดีความคงจะจบสิ้นสักที ด้วยเหตุที่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาออกมาดำเนินการอย่างที่ผู้เขียนได้ยกมานำเสนอ 

แต่ในความเป็นจริงทางกระบวนการแห่งคดีอาญานั้น คำตอบอาจจะไม่ได้ใกล้เคียงกับความรู้สึกดังกล่าวแม้แต่น้อย ด้วยประเด็นทางกฎหมายประการเดียว นั่นคือ “อายุความ”

แน่นอนว่าหลักการต่อสู้คดีในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา คือ การให้สิทธิกับบุคคลทั้งสองฝ่าย “ผู้เสียหาย” และ “ผู้กระทำผิด” เข้าใช้กระบวนการของศาลเพื่อพิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์จากข้อเท็จจริงที่เจ้าหน้าที่หรือผู้เสียหาย “กล่าวหา” ว่ามีการกระทำผิดเกิดขึ้น ผ่านขั้นตอนและกระบวนการยุติธรรมที่ให้สิทธิ และรักษาอย่างเต็มที่

โดยมีเจ้าหน้าที่มีอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เป็นผู้ดูแลอำนวยความสะดวกในกระบวนการแห่งคดี

เราท่านจึงคุ้นชินกับเจ้าหน้าที่ในตำแหน่ง “พนักงานสอบสวน” “พนักงานอัยการ” และ “ศาล” ในฐานะผู้มีอำนาจตามกระบวนการเพื่อพิสูจน์ให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงอันเป็นความผิด 

แต่เราเคยจิตนาการกันบ้างหรือไม่ว่า หากเจ้าหน้าที่ข้างต้นหาได้มีความตระหนักในพันธกิจ ผลที่ตามมาจะเป็นอย่างไร? หรือหากเราต้องรอความยุติธรรมจากเจ้าหน้าที่ผ่านกระบวนการข้างต้นเป็นเวลาเกือบ 20 ปี เงาสะท้อนผลลัพธ์ดังกล่าวผ่านสังคม และผู้เสียหายจะเป็นเช่นไร? 

ใช่ครับ “อายุความ” จึงเป็นหลักเกณฑ์หนึ่งที่นำมาใช้กำหนดขอบเขตของการดำเนินกระบวนการให้ไม่เนิ่นช้าอันจะส่งผลต่อ “ข้อเท็จจริงแห่งคดี”

มาตรา 95 ประมวลกฎหมายอาญา จึงกำหนดอายุความในการดำเนินคดีไว้อย่างชัดเจน ด้วยเหตุผลทางกฎหมายสองประการ คือ 

1.กำหนดกรอบเวลาให้นำตัวบุคคลมาลงโทษ กล่าวคือ เป็นกรอบที่เร่งรัดการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในชั้นสอบสวน ที่ต้องนำตัวผู้ถูกกล่าวหามาฟ้องคดีต่อศาลภายในหลักเกณฑ์ระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ อายุความจึงจะหยุดนับ โดยมีการจำแนกแยกความยาวของระยะเวลาไปตามระวางโทษสำหรับความผิดที่ถูกฟ้องดำเนินคดี 

หากพนักงานอัยการไม่สามารถนำตัวบุคคลดังกล่าวมาฟ้องยังศาลภายในอายุความ “สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปด้วยเหตุแห่งอายุความ” ตามมาตรา 39 (6) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 

 2.รักษาไว้ซึ่งความน่าเชื่อถือแห่งพยานหลักฐาน กล่าวคือ เวลาที่เนิ่นช้าออกไปย่อมทำให้พยานหลักฐานที่นำมาใช้พิสูจน์ความผิด หรือความบริสุทธิ์แห่งคดีมีความน่าเชื่อถือที่ลดลง

เนื่องด้วยระยะเวลาอาจทำให้พยานบุคคล เอกสาร วัตถุเหล่านั้นเลอะเลือน คลาดเคลื่อน หรือสูญหาย จนส่งผลให้โจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ให้ศาลเชื่อจนสิ้นสงสัยได้ว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้นจริง นำมาซึ่งการต้อง “ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้แก่จำเลย” ตามมาตรา 227 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 

เมื่อนำหลักคิดทางอายุความมาปรับกับคดีการสลายการชุมนุมที่ตากใบ เห็นได้ว่าความผิดที่ถูกนำมากล่าวหาให้ดำเนินคดีนั้นมีระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกยี่สิบปี จากความผิดข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่น ร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น และร่วมกันหน่วงเหนี่ยว 

ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ประกอบมาตรา 83, 288 ประกอบมาตรา 80, 83 และมาตรา 310 วรรคสอง ประกอบมาตรา 290 ,83 ตามประมวลกฎหมายอาญา มีอายุความยี่สิบปี และเริ่มนับระยะเวลาในวันถัดไปหลังจากมีการกระทำความผิด (ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95(1)) 

ในคดีนี้ การกระทำอันถูกกล่าวหาว่าเป็นความผิดเกิดขึ้นในวันที่ 25 ตุลาคม 2547 อายุความจะหมดลงและเป็นเหตุให้สิทธิในการฟ้องคดีอาญาคดีนี้ระงับสิ้นไปในวันที่ 25 ตุลาคม 2567 แม้อัยการจะมีคำสั่งฟ้อง รวมไปถึงศาลจังหวัดนราธิวาสได้ตัดสินประทับรับฟ้องคดี ในความผิดที่เกี่ยวข้องกับกรณีข้างต้นแล้วก็ตาม 

แต่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่พนักงานสอบสวนจะไปดำเนินการนำตัวผู้ต้องหามาฟ้องยังศาลให้เป็นไปตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

“อายุความ” จึงกลายเป็นจำเลยแห่งมาตรวัดความซื่อตรงของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ทั้งที่ในความเป็นจริงนั้นความซื่อตรงยุติธรรมถูกถือปฏิบัติโดยผู้เป็นเจ้าหน้าที่ในกระบวนการที่ดูแลกติกา 

กล่าวอีกนัยหนึ่ง อายุความกลายเป็นเครื่องมือทางกฎหมายที่เจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมใช้เป็นทางออกสำหรับความผิดที่ผู้มีอำนาจในสังคมเป็นผู้ถูกกล่าวหาในคดี 

หลังวันที่ 25 ตุลาคม เราจะได้คำตอบร่วมกันว่าประเทศนี้มี “วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดผ่านการใช้ความรุนแรงโดยรัฐ” จริงหรือไม่ (ตามกันต่อในคอลัมน์หน้าครับ).