กมธ.สภาฯปริศนา‘นักรีดทรัพย์’ ผ่า35คณะ จับตาฟื้น‘ก.ม.อำนาจเรียกฯ’

กมธ.สภาฯปริศนา‘นักรีดทรัพย์’ ผ่า35คณะ จับตาฟื้น‘ก.ม.อำนาจเรียกฯ’

คลิปเสียงลับ สะเทือนฝ่ายนิติบัญญัติ กลไกกมธ.ช่องว่าง “นักแสวงหาผลประโยชน์”

KEY

POINTS

  • คลิปเสียงที่ปรากฎออกมา มีการตั้งคำถามไปถึงอำนาจของกมธ. ท่ามกลางข้อสงสัยที่ว่า มีอำนาจแค่ไหน เหตุใดผู้ที่อยู่ในคลิปเสียงต้องยอมจ่ายเงินเรือนแสน เรือนล้าน เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกตรวจสอบ
  • ด้วยความแอบอิงกับพรรคการเมืองรวมถึงกมธ.ในแต่ละชุดที่สามารถตั้งบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นที่ปรึกษา หรือคณะทำงานนี้เองจึงเป็นช่องว่างให้บรรดา “นักรีดทรัพย์” ชิงโอกาสในการเรียกรับผลประโยชน์ต่างๆเป็นการตอบแทน 
  • เมื่อกลไกกมธ.เกิดช่องว่างจนทำให้ “นักแสวงหาผลประโยชน์” นำมาใช้เป็นเครื่องมือ การตรวจสอบย่อมต้องเกิดขึ้น

กรณีมีการเผยแพร่คลิปเสียง เนื้อหาระบุถึง “นักการเมือง” รายหนึ่ง พูดคุยกับ  "บอสพอล"  วรัตน์พล วรัทย์วรกุล ผู้ก่อตั้ง และซีอีโอ บริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป จำกัดซึ่งถูกผู้เสียหายแจ้งความร้องทุกข์ในคดีหลอกลงทุน ในลักษณะเรียกรับผลประโยชน์จาก เพื่อแลกกับการเลี่ยงถูกตรวจสอบในชั้นกรรมาธิการ (กมธ.) สภาผู้แทนราษฎร

สร้างแรงสั่นสะเทือนไปถึงบทบาทของฝ่ายนิติบัญญัติ จนล่าสุด“วันมูหะมดนอร์ มะทา”ประธานสภาผู้แทนราษฎรสั่งการให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะเลขาธิการรัฐสภา ดำเนินการตรวจสอบในเรื่องดังกล่าวโดยด่วน พร้อมยอมรับว่ามีเรื่องทำนองดังกล่าวเกิดขึ้นบ่อย

 ประธานสภาฯ ย้ำว่า เรื่องดังกล่าว เป็นเรื่องของบุคคล เพราะเมื่อสภาฯ ตั้งกรรมาธิการ มีทั้งบุคคลภายใน ตัวแทนรัฐบาล และบุคคลภายนอก ยอมรับว่าไม่สามารถตรวจสอบได้หมด แต่หากพบเห็นเราต้องแก้ไขให้บุคคลเหล่านั้นพ้นตำแหน่ง ไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างอีกต่อไป

ไม่ต่างจาก “เลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล” สส.เลย พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.)การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและยาเสพติด (ปปง.) สภาผู้แทนราษฎร ที่มองว่า  กรณีดังกล่าวอาจมีการ “แอบอ้าง” เป็นกมธ. อาจเรียกว่าเป็น “นักต้มตุ๋น” หรือเป็น “นักฉวยโอกาส”  ไม่ได้มีตำแหน่งแห่งหนอะไรใหญ่โต มีศักดิ์ศรีเพียงพอที่จะเจรจาอะไรกับใครได้ เป็นแค่นักต้มตุ๋นธรรมดา

ปฏิเสธไม่ได้ว่าคลิปเสียงที่ปรากฎออกมา มีการตั้งคำถามไปถึงอำนาจของกมธ. ท่ามกลางข้อสงสัยที่ว่า มีอำนาจแค่ไหน เหตุใดผู้ที่อยู่ในคลิปเสียงต้องยอมจ่ายเงินเรือนแสน เรือนล้าน เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกตรวจสอบ 

กมธ.สภาฯปริศนา‘นักรีดทรัพย์’ ผ่า35คณะ จับตาฟื้น‘ก.ม.อำนาจเรียกฯ’

เมื่อพลิกบทบัญญัติมาตรา 135 ของรัฐธรรมนูญ ระบุอำนาจหน้าที่ของกมธ. สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา  มีอำนาจเลือกสมาชิกของแต่ละสภาตั้งเป็นกมธ.  และมีอำนาจเลือกบุคคล “ผู้เป็นสมาชิก” หรือ “มิได้เป็นสมาชิก”  ตั้งเป็นกมธ.วิสามัญ เพื่อกระทำกิจการพิจารณา สอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ อันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของสภาแล้วรายงานต่อสภาแล้วรายงานต่อสภา

ทั้งนี้กมธ.ตามมาตราดังกล่าวยังมีอำนาจออกคำสั่งเรียกเอกสารจากบุคคลใด หรือเรียกบุคคลใดมาแถลงข้อเท็จจริงหรือ แสดงความเห็นในกิจการที่กระทำหรือในเรื่องที่พิจารณาสอบสวนหรือศึกษาอยู่นั้นได้ และให้คำสั่งเรียกดังกล่าวมีผล บังคับตามที่กฎหมายบัญญัติ 

แต่คำสั่งเรียกเช่นว่านั้นมิให้ใช้บังคับกับผู้พิพากษาหรือตุลาการที่ปฎิบัติตามอำนาจ หน้า ที่ในกระบวนวิธีพิจารณาพิพากษาอรรถคดีหรือการบริหารงานบุคคลของแต่ละศาล และมิให้ใช้บังคับกับผู้ตรวจราชการ แผ่นดินหรือกรรมการในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่ปฎิบัติตามอำนาจหน้าที่โดยตรงในแต่ละองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ตามบทบรรญัติในรัฐธรรมนูญหรือตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ แล้วแต่กรณี

ในกรณีที่บุคคลเป็นข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ให้ประธานคณะกรรมาธการแจ้งให้รัฐมนตรีซึ่งบังคับบัญชาหรือกำกับดูแลหน่วยงานที่บุคคลนั้น สังกัดทราบและมี คำสั่งให้บุคคลนั้นดำเนินการตาม เว้นแต่เป็นกรณีที่เกี่ยวกับความปลอดภัย หรือประโยชน์ สำคัญของแผ่นดิน ให้ถือว่าเป็นเหตุยกเว้น

ทั้งนี้กรรมาธการสามัญซึ่งตั้งจากผู้ซึ่งเป็นสส. ทั้งหมดต้องมีจำนวนตามหรือใกล้เคียงกับอัตราส่วนของจำนวนสส.จากนั้นเป็นหน้าที่ของกมธ.แต่ละคณะที่จะเลือกบุคคลเป็น “ประธานกมธ.” แต่ละคณะซึ่งโดยธรรมเนียมปฏิบัติจะเป็นการตกลงแบ่งเค้กร่วมกันของแต่ละพรรคการเมือง 

กมธ.สภาฯปริศนา‘นักรีดทรัพย์’ ผ่า35คณะ จับตาฟื้น‘ก.ม.อำนาจเรียกฯ’

 เช็กขุมกำลังกมธ.สภา35คณะ

ส่วนใหญ่มักจะคุมกมธ.ที่พรรคตนเองเป็นรัฐมนตรี หรือมีนัยสำคัญในการดันนโยบายเรือธง  ผ่าโควตาพรรคการเมือง เวลานี้ ที่คุมประธานคณะกรรมาธิการทั้ง 35 คณะ ถูกเฉลี่ยให้กับพรรคการเมืองตามจำนวนสส.ประกอบด้วย 

พรรคเพื่อไทย  คุม6คณะ ได้แก่กมธ.การป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (ปปช.) กมธ.การศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม

กมธ.การคมนาคม กมธ.การเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน กมธ.การสาธารณสุข กมธ.กิจการสภาผู้แทนราษฎร

กมธ.การต่างประเทศ กมธ.การท่องเที่ยว กมธ.การป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและยาเสพติด (ปปง.)และ  กมธ.การสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

พรรคประชาชน คุม8คณะ ได้แก่กมธ.การเกษตรและสหกรณ์ กมธ.ศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ กมธ.การทหาร กมธ.การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กมธ.การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน  กมธ.การพัฒนาเศรษฐกิจ กมธ.การสวัสดิสังคมและ กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ

พรรคภูมิใจไทย คุม5คณะได้แก่ กมธ.การศึกษา กมธ.การกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ กมธ.การป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย กมธ.การแรงงาน และ กมธ.การปกครอง 

พรรคพลังประชารัฐ คุม4คณะได้แก่ กมธ.การกีฬา กมธ.แก้ไขปัญหาหนี้สินแห่งชาติ กมธ.แก้ไขปัญหาราคาผลิตผลเกษตรกรรม กมธ.การคุ้มครองผู้บริโภค

พรรครวมไทยสร้างชาติ คุม3คณะ ได้แก่กมธ.การพลังงาน กมธ.การอุตสาหกรรม  และ กมธ.กิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน

พรรคประชาธิปัตย์ คุม2คณะ ได้แก่กมธ.การพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา และ กมธ.การตำรวจ

พรรคประชาชาติ คุม1คณะ ได้แก่กมธ.การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน

พรรคชาติไทยพัฒนา  คุม1คณะ ได้แก่กมธ.กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ

พรรคไทยสร้างไทย คุม1คณะได้แก่กมธ.การวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม

กมธ.สภาฯปริศนา‘นักรีดทรัพย์’ ผ่า35คณะ จับตาฟื้น‘ก.ม.อำนาจเรียกฯ’

 กมธ.สภาช่องว่าง“นักรีดทรัพย์” 

นอกจากกมธ.สามัญซึ่งมีการตั้งขึ้นตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแล้ว ยังมีในส่วนของกมธ.วิสามัญ เพื่อพิจารณาวาระต่างๆเช่นกฎหมาย หรือญัติ โดยกมธ.ประเภทนี้จะทำหน้าที่เป็น “กมธ.เฉพาะกิจ” ในแต่ละภารกิจนั้นๆ 

แน่นอนว่า ด้วยความแอบอิงกับพรรคการเมือง รวมถึงกมธ.ในแต่ละชุดที่สามารถตั้งบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นที่ปรึกษา หรือคณะทำงานนี้เองจึงเป็นช่องว่างให้บรรดา “นักรีดทรัพย์” ชิงโอกาสในการเรียกรับผลประโยชน์ต่างๆเป็นการตอบแทน  ซึ่งกรณีดังกล่าวไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกแต่เกิดขึ้นนับครั้งไม่ถ้วน 

หรือบางยุคบางสมัยกมธ.บางชุดถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือช่วงชิงความได้เปรียบ รวมถึงแต้มต่อทางการเมือง  เพราะนอกเหนือจากกมธ.ที่มีอำนาจเรียกบุคคลเข้าชี้แจงแล้ว ยังมีอีกหนึ่ง “อาวุธลับ” คือ  พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา 2554

ตัวอย่างมีให้เห็นในยุครัฐบาลที่แล้ว "ไพบูลย์ นิติตะวัน"  ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประรัฐ(เวลานั้น)  ได้ยื่นร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้พิจารณาและมีความเห็นเสนอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.คำสั่งเรียกของกมธ. มาตรา 5 ที่บัญญัติอำนาจของคณะกรรมาธิการในการออกคำสั่งเรียกเอกสารจากบุคคลใด หรือเรียกบุคคลใดมาแถลงข้อเท็จจริง 

และมาตรา 8 ที่บัญญัติขั้นตอนการออกคำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการ และมาตรา 13 ที่กำหนดโทษแก่ผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการ ขัดหรือแย้งและมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 129 หรือไม่ 

กรณีดังกล่าวเกิดจากการแก้เกมระหว่างพรรคการเมืองหลัง “พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส” ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ ป.ป.ช. จะใช้อำนาจตามกฎหมายดังกล่าวออกคำสั่งการเรียก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มาชี้แจงกรณีการถวายสัตย์ฯ ไม่ครบถ้วน

จับตาปัดฝุ่นพ.ร.บ.คืนอำนาจเรียกรมต.แจง

กระทั่งต่อมา ศาลรัฐธรรมนูญ รับคำร้องผู้ตรวจฯไว้พิจารณา ก่อนมีมติเอกฉันท์ว่า  พ.ร.บ.คำสั่งเรียกของ กมธ. “ขัดรัฐธรรมนูญ”

เวลานั้นเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากฟากฝั้งการเมือง ว่าการริบดาบดังกล่าวทำให้กมธ.เป็นแค่ “เสือกระดาษ” ทำงานลำบากขึ้น

ทว่าในช่วงเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ สู่ “รัฐบาลพรรคเพื่อไทย” มีการปัดฝุ่นกฎหมายดังกล่าว ภายใต้ชื่อใหม่

ร่างพ.ร.บ.อำนาจเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ.... ซึ่งเสนอโดย สฤษฎ์พงษ์ เกี่ยวข้อง สส.กระบี่ พรรคภูมิใจไทย และ ร่างพ.ร.บ.ที่มีเนื้อหาในทำนองเดียวกันอีก 2 ฉบับ ซึ่งเสนอโดยรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีราชื่อ พรรคก้าวไกล และ ทิสรัตน์ เลาหพล สส.กทม. พรรคก้าวไกล 

เนื้อหาสำคัญ  “คืนอำนาจ” ให้กับกมธ.ในการทำงานตรวจสอบประเด็นความไม่โปร่งใสที่เกิดจากการบริหารราชการแผ่นดิน ทั้งจากฝ่ายบริหาร รัฐมนตรี และข้าราชการ

โดยสภาได้รับหลักการวาระแรก ไปเมื่อเดือนก.ค.ที่ผ่านมา และขณะนี้อยู่ในชั้นการพิจารณาของกมธ. ก่อนเสนอเข้าสู่สภาในวาระ2และ3 หลังจากนี้ 

ต้องจับตาเมื่อกลไกกมธ.เกิดช่องว่างจนทำให้ “นักแสวงหาผลประโยชน์” นำมาใช้เป็นเครื่องมือ การตรวจสอบย่อมต้องเกิดขึ้นซึ่งต้องลุ้นต่อไปว่าจะสาวไปถึงกระบวนการหรือผู้มีส่วนรู้เห็นมาหน้อยเพียงใด!