ส่องความโปร่งใสหน่วยงานรัฐ คะแนนสูงสวนกระแสทุจริต
คำถามคือ การให้คะแนนเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของ“หน่วยงานรัฐ”จะมีมาตรฐานนำไปสู่บทลงโทษทางสังคม หรือมีมาตรการใดที่สามารถกระตุ้นให้“เจ้าหน้าที่รัฐ”หลีกเลี่ยงการทุจริต ซึ่งนำมาสู่การสร้างความเสียหายให้“ประชาชน”ได้บ้างหรือไม่
KEY
POINTS
- คดี "ดิ ไอคอน กรุ๊ป" ยิ่งสาวยิ่งลามไปถึงความไม่ชอบมาพากลของ "หน่วยงานรัฐ" โฟกัสหลักไปที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)
- ในทุกปี ป.ป.ช. จัดทำการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงาน ของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) โดยเกือบทุกหน่วยงานผ่านการประเมินด้วยคะแนนสูงลิบ
- เมื่อมีปมทุจริตคำถามถึงหลักเกณฑ์การประเมินความโปร่งใสจึงเกิดขึ้น พร้อมกับคำถามถึงมาตรฐาน และบทลงโทษ หากพบหน่วยงานที่ปล่อยให้เกิดการทุจริตเกิดขึ้น
ปมกล่าวหา"ดิ ไอคอน กรุ๊ป" ธุรกิจขายตรงของ “บอสพอล” วรัตน์พล วรัทย์วรกุล ยิ่งสาวยิ่งลึก ถึงความเชื่อมโยงผลประโยชน์ไปเกือบทุกวงการ
เริ่มจากวงการดารานักแสดง ถูกนำมาใช้เป็น “หุ่นเชิด” ทั้งเต็มใจให้เชิด โดนหลอกมาเชิด เพื่อเสริมภาพลักษณ์ที่น่าเชื่อถือของ “ดิ ไอคอน กรุ๊ป” ก่อนต่อยอดให้ผู้เสียหายหลงเชื่อ
จากนั้นลามมายังวงการ “การเมือง” เมื่อมีคลิปเสียงตัวนักการเมือง “ส.” สนทธนากับ “บอสพอล” โดยมีการเรียกรับสินบน พร้อมการันตีพลังของ “เทวดา” ที่จะช่วยปกปักรักษา ไม่ให้ใครมาโค่นอาณาจักร “ดิ ไอคอน กรุ๊ป”
ขณะเดียวกันวงการ “ข้าราชการ-หน่วยงานรัฐ” โดนตั้งคำถามถึงปมทุจริตในการใช้อำนาจหน้าที่เอื้อธุรกิจที่สุ่มเสี่ยงต่างๆ เช่นกัน
โดยคดีล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลโดยตรง เพื่อรักษาสิทธิและผลประโยชน์ของ “ประชาชน” ถูกจับจ้องอย่างใกล้ชิด หลังผู้บริหารในองค์กรถูกโยงเข้าไปเกี่ยวข้อง
ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้จัดทำการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงาน ของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) อย่างต่อเนื่อง
โดยปี 2567 ผลคะแนนการประเมิน ITA ในภาพรวมระดับประเทศพบว่า มีค่าคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 93.05 คะแนน มีทิศทางแนวโน้นที่ดีขึ้นกว่าปี 2566 2.86 คะแนน
เมื่อพิจารณาสัดส่วนของหน่วยงานภาครัฐที่เข้ารับการประเมินที่มีคะแนนผลการประเมินในระดับ 85 คะแนนหรือระดับผ่านขึ้นไป พบว่า มีจำนวนทั้งสิ้น 7,696 หน่วยงาน คิดเป็นสัดส่วน 92.44 % ของหน่วยงานทั้งหมด 8,325 หน่วยงาน
ปี 2566 ผลการประเมิน ITA ในภาพรวมระดับประเทศพบว่า มีค่าคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 90.19 คะแนน มีทิศทางแนวโน้มดีกว่าปี 2565 2.62 คะแนน
เมื่อพิจารณาสัดส่วนของหน่วยงานภาครัฐที่เข้ารับการประเมิน ที่มีผลคะแนนผลการประเมินในระดับ 85 คะแนน หรือระดับผ่านขึ้นไป พบว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 6,737 หน่วยงาน จากทั้งหมด 8,323 หน่วยงาน
ปี 2565 ผลการประเมิน ITA ผลการประเมิน ITA 2565 ในภาพรวมระดับประเทศ พบว่า มีคะแนนเฉลี่ยสูงถึง 87.57 คะแนน ซึ่งเป็นคะแนนที่สูงขึ้นกว่าปี 2564 6.32 คะแนน
ปี 2564 ผลการประเมิน ITA มีค่าเฉลี่ยระดับประเทศ 81.25 คะแนน จาก 100 คะแนน มีหน่วยงานที่ผ่านเกณฑ์ 4,146 หน่วยงาน คิดเป็น 49.95% จากเป้าหมายที่ตั้งไว้คือ 85 คะแนนขึ้นไป และหน่วยงานผ่านเกณฑ์ไม่น้อยกว่า 65% เท่ากับว่าการประเมิน ITA ประจำปีงบประมาณ 2564 ยังไม่ผ่านตามเกณฑ์ในแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ
จะเห็นได้ว่าผลการประเมิน ITA ของ ป.ป.ช. ค่าเฉลี่ยระดับประเทศจะดีขึ้นในทุกปี หน่วยงานที่ผ่านเกณฑ์การประเมินมีมากขึ้นเช่นกัน แต่สิ่งที่สวนทางกันคือการทุจริตที่เกิดขึ้นในสังคมไทยกลับมีมากขึ้น
ขณะเดียวกัน เมื่อไล่ดู “หน่วยงานรัฐ” ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบ พบว่าสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ปี 2567 ได้ 90.87 คะแนน ปี 2566 ได้ 91.46 คะแนน ปี 2565 ได้ 90.14 คะแนน ปี 2564 ได้ 89.66 คะแนน ปี 2563 ได้ 79.35 คะแนน
มีข้อสังเกตต่อคะแนน ผลการประเมิน ITA ของ “สคบ.” ย้อนหลังไป 5 ปี ในช่วงปี 2567-2563 ผ่านเกณฑ์การประเมินมาอยู่ในระดับ 90 คะแนนขึ้นไป แต่ในปี 2564-2563 คะแนนต่ำกว่า 90 คะแนน ซึ่งสวนทางกับเรื่องร้องเรียนใน “สคบ.” ที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงปมคนในสคบ.เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปี 2567 ได้ 85.92 คะแนน ปี 2566 ได้ 58.80 คะแนน ปี 2565 ได้ 81.56 คะแนน ปี 2564 ได้ 86.96 คะแนน ปี 2563 ได้ 83.95 คะแนน
กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ปี 2567 ได้ 92.98 คะแนน ปี 2566 ได้ 92.63 คะแนน ปี 2565 ได้ 95.43 คะแนน ปี 2564 ได้ 91.38 คะแนน ปี 2563 ได้ 86.63 คะแนน
สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ปี 2567 ได้ 89.59 คะแนน ปี 2566 ได้ 87.80 คะแนน ปี 2565 ได้ 95.04 คะแนน ปี 2564 ได้ 97.45 คะแนน ปี 2563 ได้ 84.32 คะแนน
คำถามคือ การให้คะแนนเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของ“หน่วยงานรัฐ”จะมีมาตรฐานนำไปสู่บทลงโทษทางสังคม หรือมีมาตรการใดที่สามารถกระตุ้นให้“เจ้าหน้าที่รัฐ”หลีกเลี่ยงการทุจริต ซึ่งนำมาสู่การสร้างความเสียหายให้“ประชาชน”ได้บ้างหรือไม่