‘พปชร.’ ย้ำจุดยืน ค้าน ‘นิรโทษกรรม’ ม.112 ชี้ จะสร้างความขัดแย้งใหญ่ในสังคม

‘พปชร.’ ย้ำจุดยืน ค้าน ‘นิรโทษกรรม’ ม.112 ชี้ จะสร้างความขัดแย้งใหญ่ในสังคม

“ไพบูลย์” ย้ำ จุดยืน พปชร. ค้าน นิรโทษกรรม ม.112 ไม่ว่าจะกำหนดเงื่อนไขหรือไม่ก็ตาม ชี้ กมธ.ส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วย เหตุ เป็นคดีอ่อนไหวทางการเมือง ปชช. ไม่เอาด้วย จะสร้างความขัดแย้งใหญ่ในสังคม จนปรองดองไม่ได้ ยกคำวินิจฉัยศาลรธน. พฤติกรรมเซาะกร่อนบ่อนทำลาย

นายไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม กล่าวว่า ตนได้แถลงจุดยืนของหัวหน้าพรรคและพรรคพลังประชารัฐ ที่ยืนยันคัดค้านการนิรโทษกรรมผู้กระทำผิด ประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 112 ไม่ว่าจะกำหนดให้มีเงื่อนไขหรือไม่ก็ตาม ซึ่งปรากฏในรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม หน้าที่ 31-32 มีความดังนี้

"นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่สี่ ให้ความเห็นว่าไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 และมาตรา112 ไม่ว่าจะกำหนดให้มีเงื่อนไขหรือไม่" 

โดยกรรมาธิการส่วนหนึ่งเห็นว่าคดีความผิดตามมาตรานี้เป็นคดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง และมีกรรมาธิการอีกส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วย อีกทั้งประชาชนส่วนใหญ่ยังมีความเห็นคัดค้านที่ไม่เห็นด้วยให้มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรม มาตรา 112 ดังนั้น จึงไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยมีเหตุผล ดังนี้

1) ประชาชนทั่วทั้งประเทศจำนวนมากยังมีความเห็นคัดค้านในการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา112 หากดำเนินการไปจะทำให้เกิดความขัดแย้งครั้งใหญ่ขึ้นในสังคมอีกครั้งหนึ่ง และจะไม่สามารถทำให้เกิดความปรองดองในสังคมได้ ซึ่งจะทำให้สิ่งที่คณะกรรมาธิการวิสามัญดำเนินการมาทั้งหมดสูญหายไป ดังนั้น หลักการสำคัญที่สุดที่ทำให้ตนไม่เห็นด้วย กับการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตามมาตรานี้ คือ ยังมีประชาชนทั่วทั้งประเทศจำนวนมากที่มีความเห็นคัดค้านเรื่องนี้ จะทำให้เกิดความขัดแย้งแตกแยกในสังคมกันอย่างมากมาย

2) มาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญบัญญัติว่า "องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะ อันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดมิได้" ดังนั้น ประมวลกฎหมายอาญา จึงมีการแยกหมวดความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ไว้โดยเฉพาะและมีบทบัญญัติในมาตรา 110 มาตรา 112เพื่อคุ้มครองพระมหากษัตริย์ให้เป็นไปตามมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตามมาตรานี้จึงเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ

3 ) คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่3/2567 วินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดการกระทำความผิดเกี่ยวกับการดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และเป็นกฎหมายคุ้มครองไม่ให้มีการละเมิดพระมหากษัตริย์ในฐานะที่ทรงเป็นประมุขของรัฐ และเป็นสถาบันหลักของประเทศ ตามที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองและคุ้มครองไว้ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยไว้เช่นนี้และรัฐธรรมนูญได้บัญญัติคุ้มครองไว้อย่างชัดเจน จึงควรให้ผู้กระทำผิดถูกดำเนินคดีตามกระบวนการ ยุติธรรม แต่การออกกฎหมายนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดมาตรานี้จะเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ และขัดกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 3/2567ซึ่งวินิจฉัยว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยทรงดำรงอยู่เหนือการเมือง และทรงดำรงไว้ซึ่งความเป็นกลางทางการเมือง 

นายไพบูลย์ กล่าวอีกว่า ตนไม่เห็นด้วยว่าคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นคดีทางการเมือง เพราะเรื่องทางการเมืองจะต้องเป็นเรื่องระหว่างนักการเมืองด้วยกันหรือเกี่ยวข้องกับประชาชนที่มีอุดมการณ์คล้อยตาม นักการเมือง หรือพรรคการเมือง ซึ่งสามารถมีการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดในคดีทางการเมืองได้ แต่หากเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์จะต้องพิจารณาเป็นอีกเรื่องหนึ่งเป็นการเฉพาะ 

ดังนั้นคำวินิจฉัยที่ 3/2567 ของศาลรัฐธรรมนูญจึงมีความสำคัญผูกพันกับทุกองค์กร เพราะที่ผ่านมาเคยมีการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยไว้ว่าเป็นการกระทำที่มีเจตนาเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นเหตุให้ชำรุดทรุดโทรม เสื่อมทรามและอ่อนแอลง นำไปสู่การล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 

นอกจากนี้ การกำหนดให้มีการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตามมาตรา112 จะเป็นการทำให้การกระทำความผิดตามมาตรา 112 ไม่เป็นการกระทำผิดอีกต่อไป ดังนั้น การออกกฎหมายนิรโทษกรรมมาตรา 1112 จึงจะมีผลกระทบรุนแรงต่อการปกป้องคุ้มครองสถาบันมากกว่าการแก้ไขมาตรา 112

ดังนั้น การที่มีการอภิปรายถึงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่3/2567และรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 เพื่อให้เห็นเจตนาว่าการออกกฎหมายนิรโทษกรรม จะต้องคำนึงไม่ให้ไปฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญและคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง 

นอกจากนั้น ประเด็นที่ควรกังวลอย่างมากคือการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ผู้กระทำความผิดมาตรา 112 นี้ จะเป็นมูลเหตุนำมาซึ่งความขัดแย้งครั้งใหญ่ของประชาชนทั้งประเทศ และความเห็นของตนในเรื่องนี้เป็นไปตามความเห็นของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งมีนโยบายในการปกป้องสถาบันให้มันคงสถาพรตลอดไปเป็นที่ยึดมั่นศรัทธาของประชาชน ไม่ต้องการให้ผู้ใดกลุ่มบุคคลใด มากระทำการใด ๆ กระทบกระเทือน ต่อสถาบัน ดังนั้น พรรคพลังประชารัฐจึงไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งในการออกกฎหมายเพื่อนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา110 มาตรา 112 ไม่ว่าในกรณีใดๆ ทั้งสิ้น 

นายไพบูลย์ กล่าวต่อว่า รายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ได้เข้าสู่การพิจารณาในระเบียบวาระที่ 4.1ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 17 ตุลาคม 2567 แล้ว