'เฉลิมชัย' ชมเชยจนท. จับกุมลอบตัดไม้พะยูง จ.สุรินทร์ ลั่นเน้นหนักปราบปราม
"เฉลิมชัย" ชมเชยเจ้าหน้าที่กรมอุทยาน ชุดปฏิบัติการพิเศษ ฝ่ายปกครอง และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดำเนินการจับกุมขบวนการลักลอบตัดไม้พะยูง ที่ จ.สุรินทร์ เผยเน้นหนักในการปราบปรามเพื่อรักษาระบบนิเวศและป้องกันภัยพิบัติ
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึง การดำเนินการปราบปรามผู้กระทำผิดตามกฎหมายว่าด้วย ป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติที่มุ่งเน้นการปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้ เนื่องจากการตัดไม้ทำลายป่า ทำให้ระบบนิเวศเสียสมดุลและเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภัยพิบัติต่างๆ อันเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้กับคนไทยทั้งประเทศ
โดยนายพิชัย วัชรวงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 อุบลราชธานี ( ผอ.สบอ.9 อบ. ) รายงานว่า เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2567 เวลา 05.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการสืบสวนสถานีตำรวจภูธร จังหวัดสุรินทร์ , เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนสถานีตำรวจภูธรบัวเชด จังหวัดสุรินทร์,ชุดปฏิบัติการข่าวประจำจังหวัดสุรินทร์ กอ.รมน.ภาค 2 สย.2,หน่วยปราบยาเสพติด ขกท.ศปก.ทบ.(นฟด.22,ขกท.กกล.สุรนารี), หน่วยเฉพาะกิจปฏิบัติการพิเศษผู้พิทักษ์อุทยานแห่งชาติและสัตว์ป่า (พญาเสือ) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทับทัน-ห้วยสำราญ, หน่วยเฉพาะกิจที่ 2 กองกำลังสุรนารี, กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 214, ฝ่ายปกครองอำเภอบัวเชด,
เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยศาลา, เจ้าหน้าที่สำนักงานสนับสนุนการป้องกันและปราบปรามที่ 2 (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ร.ต.อ.ปราโมทย์ เที่ยงธรรม รอง สว.กก.ภ.จว.สุรินทร์ได้นำหมายค้นที่ 178/2567 ศาลจังหวัดสุรินทร์ จากการสืบสวนขยายผลกลุ่มเครือข่ายไม้พะยูง และร่วมกันจับกุมผู้ต้องหาจำนวน 6 ราย คือ พร้อมตรวจยึดของกลาง เป็นไม้พะยูงแกนล่อนและไม้พะยูงแปรรูป จำนวน 189 ท่อน/เหลี่ยม ปริมาตรรวม 1.525 ลบ.ม. ค่าภาคหลวงรวม 123.52 บาท คิดเป็นค่าเสียหายของรัฐรวม 386,000 บาท
และอุปกรณ์การกระทำผิด จำนวน 36 รายการ ประกอบด้วย เลื่อยโซ่ยนต์ บาร์เลื่อยโซ่ยนต์ ขวาน เสียม รถจักรยานยนต์ เป็นต้น โดยอุปกรณ์ของกลางในการกระทำผิดทั้ง 36 รายการ ได้นำมาเก็บรักษาที่สำนักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทับทัน - ห้วยสำราญ ตำบลกาบเชิง อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ ส่วนอุปกรณ์และสัมภาระติดตัวอื่นๆ ได้ส่งคืนให้แก่ผู้ถูกจับกุม โดยกล่าวหาว่า มีความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 พ.ร.บ.เลื่อยโซ่ยนต์ 2545 และ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ
นายเฉลิมชัย กล่าวว่า พฤติการณ์ในการจับกุม กล่าวคือ โดยเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2567 ได้รับแจ้งจากสายลับว่ามีการลับลอบตัดไม้พะยูงโดยใช้รถจักรยานยนต์ลำเลียงออกจากป่าอนุรักษ์ นำมาพักรอนายทุนมารับซื้อ ที่บ้านเลขที่ 47 บ้านโอทะลัน หมู่ที่ 10 ตำบลจรัส อำเภอบัวเชด จังหวัดสุรินทร์ เจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนลงพื้นที่ทำการสืบสวนรวบรวมข้อเท็จจริง จนถึงวันที่ 15 ตุลาคม 2567 ทราบว่า บ้านหลังดังกล่าว ในช่วงเวลากลางคืน จะมีจักรยานยนต์บรรทุกไม้พะยูงทยอยนำไม้เข้ามาเก็บพักไว้ที่บ้านหลังนี้ คณะเจ้าหน้าที่จึงได้ทำการขอหมายค้นจากศาลจังหวัดสุรินทร์ เพื่อเข้าค้นตรวจสอบบ้านหลังดังกล่าว ตามหมายค้นศาลจังหวัดสุรินทร์ ที่ 178/2567 ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2567 ณ บ้านเลขที่ 47 ม. 10 ต.จรัส อ.บัวเชด จ.สุรินทร์ ในวันที่ 16 ตุลาคม 2567 ตั้งแต่เวลา 05.00 น. เป็นต้นไปบริเวณพิกัด 393068 E 1584577 N ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทับทัน -ห้วยสำราญ และได้ร่วมกันจับกุมตัวผู้กระทำผิด ทั้ง 6 คน
พร้อมตรวจยึดของกลางและอุปกรณ์ในการกระทำความผิดไว้เป็นของกลาง และควบคุมตัวผู้กระทำความผิดนำส่งพนักงานสืบสวน สภ.บัวเชด เพื่อดำเนินคดีต่อไป
"ตามข้อสั่งการของตน ที่มอบให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวด้อมทำงานในเชิงรุกด้านการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดการลักลอบล่าสัตว์ตัดไม้ทำลายป่า โดยมี นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้กำกับให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติงานอย่างเข้มข้นในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า ทั้งนี้ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี) ได้รับรายงานจากนายรัฐพล บุญมี หน.เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทับทัน - ห้วยสำราญ จ.สุรินทร์ ว่า มีการกระทำผิดลักลอบตัดและขนย้ายไม้พยุง นำมาพักรอนายทุนมารับซื้อ จึงได้ดำเนินการตรวจสอบตามที่ได้รับแจ้ง ซึ่งผลการตรวจสอบปรากฏว่า มีการกระทำผิดตามที่ได้รับแจ้งจริง และสามารถจับไม้พะยูงแกนล่อนและไม้พะยูงแปรรูป จำนวน 189 ท่อน/เหลี่ยม ปริมาตรรวม 1.525 ลบ.ม. ค่าภาคหลวงรวม 123.52 บาท คิดเป็นค่าเสียหายของรัฐรวม 386,000 บาท
ทั้งนี้ ตนขอชมเชยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการปราบปรามครั้งนี้ เนื่องจาก ไม้พะยูงถือเป็นไม้ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง และเนื้อไม้มีความละเอียด แข็งแรง ทนทาน ชักเงาได้ดี ทำให้มีความต้องการเป็นอย่างมาก ทำให้มีกระบวนการลักลอบตัดไม้พะยูงในเขตป่าสงวนอยู่เสมอ ซึ่งถือว่า เป็นการละเมิดต่อผลประโยชน์ของประเทศและเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นสาเหตุที่สำคัญที่ทำให้เกิดสภาพอากาศแปรปรวน จนเกิดภัยพิบัติที่สร้างความเดือดร้อนให้กับคนไทยในเวลานีั " นายเฉลิมชัย กล่าว