Waste Not, Want Not กระตุ้นให้คิดถึงอะไร

Waste Not, Want Not กระตุ้นให้คิดถึงอะไร

 สุภาษิตอังกฤษเก่าเเก่หลายร้อยปี  ”Waste Not, Want Not (ไม่สูญเปล่า   ไม่ต้องการ)  ทำให้คิดต่อเนื่องไปถึงเรื่องของ Sustainability (ความยั่งยืน) คำยอดฮิตระดับโลก และประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจ      ลองดูกันว่ามันเชื่อมต่ออย่างไรเเละกระตุ้นให้คิดถึงอะไรบ้าง

 คำจำกัดความของ Sustainability ก็คือ “พัฒนาการซึ่งสนองตอบความต้องการของคนรุ่นปัจจุบัน โดยไม่ทำให้คนรุ่นต่อไปมีความสามารถน้อยลงในการตอบสนองความต้องการของเขา” หรือพูดอีกอย่างว่า “ความยั่งยืน”

คือการดำเนินการต่าง ๆ ที่ครอบคลุมการผลิตเเละการบริโภคของคนรุ่นปัจจุบัน   ไม่ทำให้คนรุ่นต่อไปมีความสามารถด้อยลงในการสนองตอบความต้องการต่าง ๆ ของเขา เช่น   คนรุ่นปัจจุบันต้องไม่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากเกินไปจนไม่เหลือให้คนรุ่นต่อไปนำไปใช้ตามความต้องการของเขา    

มนุษย์จะอยู่กันได้อย่างยั่งยืนในโลกใบนี้ที่มีอายุ 4,500 ล้านปี  และมนุษย์เผ่าพันธุ์นี้ที่มีหน้าตาแบบปัจจุบันมีอายุประมาณ 200,000 ปี ก็ต่อเมื่อคนรุ่นก่อนไม่รังแกคนรุ่นต่อ ๆ ไปด้วยการบริโภคมากจนทำให้คนรุ่นต่อ ๆ ไปลำบากเพราะ ไม่สามารถบริโภคได้ดังใจของเขา

ในทศวรรษ 1970 โลกตื่นตัวกับประเด็นประชากรล้นโลก  หนังสือชื่อ Population Bomb โดย Paul Ehrlich (1968) พยากรณ์การขาดแคลนอาหารครั้งใหญ่จนสังคมล่มสลายเพราะประชากรเพิ่มขึ้นอย่างน่ากลัว  

 รายงานในปี 1972 ชื่อ The Limits to Growth ตีพิมพ์โดยกลุ่ม Club of Rome ใช้คอมพิวเตอร์โมเดลพยากรณ์การขาดแคลนทรัพยากรอย่างร้ายแรงในศตวรรษที่ 21 จนเกิดความตื่นตัวในการดูแลโลกและต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

UN ผลักดันโครงการ MDG (Millennium Development Goals) ระหว่างปี 2000-2015  และตามด้วย SDG (Social Development Goals)ระหว่างปี 2015-2030   โดยกำหนด 17 เป้าหมายให้ประเทศสมาชิก เช่น ไร้ความยากจน  /  ไร้ความหิวโหย  /  มีสุขภาวะที่ดี  /  การศึกษามีคุณภาพ  /  มีความเท่าเทียมทางเพศ  /  น้ำสะอาด และสุขภาพอนามัยดี/   ฯลฯ  

โดยให้แต่ละประเทศกำหนดเป้าหมายและดำเนินการให้บรรลุก่อนปี 2030   ขณะนี้ประเทศต่าง ๆ เร่งดำเนินการตามโครงการ SDG ดังที่เราได้ยินกันอยู่ทุกวัน

   Sustainability เป็น concept ที่กว้างและมีพลวัฒน์กระตุ้นให้เกิดความคิดในหลายเรื่องที่เกี่ยวกับอนาคตอย่างน่าสนใจดังนี้

(1) Sustainability ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของการปรับเปลี่ยนนโยบาย และใช้เทคโนโลยีใหม่   หากมันลึกลงไปถึงเรื่องของการเปลี่ยนแปลง mindset (กรอบความคิดความเชื่อ หรือทัศนคติที่ชี้นำพฤติกรรมของคน) และวัฒนธรรมของแต่ละสังคม   มันท้าทายเรื่องแนวดำเนินชีวิตที่อาศัยการบริโภคเป็นตัวขับเคลื่อนดังที่เป็นกันอยู่ในปัจจุบัน

               หนี้ครัวเรือนไทยที่รวมกันแล้วมากกว่า GDP ของประเทศก็มาจากการบริโภคจนมีคนแนะนำว่า “อย่าใช้เงินที่คุณยังไม่มีเพื่อซื้อสิ่งที่คุณไม่ได้ต้องการมันอย่างแท้จริง เพื่อสร้างความประทับใจแก่ผู้อื่นที่เขาก็ไม่ได้แคร์”    “อย่าทำตัวราวกับเป็นคนมีเงิน  ทั้ง ๆ ที่ไม่มีเงิน”    “อย่ามัวงมงายกับค่านิยม  หล่อ-สวย-รวย-ฉลาด อย่างสิ้นคิด“

 

(2) ความกินดีอยู่ดีของมนุษย์ผูกกับสุขภาพของโลก (planet) ใบนี้อย่างใกล้ชิด   การคำนึงถึงความยั่งยืนทำให้ฉุกคิดว่าการบริโภคของตนเองนั้นมิใช่สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างโดด ๆ   หากโยงใยกับสุขภาพของโลก  ซึ่งมีขอบเขตจำกัดเช่นกัน  

การพัฒนาของมนุษย์ขึ้นอยู่กับเสถียรภาพของระบบนิเวศของโลก ถ้าสภาวการณ์มันเลวร้ายลงเรื่อย ๆ   ก็มีผลต่อการอยู่รอดของมนุษย์ในระยะยาวอย่างแน่นอน

                   “Waste Not, Want Not” เตือนให้เราไม่สร้างความสูญเปล่า และในขณะเดียวกัน  ไม่ต้องการสิ่งต่าง ๆ อย่างไร้ความหมาย  แยกให้ออกระหว่าง Wants และ Needs  ซึ่งอย่างหลังนี้เป็นความต้องการอย่างยิ่งเพื่อความอยู่รอดและคุณภาพชีวิตในระดับหนึ่ง    

ส่วน Wants นั้นคือความต้องการบริโภคอันไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งทำให้ต้องการทรัพยากรอันมหาศาลอย่างไม่มีขีดจำกัดเช่นกัน

 Wants จึงเป็นตัวการของปัญหา   มีการคำนวณว่าในอัตราการบริโภคของชาวโลกปัจจุบัน  เราต้องการโลกอีกประมาณ 5 ใบ เพื่อให้มีทรัพยากรเพียงพอต่อความกระหายของเรา

                  (3)  เราจำเป็นต้องมีจริยธรรมระหว่างชั่วคน  ถ้าเราใช้ทรัพยากรอย่างมากก็กระทบต่อความกินดีอยู่ดีของคนรุ่นต่อ ๆ ไปที่ยังไม่เกิดมา   เราอยู่กันมาประมาณ 7,500-10,000  ชั่วคนแล้ว    เราจะให้มันมาจบในพวกคนรุ่นเราหรืออย่างไร   มันจะเป็นการยุติธรรมกับคนที่ควรจะได้เกิดมาและมีคุณภาพชีวิตทัดเทียมเราหรือไม่

                   (4) เราต้องพยายามทำให้เกิดการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโดยไม่จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรใหม่   สินค้าที่ผลิตออกมาและใช้แล้วต้องไม่ทิ้ง นำมาเวียนใช้อีกครั้ง หรือ ซ่อมแซมและนำมาใช้อีก หรือ          รีไซเคิลเพื่อใช้ในรูปของวัตถุดิบอีกครั้งดังที่เรียกว่า Circular Economy    การไม่มีการสูญเปล่า หรือ             No Waste คือหัวใจ

               (5)  Sustainability มีความสัมพันธ์กับความเป็นธรรมของสังคม (Social Justice) และสันติภาพ   ความเสื่อมทรามของสิ่งแวดล้อม และปัญหาการขาดแคลนทรัพยากร เร่งให้ความขัดแย้งระหว่างชุมชนและสังคมมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นดังมีหลักฐานให้เห็นมากมายในปัจจุบัน    การพัฒนาอย่างยั่งยืนในพื้นที่อันมีศักยภาพของการเกิดความขัดแย้งจึงเป็นคำตอบในระยะยาว

                 ปัญหาของโลกใบนี้มิได้แก้ไขด้วย “อัศวินม้าขาว”    หากด้วยสมาชิกของโลกใบนี้ช่วยกันคนละไม้คนละมือ   สุภาษิต “Waste Not, Want Not” ขลังเสมอ  

ลึกลงไปแล้ว Sustainability คือความอยู่รอด(survival) ของโลกใบนี้ในระยะยาว   ถ้าชาวโลกดำเนินชีวิตกันทั้งหมดโดยประเด็นความยั่งยืนไม่อยู่ในความคิดคำนึงของชาวโลกแล้ว    โลกใบนี้อันมีความจำกัดและเปราะบางจะอยู่รอดได้อย่างไร.