ประวัติเส้นทางการเมือง-ธุรกิจ ‘สามารถ เจนชัยจิตรวนิช’ อดีตรองโฆษก พปชร.

ประวัติเส้นทางการเมือง-ธุรกิจ ‘สามารถ เจนชัยจิตรวนิช’ อดีตรองโฆษก พปชร.

เปิดประวัติ เส้นทางการเมือง-เช็คขุมข่ายธุรกิจ ‘สามารถ เจนชัยจิตรวนิช’ อดีตรองโฆษก พปชร. อดีตประธานสมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่แห่งประเทศไทย ยังเปิดดำเนินกิจการอยู่ 1 แห่ง ทำธุรกิจบริหารนิติบุคคลอาคารชุด อีก 3 แห่ง เลิกกิจการ-ร้าง

ชื่อของ “สามารถ เจนชัยจิตรวนิช” รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กลับมาได้รับความสนใจจากสาธารณชนอีกครั้ง พลันที่ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” รองหัวหน้า พปชร. เปิดเผยว่า ได้เสนอเรื่องให้ “บิ๊กป้อมพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ปลดพ้นเก้าอี้ “รองโฆษกพรรค” มีผลตั้งแต่วันนี้ (18 ต.ค.) เป็นต้นไป อย่างไรก็ดีในส่วนของการขับออกจากพรรคนั้น ยังไม่สามารถทำได้ เพราะต้องใช้มติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ในวันที่ 29 ต.ค. 2567 เบื้องต้น ได้ให้คนใกล้ชิดไปพูดคุยกับ “สามารถ” แต่เขายืนยันว่าจะไม่ลาออกจาก พปชร.

ส่วนการสืบสวนคดี “ดิไอคอนกรุ๊ป” ของ บก.ปคบ.นั้น “ไพบูลย์” ระบุว่า ได้ติดตามอย่างใกล้ชิด และรอดูความคืบหน้าเป็นประการใด จะเสนอให้ที่ประชุม กก.บห.ของพรรค โดยยืนยันว่า “บิ๊กป้อม” เป็นห่วงประชาชนผู้เสียหายจาก “ดิ ไอคอน กรุ๊ป” ที่ไม่น่าจะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น

สำหรับ “สามารถ เจนชัยจิตรวนิช” เพิ่งเข้ามามีบทบาททางการเมืองเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้เขาเคยเป็น “ประธานสมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่แห่งประเทศไทย” ต่อมาในช่วงก่อนการเลือกตั้งปี 2562 ได้เข้าร่วม พปชร. หลังจากจัดตั้งรัฐบาล ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม และถูกมอบหมายให้เป็นผู้อำนวยการศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์พรรคพลังประชารัฐ พร้อมกับปล่อยข่าวตอบโต้ทางการเมืองกับฝ่ายตรงข้าม

ที่สำคัญเมื่อปี 2564 “สามารถ” ถูกขุดคุ้ยเกี่ยวกับประเด็นการเข้าสอบที่ ม.รามคำแหง จนถูก พปชร.มีมติขับพ้นจากพรรคมาแล้ว แต่เจ้าตัวสามารถกลับมามีที่ยืนในพรรคได้อีกครั้งในอีก 2 ปีต่อมา เมื่อเคลียร์สารพัดปัญหาไปได้

ว่ากันว่าบทบาทของ “สามารถ” ที่ถูกจดจำมากที่สุดน่าจะเป็นเรื่องช่วยชาวบ้านจากธุรกิจ “แชร์ลูกโซ่” มากกว่าบทบาททางการเมืองที่แทบไม่มีอะไรโดดเด่น

อย่างไรก็ดีเมื่อ พปชร.ต้องตกที่นั่งลำบากกลายเป็น “ฝ่ายค้าน” ชื่อของ “สามารถ” กลับถูกมองว่าใกล้ชิดกับ “บิ๊กป้อม” อย่างมาก ทั้งการไปรับ “บิ๊กนักการเมือง” ที่ย้ายมาเข้าสังกัดพรรค หรือการออกมาตอบโต้ทางการเมืองกับ “กลุ่มผู้กอง” ที่หอบ สส.ไปนั่งอยู่ฝ่ายรัฐบาล เป็นต้น อาจบอกว่าได้ยิ่ง “บ้านป่ารอยต่อฯ” เงียบเหงามากแค่ไหน ชื่อของ “สามารถ” ก็ยิ่งมีบทบาทมากขึ้นเท่านั้น 

ในมุมธุรกิจ “สามารถ เจนชัยจิตรวนิช” ปรากฏชื่อเป็นกรรมการบริษัทอย่างน้อย 4 แห่ง ยังเปิดดำเนินกิจการอยู่ 1 แห่ง ได้แก่

  • บริษัท บี.เค.พร็อพเพอร์ตี้ แมเนจเม้นท์ จำกัด

จดทะเบียนเมื่อ 31 พ.ค. 2564 ทุนปัจจุบัน 1 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 18/86 ซอยร่วมศิริมิตร แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร วัตถุประสงค์ บริหารนิติบุคคลอาคารชุด นายสมชาย เจนชัยจิตรวนิช นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช นายวีระ ปิ่นบุตร เป็นกรรมการ 

นำส่งรายชื่อผู้ถือหุ้นล่าสุดเมื่อ 30 เม.ย. 2567 สมชาย เจนชัยจิตรวนิช ถือหุ้นใหญ่สุด 50% สรวิศ เจนชัยจิตรวนิช ถือรองลงมา 40% วีระ ปิ่นบุตร ถือ 10% ไม่มีชื่อ “สามารถ” ถือหุ้นแต่อย่างใด

ส่วนอีก 3 แห่ง แจ้งเลิกกิจการ 1 แห่ง ได้แก่ 

  • บริษัท เอ็ม.เจ. โพรดักชั่นส์ จำกัด จดทะเบียน 28 ต.ค. 2558 ทุน 5 แสนบาท วัตถุประสงค์ การผลิต รับจ้าง จำหน่ายวารสารหนังสือ

อีก 2 แห่ง ถูกนายทะเบียนขีดชื่อว่า “ร้าง” ได้แก่

  • บริษัท ไทยสตาร์ทัวร์ 2012 จำกัด จดทะเบียน 25 มิ.ย. 2555 ร้างเมื่อ 19 มิ.ย. 2560 ทุน 1 ล้านบาท วัตถุประสงค์ ประกอบกิจการด้านการท่องเที่ยว จัดทำทัวร์ทั้งในและต่างประเทศ จำหน่ายตั๋วเครื่องบินทั้งในและต่างประเทศ
  • บริษัท กรีน เทคโนโลยี คอนสตรัคชั่น จำกัด จดทะเบียน 16 ม.ค. 2555 ร้างเมื่อ 19 มิ.ย. 2560 ทุน 1 ล้านบาท วัตถุประสงค์ ค้าปลีก-ส่งวัสดุก่อสร้างทุกชนิด ให้เช่าเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้าง ติดตั้งสาธารณูปโภคทุกประเภทที่เกี่ยวเนื่องกับการก่อสร้าง นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศ เกี่ยวกับสินค้าวัสดุก่อสร้าง

สำหรับคนสกุล “เจนชัยจิตรวนิช” จากการตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า ยังปรากฏชื่อเป็นกรรมการร่วมกับบุคคลอื่นอีกอย่างน้อย 14 บริษัทด้วยกัน แต่ไม่ปรากฏชื่อ “สามารถ” เป็นผู้ถือหุ้นแต่อย่างใด

ส่วนความคืบหน้าคดี “ดิ ไอคอน กรุ๊ป” ตำรวจสอบสวนกลางได้จับกุม 18 ผู้ต้องหา รวมทั้ง “บอสพอล “วรัตน์พล วรัทย์วรกุล เรียบร้อยแล้ว โดยมีการนำตัวฝากขังผู้ต้องหาแก่ศาลจำนวน 17 ราย และคัดค้านการประกัน ส่วน “บอสพอล” นั้น ตำรวจยังอยู่ระหว่างการสอบปากคำ และเตรียมนำตัวฝากขังในวันนี้