ศึกรุกไล่‘วัดใจรัฐบาล’ ‘3วัน’คดีตากใบ -‘ดิไอคอน’สังคายนา
สารพัดศึกรุกไล่‘วัดใจรัฐบาล’ นับถอยหลัง‘3วัน’คดีตากใบ - ‘ดิไอคอน’ ถึงเวลาสังคยานา ‘พรรคร่วมรัฐบาล’ เกมวัดพลัง-ยุบพรรคตามหลอน
KEY
POINTS
- นัยถอยหลัง 3วันคดีตากใบ ม.172 ออกพรก.ทางออก
- วัดใจคดี‘ดิไอคอน’ สอยเทวดาตกสวรรค์
- “พรรคร่วมรัฐบาล” ศึกวัดพลัง ปมนิรโทษกรรม ดับฝั่นพ่วงม.112
- “ยุบพรรค”เกมแค้นเอาคืน เขย่านายใหญ่ เพื่อไทยรุกกลับ
ควันหลงวงดินเนอร์ “พรรคร่วมรัฐบาล” ซึ่งมีต้นความคิดมาจาก “นายกฯอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร เมื่อช่วงเย็นวันที่21ต.ค. มีการจับตาไปที่การพูดคุยหาทางออก รวมถึงเคลียร์ใจสารพัดปมศึกนอก-ศึกใน ที่กำลังตีขนาบประชิดรัฐบาลอย่างรอบด้านในเวลานี้
โฟกัสประเด็นสำคัญ ประเด็นแรก คดีตากใบ ซึ่งนับถอยหลังอีก3วันคดีจะหมดอายุความในวันที่25ต.ค.นี้ แต่จนถึงเวลานี้ยังไม่สามารถนำตัว “18ผู้ต้องหา” ซึ่งล้วนเป็นอดีตบิ๊กเหล่าทัพ รวมถึงบิ๊กข้าราชการมาดำเนินคดี
เป็นเช่นนี้แน่นอนว่าจากคดีไฟใต้ที่ร้อนแรงจนถึงเวลานี้อาจกลายเป็นเชื้อเพลิงสุมไฟไปยังพรรคเพื่อไทย ในฐานะแกนนำรัฐบาล
แม้ว่า “บิ๊กอ๊อด”พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 และ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย หนึ่งในผู้ต้องหาจะชิงลาออกจากการเป็นสส.พรรคเพื่อไทย เพื่อสกัดไฟลามทุ่งไปตั้งแต่เมื่อวันที่14ต.ค.ที่ผ่านมา แต่ยังทิ้งไว้ซึ่งหลากหลายปมค้างคาใจ
อย่างที่รู้กันว่า พล.อ.พิศาล เป็นเพื่อนร่วมรุ่นโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย และเป็นรุ่นพี่เตรียมทหาร ของ “นายใหญ่พรรคเพื่อไทย” แถมก่อนหน้านี้ ในช่วงการปรับครม.เศรษฐา 1/2 ต่อเนื่องมาถึงยุคเปลี่ยนผ่านสู่ ครม.แพทองธาร ในช่วงฟอร์มทีม ชื่อของ “บิ๊กอ๊อด” ยังถูกโยนออกมาเป็นหนึ่งในแคนดิเดตรมว.กลาโหมเสียด้วยซ้ำ
เป็นเช่นนี้แน่นอนว่ากระแสย่อมตีกลับไปยังพรรคเพื่อไทยและนายใหญ่ ที่เวลานี้ปั้น “นายน้อย” ขึ้นแท่นนายกรัฐมนตรีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ในมุมของ “บิ๊กอ้วน” ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ย้ำว่า รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งเรื่องหน่วยข่าว เพื่อหาข้อมูล ในถิ่นที่อยู่หรือพื้นที่ที่เคยไปของผู้ต้องหา โดยได้มีการกำชับให้เร่งจับกุมตั้งแต่วันแรกที่มีหมายจับออกมา
"เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่ใช่ว่าเราจะละเลยหรือไม่สนใจ ซึ่งก็เป็นเรื่องเหมือนคดีทั่วไปที่จับใดบ้างและจับไม่ได้บ้าง ซึ่งตรงนี้ไม่ใช่ข้อแก้ตัว อย่างไรเราก็ต้องทำอย่างเต็มที่ อีกทั้งคดีนี้มีความต่อเนื่องมากกว่า 20 ปี เพราะทัศนคติในการมองเรื่องนี้ก็ยังมีความเห็นที่แตกต่าง คิดว่าก็จะต้องให้ทุกคนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แล้วให้กระบวนการยุติธรรมตัดสิน เรามีหน้าที่ทำให้ทุกอย่างดำเนินการตามกฎหมาย"
ม.172ทางออกคดีตากใบ?
ทว่าในมุมของ “นักวิชการการ” กลับมองว่า ถึงเวลาแล้วที่ไทยควรแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยจะต้อง “ไม่นับอายุความ” กรณี จำเลยในคดีอาญาหลบหนีคดี
อาทิ “ปริญญา เทวานฤมิตรกุล” ผู้ช่วยศาสตราจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่แนะนำให้คณะรัฐมนตรี อาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 ตราพระราชกำหนดแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ไม่ให้นับอายุความกรณีจำเลยหลบหนี
มาตราดังกล่าวระบุว่า ในกรณีเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัย สาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ พระมหากษัตริย์จะ ทรงตราพระราชกำหนดให้ใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติก็ได้ การตราพระราชกำหนดตามวรรคหนึ่ง ให้กระทำได้เฉพาะเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นกรณี ฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้
เช่นนี้ต้องจับตานับถอยหลัง3วันก่อนคดีตากใบจะสิ้นสุดอายุความ รัฐบาลจะมีท่าทีในเรื่องนี้ต่อไปอย่างไรหากที่สุดปล่อยให้คดีหมดอายุความโดยไม่สามารถนำตัวผู้ต้องหามาดำเนินคดีได้
วัดใจคดี‘ดิไอคอน’ สอยเทวดาตกสวรรค์?
ถัดมาปมร้อน “คดีดิไอคอน” ที่ลุกลามไปทั่วทุกวงการ “ตัวละคร” ปริศนาที่ผุดออกมาเป็นรายวัน ไล่ตั้งแต่ "เทวดาสบค." เวลานี้ลามไปถึง “เทวดาการเมือง” จากนักการเมือง “ส.” บ้านป่าฯ ทำไปทำมาอาจเชื่อมโยงไปถึงปลาตัวใหญ่ที่อยู่เบื้องหลัง
ปัญหาแชร์ลูกโซ่ รวมไปถึงการหลอกลงทุนในรูปแบบต่างๆ มีการสะท้อนผ่านการประชุมวุฒิสภา เมื่อวันที่21ต.ค. โดย“จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” รมช.คลัง ชี้แจงต่อที่ประชุมช่วงกระทู้ถามด้วยวาจา
ถึงการแก้ไข พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนปี 2527 ซึ่งคาดว่าน่าจะใช้เวลา2-3เดือน เบื้องต้นตั้งโจทย์ไว้ว่า ให้หน่วยงานที่สามารถเอาผิดไปถึงแม่ข่ายได้ทุกระดับ และเพิ่มโทษให้ได้สัดส่วนกับความเสียหายที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน กรณีที่มีคนเข้ามาแจ้งความคดีเพิ่มเติม
รวมถึงต้องปรับแก้เรื่องของอายุความ เมื่อคดีเข้าสู่อายุความแล้วกฎหมายของ ป.ป.ง. ก็ดำเนินการต่อทันทีเกี่ยวกับอายัดทรัพย์ และทรัพย์สินต่างๆ ขณะที่ผู้รักษาการตามกฏหมายต้องเปลี่ยน โดยตนมองว่ากลไกที่จะมีประโยชน์สูงสุด คือ กระทรวงยุติธรรม หรือ ดีเอสไอ และต้องดำเนินการในรูปแบบวันสต็อปให้กับประชาชนที่เดือดร้อนได้
นอกจากนั้นยังต้องปรับแก้เรื่องของการฟ้องล้มละลาย ให้เปิดกว้างมากขึ้น อาจจะให้ สตช. เข้ามาดำเนินการฟ้องล้มละลายต่อไปได้ และสุดท้ายคือการปรับแก้ที่สำคัญ เพื่อให้ทันกับสถานการณ์ปัจจุบัน ต้องยอมรับว่ารูปแบบในการฉ้อโกง และแชร์ต่างๆ ปรับเปลี่ยนไปมาก และมีรูปแบบที่หลากหลาย ดังนั้นต้องปิดช่องโหว่ต่างๆ หวังว่าการแก้ไขที่จะเกิดขึ้นในเร็ววัน จะสามารถป้องกันการฉ้อโกงในประเภทต่างๆได้ต่อไป
“พรรคร่วมรัฐบาล” ศึกวัดพลัง
เหนือไปกว่านั้นยังต้องจับตาขั้วรัฐบาลที่เวลารอมขชอมอำนาจ แบ่งสรรปันส่วนภายใต้เกม “สมประโยชน์ร่วมกัน” ก็มี ขณะเดียวกันก็มีหลากหลายปมร้อนที่สะท้อนภาพเกมวัดพลังก็มีเช่นเดียวกัน
ไล่ตั้งแต่ปมร้อนแก้รัฐธรรมนูญ ต่อเนื่องมากถึงการพิจารณากฎหมายประชามติ ที่เกิดเกม “พลิกมติ” ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันหลายตลบ
ไม่ต่างจาก "กฎหมายนิรโทษกรรม" ชั่วโมงนี้ เพื่อไทยตกอยู่ในวงล้อมพรรคร่วมรัฐบาล เห็นชัดจากจากการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อ 17 ต.ค.2567 ที่มีวาระพิจารณารายงานของ กมธ.วิสามัญ ศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งมี ชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ เป็นประธาน กมธ.
ที่ปรากฏว่า สส.ภูมิใจไทย ,รวมไทยสร้างชาติ และประชาธิปัตย์ อภิปรายประสานเสียงคัดค้านแนวทางนิรโทษกรรม พ่วงจำเลยคดี ม.110 และ ม.112 ทั้งแบบมีเงื่อนไข และไม่มีเงื่อนไข
ส่งผลให้เพื่อไทยหาข้อสรุปไม่ได้ ชิงตัดจบปิดประชุมและเลื่อนการพิจารณาไปเป็นวันที่ 24 ต.ค.นี้
กระแสข่าวเรื่องพันมิตรเฉพาะกิจ “เพื่อไทย-ประชาชน”ในประเด็นนี้ซึ่งอาจทำให้นายใหญ่พรรคเพื่อไทยได้รับอานิสงส์ ย่อมล่วงลรู้ไปถึง “คีย์แมนอนุรักษ์นิยม” จึงไม่แปลกหากคีย์แมนจะส่งสัญญาณไปที่ พรรคร่วมรัฐบาล ที่เวลานี้เล่นบทเกาะขบวนเพื่อชิงแต้มอนุรักษนิยม
ล่าสุด "นายกฯอิ๊ง" พูดหลังวงดินเนอร์ว่า เราไม่แตะเรื่อง 112 อยู่แล้ว ตนได้พูดในทุกเวที
หรือ “บิ๊กอ้วน” ภูมิธรรม พูดชัดว่า "ทุกพรรคเห็นเหมือนกัน คือไม่เอามาตรา 112 เพราะเป็นเงื่อนไขในการตั้งรัฐบาล "
ต้องจับตาการพบกันระหว่างแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล3วันก่อนที่สภาจะมีการพิจารณาประเด็นนิรโทษกรรมในวันที่24ต.ค.นี้แน่นอนมีนัยส่งสัญญาณอะไรไปถึงการประชุมอย่างแน่นอน
"วิสุทธิ์ ไชยณรุณ" ประธานวิปรัฐบาล เปิดเผยว่า ช่วงวงเช้าของวันที่ 24 ต.ค.นี้ จะมีการประชุมพรรคเพื่อไทย ที่รัฐสภา เพื่อถามมติของ สส.ก่อนว่าเป็นอย่างไรบ้าง จะเห็นด้วยกับ กมธ.หรือไม่
“ยุบพรรค”เกมแค้นเอาคืน
อีกหนึ่งประเด็นที่ต้องจับตาคือ "นิติสงครามยุบ" ซึ่งล่าสุด “แสวง บุญมี” เลขาธิการคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.)ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองได้พิจารณา 6 คำร้องที่มีผู้ร้องขอให้ กกต. พิจารณาสั่งยุบพรรคเพื่อไทย และ 6 พรรคร่วมรัฐบาลเดิม ในหลากหลายพฤติกรรมการครอบงำของ “ทักษิณ ชินวัตร”
พรรคเพื่อไทยย่อมรู้ดีว่านี่คืออีกหนึ่งนิติสงครามเกมเอาคืนจากฝั่งตรงข้าม นาทีนี้แม้ค่ายนายใหญ่จะแสดงความมั่นอกมั่นใจ พร้อมแก้เกมเอาคืนด้วยการ“ฟ้องกลับ” บรรดานักร้อง แต่อย่างที่รู้กันในทางการเมืองถือว่าประมาทไม่ได้ อะไรที่ว่าแน่ถึงเวลาจริงก็พลิกผันได้เสมอ