สภาฯ 270ต่อ 152 เสียง 'คว่ำ' ข้อสังเกตกมธ.นิรโทษฯ พท.เดือด! 'ชลน่าน-พิเชษฐ์' ซัดกันเอง
สภาผู้แทนราษฎรมีมติ 270ต่อ 152 เสียง ตีตกข้อสังเกตกมธ.นิรโทษฯ ส่งแค่รายงานให้รัฐบาล เพื่อไทย เดือด! 'ชลน่าน-พิเชษฐ์' ซัดกันเอง ขณะที่ "ชูศักดิ์" เผย 4ร่างรอถกสมัยประชุมหน้า
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร วาระพิจารณาข้อสังเกตรายงานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาแนวทางการตราร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมที่มี นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งค้างการพิจารณามาจากครั้งที่แล้ว
โดย นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาคนที่1 ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมกล่าวว่า ในการประชุมครั้งที่ผ่านมาได้เปิดโอกาสให้สมาชิกอภิปรายพอสมควรแล้วจึงขอให้ที่ประชุมมีการลงมติ
แต่นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณกรรมการประสานงานพรรครวมฝ่ายค้าน(ประธานวิปฝ่ายค้าน) หารือว่าได้หารือกับวิปรัฐบาลเห็นตรงกันควรเปิดโอกาสให้สมาชิก รวมถึงกมธ.ได้มีโอกาสอภิปปรายถึงเหตุผลและความจำเป็นซึ่งใช้เวลาไมม่นาน
จากนั้น ประธานที่ประชุม จึงได้เปิดให้ทั้ง3ฝ่ายอภิปรายสรุปคนละไม่เกิน5นาที
โดยนายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ ในฐานกมธ.สัดส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวว่า ไม่ควรที่จะนิรโทษกรรม มาตรา112 เนื่องจากเป็นคดีที่มีความอ่อนไหว การรวมมาตราดังกล่าวจะก่อให้เกิดปัญหา2แนวทาง
1.ปัญหาเชิงคุณภาพ เพราะผู้ที่ได้รับผลกระทบที่แตกต่างกันยกตัวอย่างมาตรา130 และมาตรา 135 ที่มีการตีความที่แตกต่างกัน เช่นเดียวกับมาตรา112 มิติบุคคลที่3คือสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งไม่สามารถจะหมุนเวียนไปได้จึงขอให้กรณีนี้เป็นการพระราชทานยยอภัยโทษเป็นกรณีไป
2.การละหรือเว้นโทษเพื่อการสร้างความปรองดองและสันติสุขให้เกิดขึ้นหมายความว่าไม่มีความขัดแย้งเบื้องหน้าเกิดขึ้นอีก
ตนในฐานะกมธ.สัดส่วนพรรคร่วมไทยสร้างชาติได้รับฟังความโดยพบวว่า ยังมีประชาชนอีกจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยและอึดอัดใจกับการนิรโทษกรรมในคดี112
ขณะที่สถิติการดำเนินคดีการเมืองตั้งแต่ปี 2548 พบว่า จำนวนทั้งสิ้น 57,966คดี จำนวนนี้มีคดีมาตรา112 แค่ 1,206 คดีเท่านั้นหรือแค่2% ฉะนั้นจึงไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมมาตรา112 แต่ควรเป็นในส่วนของคดีทางการเมืองเท่านั้น
น.ส. ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.กทม.พรรคประชาชน ในฐานะกมธ.อภิปรายว่า การนิรโทษกรรมมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ควรจะเกิดในยุคนี้มากที่สุด นั่นคือยุคที่พรรคการเมืองที่ประชาชนเชื่อว่าอุดมการณ์ทางการเมืองต่างกันสุดขั้วราวฟ้ากับเหว กลับมาจับมือลืมอดีตกันได้โดยที่ไม่คิดว่าจะได้เห็นในชาตินี้ แล้วทำไมการนิรโทษกรรมจึงจะเกิดไม่ได้
ในกมธ.เราได้มีการถกเถียงกันว่าควรรวมคดี112ไว้ในรายงานหรือไม่ โดยหลีกเลี่ยงที่จะใช้คำว่าคดีที่มีความละเอียดอ่อน ตนยืนยัน ทุกครั้งตั้งแต่การประชุมครั้งแรก จนครั้งสุดท้ายว่าเหตุผลที่เราจะต้องนิรโทษกรรมคดีการเมืองทุกคดีไม่มีข้อยกเว้น และไม่มีเงื่อนไขใด
"นักการเมืองจับมือกันได้ทำไมเราต้องมีปัญหากับบการนิรโทษกรรมประชาชน คุณทักษิณ(ชินวัตร) กลับบ้านได้เรามีปัญหาอะไรกับการที่จะนิรโทษกรรมให้ผู้ลี้ภัยในคดีตามมาตรา112ให้กลับมาใช้ชีวิตตามปกติบ้าง"
น.ส. ศศินันท์ ยังกล่าวว่า ตนแบกความหวังของประชาชน และลูกความที่รออย่างมีความหวังพวกเราในที่นี้จึงเป็นความหวังของประชาชน
ในกมธ.วันที่ 14มี.ค.เราได้เชิญแกนนำทุกฝ่ายทุกม๊อบ โดยโยนคำถามที่ว่า จะเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมม.112 หรือไม่ ปรากฎว่าทุกคนเห็นด้วย แกนนำทุกยุคทุกสมัยเห็นด้วยกับกับการรวมคดี112 แล้วกมธ.ที่ไม่เห็นด้วยเหตุใดไม่แสดงความเห็นหรือมีปัญหา
จึงขอฝากไปยังเพื่อนสมาชิกว่าการนิรโทษกรรมไม่ใช่การแก้หรือยกเลิกกฎหมาย แต่เรากำลังจะรีเซ็ตให้ประชาชนได้มีโอกาสกลับไปเริ่มต้นใหม่ เหตุใดเราจึงไม่สามารถนิรโทษกรรมประชาชนทุกกลุ่มโดยไม่มีข้อยกเว้น หรือไม่กำหนดเงื่อนไขไม่ได้
ด้านนายชัยธวัช ตุลาธน ในฐานะกมธ.อภิปรายว่า ในอดีตเราเคยมีการนิรโทษกรรมคดี112มาแล้วในเหตุการณ์ชุมนุม6 ตุลา2519 ส่วนตัวมองว่ากรณีที่มีการมองว่าคดีม.112ไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองในรายงานอนุกมธ.พิจารณาเห็นพฤติการณ์ รวมถึงจำนวนสัดส่วนคดีอ้างอิงจากเหตุการณ์ความขัดแย้งโดยเฉพาะหลังรัฐประหาร2ครั้งล่าสุดเห็นว่ามีความขัดแย้งทางการเมืองอย่างแยกไม่ออก
อย่างไรก็ตามหลายท่านเห็นว่าถ้าเรานิรโทษกรรมไปแล้วจะเป็นการไปส่งเสริมให้มีประชาชนบางกลุ่มไปกระทำผิดกฎหมาย บ้านเมืองจะไม่มีขื่อไม่มีแป
เราต้องทำให้ชัดว่าการนิรโทษกรรมไม่ใช่การยกเลิกกฎหมายหรือฐานความผิด แต่มีเป้าหมายเพื่อเพื่อการให้อภัยกันในช่วงที่มีความขัดแย้งทางการเมืองเพื่อสร้างความปรองดองสมานฉันท์
ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการไปรับรองว่าผู้ที่ถูกดำเนินคดีไม่ได้กระทำความผิดหรือกระทำผิด การออกกฎหมายนิรโทษกรรมมีความชัดเจนในแต่ละช่วงเวลา ถ้าคิดว่าถ้านิรโทษกรรมแล้วบอกว่าจะเป็นการส่งเสริมการกระทำผิดหรือทำให้บ้านเมืองไม่มีขื่อไม่มีแปลก็ไม่ควรจะนิรโทษกรรมคดีไหนเลย เราอาจจะต้องทบทวนการอภัยโทษเสียด้วยซ้ำถ้าเราเชื่อในตรรกะแบบนี้
นายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า อยากให้สภาตั้งสติตั้งหลักว่า เราพูดถึงการนิรโทษมาตรา112หรือไม่ ควรจะตั้งคำถามว่าคดีที่เกี่ยวกับ112เป็นคดีที่เกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมืองหรือขัดแย้งในสังคมไทยหรือไม่ถ้ามีความขัดแย้งทางการเมืองและสังคมที่ไปโนงกับมาตรา112 เราจะแก้ปัญหาความขัดแย้งทางสังคมและการบังคับใช้กฎหมายอย่างไร ไม่ใช่อ้างว่าวาระนี้เป็นวาระหรือโอกาสที่พรรคการเมืองจะมาแข่งกันแสดงความจงรักภักดี แต่เราต้องแก้ปัญหาว่าจะทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์มีความมั่นคงอย่างไร เช่นไม่ให้ไปใส่ร้ายกลั่นแกล้งโดยอาศัยมาตรา112เป็นต้น
ตนเป็นคนหนึ่งที่ได้รับอานิสงส์จากการนิรโทษในอดีตมาแล้วหลายครั้งตั้งแต่เหตุการณ์6ตุลา รวมถึงคดี112รวมอยู่ด้วย โดยการนิรโทษครั้งนั้นเกิดจากการที่กลุ่มนักศึกษาไม่ได้ทำผิดเลยแม้แต่น้อยแต่ถูกใส่ร้ายป้ายสีกลั่นแกล้ง
"ไม่ต้องห่วงว่าจะนิรโทษแล้วประชาชนจะทำผิดซ้ำที่ผ่านมามีกรณีที่นิรโทษที่กระทำผิดซ้ำกรณีเดียวคือ การรัฐประหารที่เมื่อมีการนิรโทษแล้วกลับมารัฐประหารซ้ำอีก"
นายชูศักดิ์ อภิปรายสรุปว่า รายงานนี้ไม่ใช่การเสนอหรือพิจารณากฎหมาย หรือจะนิรโทษกรรมคดีอะไร แต่เป็นเพียงการศึกษาหาแนวทางว่าแนวทางการนิรโทษกรรมควรจะเป็นอย่างไร โดยนัยให้มีการนิรโทษกรรมที่มีมูลเหตจูงใจทางการเมืองตั้งแต่ปี2548เป็นต้นมาข้อความตรงนี้ไม่มีใครคัดค้าน
ประเด็นที่มีความอ่อนไหวมีความเห็นขัดแย้งประเด็นใดที่ยังไม่มีข้อยุติทงออกคือการรับรู้รับฟังข้อเท็จจริงทุกฝ่ายว่าเขามีความเห็นอย่างไร
ยืนยันว่ารายงานฉบับนี้เป็นประโยชน์ต่อสมาชิกที่จะนำไปศึกษาหากจะมีการตราพ.ร.บ.นิรโทษกรรมต่อไป เปิดประชุมสมัยหน้ามาจะมี4ร่างกฎหมายที่พกวเราต้องพิจารณาร่วมกัน ขณะนี้มีร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม 4ร่างค้างอยู่ในสภา จึงเชื่อว่ารายงานฉบับนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาตรงนั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงหนึ่งบรรยากาศเป็นไปอย่างดุเดือด เมื่อนายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ถามความชัดเจนเกี่ยวกับการลงมติ เนื่องจากมีผู้ไม่เห็นด้วยกับข้อสังเกตข้องกมธ.จึงเสนอให้มีการลงมติ2ครั้ง คือ ลงมติว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับข้อสังเกตของกมธ. และลงมติว่าเห็นด้วยกับรายงานหรือไม่
แต่นายพิเชษฐ์ กล่าวว่า รายงานฉบับนี้เป็นเพียงแค่รับทราบเท่านั้น ในส่วนของข้อสังเกตของกมธ.หากไม่เห็นด้วยก็ให้มีการเสนอญัตติเพื่อลงมติมา
ทำให้นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่านพรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นประท้วง ว่า เรื่องตัวรายงานเป็นรายงานที่เสนอต่อสภาเพื่อรับทราบตามรัฐธรรมนูญมาตรา129 เพราะฉะนั้นข้อบังคับประชุมสภาข้อที่104 ซึ่งเขียนรองรับรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าว โดยไม่มีข้อบังคับว่าต้องลงมติประเด็นนี้จบไป
ขณะที่ประเด็นข้อสังเกตของกมธ.นั้นข้อบังคับข้อที่105เขียนไว้ชัดถ้ากมธ.มีข้อสังเกตไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรับทราบ สภาต้องมีมติ หากเห็นด้วยก็จะส่งข้อสังเกตไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อทราบหรือปฏิบัติ
ถ้าสภาไม่เห็นด้วยกับการส่งข้อสังเกตไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ข้อสังเกตก็ตกไปไม่ต้องส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่รายงานยังอยู่ ข้อสังเกตก็แนบท้ายรายงานนั้น แต่ไม่ถูกเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และยังสามารถนำมาศึกษาค้นคว้าได้ตลอด
การลงมติว่าจะส่ง-ไม่ส่งมีผลผูกพันธ์ เมื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปแล้วเขาทราบหรือปฏิบัติไม่ได้อย่างไรต้องแจ้งกลับมาภายใน60วัน ยืนยันว่าข้อสังเกตอย่างไรก็ต้องลงมติ
จากนั้นบรรยากาศ เป็นไปอย่างดุเดือดเมื่อนายพิเชษฐ์ ถามที่ประชุมว่าจะมีผู้ใดไม่เห็นด้วยกับข้อสังเกตหรือไม่ พร้อมขอให้เสนอญัตติให้ลงมติหรือไม่
ปรากฎว่านพ.ชลน่าน ตอบโต้ด้วยอาการฉุนเฉียว ว่าตามข้อบังคับข้อที่105 เมื่อมีผู้ไม่เห็นด้วยกับข้อสังเกตกมธ.ต้อง "ลงมติ" ไม่ใช่ให้ "เสนอญัตติ" จะเสนอญัตติทำไม
จากนั้นนพ.ชลน่านได้พูดด้วยสีหน้าท่าทางดุเดือดชี้หน้านายพิเชษฐ์ว่า "ถ้าทำไม่ได้ก็เปลี่ยนให้รองประธานสภาคนที่2ขึ้นมาทำหน้าที่"
ทำให้นายพิเชษฐ์ตอบกลับด้วยอาการฉุนเฉียวว่า"ไม่ต้องชี้หน้า ไม่ต้องชี้หน้า อยากเป็นก็ขึ้นมา"
จากนั้นที่ประชุมลงมติ 270ต่อ 152 เสียง ไม่เห็นด้วยกับข้อสังเกตของกมธ.ในการส่งไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในส่วนของรายงานกมธ.ยังถือว่าคงอยู่เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญระบุให้สภารับทราบเท่านั้น