ไม่ลืม “ตากใบ” ไม่มองข้ามวิถี “บีอาร์เอ็น”

ไม่ลืม “ตากใบ” ไม่มองข้ามวิถี “บีอาร์เอ็น”

ความรุนแรงครั้งใหม่ในชายแดนใต้ อาจจะมาจากการพูดคุยสันติภาพว่าด้วยแผน JCPP ล้มเหลว เพราะรัฐไทยไม่ขานรับ มากกว่าคดีตากใบสิ้นอายุความเสียด้วยซ้ำไป

KEY

POINTS

  • ตากใบต้องไม่มีเงียบ..ตากใบที่ไม่เคยลืม เสียงก้องจากชายแดนใต้ หลังวันที่ 25 ต.ค.2567 จะดังแรงขึ้น
  • นับจากปี 2556 บีอาร์เอ็นปีกการทหาร ดำเนินการต่อสู้ด้วยอาวุธกับรัฐไทย ควบคู่กับบีอาร์เอ็นปีกการเมือง ก็พูดคุยสันติภาพกับตัวแทนรัฐไทยเช่นกัน
  • ความรุนแรงครั้งใหม่ในชายแดนใต้ อาจจะมาจาก การพูดคุยสันติภาพ ว่าด้วยแผน JCPP ล้มเหลว เพราะรัฐไทยไม่ขานรับ

ตากใบต้องไม่มีเงียบ..ตากใบที่ไม่เคยลืม เสียงก้องจากชายแดนใต้ หลังวันที่ 25 ต.ค.2567 จะดังแรงขึ้น เมื่อคดีตากใบหมดอายุความ ความยุติธรรมไม่เกิดขึ้นในรอบ 20 ปี

ในมิติทางการเมือง คดีตากใบหมดอายุความ โดยไม่มีการนำตัวผู้กระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้เลยแม้แต่คนเดียว เกิดขึ้นในรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร

ขณะที่จุดเริ่มต้นของคดีตากใบ ก็มาจากปฏิบัติการทางทหารในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร อันเกี่ยวเนื่องมาจากเหตุการณ์ปล้นปืนครั้งใหญ่ เมื่อ 4 ม.ค. 2547

จากวันนั้นจนถึงวันนี้ 21 ปี ไฟใต้รอบใหม่ ยังไม่มอดดับ และประเด็นคดีตากใบหมดอายุความ ก็สุ่มเสี่ยง เปราะบาง อ่อนไหว สำหรับพื้นที่ชายแดน 3 จังหวัดภาคใต้

เมื่อเร็วๆนี้ สุรชาติ บำรุงสุข เป็นนักวิชาการด้านความมั่นคง ได้ออกมาพูดถึงคดีตากใบ ทำนองไม่ลืมตากใบ แต่ก็ไม่ควรลืมชื่อ “บีอาร์เอ็น”

“ฝากชมบีอาร์เอ็น เก่งมากที่หยิบคดีนี้(ตากใบ)ขึ้นมา เพราะวันนี้ บีอาร์เอ็นกับแนวร่วมในการเมืองไทย สามารถทำลายขวัญกำลังใจของคนทำงานในกองทัพภาคที่ 4 และคนทํางานในภาคใต้ ได้อย่างคิดไม่ถึง”

อันที่จริง อาจารย์สุรชาติให้สัมภาษณ์ยาวมาก และวิจารณ์รัฐไทยที่เป็นฝ่ายตั้งรับต่อการเคลื่อนไหวเรื่องคดีตากใบ

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในชายแดนใต้นับแต่เหตุปล้นปืนที่นราธิวาส ปี 2547 เป็นฝีมือของ “แนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี” (BRN)

แรกๆไม่ได้มีการยอมรับว่ากลุ่มขบวนการนักรบปาตานีที่ต่อสู้กับรัฐไทยคือ บีอาร์เอ็น กระทั่งรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เริ่มต้นกระบวนการพูดคุยสันติภาพ ระหว่าง คณะพูดคุยสันติสุขของรัฐบาลไทย (PEDP-RTG) กับแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (BRN) เมื่อวันที่ 28 ก.พ.2556

นี่คือจุดเริ่มต้นของกลุ่มบีอาร์เอ็น และรัฐบาลไทยตกลงที่จะแก้ไขความขัดแย้ง ความรุนแรงในปาตานีด้วยสันติวิธี หรือด้วยการแก้ปัญหาทางการเมือง

อีกด้านหนึ่ง การพูดคุยสันติภาพข้างต้น ได้ถูกวิจารณ์ว่า เป็นการทำให้ “บีอาร์เอ็น” มีตัวตนในเวทีนานาชาติ ไม่ใช่ในฐานะขบวนการแบ่งแยกดินแดน และยกสถานะกลุ่มติดอาวุธให้มีสถานะเทียบเท่ารัฐไทย

นับจากปี 2556 บีอาร์เอ็นปีกการทหาร ดำเนินการต่อสู้ด้วยอาวุธกับรัฐไทย ควบคู่กับบีอาร์เอ็นปีกการเมือง ก็พูดคุยสันติภาพกับตัวแทนรัฐไทยเช่นกัน

สงครามยิ่งยืดเยื้อ ชัยชนะยิ่งห่างไกล บีอาร์เอ็นอาจต้องยอมถอยในบางเรื่อง แต่ปีกการทหารยังคงต้องการบรรลุเป้าหมายเพื่อเอกราช ปีกการเมืองก็เสี่ยงที่จะถูกโดดเดี่ยวออกจากบรรดานักรบมลายูปาตานีในแนวหน้า

พูดกันตรงๆ “เอ็นจีโอต่างชาติ” ได้เข้ามาพูดคุยกับแกนนำบีอาร์เอ็นปีกการเมือง โดยออกแบบการสร้างกระบวนการสันติภาพ โดยยึดโมเดลบางประเทศในยุโรป

สำหรับแกนนำบีอาร์เอ็นที่ลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศ ถือว่าตัวเองประสบความสำเร็จในการสร้าง “แนวร่วมสากล” แต่ปีกการทหารในชายแดนใต้ รู้สึกไม่พอใจกับกลยุทธ์การถอย

เมื่อการพูดคุยสันติภาพมาถึงปี 2565 บีอาร์เอ็นและตัวแทนรัฐไทย ได้ตกลงที่จะแสวงหาทางออกทางการเมืองที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญไทย

นั่นหมายถึง “บีอาร์เอ็น” พร้อมที่จะไม่พูดถึง “เอกราช” ซึ่งเป็นเป้าหมายของขบวนการกู้ชาติปาตานี บนโต๊ะเจรจา

ในที่สุด การถอยของบีอาร์เอ็นก็ชัดเจนจากการพูดคุยสันติภาพ เมื่อวันที่ 21-22 ก.พ.2567 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ พร้อมกับโรดแมพที่ว่า “แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติภาพแบบองค์ร่วม” (Joint Comprehensive Plan towards Peace, JCPP)

แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม (JCPP) ถูกผลักดันโดย “เอ็นจีโอต่างชาติ” ที่ต้องการให้ผู้นำบีอาร์เอ็น ได้มีเวทีเปิดในชายแดนใต้

พลันที่แผน JCPP ถูกเผยแพร่ออกไป ก็มีปฏิกิริยาต้านจากหลายฝ่าย เพราะหากรัฐบาลไทยยอมทำตามเงื่อนไข JCPP ก็เหมือนเปิดประตูบ้านรับผู้นำบีอาร์เอ็นเข้ามาทำกิจกรรมในดินแดนไทย

ยกตัวอย่าง ตัวแทนบีอาร์เอ็น ซึ่งลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศ ส่วนใหญ่ติดคดีความมั่นคง รัฐไทยต้องให้พวกเขาสามารถเข้าร่วมกิจกรรมการปรึกษาหารือดังกล่าวได้โดยไม่ต้องกังวลกับการถูกเล่นงานตามกฎหมาย

จากนั้นก็จะก้าวไปสู่ขั้นต่อไปคือ วางแนวทางหยุดยิง และสร้างกรรมการอีกชุดมาแสวงหารูปแบบการปกครอง

แหล่งข่าวในปัตตานีเปิดเผยว่า ผู้นำบีอาร์เอ็นรุ่นใหม่ ต่างจากรุ่นเก่าที่ไม่ได้วางเป้าหมายตายตัวว่า ปาตานีต้องเป็นรัฐเอกราช ซึ่งเฉพาะหน้าพวกเขาพร้อมที่จะแสวงหาทางออกทางการเมืองที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญไทย

ไม่ลืมตากใบ..การก่ออาชญากรรมโดยรัฐ แต่ก็ไม่ควรมองข้ามผ่านจังหวะก้าวการรุกทางการเมือง “บีอาร์เอ็น” รวมถึงการสร้างเงื่อนไขเพื่อนำไปสู่แผนJCPP เปิดบ้านต้อนรับขบวนการนักรบปาตานี

ความรุนแรงครั้งใหม่ในชายแดนใต้ อาจจะมาจากการพูดคุยสันติภาพว่าด้วยแผน JCPP ล้มเหลว เพราะรัฐไทยไม่ขานรับ มากกว่าคดีตากใบสิ้นอายุความเสียด้วยซ้ำไป