'รอมฎอน' ชี้บทเรียน 'คดีตากใบ' วัฒนธรรม 'ลอยนวลพ้นผิด' ฝังลึก 'รัฐไทย'
"รอมฎอน ปันจอร์" สส.พรรคประชาชน ให้สัมภาษณ์พิเศษถึง "คดีตากใบ" ซึ่งปัจจุบันได้หมดอายุความไปเมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2567 และไม่สามารถติดตามจับกุมตัวผู้ต้องหาและจำเลยในคดีได้ เขาสะท้อนถึงความรู้สึกของญาติผู้สูญเสียที่ต้องการเห็นความยุติธรรมเกิดขึ้นเท่านั้น
KEY
POINTS
- "รอมฎอน ปันจอร์" สส.พรรคประชาชน มีความสนใจมิติปัญหาความขัดแย้ง ที่ไม่ใช่เฉพาะจังหวัดชายแดนภาคใต้
- "รอมฎอน"เป็นกระบอกเสียงให้กับญาติครอบครัวผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากคดีตากใบเมื่อ 20 ปีก่อน ซึ่งปัจจุบันคดีได้หมดอายุความลงเมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2567
- เขาเคยสนทนากับ พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 และอดีต สส.พรรคเพื่อไทย ถึงคดีตากใบ ซึ่งเชื่อว่า พล.อ.พิศาล มีข้อต่อสู้ในคดีดังกล่าว แต่สุดท้าย พล.อ.พิศาล เลือกวิธีหลบหนีคดี
- "รอมฎอน" เห็นว่ามรดกคดีตากใบและไฟใต้ที่ส่งต่อจากรัฐบาลทักษิณ มาถึงรัฐบาลแพทองธาร เป็นโอกาสสำคัญที่ "แพทองธาร" นายกฯ จะสร้างความแตกต่างจากทุกรัฐบาลในคดีตากใบ
- "วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด" ยังคงแข็งแกร่งฝังลึกในรัฐไทย ซึ่ง "รอมฎอน" ไม่ต้องการเห็นเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นอีก
"ผมก็ส่งไลน์หาท่าน (พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และอดีตแม่ทัพภาคที่ 4) แม้ว่าท่านจะยังไม่อ่าน แต่ข้อความที่สื่อสาร ผมคิดว่า ท่านน่าจะกลับมาให้ความร่วมมือกระบวนการยุติธรรมของเรา"
"รอมฎอน ปันจอร์" สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ให้สัมภาษณ์ผ่าน "กรุงเทพธุรกิจ" ถึงความพยายามจนถึงวันสุดท้าย ในฐานะเพื่อน สส.ด้วยกันในสภาผู้แทนราษฎร เพื่อโน้มน้าวให้ พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะผู้ต้องหาคนสำคัญของคดี เดินทางกลับมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพื่อรักษาระบบกฎหมายของรัฐไทยและทำความจริงให้ปรากฏ
ข้อความที่ส่งผ่านไลน์นั้น ไม่มีการตอบกลับมา ไม่มีแม้กระทั่งการอ่านข้อความที่ส่งถึง พล.อ.พิศาล กระทั่ง "คดีตากใบ" หมดอายุความหลังพ้นเที่ยงคืนของวันที่ 25 ตุลาคม 2567
เหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ทำให้มีประชาชนถูกควบคุมตัวกว่า 1,300 คน มีผู้เสียชีวิต 85 คน บาดเจ็บจำนวนมาก ครั้งนั้น พล.อ.พิศาล มีสถานะ แม่ทัพภาคที่ 4
"ผมสื่อสารกับท่านตลอด แต่ท่านไม่ได้อ่านไลน์มาหลายเดือนแล้วนะครับ ตั้งแต่ผมไปสังเกตการณ์คดี ติดตามเรื่องนี้อภิปรายเรื่องนี้มาตลอด 1 ปี ท่านก็รู้ว่าผมตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ท่านพยายามจะเล่าเรื่องในมุมของท่าน ซึ่งในความเห็นผม ข้อเท็จจริงจากมุมของท่านก็น่าจะเอามาสู่การสู้คดีได้ ผมเชื่ออย่างนั้น" รอมฎอน ระบุ
"รอมฎอน" ย้ำว่า การเดินทางกลับมาของ พล.อ.พิศาล จะมีส่วนช่วยประเทศชาติได้ พล.อ.พิศาล อาจจะคำนวณอีกแบบหนึ่ง ซึ่งตอนนี้คดีของตากใบได้เกิดความตระหนักรู้ไปแล้ว อีกทั้ง คำถามที่มีขึ้นในสังคม ได้ไปไกลเกินกว่าที่ พล.อ.พิศาล ได้เคยประเมินไว้แล้ว ก่อนหน้านี้ก็คิดว่า พล.อ.พิศาล น่าจะกลับมาให้ความร่วมมือกับกระบวนการยุติธรรม เพื่อประคับประคองกระบวนการยุติธรรมของเราให้ประชาชนเห็นว่ายังพอมีช่องทางในการจะสู้ โดยไม่ต้องใช้วิธีการแบบอื่น
1 ปีของการทำหน้าที่ผู้แทนราษฎร "รอมฎอน" มีบทบาทในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐฯ สภาผู้แทนราษฎร คณะเดียวกับ พล.อ.พิศาล เขาได้แลกเปลี่ยนความเห็นกับ พล.อ.พิศาล อยู่บ่อยครั้ง
"ผมรู้สึกว่าท่านอึดอัด แล้วก็เป็นกังวลต่อสิ่งที่ท่านถูกกล่าวหา ทั้งที่โอกาสที่ท่านจะมีการแก้ข้อกล่าวหาอย่างเป็นทางการ ก็คือในศาล เมื่อคดีขาดอายุความไป ท่านอาจจะไม่ได้ตกเป็นจำเลยต่อ ตามระบบกฎหมายของเรา แต่ท่านจะอยู่กับมันอย่างไร ท่านจะอยู่กับความรู้สึก ที่รู้สึกผิดปนความอึดอัด บนความรู้สึกที่ถูกกล่าวหาแบบนี้ ต่อจากนี้ยังไง"
ครั้งหนึ่ง "รอมฎอน" เคยร่วมเดินทางกับ พล.อ.พิศาล และคณะ กมธ.ไปค่ายกักกันเอาช์วิทซ์ ที่โปแลนด์ ซึ่งเป็นค่ายกักกันของนาซีเยอรมัน สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่นั่นทั้งสองได้พบเจอเรื่องสะเทือนใจหลายอย่าง
"พล.อ.พิศาล ก็เกริ่นออกตัวว่าเหตุการณ์ตากใบ ไม่น่าใกล้เคียงกับสถานการณ์ที่นี่เลยนะ สถานการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อย่างเป็นระบบ ผมก็รับฟังท่าน อาจจะมีข้อโต้แย้งคำอธิบาย แต่ก็มีการแลกเปลี่ยนกัน"
"รอมฎอน" จบปริญญาตรี คณะวิทยาศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ บางเขน ปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ (การปกครอง) ม.ธรรมศาสตร์ (มธ.) และกำลังศึกษา ปริญญาเอก คณะรัฐศาสตร์ มธ. เขาออกตัวว่า ตนเองเป็นนักกิจกรรมมาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย และมีความสนใจในเรื่องมิติความขัดแย้ง ที่ไม่ใช่แค่ 3 จังหวัดชายแดนใต้เท่านั้น
ภายหลังเรียนจบจาก ม.เกษตรฯ เขาได้เป็นนักข่าวเกาะติดคดีตากใบตั้งแต่ปี 2547 กับศูนย์ข่าวอิศรา กระทั่งต่อมามีอาชีพเป็นนักวิจัยอิสระ มีตำแหน่งบรรณาธิการ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ก่อนเข้าสู่การเมืองกับพรรคอนาคตใหม่และ พรรคก้าวไกล เป็นอนุ กมธ. ใน กมธ.ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ สภาฯ เมื่อปี 2562
ค้านกฎหมายพิเศษต่ออายุ "ตากใบ"
ส่วนกรณี "แพทองธาร ชินวัตร" นายกรัฐมนตรีออกมาแสดงความเสียใจ ขอโทษ และระบุการตรา พ.ร.ก.ต่ออายุความของคดีตากใบไม่สามารถกระทำได้ "รอมฎอน" ระบุว่า "ผมเองไม่ได้เห็นด้วยกับการตรา พ.ร.ก.เพื่อขยายอายุความ สิ่งที่รัฐบาลทำเป็นเรื่องพื้นฐานมากกว่า คือ การบังคับใช้กฎหมายอย่างตรงไปตรงมา
"การขยายอายุความ หรือการใช้ช่องทางพิเศษอื่นใด ไม่ได้มีหลักประกันว่าจะนำตัวผู้ต้องหรือจำเลยเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ มันต้องกลับมาที่โจทย์เดิม ท้ายที่สุดแล้วคุณกำชับ ติดตามการบังคับใช้กฎหมาย การติดตามตัวจำเลยและผู้ต้องหามากน้อยแค่ไหน ซึ่งคนเชื่อว่า จริงๆ เราไม่มีความสามารถจะจับกุมมาได้"
"ต่อให้ใช้ พ.ร.ก. ก็ไม่ควรที่จะออกกฎหมายเป็นการเฉพาะกรณี หลักการนิติธรรมของเราก็จะถูกทำลาย ทั้งนี้การนำตัวจำเลย และผู้ต้องหาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจะเป็นงานยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ซึ่งเราไม่เห็นเลยที่ผ่านมา"
สิ่งที่ "รอมฎอน" มองเหตุการณ์หลังคดีตากใบหมดอายุความ ก็คือ หากต่อไปในอนาคตมีการแก้ไขกฎหมายเพื่อพิจารณาอายุความของคดีอาญา บางฐานความผิด ซึ่งก็มีหลายข้อเสนอ เช่น ฐานความผิดที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน ฐานความผิดเกี่ยวข้องกับการทุจริต ให้สามารถวางอายุความให้มีความรัดกุมเพิ่มมากขึ้น
"ต้องใช้คำของญาติผู้สูญเสียคนหนึ่ง แถลงต่อศาลในห้องพิจารณาคดีครั้งหนึ่งว่า เขาก็หมดศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย เรื่องนี้ลึกมาก และควรให้ความจริงจัง"
"ผมยังนึกไม่ออกเลยว่า รัฐบาลต่อให้กล่าวคำขอโทษ กี่คำก็แล้วแต่ จะแถลงนโยบายหรืออธิบายต่อพี่น้องประชาชนอย่างไร ให้เชื่อได้จริงๆว่า รัฐบาลจะแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้จริงๆ ที่ผ่านมารัฐบาลไม่จริงใจ หรือไม่มีความจริงจังมากพอที่จะอำนวยความยุติธรรม"
ลดปืนลง ใช้เวทีพูดคุย-ต่อรอง
ถามว่า ทางออกหลังจากนี้รัฐไทยควรจะต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมหรือไม่ "รอมฎอน" กล่าวว่า หลังวันที่ 25 ต.ค. 2567 ประเทศนี้ไม่ใช่แค่รัฐบาล ไม่ใช่แค่พรรคเพื่อไทย ไม่ใช่พรรคประชาชาติ แต่หมายถึงองค์รวมของประเทศนี้ ดังนั้น จะต้องมีกฎหมายอะไรใหม่ หรือกระบวนการทางการเมืองใหม่หรือไม่
"เราต้องยกเลิกอะไรหรือไม่ เราต้องขัดขวางบางอย่างไม่ให้เดินหน้าต่อไปได้ เพื่อส่งสัญญาณว่า นี่คือคำขอโทษที่ทรงพลังมากกว่าคำพูด ที่จะปลอบประโลมผู้คนที่เคยคาดหวังว่าจะได้ความยุติธรรมจากกระบวนการยุติธรรมของเรา ปลอบประโลมว่าประเทศนี้ยังมีหวังอยู่"
เมื่อถามว่า พรรคก้าวไกลเสนอให้ยุบ กอ.รมน.ด้วย จะช่วยการแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้หรือไม่ "รอมฎอน" ระบุว่า ข้อเสนอของพรรคก้าวไกลเดิม พรรคประชาชนในปัจจุบัน เราไม่ได้คิดแยกส่วน คือเรามอง กอ.รมน.เป็นส่วนขยายเป็นติ่งของกองทัพ เป็นปีกการเมืองของกองทัพ หัวใจใหญ่ไม่ใช่มองจังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น แต่เรามองภาพรวมของประเทศว่า ซึ่งร้ายที่สุด เราต้องจำกัดบทบาทของกองทัพในทางการเมือง และต้องทำทุกวิถีทางให้กองทัพอยู่ภายใต้การนำของรัฐบาลพลเรือน
"หลักการนี้สัมพันธ์ยังไงกับการสร้างสันติภาพ คือการส่งสัญญาณว่าเราจะใช้แนวทางการเมืองแบบประชาธิปไตยในการแก้ไขปัญหา พูดโดยเปรียบเทียบคือ เราจะลดปืนลง ที่เราลดปืนไม่ใช่ว่าเราอ่อนแอ แต่ที่เราลดปืน เพราะเรามั่นใจว่าการแก้ปัญหาทางการเมืองแบบนี้ต้องคุยและต่อรองกัน"
"รอมฎอน" อธิบายว่า การลดปืน คือการลดค้อนที่จะตี แต่ถ้าเรามีค้อน เราอาจพยายามมองหาตะปูอยู่เสมอ มันจะจำกัดมุมมองของเราในการอ่านปัญหา มันจะจำกัดทางเลือกของเรา เราจะนึกถึงการตี แต่จริงๆ ทางเลือกทางการเมืองอาจจะมีมากกว่านั้น
ชี้ รบ.ยิ่งลักษณ์ ชิงนำโดยพลเรือน
แม้สิ่งที่รัฐบาลแทบทุกยุคจะไม่กล้าแตะหรือยุ่งเกี่ยวกับโครงสร้างอำนาจของกองทัพ แต่ "รอมฎอน" กลับมองว่า สิ่งที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เคยพยายามจะชิงการนำโดยพลเรือน ด้วยการกำหนดทิศทางการแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้เป็นสิ่งที่มีคุณูปการมาก แต่ก็ท้าทายอำนาจของกองทัพมากด้วยเช่นกัน คือการเปิดให้สาธารณชนรับรู้ว่า รัฐบาลไทยกำลังมีการเจรจาสันติภาพกับกลุ่มบีอาร์เอ็น ทั้งที่รัฐบาลก่อนหน้านั้นได้ทำงานแบบปิดลับเท่านั้น
"กองทัพเวลานั้นไม่พอใจอย่างยิ่ง แต่พลังของมัน ผลกระทบของมันส่งผลต่อเนื่อง แม้ว่าจะรัฐประหารไปแล้ว แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ไม่อาจยกเลิกการพููดคุยสันติสุขได้ แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ทำพยายามทำ สานต่อแบบควบคุม ผมคิดว่าหลายๆ เรื่องที่รัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย เคยทดลองมาแล้ว และอาจจะได้ข้อสรุปว่าบางเรื่องไม่ควรล้ำเส้น หรือเกินหน้า ควบคุมกองทัพ หนึ่งในนั้นคือเรื่องจังหวัดชายแดนภาคใต้ และนี่เป็นบทเรียนสำคัญของรัฐบาลเพื่อไทย ทำให้รัฐบาลเพื่อไทย อาจไม่อยากริเริ่มอะไรบางอย่างที่เคยทำพลาดในอดีต"
วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดยังแข็งแกร่ง
อย่างไรก็ตาม "รอมฎอน" เห็นว่า ปัญหาการปฏิรูปกองทัพ การทำให้ประเทศนี้เป็นประชาธิปไตย จะสัมพันธ์อย่างยิ่งกับการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะหากไม่คลี่คลายป้ญหาโครงสร้างอำนาจของกองทัพได้ เมื่อกองทัพเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง ก็จะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อต้านรัฐบาลพลเรือนเหมือนที่เคยเป็นมาในอดีต จนไม่อาจแสวงหาความเชื่อมั่นไว้วางใจจากประชาชนได้ และไม่อาจหาข้อยุติหรือข้อตกลงสันติภาพได้ในอนาคต
"วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด ยังคงแข็งแกร่งอยู่ สิ่งที่จะเกิดขึ้น มีข้อเสนอนี้ว่า ถ้ากระบวนการยุติธรรมภายในประเทศทำงานได้ถึงแค่นี้ มันอาจต้องหวังพึ่งกลไกกระบวนการยุติธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งจะเป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง ประเทศไทยไม่เคยมีอะไรแบบนี้มาก่อน"
คดีตากใบกำลังสร้างบรรทัดฐาน คือ คนที่รู้สึกว่า เราใช้อำนาจรัฐ ปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องตามกฎหมายต่างๆ แล้ว ต่อให้สุ่มเสี่ยง ทำผิดอย่างไร ก็จะมีอะไรมาปกป้อง ของแบบนี้จะไม่มีความแน่นอนอีกต่อไป
"เดิมพันของผู้ที่รักษาระบอบแบบเดิม ระบบแบบเดิม วัฒนธรรมลอยนวล เดิมพันมันสูงมาก"
บทเรียน "ตากใบ" ไม่ปล่อยให้ลอยนวลพ้นผิด
"รอมฎอน" ระบุว่า กรณีคดีตากใบกระตุ้นเตือนสังคมไทยว่า เราไม่ต้องการรัฐบาลที่ใช้อำนาจรัฐที่สังหารประชาชนได้ง่ายๆ อีกต่อไป
"ถ้าคุณปล่อยให้เกิดขึ้นที่ตากใบ มันก็มีโอกาสเกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ ที่เชียงใหม่ หรือที่อื่นๆ ในประเทศนี้ที่วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด เป็นพื้นหลังอยู่ มีการใช้อำนาจรัฐแบบไม่ระมัดระวัง ไม่ต้องรับผิดชอบแบบนี้ ผมว่าความตระหนักรู้ของพวกนี้มันเกิดขึ้นในตอนที่เรารู้สึกอึดอัด ตอนเราตามข่าวเรื่องตากใบว่าเมื่อไร เขาจะมอบตัว เมื่อไรเขาจะจับได้"
มรดกไฟใต้ จาก "ทักษิณ" ถึง "แพทองธาร"
ส่วนความคาดหวังกับรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น "รอมฎอน" บอกกว่า นี่คือโอกาสของลูกสาวของ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกฯ เป็นโอกาสของ "แพทองธาร"ที่จะเก็บรับมรดก เพราะมันเคยมีบทเรียนจากคนรุ่นพ่อและคนอีกรุ่นหนึ่งก่อนหน้านี้ที่ได้ทดลองทำแล้วประสบความล้มเหลวมีความผิดพลาด ทั้งนี้ อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร เคยกล่าวคำขอโทษเมื่อวันที่25 ต.ค. 2565 ผ่านรายการแคร์ทอล์ก ซึ่งเป็นหน้าที่ของลูกสาวในฐานะนายกฯ ที่จะทำให้คำพูดของ "ทักษิณ" มีความหมาย
"รัฐบาลแพทองธารน่าจะทำอะไรที่สร้างความแตกต่างในกรณีจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ เพราะมีบทเรียนมาแล้ว และมีมรดกของพ่อเขา มีเจตจำนง และความรู้สึกผิดบางอย่างที่เกิดขึ้นจากปากของอดีตผู้นำนายกฯ ทักษิณ ก็คาดหวังว่าหลายเรื่องมันควรจะริเริ่มในรัฐบาลลูกสาวของท่าน และผมก็คาดหวังมากในกรณีตากใบ แต่ถึงวินาทีนี้ก็ยังไม่ได้เห็น"
ออกแบบกลไกสภาฯ เยียวยาคดีตากใบ
ส่วนกลไกอื่นที่จะพอเยียวยาคดีตากใบได้นั้น "รอมฎอน" ระบุว่า มีคนพูดถึงข้อเสนอว่า ให้สภาผู้แทนราษฎร รับเป็นเจ้าภาพเรื่องการไต่สวนสาธารณะ ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ที่ประเทศนี้ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งการไต่สวนสาธารณะ คือการเปิดเผยความจริง จากแง่มุมต่างๆ ของผู้ที่มีส่วนร่วมประวัติศาสตร์สำคัญ ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะผู้ถูกกระทำหรือผู้กระทำ เปิดเผยว่าตัวเองอยู่ตรงไหนอย่างไร และถ้ามีโอกาสเขาจะรู้สึกขอโทษหรือพูดกับใคร เป็นกระบวนการที่ไม่เคยมี และก็ไม่รู้ว่าจะทำได้หรือไม่
แม้กลไกของสภาผู้แทนราษฎรจะไม่ได้รองรับให้เปิดไต่สวนสาธารณะได้ แต่ "รอมฎอน" ก็มองว่า ถ้าเราอยากจะเห็นจริงๆ หมายถึงว่าสังคมนี้มันไม่มีแล้วพื้นที่จะพูดแล้วถึงความปวดร้าวของประชาชน ประวัติศาสตร์บาดแผลรอวันสะสาง ก็ต้องช่วยกันออกแบบในเชิงสถาบันว่าจะมี ใครจะออกแบบกระบวนการอย่างไร และประเทศแบบเราต้องหาวิธีการของเรา
"หน้าที่ของนักการเมืองคือการใช้ปาก และใช้หู ใช้ปากในการพูดสะท้อนเสียงประชาชน และฟังเพื่อน ฟังความคิดเห็นที่ต่าง ฟังการตีความที่ต่างจากเรา ฟังข้อเสนอที่เราไม่ชอบเลย อยู่ในสภาฯ หน้าที่เรา 500 คนทำหน้าที่นี้ เพราะฉะนั้นเราควรใช้พื้นที่นี้ให้เป็นประโยชน์ที่สุด"
ญาติผู้สูญเสียต้องการเห็นคนผิด
"รอมฎอน" พูดแทนญาติของผู้สูญเสียในเหตุการณ์ตากใบเมื่อ 20 ปีที่แล้วว่า "ความยุติธรรมในความหมายของพวกเขา อาจจะง่ายมาก ก็คือ มีคนรับผิดชอบต่อการตายของญาติพี่น้องเขา อาจจะเป็นแค่นั้น มากสุดอาจมีการลงโทษ พิสูจน์และมีการลงโทษ แต่การลงโทษเหล่านั้น เขารู้อยู่แก่ใจว่า เขาอาจจะไม่ได้เรียกร้องหรือคาดหวัง ว่า มันจะมีอยู่สูงมากขนาดไหน แต่อย่างน้อยบอกเขาหน่อยว่า ลูกเขาตายเพราะใคร แค่นั้นเอง"
"จริงๆ แล้วประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือในปาตานี ก็ไม่ใช่ทุกคนนะครับ ที่จะซื้อไอเดียปลดปล่อยปัตตานีเป็นเอกราช เขารู้สึกว่าการถูกกระทำความไม่ยุติธรรม ที่อยู่ภายใต้การปกครอง โดยเจ้าหน้าที่รัฐไทย คนที่รัฐไทยส่งไปปกครองพวกเขา ของพวกนี้มีคำอธิบาย มีเรื่องเล่าเต็มไปหมด"
"อำนาจรัฐไทยไม่ได้มีแค่อาวุธ ไม่ได้มีแค่ กอ.รมน. ไม่ได้มีแค่กฎหมายพิเศษ แต่ยังมีศาลไทย ยังมีกฎหมายอาญาไทยด้วย มันต้องทำให้ประชาชนได้สัมผัสได้เห็นว่า ภายใต้การปกครองที่ทุกคน เสมอหน้า เท่ากันต่อหน้ากฎหมาย หน้าตามันเป็นยังไง"
"ผมก็เสียดาย ถ้าเกิดว่าอายุความได้ขาดไป โดยที่ประชาชนไม่ได้ลิ้มลอง รสชาติของความยุติธรรมจริงๆ" รอมฎอน ในฐานะผู้แทนราษฎร สะท้อนเสียงให้กับประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่วันนี้ญาติผู้สูญเสียยังไม่ได้รับความยุติธรรมจากรัฐไทย
เมื่อถามถึงเหตุผลที่ต้องเลือกพรรคก้าวไกลและมาเป็นนักการเมือง "รอมฎอน" ระบุว่า "ก่อนหน้านี้ผมก็ช่วยพรรคอนาคตใหม่ จากข้างหลังสนับสนุน พูดอย่างแฟร์ๆ ผมช่วยทุกพรรค คือ DeepSouthWatch ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ที่ผมทำงานในพื้นที่ เราพยายามสนับสนุนฝ่ายการเมืองด้วยข้อมูล ด้วยสถิติ ด้วยผลวิจัย แต่สำหรับอนาคตใหม่ เขาขอช่วยผมเยอะหน่อย"
"อันหนึ่งที่ทำให้พวกเขาซื้อใจผมได้จริงๆ คือตอนที่เขาเชิญให้ผมไปเป็นอนุกรรมาธิการ พ.ร.บ.งบประมาณ ในปีงบประมาณแรกที่เขาทำหน้าที่นะ ช่วงปีงบประมาณ 2563"
"ครั้งนั้นทำให้เราเห็นว่าพรรคนี้บ้าจริง แล้วมันก็เอาจริง มันสามารถซื้อใจผมได้ นี่คือโอกาสที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงประเทศ แล้วเราจะรู้สึกเสียใจในภายหลัง ถ้าเราไม่ได้ร่วมกับพวกเขาด้วย ผมก็เลยต้องกระโดดเข้ามามีส่วนร่วมกับพวกเขา ผมรู้สึกว่าน่าจะเติมเต็มกับพวกเขาได้"
แม้ "พรรคอนาคตใหม่" และ "พรรคก้าวไกล" จะยังไม่ได้ สส.เขตในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ "รอมฎอน" ก็เชื่อว่า การเลือกตั้งที่ผ่านมา 2 ครั้งที่ผ่านมา ผู้สมัครได้สะสมคะแนนมาเรื่อยๆ ทั้งคะแนน สส.บัญชีรายชื่อ และ สส.แบบแบ่งเขต ก็ไต่ขึ้นมาเรื่อยๆ
"เราก็ทำงานอย่างหนักเพื่อพิสูจน์ ให้เห็นว่าการสนับสนุนพรรคประชาชน และคนของพรรคประชาชน ก็จะเป็นโอกาสให้กับคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในการสร้างการเปลี่ยนแปลงผ่านตัวแทนของพวกเขา ในแบบที่พวกเขาไม่เคยมีมาก่อน" รอมฎอน ระบุถึงโอกาสการปักธง สส.จังหวัดชายแดนภาคใต้ของพรรคประชาชนในการเลือกตั้งครั้งหน้า