มติสภาฯ ชงกมธ.กฎหมาย-รัฐบาล ถกทางออก'คดีตากใบ' หมดอายุ ขีดเส้น90วัน
มติสภาสภาผู้แทนราษฎรา ชงกมธ.กฎหมายฯ-รัฐบาล ถกหาทางออกล้อมคอก หลัง'คดีตากใบ' หมดอายุ ขีดเส้น90วันรู้ผล
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร นัดพิเศษ ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานการประชุม ที่ประชุมได้มีการพิจารณาญัตติด่สนด้วยวาจา เสนอโดย นายรอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) และนายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ กรณีเหตุสลายการชุมนุมในคดีตากใบ ซึ่งจะสิ้นสุดอายุุความวันที่25ต.ค. รวมถึงแนวทางการฟื้นฟูความชอบธรรมของรัฐและการแก้ไขความไม่สงบ3จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเสนอข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาล
ทั้งนี้ สมาชิกต่างสลับสับเปลี่ยนกันลุกขึ้นอภิปราย อาทิ นายยูนัยดี วาบา สส.ปัตตานี พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายเรียกร้องให้ส่งเรื่องไปยังกรรมาธิการฯ เพื่อหาทางออกให้กับพี่น้องประชาชนต่อไป ทั้งนี้ขอแสดงความรู้สึกเสียใจต่อเหตุการณ์ดังกล่าวพร้อมเห็นว่าการเยียวยาไม่ได้ทำให้พี่น้องประชาชนรู้สึกว่าได้รับความยุติธรรม แม้จะเป็นส่วนหนึ่งที่รัฐได้ให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้น แต่การนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อพิสูจน์ความจริง
จึงจะเป็นการแสดงความจริงใจของรัฐ และไม่ต้องการให้กรณีตากใบเป็นเงื่อนไขในการสร้างความรุนแรงเพิ่มขึ้น
นายยูนัยดี จึงเสนอให้รัฐมีแนวทางแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าวให้ชัดเจน โดยเฉพาะในระยะเร่งด่วนที่รัฐบาลจะต้องมีความชัดเจนต่อคดีตากใบที่กำลังหมดอายุความในคืนวันที่25 ต.ค.เพื่อให้เกิดความยุติธรรมกับพี่น้องประชาชน แม้ว่าที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีได้มีการแถลงแสดงความเสียใจต่อกรณีดังกล่าวแล้ว แต่รัฐบาลจะต้องมีแนวทางดำเนินการเพื่อให้พี่น้องประชาชนรู้สึกผ่อนคลาย และรับรู้ได้ถึงความจริงใจที่รัฐมีต่อประชาชน ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลจำเป็นต้องเปิดอกคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และจะต้องทวงคืนศักดิ์ศรีของกระบวนการยุติธรรมของไทยให้กลับคืนมา
ขณะที่ขณะที่นายวัชระ ยาวอหะซัน สส.นราธิวาส พรรครวมไทยสร้างชาติ อภิปรายว่า ตากใบต้องไม่เงียบ 20 ปีที่ผ่านมามีเหตุการณ์มากมาย มีหลายคนที่เสียชีวิต ซึ่งเหตุการณ์ตากใบวันนี้มาจากการเมือง ตนจึงอยากให้จบในการเมืองนี้ ที่ผ่านมาตลอด 20 ปีในเหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต มีผู้ชุมนุมที่ถูกดำเนินคดี มีผู้สูญหาย และมีผู้ที่ถูกควบคุมตัว ที่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ยังไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐสักคนที่ถูกดำเนินคดี เกิดอะไรขึ้นกับกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย
“เหตุการณ์ตากใบเป็นเหตุการณ์ที่ทั่วโลกกำลังสนใจอยู่ในขณะนี้ ถ้าไม่ผิดแล้วจะหนีทำไม ต้องเอาคนผิดเข้าสู่กระบวนการให้ได้ ถ้าไม่ได้ ท่านจะให้อยู่ไปอีก 20 ปีหรืออย่างไร” นายวัชระ กล่าว
ภายหลังสมาชิกได้อภิปรายกันอย่างครบถ้วน และผู้เสนอญัตติได้กล่าวสรุปแล้วนั้น ที่ประชุมจึงมีมติส่งญัตติดังกล่าวทั้ง 2 ญัตติ ไปยังคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฏหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร และรัฐบาล พิจารณา โดยกำหนดระยะเวลาการพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน