เปิด 11 หลักการร่าง กม.การศึกษาฯ ฉบับ ปชน. จ่อเดินสายฟังความเห็นช่วงปิดสภา

เปิด 11 หลักการร่าง กม.การศึกษาฯ ฉบับ ปชน. จ่อเดินสายฟังความเห็นช่วงปิดสภา

'ไอติม พริษฐ์' เผย ปชน.เตรียมเดินสายช่วงปิดสภา นำร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ รับฟังความเห็นวงการการศึกษา เน้นสร้างการมีส่วนร่วมก่อนยื่นสภาฯ ช่วงกลับมาเปิดสมัยประชุมปลายปีนี้

เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2567 นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคประชาชน (ปชน.) กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดทำร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับพรรคประชาชน โดยระบุว่า พรรคประชาชนเห็นถึงความสำคัญของการศึกษาและการเรียนรู้ในฐานะรากฐานของการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน และการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ทั้งในมิติของการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การสร้างความเสมอภาคทางโอกาส และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพลเมืองในสังคม 

นายพริษฐ์ กล่าวว่า แม้การปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้ต้องอาศัยหลายมาตรการนอกเหนือจาก พ.ร.บ. การศึกษา แต่เราเห็นว่าการผลักดันกฎหมายการศึกษาฉบับใหม่ จะเป็นเสมือนการจัดทำ “ธรรมนูญการศึกษา” ที่วางหลักประกันเชิงนโยบายที่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศปัจจุบัน และสร้างจินตนาการใหม่เกี่ยวกับอนาคตการศึกษาไทย

โดยตลอด 1 ปีที่ผ่านมา พรรคประชาชนได้พยายามผลักดัน พ.ร.บ. การศึกษา ฉบับใหม่ ผ่าน 2 ช่องทางอย่างคู่ขนาน (1) จัดทำร่าง พ.ร.บ. การศึกษา ฉบับพรรคก้าวไกล-พรรคประชาชน ที่ได้ขึ้นโครงไว้ตอนจัดทำนโยบายด้านการศึกษาก่อนการเลือกตั้ง และได้มีการกลั่นกรองภายในพรรคตลอดการทำงานของสภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบัน และ (2) แสวงหาความร่วมมือกับพรรคอื่น โดยพยายามนำเสนอประเด็นจากร่างของพรรคก้าวไกล เพื่อบรรจุเข้าไปใน “ร่างฉบับกลาง” ที่ถูกจัดทำผ่านกลไกคณะกรรมาธิการการศึกษา และอนุกรรมาธิการร่างพระราชบัญญัติการศึกษา ที่มี โสภณ ซารัมย์ สส.บุรีรัมย์ เขต 5 พรรคภูมิใจไทย เป็นประธาน และมี สส. พรรคประชาชน เช่น ปารมี ไวจงเจริญ สส.บัญชีรายชื่อ ร่วมด้วย

ปัจจุบันสำหรับช่องทางที่ 2 ทาง กมธ. ได้จัดทำ “ร่างฉบับกลาง” เสร็จแล้ว ซึ่งมีทั้งประเด็นที่ทางพรรคผลักดันสำเร็จและหลายฝ่ายมีความเห็นตรงกัน (เช่น การสร้างการศึกษาให้ยืดหยุ่นเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต การปรับรูปแบบการศึกษาให้เหมาะสมต่อการเทียบโอนผลการเรียน การวางหลักการพัฒนาผู้เรียนที่เน้นทักษะ-สมรรถนะ มากกว่าการท่องจำเนื้อหา) รวมถึงประเด็นที่ยังมีความเห็นต่างกัน (เช่น ระดับการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นด้านการศึกษา แนวทางและรายละเอียดในการประกันสิทธิ-สวัสดิภาพของผู้เรียน) โดยเบื้องต้นนับเป็นนิมิตหมายที่ดีที่หลายพรรคการเมืองได้นำเอาร่างดังกล่าวไปปรับปรุงตามจุดยืนของแต่ละพรรคเพื่อทยอยยื่นเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร

นายพริษฐ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับร่างของพรรคประชาชน ทางพรรคจะใช้เวลาช่วงปิดสมัยประชุมนี้ (31 ต.ค. - 11 ธ.ค.) นำร่าง พ.ร.บ. การศึกษา ฉบับพรรคก้าวไกล-พรรคประชาชน ไปเดินสายรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน เช่น ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา นักเรียน ผู้ปกครอง ครูและบุคลากรทางการศึกษา ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม เพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างรอบด้าน วางหลักการศึกษาและการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงและประโยชน์ของผู้เรียนอย่างแท้จริง ก่อนจะยื่นอย่างเป็นทางการเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรเมื่อสภาฯ กลับมาเปิดสมัยประชุม

ตัวอย่างของหลักการสำคัญในร่าง พ.ร.บ. การศึกษาฉบับพรรคก้าวไกล/พรรคประชาชน ที่เราจะทยอยขยายความและรณรงค์เพิ่มเติมในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า ประกอบด้วย

(1) รับประกันสิทธิผู้เรียนในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพและสวัสดิการด้านการศึกษาที่ครอบคลุม

(2) คุ้มครองสิทธิและอำนวยความสะดวกให้ผู้จัดการศึกษาที่หลากหลายอย่างเสมอภาค

(3) วางกลไกในการพัฒนาหลักสูตร-การประเมิน-การประกันคุณภาพให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง

(4) วางกลไกการประกันคุณภาพการศึกษาที่เน้นการมีส่วนร่วมและกลไกรับผิดรับชอบ

(5) ยกระดับประสิทธิภาพในการทำงานของครูและบุคลากรทางการศึกษา

(6) กระตุ้นการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา

(7) สร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยในสถานศึกษา

(8) ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับคนทุกช่วงวัย

(9) ออกแบบโครงสร้างของหน่วยงานด้านการศึกษาให้ทำงานได้อย่างบูรณาการและคล่องตัว

(10) สนับสนุนการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นและสถานศึกษา

(11) เพิ่มการมีส่วนร่วมของนักเรียนทุกภาคส่วนในการจัดการศึกษา (12) ปฎิรูปการจัดสรรงบประมาณให้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้เรียน