'รอมฎอน' สวนกลับ 'สุรชาติ' ปมถอดบทเรียนคดีตากใบ ชี้ไม่ต่างกับกรณี 6 ต.ค. 19
'รอนฎอน' สวนกลับบทความ 'อ.สุรชาติ' ปมถอดบทเรียน 'คดีตากใบ' ชี้ ละเลยการตายที่ไร้เสียงหลายกรณี ยังมีอีก 7 ศพ เผย 3 เหตุการณ์สำคัญปี 47 คือจุดเปลี่ยน พลังและความหมายไม่ต่างจากโศกนาฏกรรม 6 ต.ค. 19 แม้แต่น้อย
เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2567 นายรอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก โดยอ้างถึงบทความของ ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงกรณีบทเรียนจากกรณี "คดีตากใบ" ว่า บทความล่าสุดของ ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข มาแล้ว แม้ว่าจะออกตัวว่าเป็นการสำรวจบทเรียน จากกรณี คดีตากใบ แต่เห็นได้ชัดว่ายังคงไม่สรุปบทเรียนเกี่ยวกับความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนต่อข้อมูล ข้อเท็จจริง และความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับคดีและมาตรการต่าง ๆ ของรัฐ อีกทั้งยังพบว่ามีสาระเหล่านั้นอยู่ในบทความชิ้นนี้อยู่อีกประปราย ความมั่นอกมั่นใจในข้อมูลเหล่านี้ยังเต็มเปี่ยม
นายรอมฎอน ระบุว่า แก (ศ.ดร.สุรชาติ) ยังคงละเลยการตายที่ไร้เสียง อีกหลายกรณีทีเดียว อย่างน้อย ๆ ก็กรณี 7 ศพที่เสียชีวิต 6 รายในระหว่างการชุมนุม ที่ร้ายกาจกว่านั้นคือการยืนกรานและตัดสินว่ารัฐไม่มีเจตนาฆ่า เสียดายที่เราไม่มีโอกาสให้ศาลได้ตัดสินข้อเท็จจริงนี้ในศาล ตามกระบวนการยุติธรรมที่เรามีอยู่ เราจึงต่างก็ล้วนแต่ตัดสินกันตามการตีความของตน
ที่จริงแล้ว เพื่อให้ข้อถกเถียงมีน้ำหนักมากขึ้น การตายที่ไร้เสียงที่ควรจะต้องอ้างอิงถึง (แต่ก็ไม่ได้อ้าง) ยังมีอีกอย่างน้อย 2-3 เหตุการณ์ เพื่อขีดเส้นใต้ว่า 2547 คือจุดเปลี่ยนอย่างสำคัญ นั่นก็คือ
- การสังหารพระสงฆ์รูปแรกในประวัติศาสตร์ความขัดแย้งในชายแดนใต้เมื่อวันที่ 22 ม.ค. ที่วัดอุไรรัตนาราม อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส
- การบังคับอุ้มหายของทนายสมชาย นีละไพจิตร เมื่อวันที่ 12 มี.ค. กลางกรุงเทพฯ
- การสังหารผู้พิพากษาศาลจังหวัดปัตตานี รพินทร์ เรือนแก้ว วันที่ 17 ก.ย. กลางเมืองปัตตานี
นายรอมฎอน ระบุอีกว่า ทั้งสามเหตุการณ์นี้เป็นหมุดหมายที่สำคัญและบ่งชี้ว่าสถานการณ์ไฟใต้ นั้นจะแตกต่างไปจากในอดีตก่อนหน้านี้ แต่เสียดายที่คนมักให้ความสำคัญน้อยไป อย่างไรก็ดีเหตุการณ์ตากใบ นับเป็นเหตุการณ์ใหญ่ที่สุดในปีนัั้น ซึ่งได้กลายทีเป็นปมปัญหาคาใจที่ยากจะคลี่คลาย ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากการตายที่มีเรื่องราวการตายที่สะเทือนใจคน และที่สำคัญ ไม่มีใครต้องรับผิดชอบเลย!
"พลังและความหมายของมันจึงไม่ต่างกับโศกนาฏกรรมที่เคยเกิดขึ้นที่ธรรมศาสตร์เมื่อ 48 ปีที่แล้ว (6 ต.ค. 2519) เมื่อครั้งที่อาจารย์แกน่าจะมีประสบการณ์ร่วมอยู่บ้าง แต่ความหมายในวันนี้อาจแตกต่างออกไปจากในวันนั้นไปเสียแล้ว" นายรอมฎอน ระบุ
ข้อมูลจากเฟซบุ๊ก: Romadon Panjor - รอมฎอน ปันจอร์