สส.ปชน.ชี้ปมปลัดหนีคดีตากใบ สะท้อนวัฒนธรรมลอยนวล ตบหน้ากระบวนการยุติธรรม
'รอมฎอน' ชี้ปมปลัดอำเภอท่าอุเทนหนี 'คดีตากใบ' กลับมาทำงานได้ปกติ ตอกย้ำวัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวล ตบหน้ากระบวนการยุติธรรมไทยทั้งระบบ เรียกร้อง รมว.มหาดไทย-กลาโหม ตรวจสอบคลายข้อข้องใจประชาชน ย้ำจำเป็นเร่งแก้กฎหมายอายุความ
เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2567 นายรอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) กล่าวถึงกรณีปลัดอำเภอท่าอุเทน จ.นครพนม หนึ่งในผู้ต้องหา "คดีตากใบ" ที่หลบหนีคดีจนคดีขาดอายุความไปเมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2567 กลับเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ ว่า กรณีนี้สะท้อนให้เห็นว่าวัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวลเป็นสิ่งที่ฝังรากลึกมาก ชนิดที่ว่าการหนีหมายจับคดีร้ายแรงของข้าราชการกลายเป็นเรื่องปกติ โดยไม่มีการต้องแสดงความรับผิดชอบใด ๆ ในอีกทางหนึ่งก็แสดงให้เห็นว่าการกลับมาทำงานของข้าราชการรายนี้เป็นการตบหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจและกระบวนการยุติธรรมไทยเอง เพราะที่ผ่านมาแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่การติดตามตัวตามหมายจับจะไม่สามารถทำงานได้อย่างที่ควรจะเป็น การกลับมาเช่นนี้เป็นการยืนยันในข้อสงสัยว่าการหนีคดีเหล่านั้นจะมีการรู้เห็นเป็นใจของข้าราชการหรือไม่
นายรอมฎอน กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้หน่วยงานต้นสังกัดของข้าราชการที่หลบหนีคดีไป ทั้งกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงกลาโหม ให้ตรวจสอบทางวินัยเพื่อพิจารณาว่ามีเจ้าหน้าที่คนใดรู้เห็นเป็นใจในการช่วยหนีคดีหรือไม่ และขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อนุทิน ชาญวีรกูล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ภูมิธรรม เวชยชัย เร่งตรวจสอบเพื่อคลายข้อข้องใจของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้และญาติของผู้ที่สูญเสียในเหตุการณ์ตากใบ ว่าเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้มีการละเลยเพิกเฉยละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
นายรอมฎอน กล่าวอีกว่า กรณีนี้ยังทำให้เห็นปัญหาของระบบยุติธรรมของไทยเรื่องอายุความในคดีอาญาที่เอื้อให้กับการลอยนวลพ้นผิด เป็นข้อบ่งชี้ว่ามีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยเรื่องอายุความในมาตรา 95 ซึ่งตนในฐานะ สส. ด้านหนึ่งจะเร่งนำไปหารือในอนุกรรมาธิการยุติธรรมตากใบ ที่เป็นผลจากมติสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม 2567 ที่มอบหมายให้กรรมาธิการการกฎหมายฯ จัดตั้งขึ้นมา
นายรอมฎอน กล่าวด้วยว่า อีกด้านหนึ่ง ตนเตรียมจัดทำร่างแก้ไขกฎหมายว่าด้วยอายุความ ซึ่งปัจจุบันมีข้อถกเถียงอยู่ว่าควรเป็นการแก้ไขเฉพาะกรณีอายุความที่เกี่ยวกับฐานความผิดร้ายแรงให้ไม่มีอายุความเลย หรือจะเป็นการแก้ไขการนับอายุความในแต่ละขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม เช่น พนักงานสอบสวนสรุปสำนวนเสร็จแล้วส่งให้อัยการก็เริ่มนับใหม่ เมื่ออัยการทำสำนวนถึงศาลก็นับใหม่ คือเริ่มนับใหม่ทุกครั้งที่มีความคืบหน้าของคดี ซึ่งทั้งหมดนี้คงต้องมีการอภิปรายถกเถียงกันเพื่อทำข้อเสนอ กลั่นกรองกฎหมาย รับฟังความเห็น และพัฒนาร่างกฎหมายต่อไป
“ที่สำคัญที่สุด กรณีนี้ปลัดท่าอุเทน ยืนยันว่าจำเป็นแล้วที่เราต้องแก้กฎหมาย ปล่อยไปแบบนี้ไม่ได้ พอขาดอายุความแล้วกลับมาโดยไม่ต้องรับผิดชอบอะไรแสดงว่าช่องโหว่กฎหมายเรา ทำให้ความรับผิดรับชอบของแม้กระทั่งข้าราชการไม่ต้องทำอะไรเลย ทำให้เรื่องที่ควรจะเป็นเรื่องผิดปกติเป็นเรื่องปกติแบบนี้ได้อย่างไร” นายรอมฎอน กล่าว