โพลขาลง 'ประชาชน' ส่งสัญญาณไปไม่ถึงฝัน
น่าจะพูดได้ว่า เป็น “ขาลง” ครั้งแรกของพรรคประชาชน(ปชน.) หรือ อดีตพรรคก้าวไกล หลังจาก “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” และพรรคก้าวไกล ทำผลงานครองแชมป์อันดับ 1 และกระแสนิยมติดลมบน ชนิดทิ้งห่างคู่แข่งทางการเมือง โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ที่ตามมาเป็นอันดับ 2 ในขณะ “เศรษฐา ทวีสิน” และ “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ก็ยังตามแบบไม่เห็นฝุ่น
กรณีนอร์ทกรุงเทพโพล มหาวิทยาลัยนอร์มกรุงเทพ เมื่อไม่นานมานี้ เผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน จำนวน 1,500 คน จากทุกภูมิภาค ช่วงวันที่ 11-12 ตุลาคม 2567
คำถามที่น่าสนใจคือ การทำหน้าที่ของนักการเมืองพรรคฝ่ายค้านคนใดที่โดดเด่นที่สุด ซึ่งผลสำรวจระบุว่า 1.น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน 15.2% 2.นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน 12.8% 3.น.ส.รักชนก ศรีนอก ส.ส.กทม.พรรคประชาชน 9.3% 4.นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน 9.3% 5.น.ส.ภคมน หนุนอนันต์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน 8.7% 6.นายกัณวีร์ สืบแสง ส.ส.บัญชีรายขื่อ พรรคเป็นธรรม 5.6% 7.นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน 5% 8.น.ส.ธิษะณา ชุณหะวัณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน 4.9%
9.นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ 4.8% ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน 10.นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยสร้างไทย 4.2% 11.ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส. พะเยา พรรคพลังประชารัฐ 3.6% 12.นายชัยมงคล ไชยรบ ส.ส.สกลนคร พรรคพลังประชารัฐ 3.3% 13.นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ 3% ส.ส.กทม.พรรคประชาชน และ 14.พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ 2% และอื่นๆ 3.9%
คำถามต่อมา ถามว่า พรรคการเมืองฝ่ายค้านใดทำหน้าที่ได้ดีที่สุด 5 อันดับแรก ผลสำรวจพบว่า พรรคประชาชน 23.3% พรรคไทยสร้างไทย 19.7% พรรคเป็นธรรม 13.6% พรรคใหม่ 12.5% และพรรคประชาธิปไตยใหม่ 10.4%
ที่สำคัญ เมื่อถามถึงความเชื่อมั่นต่อการทำงานของพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ผลสำรวจ เชื่อมั่นมาก 12.3% ค่อนข้างเชื่อมั่น 16.1% ค่อนข้างไม่เชื่อมั่น 30.6% ไม่เชื่อมั่นมาก 26.7% และ ไม่มีความเห็น 14.3%
แน่นอน, ชื่อของ “นอร์ทกรุงเทพโพล” อาจไม่คุ้นหูมากนัก แต่ขึ้นชื่อว่า “โพลทางวิชาการ” โอกาสคลาดเคลื่อนก็คงไม่แตกต่างกันมากนัก ยิ่งเป็นช่วงของการทำโพลที่ไม่มีผล “ได้-เสีย” ทางการเมืองมาเป็น “ตัวแปร” ด้วย
นั่นสะท้อนว่า “เท้ง-ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ” ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาชน ยังไม่ใช่ตัวเลือกที่จะประคองกระแสพรรคก้าวไกลเดิมเอาไว้ได้ แถมยังเป็นรอง น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรค วิโรจน์ ลักขณาอดิศร น.ส.รักชนก ศรีนอก รังสิมันต์ โรม น.ส.ภคมน หนุนอนันต์ นายกัณวีร์ สืบแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม พริษฐ์ วัชรสินธุ และน.ส.ธิษะณา ชุณหะวัณ
ประเด็นต่อมา คือ ความเชื่อมั่นต่อการทำงานของพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ที่เมื่อนำผล เชื่อมั่นมาก 12.3% บวกกับค่อนข้างเชื่อมั่น 16.1% ยังแค่เหนือกว่าค่อนข้างไม่เชื่อมั่น 30.6% เล็กน้อย ขณะ ไม่เชื่อมั่นมาก ถึง 26.7%
นี่ก็ถือ เป็นโจทย์ใหญ่ ที่พรรคร่วมฝ่ายค้าน จะต้องนำไปทบทวนการทำงาน โดยเฉพาะพรรคประชาชน ซึ่งถือว่า เป็นแกนนำพรรคฝ่ายค้าน เพราะผลสำรวจสะท้อนชัดว่า ไม่เข้าตาประชาชน
แม้ว่า ในมุมมอง “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ที่ปรึกษาประธานคณะก้าวหน้า จะเห็นว่า เวลาอ่านโพล ตนไม่ค่อยดูตัวเลขเท่าไร แต่ดูว่าใครเป็นผู้ทำผลโพล ก่อนจะนำมาวิเคราะห์เพื่อดูข้อที่ควรปรับปรุง ซึ่งเชื่อว่าพรรคฝ่ายค้านก็จะนำมาปรับปรุง เพื่อให้กำลังใจไม่เสีย
“พิธา” เห็นว่า ต้องใช้เวลา และหากดูตามเนื้อผ้า ติดตามการทำงานผู้นำฝ่ายค้าน อย่างน้อยที่สุดก็ทำได้เทียบเท่ากับมาตรฐาน เหมือนตอนที่เป็นพรรคก้าวไกล และเชื่อว่าจะสามารถทำงานและบริหารจัดการได้
“พิธา” ชี้มูลเหตุด้วยว่า มีการโจมตีพรรคเยอะพอสมควร จึงขอใช้โอกาสนี้ในฐานะที่เป็นอดีตเพื่อนร่วมงานมา 5-6 ปี เห็นว่าพรรคประชาชนก็มีความตั้งใจทำงานเพื่อคนไทย ไม่ใช่เป็นพรรคประชาชนที่มีนามสกุลพม่า ไม่ใช่พรรคประชาชนบีอาร์เอ็นแน่นอน แต่เพราะมีความตั้งใจทำงานแก้ปัญหาให้คนไทย เพียงแต่ว่าบางปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เช่น ฝุ่น คอร์รัปชั่น แรงงานต่างด้าวที่ไม่ขึ้นทะเบียนในระบบ ต้องได้รับการจัดการเพื่อผลประโยชน์ของคนไทย
ส่วน พรรคประชาชน ต้องใช้เวลานานเท่าไรถึงจะเปล่งประกาย “พิธา” ย้อนให้เห็นว่า นิด้าโพลครั้งแรกของตน 3% และขึ้น 45% ในระยะเวลา 3 ปี ฉะนั้นหากถามว่า มีเวลาเท่าไร ตนมองว่ามีเวลาตัดสินใจก่อนที่ประชาชนจะเข้าคูหา จะต้องผ่านและเชื่อว่าเป็นกระบวนการที่จะต้องผ่านทั้งอุณหภูมิการเมือง ความกดดันและความอดทน ซึ่งเชื่อว่า หากตนผ่านไปได้ นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน ก็จะผ่านไปได้เช่นกัน
แต่จากผลสำรวจความเห็นประชาชน เห็นได้ชัดว่า ยาก! เพราะไม่เพียงตัวของ “เท้ง-ณัฐพงษ์” ไม่ใช่ “แม่เหล็ก” ทั้งนิสัย บุคลิก ท่วงท่าลีลา “พระเอก” ทางการเมือง อย่างที่ “พิธา” เคยทำเอาไว้ หากแต่ความเชื่อมั่นต่อการทำหน้าที่ของพรรคฝ่ายค้าน ก็ยัง “ติดลบ” ในความรู้สึกนึกคิดของประชาชน ส่วนส.ส.ที่โดดเด่นหลายคน แต่ก็ไม่อาจสร้างความเชื่อมั่นให้กับพรรคได้ แสดงว่า เป็นเรื่องของบุคคล ไม่ได้เอื้อต่อพรรคและฝ่ายค้าน
อย่าลืมว่า เป้าหมายสำคัญของ “เท้ง-ณัฐพงษ์” ที่ประกาศเอาไว้ก็คือ ชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ เพื่อเป็นรัฐบาลพรรคเดียวในการเลือกตั้งปี 2570
“ภารกิจที่จะสร้างรัฐบาลแห่งการเปลี่ยนแปลงในปี 2570 หมายถึงจำเป็นต้องชนะการเลือกตั้งในการเลือกตั้งครั้งหน้า และตั้งเป้าหมายให้สูงขึ้นนอกจากเป็นพรรคอันดับหนึ่งในปี 2566 คือการชนะเลือกตั้งเป็นรัฐบาลพรรคเดียว” เขาลั่นวาจาเอาไว้ หลังได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่(9 ส.ค.2567)
เมื่อเป็นเช่นนี้ ประเด็นที่น่าวิเคราะห์ ก็คือ กรอบคิด และเป้าหมายเชิงอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคประชาชน หรือ อดีตพรรคก้าวไกล ทำให้พรรคประชาชน “ลอย” อยู่บนยอดของการต่อสู้เปลี่ยนแปลง มากกว่าที่จะติดดินอยู่กับ “ฐานราก” หรือ “รากหญ้า” ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ หรือไม่
เห็นได้จาก ความพยายามเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งมองว่า เป็น “มรดก” ของเผด็จการฝ่ายอนุรักษ์ เพื่อความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง
การเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมคดีเกี่ยวกับการเมือง ที่ต้องการให้รวมเอาคดี ป.อาญา ม.112 เข้าไปด้วย ซึ่งอ้างว่า เป็นการยุติความขัดแย้ง และสร้างความปรองดอง แต่ส่อเอื้อประโยชน์ต่อคนบางกลุ่ม โดยเฉพาะ “กลุ่ม 3 นิ้ว” ที่เป็นฐานการเมืองพรรคประชาชน หรือ อดีตพรรคก้าวไกล หรือไม่
ถามว่า ประเด็นเหล่านี้มีความสำคัญหรือไม่ คำตอบคือ สำคัญ เพียงแต่ปัญหาเร่งด่วนของประชาชน คือ เรื่องเศรษฐกิจปากท้อง อันเนื่องจากเศรษฐกิจตกต่ำ ปัญหาสังคม ยาเสพติด ปัญหาราคาผลผลิตการเกษตรตกต่ำ ปัญหายากจน ปัญหาประชาชนส่วนใหญ่ว่างงาน ปัญหาค่าแรง รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ปัญหาค่าครองชีพที่สูงลิ่ว ฯลฯ
สิ่งเหล่านี้ หาก “ฝ่ายค้าน” หันมาเร่งรัดการแก้ไข เร่งรัดในการหามาตรการรองรับ เร่งรัดในการแก้ปัญหาอย่างทั่วถึงทันการณ์ จนทำให้การทำงานของรัฐบาลรวดเร็ว มีประสิทธิภาพสูง และงบประมาณที่ใช้ไปมีประโยชน์สูงสุด ไม่รั่วไหลตกหล่น ทำให้ความเดือดร้อนของประชาชนที่เป็นอยู่คลี่คลายลง
ถามว่า ประชาชนจะเชื่อมั่นต่อการทำงานของฝ่ายค้าน หรือไม่ คะแนนนิยมฝ่ายค้านจะเพิ่มขึ้นหรือไม่ หัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน จะได้คะแนนนิยมสูงขึ้นตามมาหรือไม่ นี่คือ สิ่งที่ประชาชนอยากเห็นก็เป็นได้?
เรื่องที่ถูกโจมตี เป็นพรรคประชาชนพม่า และ เป็นพรรคประชาชนบีอาร์เอ็น ก็เช่นกัน ปัญหาเนื่องจากการแสดงบทบาทที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวมากเกินไป โดยใช้กรอบคิดเรื่อง “ประชาธิปไตย” และ “สิทธิมนุษยชน” เป็นตัวตั้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไกลตัวคนไทยส่วนใหญ่ และไม่เร่งด่วน เมื่อเทียบกับปัญหาเดือดร้อนของคนไทย
ยกตัวอย่าง เรื่องพม่า หากวิเคราะห์จากการออกมาแก้ข้อกล่าวหาของ รังสิมันต์ โรม รองหัวหน้าพรรคประชาชนในการแถลง Policy Watch เรื่อง “ประเทศไทยควรทำอย่างไรกับปัญหาเมียนมา”
โดยอ้าง คาดจะมีผู้อพยพเข้าไทย เพราะผลกระทบจากการบังคับเกณฑ์ทหารในเมียนมา ราวร้อยละ 10 หรือ 1.4 ล้านคน และวันนี้มีคนเมียนมาอยู่ในประเทศแล้วมากกว่า 6 ล้านคน และยังมีแนวโน้มเข้ามาอีกเรื่อย ๆ ขณะที่เป็นแรงงานที่ถูกกฎหมายน้อยกว่าครึ่ง คำถามสำคัญคือเราจะดำเนินการกับตัวเลขนี้อย่างไร
จากนั้นมาดูข้อเสนอ 1. “เปลี่ยนส่วยเป็นภาษี” คือ ทำให้ถูกกฎหมาย 2. ให้การศึกษา 3. ดูแลสาธารณสุข 4. ด้านความมั่นคงตามแนวชายแดน เรื่องยาเสพติด 5. ด้านการต่างประเทศ ไทยสามารถแสดงบทบาทได้ดังนี้
1. เป็นผู้อำนวยความสะดวกเพื่อให้กลุ่มต่าง ๆ ร่วมพูดคุยเพื่อหาทางออก อนาคตของเมียนมาโดยคนเมียนมาเอง
2. ส่งสัญญาณถึงทุกฝ่าย ว่าการเข่นฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์จะทำลายการสร้างสันติภาพระยะยาว
3. สนับสนุนการส่งความช่วยเหลือไปยังประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือโดยตรง
4. หยุดการสนับสนุนทรัพยากรใดๆ ต่อรัฐบาลทหารเมียนมา เพื่อป้องกันการนำทรัพยากรเหล่านั้นไปใช้ในการเข่นฆ่าประชาชน
5. สร้างความร่วมมือกับฝ่ายต่างๆ เพื่อหยุดยั้งกิจกรรมที่ผิดกฎหมายตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา
จากข้อเสนอแนวทางแก้ปัญหาพม่าของพรรคประชาชน และข้อเสนอต่อการต่างประเทศของไทย ถือว่า เอื้อต่อคนเมียนมา เป็นส่วนใหญ่ หรือพยายามจะทำให้เสมอภาคกับคนไทยก็ว่าได้ ยิ่งข้อเสนอต่อการต่างประเทศ ยิ่งเท่ากับ “ชักศึกเข้าบ้าน” แทรกแซงกิจการภายในประเทศอื่น และอาจนำมาสู่ผลเสียอย่างมหาศาลหลายเรื่อง
นี่เอง ที่ทำให้คนไทยจำนวนมาก ไม่พอใจแนวทางการทำหน้าที่ฝ่ายค้านของพรรคประชาชน ที่ดูเหมือนทำในเรื่องที่ตัวเองต้องการทำ มากกว่า ทำในเรื่องที่ประชาชนต้องการ
สุดท้าย อาจไม่เกี่ยวว่าใครเป็นคนทำโพล แต่ผลโพลอาจสะท้อนว่า พรรคฝ่ายค้านทำอะไรอยู่ สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนหรือไม่ ต่างหาก หรือไม่จริง!?