โจทย์หินแก้รัฐธรรมนูญใหม่ จุดแตกหัก ‘เพื่อไทย-ภูมิใจไทย’
โจทย์หินท้าทายของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ภายใต้การนำของ "แพทองธาร ชินวัตร" โดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ยังคงมีอุปสรรคล่าช้า เพราะกลไกการชิงไหวชิงพริบกันในรัฐสภา ระหว่างสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา สายสีน้ำเงิน
KEY
POINTS
“พรรคเพื่อไทย” ชูธงนโยบายการแก้ไขรัฐธรรมนูญในกรเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2566 ยังคงมีอุปสรรคทางการเมืองจากกลเกมชิงไหวชิงพริบในรัฐสภา ในเรื่องการแก้ไขกฎหมายประชามติ
“พรรคเพื่อไทย” และ “พรรคประชาชน” ต้องถกนอกรอบ เพื่อหาทางแก้เกมซึกฝั่งตรงข้ามคือ “สว.สายสีน้ำเงิน” และ “พรรคภูมิใจไทย” ที่จับมือกันแน่น ซึ่งกุมความได้เปรียบคือมีเสียงข้างมากในชั้นกรรมาธิการร่วมสองสภาเกี่ยวกับกฎหมายประชามติ
ท่าทีแกนนำพรรคเพื่อไทย ยังไม่ล้มเลิกความตั้งใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ แต่จะต้องมีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อมี สสร.มายกร่างรัฐธรรมนูญไว้ก่อน เป็นการเริ่มนับหนึ่งของการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แม้จะไม่ทันต่อการเลือกตั้งในปี 2570
เป็นไปได้ที่ "พรรคเพื่อไทย" จะเดินหน้าโดยลดขั้นตอนประชามติเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญจาก 3 ครั้งเหลือเพียง 2 ครั้งเท่านั้น ควบคู่การยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้การเลือกตั้ง สสร.
รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่นำโดย “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี ฝ่าด่านบททดสอบทางการเมืองในห้วงเริ่มต้นมาจนจะครบ 2 เดือนของการบริหาราชการแผ่นดินแล้ว แม้จะยังไม่เจอมรสุมทางการเมืองที่หนักหนาสาหัส จนทำให้รัฐบาลเพื่อไทยต้องล่มสลายในเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ตามที่ขุนพล “องครักษ์บ้านป่าฯ” ได้ประกาศคำขูู่ไว้ก็ตาม
แต่เมื่อสำรวจตรวจสอบผลงานของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่ชูธงนำ ในการแก้ไขปัญหามิติทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม จะพบว่า หลายนโยบายที่สานต่อจากรัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” ยังคงเดินหน้าต่อ แต่เป็นไปอย่างค่อยไปค่อยไป ไม่ว่าจะเป็นดิจทัลวอลเล็ต นโยบาย 30 บาทรักษาทุุกที่ นโยบายซอฟต์พาวเวอร์ นโยบายการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ด้วยแรงบีบปัจจัยภายใน “รัฐบาลผสม” ประกอบกำลังกันหลายพรรคการเมือง ซึ่งแต่ละพรรคก็ยึดหลักทำงานการเมืองด้วยสไตล์ “อนุรักษนิยม” ก็ทำให้ “รัฐบาลเพื่อไทย” ไม่สามารถเดินหน้า “เรือธง” นโยบายทางการเมืองได้อย่างง่ายได้ มีการชิงความได้เปรียบภายในพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง ระหว่าง “เพื่อไทย” และ “ภูมิใจไทย”
เริ่มตั้งแต่นโยบายเรือธงการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง อย่าง “ดิจิทัลวอลเล็ต” ซึ่งเป็นการรับไม้ต่อจาก “รัฐบาลเศรษฐา” ทันทีที่ “แพทองธาร” ฟอร์มทีมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เสร็จสิ้นในช่วงเดือน ก.ย. 2567
“เงินหมื่นดิจิทัลวอลเล็ต” เฟสแรกให้กลุ่มคนเปราะบาง ทั้งผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ คนพิการ คนสูงอายุ ต่างได้รับเงินหมื่นสดๆ กันถ้วนหน้า จำแนกเป็นกลุ่มเปราะบาง ประมาณ 14.55 ล้านคน ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ บัตรคนจน 12.4 ล้านคน คนพิการ 2.15 ล้านคน โดยแจกเงินสด ได้เงินใช้จ่ายคนละ 10,000 บาท รวมเป็นเงินงบประมาณ 1.45 แสนล้านบาท
ส่วนโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ 2567 “เงินดิจิทัล เฟส2” สำหรับคนทั่วไป ที่ลงทะเบียนผ่าน “แอปทางรัฐ” พบว่ามีคนลงทะเบียน 36 ล้านคน
ปฏิเสธไม่ได้ว่า นโยบายเงินหมื่น เฟสแรกที่มาในจังหวะที่ “รัฐบาลแพทองธาร” เพิ่งเข้ามาบริหารประเทศ เป็นจังหวะที่เข้ามาถูกที่ ในสภาวะที่ “รัฐบาลเพื่อไทย” เพิ่งบอบช้ำจากการโดนพิษสงของ “นิติสงคราม” จนทำให้ “เศรษฐา ทวีสิน” ต้องกระเด็นพ้นนายกฯ แบบไม่คาดคิด
ทำให้ คะแนนนิยมจากผลสำรวจขอ “นิด้าโพล” ในช่วงปลายเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา พบว่า “แพทองธาร” มีคะแนนนิยมพุ่งทะยานขึ้นเหนือกว่า “ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ” หัวหน้าพรรคประชาชน ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยการผลักดัน “ดิจิทัลวอลเล็ต” สำเร็จในเฟสแรกให้กับกลุ่มเปราะบางและผู้พิการ
สำหรับการเดินแต้มต่อไปในทางการเมือง เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจต่อไป จำเป็นที่ “รัฐบาลเพื่อไทย” จะต้องเข็น “ดิจิทัลวอลเล็ต” เฟส2 ให้สำเร็จ
ซึ่งล่าสุดมีคำยืนยันจากซีกของรัฐบาล โดย “จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า โครงการ เงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เฟส 2 น่าจะไม่ทันภายในปี 2567 เนื่องจากติดปัญหาเรื่องระบบ ส่วนจะทันไตรมาสแรกของปี 2568 หรือไม่นั้น ไม่อยากให้ใช้เวลามาเป็นตัวเร่งรัด แต่จะรีบที่สุดตามความต้องการของประชาชน
ท่ามกลางความวิตกของประชาชนว่า วงเงิน ดิจิทัลวอลเล็ต เฟส 2 อาจลดลงจาก 10,000 บาท เป็น 5,000 บาท หากวงเงินในการดำเนินโครงการในครั้งเดียวสูงเกินไป นี่จึงเป็นโจทย์ที่ท้าในการกระตุ้นเศรษฐกิจในปีที่ 2 ของรัฐบาลเพื่อไทยที่ต่อเนื่องมาจากยุค “เศรษฐา” จนถึง “แพทองธาร”
ขณะที่นโยบายการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ “พรรคเพื่อไทย” ชูธงนำมาตั้งแต่การหาเสียงในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2566 ล่าสุดก็เดินหน้าผ่านมา 1 ปี ยังคงมีอุปสรรคทางการเมืองจากกลเกมชิงไหวชิงพริบในรัฐสภา
“รัฐบาลเพื่อไทย” ขายนโยบายหาเสียงกับประชาชนว่า จะจัดทำ “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” โดยคงรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนและผ่านขั้นตอนการออกเสียงลงประชามติโดยประชาชน
ทันทีที่รัฐบาลเพื่อไทยเริ่มทำงาน ก็นับหนึ่งด้วยการตั้ง คณะกรรมการศึกษาทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ ที่มี “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกฯ เป็นประธาน จนกระทั่งนำไปสู่การยกร่างแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ เพื่อต้องการให้การจัดทำประชามติเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไปใช้ “เสียงข้างมากเพียงชั้นเดียว” คือ “เสียงข้างมากผู้ที่มาลงคะแนน”
ในชั้นสภาผู้แทนราษฎรแก้ไขให้ใช้เสียงข้างมากเพียงชั้นเดียว แต่เมื่อร่างหมายประชามติกลับไปถูกยับยั้งในชั้น “วุฒิสภา” ซึ่งถูกกุมอำนาจโดย สว.สายน้ำเงินกว่า 90% ตีกลับมาให้ใช้ “เสียงข้างมากแบบกึ่งหนึ่งสองชั้น”
ซึ่งเป็นเรื่องยากมากในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากต้องกลับไปใช้หลักเกณฑ์การออกเสียงประชามติ โดยยึดเสียงข้างมากแบบกึ่งหนึ่งสองชั้น
จนนำไปสู่การที่ “สภาผู้แทนราษฎร” ไม่เห็นด้วยกับมติของวุฒิสภา และต้องตั้งคณะกรรมธิการร่วมกันของสองสภา ฝ่ายละ 14 คน โดยมีตัวแทนจากซีก สว.สายสีน้ำเงิน นั่งประธานกรรมาธิการ ส่งผลให้กรอบเวลาการออกเสียงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งแรกไม่ทันในต้นปี 2568 จนกระทบต่อไทม์ไลน์การทำคลอดยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ขั้นตอนต่อไปเมื่อกรรมาธิการร่วมชุดนี้ทำรายงานและเสนอร่างต่อสภาทั้งสอง (สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาแยกกัน) แล้ว หากสภาทั้งสองเห็นชอบก็สามารถทูลเกล้าฯ ต่อไปได้
แต่หากสภาใดสภาหนึ่งไม่เห็นชอบ ให้ถือว่ามีการยับยั้งร่างกฎหมายดังกล่าวไว้ก่อน ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 138 (2) ระบุให้ สภาผู้แทนราษฎรยังคงมีอำนาจในการยืนยันร่างเดิมที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎรในวาระสาม หรือร่างใหม่ของคณะกรรมาธิการร่วม
เพียงแต่จะต้องรอให้พ้น 180 วัน นับแต่ที่สภาใดสภาหนึ่งไม่เห็นชอบกับร่างของคณะกรรมาธิการร่วม
เมื่อพ้น 180 วันแล้ว สภาผู้แทนราษฎรจึงจะสามารถลงมติยืนยันร่างใดร่างหนึ่งด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะถือว่าร่างกฎหมายนั้นได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา และสามารถทูลเกล้าฯ ประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป
แน่นอนว่าถึงอย่างไรการลงมติในชั้นกรรมาธิการร่วมสองสภา พรรคการเมืองที่มีจุดยืนการแก้ไขรัฐธธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย อย่าง “พรรคเพื่อไทย” และ “พรรคประชาชน” ต้องจับเข่าคุยกันนอกรอบ เพื่อหาทางแก้เกมซึกฝั่งตรงข้ามคือ “สว.สายสีน้ำเงิน” และ “พรรคภูมิใจไทย” ที่จับมือกันแน่น ซึ่งกุมความได้เปรียบคือมีเสียงข้างมากในชั้นกรรมาธิการ
เมื่อถึงการพิจารณาในชั้นสภาผู้แทนราษฎร ก็เชื่อว่า เสียงข้างมากในสภาฯ ที่มี “เพื่อไทย” และ “ประชาชน” ซึ่งเป็นพรรคแนวร่วมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มี สสร.จะต้องโหวตยืนยันจุดเดิมคือ ให้ “ประชามติ” ใช้เสียงข้างมากเพียงชั้นเดียว เพียงแต่จะทำให้การแก้ไขกฎหมายประชามติต้องล่าช้าออกไปอีก 180 วัน หรือ 6 เดือน เพราะต้องรอการยืนยันใหม่อีกครั้งในสภาผู้แทนราษฎร
ท่าทีจากแกนนำพรรคเพื่อไทยล่าสุด ยังไม่ล้มเลิกความตั้งใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ แต่จะต้องมีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อมี สสร.มายกร่างรัฐธรรมนูญไว้ก่อน เพื่อเป็น “สารตั้งต้น” ให้เริ่มนับหนึ่งของการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ถึงแม้ว่าจะไม่ทันกับการเลือกตั้งครั้งหน้าในปี 2570 ก็ตาม
“ถ้าไม่สามารถหาข้อยุติได้แทนที่จะทำประชามติเพียง 3 ครั้ง ก็เหลือ 2 ครั้ง” ความเห็นของ “ชูศักดิ์ ศิรินิล” รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยและ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ มองถึงการลดความล่าช้าในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ขณะเดียวกัน“พรรคเพื่อไทย” มองโอกาสลดอุปสรรคความล่าช้าของการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อจัดตั้ง สสร.ล่าสุด ซึ่งเป็นไปได้จะเดินหน้าทำประชามติเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพียง 2 ครั้งเท่านั้น ควบคู่การยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้การเลือกตั้ง สสร.คาทิ้งไว้ในรัฐสภา ภายใต้บริบทอายุของ “รัฐบาลแพทองธาร” จะอยู่ครบเทอมหรือไม่ครบเทอมก็ตาม