'กิตติรัตน์' พ้นบ่วง! อสส.สวนมติ ป.ป.ช. ไม่อุทธรณ์คดีข้าวบูล็อค
รูดม่านปิดฉากทางการ! อสส.สวนมติที่ประชุม ป.ป.ช. ลงนามคำสั่ง 'ไม่อุทธรณ์' คดีข้าวบูล็อค ตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว 'กิตติรัตน์ ณ ระนอง' รอดพ้นบ่วง
เมื่อวันที่ 6 พ.ย.2567 มีรายงานข่าวจากสำนักงานอัยการสูงสุด แจ้งว่า นายไพรัช พรสมบูรณ์ศิริ อัยการสูงสุด (อสส.) ได้ลงนาม "ไม่อุทธรณ์" คดีที่ อสส.ยื่นฟ้อง นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.พาณิชย์ รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กับพวก ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีถูกกล่าวหาว่า เอื้อประโยชน์ให้บริษัทสยามอินดิก้า จำกัด เป็นผู้ส่งมอบข้าวให้แก่องค์การสำรองอาหารแห่งประเทศอินโดนีเซีย (บูล็อค) แต่เพียงผู้เดียว หรือ "คดีข้าวบูล็อค" หลังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดนายกิตติรัตน์ กับพวก
คดีนี้เมื่อวันที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา ศาลฎีกาฯ พิพากษา "ยกฟ้อง" นายกิตติรัตน์ กับพวก ต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติเห็นควรให้ อสส.ยื่นอุทธรณ์สู้คดีต่อในชั้นองค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา และส่งเรื่องไปยังนายอำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ เมื่อครั้งเป็น อสส. โดยเขาลงนามคำสั่งไม่อุทธรณ์คดีดังกล่าว หลังจากนั้นได้เกษียณอายุราชการไป ต่อมาที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีความเห็นว่าควรอุทธรณ์คดีนี้อีกครั้ง และส่งเรื่องไปยังนายไพรัช อสส.คนปัจจุบัน กระทั่งนายไพรัช ลงนามคำสั่ง "ไม่อุทธรณ์" คดีนี้เช่นกัน ตั้งแต่ช่วงสัปดาห์ที่แล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีนี้ อสส.ขณะนั้น บรรยายฟ้องว่า นายกิตติรัตน์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.พาณิชย์ ทราบเรื่องการเอื้อประโยชน์ ให้บริษัทสยามอินดิก้า จำกัด เป็นผู้ส่งมอบข้าวให้แก่บูล็อค แต่เพียงผู้เดียว แต่เมื่อนายกิตติรัตน์ทราบเรื่องกลับไม่ตรวจสอบและไม่ทำหน้าที่ควบคุมดูแล ไม่สั่งการใดหรือเรียกให้มีการชี้แจงข้อเท็จจริง หรือให้ทำรายงานแสดงความคิดเห็น ทั้งที่ข้อเท็จจริงปรากฏว่ามีการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทดังกล่าว โดยไม่จัดให้มีการแข่งขันราคากับผู้เสนอราคารายอื่น และไม่มีการประกาศหรือมีหนังสือเชิญชวนผู้ที่สนใจเป็นการทั่วไป ซึ่งเป็นการหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม ขัดต่อกฎหมายและระเบียบขององค์การคลังสินค้าว่าด้วยการจัดซื้อสินค้าเพื่อการค้าปกติ พ.ศ. 2541 อีกทั้งต่อมาบริษัทดังกล่าวไม่ปฏิบัติตามสัญญา เป็นผลให้ประเทศอินโดนีเซียไม่ทำการค้าขายข้าวกับองค์การคลังสินค้าอีกและเสียหายต่อความสัมพันธ์ในการค้าขายข้าวระหว่างประเทศไทยกับประเทศอินโดนีเชีย
โดยองค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาฯ วินิจฉัยว่า จำเลยเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ไม่ได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากข้อมูลการซื้อขายข้าว ส่งมอบข้าวและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง นายภูมิ สาระผล เมื่อครั้งเป็น รมช.พาณิชย์ ทราบเป็นอย่างดี และจำเลยรับทราบข้อมูลต่าง ๆ ผ่านนายภูมิ ส่วนข้อหาสร้างความเสียหายต่อประเทศชาติอย่างร้ายแรงไม่จำเป็นต้องพิจารณาเนื่องจากไม่มีผลต่อคดี
สำหรับการพิจารณาอุทธรณ์คดีของศาลฎีกาเเผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำเเหน่งทางการเมือง ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 79 บัญญัติว่าในคดีที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ เมื่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาแล้วถ้าอัยการสูงสุดเห็นควรอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาต่อไป ให้ดำเนินการได้ กรณีที่อัยการสูงสุดเห็นควรไม่อุทธรณ์ตามวรรคหนึ่ง ให้แจ้งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบและรับฟังความคิดเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ประกอบการพิจารณาด้วย
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 4 พ.ย.ที่ผ่านมา คณะกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มีนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ได้นัดหมายคณะกรรมการฯ ประชุมลงมติเลือกประธานกรรมการและกรรมการ ธปท. โดยในฝั่งกระทรวงการคลัง ได้เสนอชื่อนายกิตติรัตน์ เข้ารับการคัดเลือกเป็นประธานบอร์ด ธปท. เเต่ในวันดังกล่าวประธานกรรมการคัดเลือกได้หารือกับกรรมการคัดเลือก และเห็นร่วมกันว่าต้องใช้เวลาในการพิจารณาข้อมูลอย่างรอบด้านครบถ้วนเพื่อให้การประชุมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล จึงให้เลื่อนกำหนดการประชุมออกไปเป็นวันที่ 11 พ.ย.2567