3 ปมเลื่อนชี้ชะตาประธานบอร์ด ธปท. ลดกระแสแรงต้าน ‘กิตติรัตน์’
เปิด “3 ปม” เหตุผลเลื่อนเลือกสรรหาประธานบอร์ด ธปท. ไปวันที่ 11 พ.ย. “สถิตย์” แจงกรรมการขอเวลาพิจารณาเอกสารเพิ่ม เปิดทาง "คลัง" เสนอชื่อประธานใหม่แทนกิตติรัตน์ “พิชัย” พร้อมประสานทุกฝ่ายผ่าทางตันเลือกประธานบอร์ดคนใหม่ “เฟทโก้” เคารพการตัดสินใจของบอร์ดสรรหา
ความคืบหน้าการเลือกประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แทนนายปรเมธี วิมลศิริ ที่หมดวาระเมื่อวันที่ 16 ก.ย.2567 โดยการสรรหาประธานกรรมการ ธปท.ครั้งนี้ มีการเสนอรายชื่อ 3 คน ดังนี้
1.นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยกระทรวงการคลังเป็นผู้เสนอชื่อ
1.นายกุลิศ สมบัติศิริ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน โดย ธปท.เป็นผู้เสนอชื่อ
2.นายสุรพล นิติไกรพจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดย ธปท.เป็นผู้เสนอชื่อ
ก่อนหน้านี้คณะกรรมการสรรหาฯ ทั้ง 7 คน นัดหมายลงคะแนนลับเลือกประธานและกรรมการ ธปท.ในวันที่ 4 พ.ย.2567 ท่ามกลางกระแสต้านการเมืองแทรกแซง ธปท.ก่อนจะเลื่อนการประชุมเป็นวันที่ 11 พ.ย.2567
นางวิเรขา สันตะพันธุ์ เลขานุการคณะกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ธปท.เปิดเผยว่า ประธานกรรมการคัดเลือกได้หารือกรรมการคัดเลือกและเห็นร่วมกันว่าต้องใช้เวลาพิจารณาข้อมูลอย่างรอบด้านครบถ้วน เพื่อให้การประชุมมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลจึงเลื่อนการประชุมดังกล่าว
นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานคณะกรรมการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งประธานและกรรมการในคณะกรรมการ ธปท.เปิดเผยกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า การเลื่อนการประชุมเป็นการตัดสินใจของกรรมการหลายคน
สำหรับสาเหตุหลักมาจากการที่มีเอกสารจำนวนมากที่กรรมการต้องอ่านและพิจารณาก่อนลงคะแนน โดยเอกสารเพิ่งส่งมาให้กรรมการในวันที่ 30 ต.ค.2567 จึงขอเลื่อนไป 1 สัปดาห์เพื่อให้กรรมการได้อ่านและพิจารณาเอกสารให้ครบถ้วน
ส่วนประเด็นการให้กระทรวงการคลังเปลี่ยนตัวบุคคลที่เสนอให้กรรมการฯพิจารณาจากนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นบุคคลอื่นเพื่อลดกระแสคัดค้านจากสังคม นายสถิตย์ กล่าวว่า เป็นอำนาจกระทรวงการคลังที่จะเสนอบุคคลอื่นเข้ามาแทนหรือไม่ก็ได้ ซึ่งหากเสนอมีเวลาก่อนวันที่ 11 พ.ย.นี้
“ผมไม่ทราบว่ากระทรวงการคลังจะเสนอชื่อบุคคลอื่นแทนนายกิตติรัตน์หรือไม่ เพราะการเสนอชื่อคนผู้มานั่งในบอร์ดแบงก์ชาตินั้นจากปลัดกระทรวงการคลัง และผู้ว่าการ ธปท.หากจะเสนอชื่อแคนดิเดตใหม่ต้องเสนอทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อความเท่าเทียมกัน” นายสถิตย์ กล่าว
ทั้งนี้ หากเสนอชื่อรายใหม่ต้องใช้เวลาตรวจสอบคุณสมบัติพอสมควร เพราะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการสรรหาฯ ของ ธปท.ที่ดูเรื่องนี้ต้องทำงานตามขั้นตอน โดยคณะกรรมการสรรหาฯ จะสิ้นสุดเมื่อกระบวนการคัดเลือกเรียบร้อย หรือหากการสรรหายาวออกไปจะทำงานได้นานถึงกลางเดือน ม.ค.2568 ซึ่งครบวาระการรักษาการของนายปรเมธี
“3 ปม” เลื่อนเลือกประธานบอร์ดแบงก์ชาติ
รายงานข่าว ระบุว่า กรณีที่ประชุมคณะกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เมื่อวานนี้ (4 พ.ย.2567) เลื่อนการพิจารณาคัดเลือกประธานบอร์ดคนใหม่ออกไปเป็นวันที่ 11 พ.ย. นี้ เนื่องจาก “3 ปมเหตุผล” คือ
1.นิติศาสตร์ โดยปัจจุบันคุณสมบัติและรายละเอียดบุคคลที่ถูกเสนอชื่อถูกส่งไปที่เลขานุการที่ประชุมเรียบร้อยแล้ว ซึ่งกรรมการคัดเลือกไม่ได้ติดใจคุณสมบัติ เพียงแต่ต้องการให้เหล่ากรรมการแต่ละท่านพิจารณาตรวจสอบมากขึ้น
2.รัฐศาตร์ โดยสถานการณ์ในปัจจุบันมีกระแสต้านที่ค่อนข้างแรงสำหรับการคัดเลือกประธานบอร์ดคนใหม่ ดังนั้น จึงควรดึงฟืนออกจากกองไฟ เพื่อลดกระแสต้าน และขยายวงกว้างไปเรื่อยๆ เพื่อทำลายความชอบธรรม
3.ดาราศาสตร์ โดยวันจันทร์ที่ 4 พฤศจิกายน 2567 การดำเนินการใดๆ หรือตัดสินใจปัญหาใด จะนำมาซึ่งความเร่าร้อน ก่อให้เกิดปัญหาต่อการวิพากษ์วิจารย์กล่าวหา ไม่ก่อให้เกิดผลดีต่อฝ่ายใดเลย ทั้งมีผลกระทบต่อส่วนรวมของประเทศชาติ โดยเฉพาะดาวจันทร์ตกในตำแหน่งนิจ ภพกดุมพะ การตัดสินใจในวันดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อการงานและการเงิน เป็นผลเสียมากกว่าผลดี
คลัง-ธปท.มีอำนาจเสนอชื่อใหม่ได้
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังและ ธปท.มีสิทธิ์เสนอชื่อใหม่ได้เพื่อให้ทั้งหมดลงตัว โดยกรรมการหรือประธานกรรมการ ธปท.มีอำนาจที่กฎหมายกำหนด แต่เรื่องสำคัญจะอยู่คณะกรรมการชุดย่อย
ส่วนประเด็นกระทรวงการคลังจะเสนอชื่อหรือไม่ นายพิชัย กล่าวว่า ไม่ทราบและถามว่าหากเสนอรายชื่อใหม่ก็ต้องคุยกัน เพราะเป็นอำนาจของกรรมการสรรหา และทั้ง 2 ฝ่าย โดยประเด็นใดที่ทำให้ประเทศเดินได้ ทุกคนพอใจและเข้าใจกันเป็นเรื่องดีที่สุด
สำหรับประเด็นจะเสนอชื่อนายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา หรือไม่ นายพิชัย กล่าวว่า ไม่ทราบเพราะเรื่องนี้เป็นอำนาจของปลัดกระทรวงการคลัง โดยกรณีความล่าช้าในการคัดเลือกไม่มีผลต่อการดำเนินงานเพราะมีรักษาการและอำนาจการตัดสินใจส่วนใหญ่อยู่ในกรรมการชุดย่อย
เคารพการตัดสินของบอร์ดสรรหา
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยว่า การสรรหาประธานกรรมการ ธปท.คนใหม่ ขอให้เป็นการตัดสินใจของคณะกรรมการสรรหาฯ ดีที่สุด เพราะคณะกรรมการสรรหาฯ ทุกคนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ รวมถึงรับทราบถึงวิสัยทัศน์และท่าทีผู้เป็นแคนดิแดตครบทุกคน คงต้องรอติดตามการประชุมลงมติก่อนและควรให้กำลังใจและเคารพการตัดสินใจ
“ในส่วนนี้ทุกคนที่เป็นแคนดิแดต ประธานบอร์ดธปท.คนใหม่ ได้แสดงท่าที ครบทั้งหมดแล้วและคณะกรรมการฯ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิทุกคน ต้องเคารพการตัดสินใจลงมติคัดเลือกในครั้งนี้ ซึ่งตามกฎหมายที่ได้มอบอำนาจเอาไว้ และเมื่อชัดเจนแล้วหลังจากต้องพยายามบริการจัดการกันต่อไป”นายกอบศักดิ์ กล่าว
ส่วนการเข้ามาของบุคคลคนเดียวจะชี้นำตลาดอย่างที่ฝ่ายมีความกังวลนั้น นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า ความสำคัญของคณะกรรมการ ธปท.จะตั้งกรรมการชุดต่างๆ เช่น การคัดเลือกคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และกรรมการชุดต่างๆ แต่ต้องรอให้คณะกรรมการสรรหาฯ ทำหน้าที่คัดเลือกประธานกรรมการ ธปท.ชัดเจนก่อน
ขณะเดียวกันยังมีประเด็นที่เข้าคลาดเคลื่อน เช่น กรณีประธานกรรมการ ธปท.เป็นคนเลือกผู้ว่า ธปท.ซึ่งไม่ถูกต้องทั้งหมดเพราะแม้จะมีอำนาจในการแต่งตั้งและปลดผู้ว่า ธปท.แต่ต้องเสนอผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือคณะกรรมการ ธปท.เสนอให้ปลดผู้ว่าการแต่อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่จะปลดได้ โดยต้องบกพร่องทำความผิดร้ายแรง
“ผู้ว่า ธปท.คนปัจจุบันยังไม่ได้มีความผิดร้ายแรง ซึ่งกรณีค่าเงินอ่อนค่ามองว่าได้ประโยชน์ในฝั่งเงินสำรองต้องมีกำไรอยู่ ดังนั้น ไม่ต้องกังวลใจในเรื่องนี้” นายกอบศักดิ์ กล่าว
ปลุกม็อบคัดค้านเลือก “กิตติรัตน์”
บรรยากาศบริเวณ ใต้สะพานพระราม 8 ใกล้บริเวณทางเข้า ธปท.ช่วงเช้าวันที่ 4 พ.ย.2567 มีผู้ชุมนุมเริ่มทยอยเดินทางมาทั้งจากผู้ชุมนุมจากกองทัพธรรม เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ซึ่งเป็นพันธมิตรกลุ่มกองทัพธรรมและศูนย์รวมประชาชนปกป้องกลุ่มสถาบัน (ศปปส.) และอดีตพนักงาน ธปท.ที่ออกมาเคลื่อนไหว
ทั้งนี้เพื่อต่อต้านการเลือกประธานกรรมการ ธปท.ในวันที่ 4 พ.ย.2567 เพื่อมิให้บุคคลใกล้ชิดการเมืองมาดำรงตำแหน่ง โดยช่วงเช้ามีผู้ร่วมชุมนุมทยอยเดินทางมาปักหลักหน้า ธปท.ฝั่งสะพานพระราม 8 เพื่อร่วมยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการคัดเลือกฯ โดยมีผู้ร่วมลงชื่อต่อต้านเลือกประธานกรรมการ ธปท.เกือบ 21,000 คน แต่ภายหลังมีการเลื่อนประชุมเป็นวันที่ 11 พ.ย.2567 กลุ่มผู้ชุมนุมทยอยเดินทางกลับ