เผือกร้อน 'ป่วยทิพย์' ชั้น 14 จับทางแก้เกม 'ทักษิณ' ครอบงำ 'เพื่อไทย'

เผือกร้อน 'ป่วยทิพย์' ชั้น 14  จับทางแก้เกม 'ทักษิณ' ครอบงำ 'เพื่อไทย'

โฟกัสประเด็นร้อนปม "ทักษิณ" ป่วยทิพย์และ ปมครอบงำพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อจัดตั้งรัฐบาล จับตาศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องของ "ธีรยุทธ สุวรรณเกษร" ไว้พิจารณาหรือไม่ กรณียื่นร้องตรงขอให้ตีความ "ทักษิณ" และ "เพื่อไทย" กระทำการล้มล้างการปกครอง

KEY

POINTS

  • จับตาศาลรัฐธรรมนูญ รอหนังสือตอบกลับของอัยการสูงสุดใน 15 วัน กรณีคดีร้อนปม "ทักษิณ-พรรคเพื่อไทย" ใช้เสรีภาพล้มล้างการปกครอง จะรับคำร้องไว้วินิจฉัยหรือไม่
  • ข้อกล่าวหา "ทักษิณ" ป่วยทิพย์ รักษาตัว รพ.ตำรวจ ชั้น 14 เป็น 1 ในประเด็นร้อนที่ยังต้องรอการชี้ขาดในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย
  • ประเด็น "ทักษิณ" ครอบงำพรรคเพื่อไทย เพื่อจัดตั้งรัฐบาลแพทองธาร นั้น ฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทยได้ตั้งข้อต่อสู้เพื่อหักล้างไว้แล้ว โดยชี้ว่ามติของพรรคเพื่อไทยไม่ได้ทำตามข้อสั่งการของ "ทักษิณ" ในการเสนอชื่อ "แพทองธาร" เป็นนายกฯ
  • "พรรคเพื่อไทย" แก้ทางข้อกล่าวหาปม "ครอบงำ" ย้ำถึงการดำเนินการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ เป็นการทำตามการปกครองระบอบประชาธิปไตย ไม่เข้าข่ายกบฏ
  • อ่านทางศาลรัฐธรรมนูญ มีโอกาสรับคำร้องไว้วินิจฉัย เพราะถูกมองเป็นคดีทางการเมือง

ยังคงต้องรอลุ้นระทึกกันต่อไป สำหรับคดีที่ "ธีรยุทธ สุวรรณเกษร" ในฐานะผู้ร้อง เคยดีเดย์ วันที่ 10 เดือน 10 ยื่นคำร้องตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49  โดยพุ่งข้อกล่าวหาไปที่ "ทักษิณ ชินวัตร" ผู้ถูกร้องที่1  และพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้ถูกร้องที่ 2 ร่วมกันกระทำการอันเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไว้ 6 ประเด็น

ประเด็นที่น่าจะถูกเพ่งเล็งและเผือกร้อนมากที่สุด 1 ใน 6 ประเด็นข้อกล่าวหา หนีไม่พ้น ปมประเด็นแรก คือกรณี "ทักษิณ" สั่งการรัฐบาลผ่านกระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ และโรงพยาบาลตำรวจ ให้เอื้อประโยชน์แก่ตัวเอง ให้พักอาศัยอยู่ห้องพัก ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ในระหว่างรับโทษจำคุก เพื่อให้ไม่ต้องรับโทษในเรือนจำ ทั้งที่ไม่พบว่ามีอาการป่วยขั้นวิกฤต โดยเป็นการฝ่าฝืนการรับโทษในเรือนจำตามพระบรมราชโองการ การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 จึงเป็นการกระทำที่ไม่บังควรอย่างยิ่ง 

อีกทั้ง "ธีรยุทธ" ได้พ่วงหลักฐาน รายงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เกี่ยวกับ กรณี "ทักษิณ"มาประกอบการพิจารณาด้วย

เมื่อเข้าไปดูผลรายงานของ กสม. ก็พบว่า มติของ กสม.ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 28/2567 เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2567 ได้มีมติว่า "เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร" ผู้ถูกร้องที่ 1 ส่งตัว "ทักษิณ" ไปรักษาที่ "โรงพยาบาลตำรวจ" ในฐานะผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นการดำเนินการขณะที่ผู้ป่วยอยู่ในภาวะฉุกเฉิน ถือเป็นการให้ความคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายและสิทธิในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลของผู้ต้องขังตามสมควร 

"แต่การที่ผู้ถูกร้องทั้งสองให้นายทักษิณพักรักษาตัวในห้องพิเศษและรักษาตัวเป็นระยะเวลานาน โดยยังไม่อาจเชื่อได้ว่าป่วยจนอยู่ในภาวะวิกฤติสลับปกติเป็นระยะ ถือเป็นการเลือกปฏิบัติอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน" รายงาน กสม. ระบุ

ผลการประชุมของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2567 เกี่ยวกับตัวคำร้องดังกล่าวได้แจ้งไปยัง "อัยการสูงสุด" เพื่อขอทราบว่าได้ดำเนินการตามคำร้องของผู้ร้องไปแล้วอย่างไร และรวบรวมพยานหลักฐานได้เพียงใดพร้อมขีดเส้นให้จัดส่งต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ 

ทั้งนี้ หากรับคำร้องก็จะต้องเดินเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดี ซึ่งมีทั้งเรียกพยานหลักฐานของคู่กรณีสองฝ่ายมาไต่สวนเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงก่อนมีคำวินิจฉัย ซึ่งก็น่าจะใช้เวลาอยู่หลายเดือน

ในประเด็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการพักรักษาตัว ชั้น 14 นั้น ถูกปลุกเร้าโดย "พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส" หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ถึงการให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อในทำนองเข้าพบ "ทักษิณ" และไม่ได้อยู่ในอาการป่วยวิกฤต

ขณะที่ "จตุพร พรหมพันธุ์" วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน ปลุกกระแสตอกย้ำ ว่า “นักโทษอยู่ รพ.ตำรวจ ต้องป่วยวิกฤต อาการหนักเกินกว่า รพ.ราชทัณฑ์จะรักษาได้ แต่สภาพที่ พล.ต.อ.เสรีศุทธ์ บรรยายมา ทักษิณ ไม่ได้ป่วย กลับใช้ รพ.ตำรวจ เป็นที่รับแขก”

ปมเผือกร้อน "ชั้น 14" จึงถูกโฟกัส ทำให้มือกฎหมายหลังฉาก "พรรคเพื่อไทย"  มีความกังวลไม่น้อย เพราะกุนซือและที่ปรึกษากฎหมายของพรรคเพื่อไทย ก็ต่างคาดเดาไม่ได้ว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะออกมาอย่างไร ในกรณีเกิดศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องของ "ธีรยุทธ"

เผือกร้อน \'ป่วยทิพย์\' ชั้น 14  จับทางแก้เกม \'ทักษิณ\' ครอบงำ \'เพื่อไทย\'

เทียบคดีของอดีตนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน แม้จะเชื่อกันในทางข้อเท็จจริงและกฎหมาย ว่าสามารถต่อสู้ให้พ้นข้อกล่าวหาปมฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรงได้ แต่ที่สุดแล้ว "เศรษฐา" ต้องพ้นจากตำแหน่งด้วยมติของตุลาการเพียงเสียงเดียว

อีกประเด็นที่ร้อนไม่แพ้กัน คือ ประเด็นที่ 4  ปม "ทักษิณ" สั่งการแทน "พรรคเพื่อไทย" โดยเจรจากับแกนนำของพรรคการเมืองอื่นที่ร่วมรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน  เพื่อหารือการเสนอชื่อบุคคลผู้สมควรเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่บ้านพักส่วนตัวของ "ทักษิณ" พูดง่ายๆ เป็นข้อหา "ทักษิณ" ครอบงำ "พรรคเพื่อไทย"หรือไม่

ปมคำร้องที่เป็นวาระซ่อนเร้นของ "ธีรยุทธ" คือ หวังใช้ทางลัดของคำร้องดังกล่าว เป็นบันไดขั้นที่สอง เพื่อนำไปสู่การยุบพรรคเพื่อไทย หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยและสั่งการให้ "ทักษิณ" และ "พรรคเพื่อไทย" ล้มเลิกการกระทำล้มล้างการปกครอง

ทว่าข้อกล่าวหาครอบงำพรรคเพื่อไทย ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทยจะใช้ข้อหักล้างในชั้นศาลรัฐธรรมนูญ โดยชี้ว่าการกระทำของ "ทักษิณ" ไม่ได้เป็นการครอบงำพรรคเพื่อไทย เพราะท้ายที่สุด มติ สส.พรรคเพื่อไทย ก็เสนอให้เสนอชื่อ  "แพทองธาร ชินวัตร" เป็นนายกฯ ไม่ใช่ชื่อ "ชัยเกษม นิติสิริ" ตามที่มีกระแสข่าวว่า ที่ประชุมพรรคร่วมรัฐบาลในบ้านจันทร์ส่องหล้า เห็นชอบชื่อ "ชัยเกษม"

เผือกร้อน \'ป่วยทิพย์\' ชั้น 14  จับทางแก้เกม \'ทักษิณ\' ครอบงำ \'เพื่อไทย\'

รวมทั้งการเดินหน้าเพื่อจัดตั้งรัฐบาลตามกลไกระบอบประชาธิปไตย มีการโหวตเลือกนายกฯ ในสภาผู้แทนราษฎรเสร็จสิ้น กระบวนการนี้จึงไม่ใช่การที่ "พรรคเพื่อไทย" ใช้สิทธิหรือเสรีภาพล้มล้างการปกครองแต่อย่างใด

อีกทั้ง มาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องการกระทำเกี่ยวกับการล้มล้างการปกครอง หรือเทียบเคียงได้กับกรณี "กบฏ" ดังนั้น การประชุมหารือกันของบรรดาพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อเห็นชอบนายกฯ คนใหม่นั้น จะเป็นการกระทำที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครองได้อย่างไร

ขณะเดียวกัน ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทยยังมองว่า กรณี "ทักษิณ" ครอบงำ "พรรคเพื่อไทย" ซึ่งมีโทษตามกฎหมายพรรคการเมืองถึงขั้นยุบพรรคนั้น ไม่ได้เป็นการกระทำที่จนทำให้สมาชิกพรรคขาดความเป็นอิสระในการบริหารพรรคการเมือง

แม้ล่าสุดศาลรัฐธรรมนูญ จะยังไม่มีผลการพิจารณาปรึกษาคดีในคำร้องของ "ธีรยุทธ" ว่าจะมีมติว่า "รับ" หรือ "ไม่รับคำร้อง" หรือไม่ก็ตาม

แต่ก็ถูกคอการเมืองวิเคราะห์กันไปไกลในสเต็ปต่อไปว่า คดีนี้เป็นไปได้ทั้งรับและไม่รับคำร้อง ซึ่งแนวทางการ "รับคำร้อง" มีน้ำหนักสูงกว่า "ตีตกคำร้อง" เพราะถูกมองไปแล้วว่าเป็น "คดีการเมือง"

ดังนั้นคำชี้แจงของ "อัยการสูงสุด" ถึงการดำเนินการต่อคำร้องที่เป็น "เผือกร้อน" พุ่งตรงไปที่ผู้นำจิตวิญญาณของ "พรรคเพื่อไทย" จึงมีส่วนสำคัญต่อการพิจารณาและให้เหตุผลของคณะตุลาการก่อนจะ "รับ" หรือ "ไม่รับ"