ติวเข้มรัฐบาล รับ‘ผู้นำโลก’ใหม่ ปรับบทบาท จัดสมดุลไทย?

ติวเข้มรัฐบาล รับ‘ผู้นำโลก’ใหม่ ปรับบทบาท จัดสมดุลไทย?

ภาพใหญ่ของยุทธศาสตร์โลก เมื่อทรัมป์ชนะเลือกตั้ง เหมือนเป็นผู้นำของโลก รัฐบาลไทยต้องอ่านเกมทุกสมรภูมิรบที่เกิดขึ้น เพราะเกี่ยวพันกับประเทศไทยทั้งสิ้น

KEY

POINTS

  • กระทรวงต่างประเทศ เตรียมประเมินท่าที หลัง ทรัมป์ ชนะเลือกตั้งสหรัฐ พร้อมกำหนดบทบาท วางทิศทางของไทยให้อยู่ในจุดสมดุล
  • ทรัมป์ ถูกมองเป็นบุคคลเหนือการคาดเหมาะ ส่วนไทยเป็นประเทศเล็ก จะยืนตรงไหนให้ถูกทิศถูกทาง คาดการณ์ยาก

พลันที่ โดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน คว้าชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ย่อมกลายเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ที่ต้องระดมสมองผู้เชี่ยวชาญ ทั้งด้านความมั่นคง การต่างประเทศ กลาโหม สภาความมั่นคงแห่งชาติ เพื่อปรับเปลี่ยนนโยบาย ตั้งรับกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

แม้ก่อนหน้านี้ ไทยจะมีความสัมพันธ์อันดีกับประธานาธิบดีที่มาจากพรรครีพับลิกัน แต่ทรัมป์ถูกจัดให้อยู่ในประเภทบุคคลที่อยู่เหนือความคาดหมาย จึงเป็นเรื่องยากที่จะคาดเดา

สำหรับการกำหนดบทบาท วางทิศทางของไทยให้อยู่ในจุดสมดุล แม้ “มาริษ เสงี่ยมพงษ์” รมว.ต่างประเทศ ยืนยันว่า ไม่ว่าบุคคลใดจะมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ หรือจะมีการเปลี่ยนตัว แต่ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ยังคงมั่นคง เข้มแข็ง มีความชัดเจนในทุกด้านรวมถึงมีความร่วมมือกันอย่างดี

ทว่า หลังจากนี้จะมีการพูดคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ในการพิจารณาว่าไทยต้องปรับบทบาท หรือเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านต่างๆหรือไม่ เพราะไทย-สหรัฐฯมีความสัมพันธ์ผ่านความร่วมมือหลายระดับ หลายมิติ โดยเฉพาะรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ใครจะมาดำรงตำแหน่งนี้ และจะมีนโยบายอย่างไร

ด้าน พล.ท.ภราดร พัฒนาถาบุตร อดีตเลขาสภาความมั่นคงแห่งชาติ ระบุว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในมุมความมั่นคงและการทหาร ไม่ว่าใครจะชนะเลือกตั้ง สิ่งที่น่ากังวล ไทยไม่ได้อยู่ในสมการของสหรัฐฯ เหมือนในอดีต ส่งผลให้ไทยต้องยืนให้ได้ด้วยขาตัวเองอย่างเข้มแข็ง

ทั้งนี้ หลักคิดแนวเดิมเรื่องความมั่นคงและทหารของมหาอำนาจ ยังคงชิงความได้เปรียบเห็นได้ชัดจากสมรภูสู้รบพื้นที่ต่างๆ เช่น อิสราเอล-ฮามาส ปัจจุบันการสู้รบลามไปยังอิหร่าน เลบานอน เห็นชัดว่าสนับสนุนให้รุกรานพื้นที่ประเทศอื่นได้ ในขณะสมรภูมิ รัสเซีย-ยูเครน แม้ยูเครนไม่ได้แพ้รัสเซีย แต่ไม่ได้ตัดบทว่ารัสเซียรุกรานเข้าพื้นที่ยูเครน ชุดความคิดมหาอำนาจมองประเทศใหญ่รุกรานประเทศด้อยกว่าเป็นเรื่องที่รับได้ ความคิดของ ทรัมป์ ก็เป็นเช่นนี้

  • แนะรบ.ไทยอ่านความคิดทรัมป์ให้ขาด

นอกจากนี้ มีอีกประเด็นที่เป็นภาพใหญ่ ทรัมป์บอกว่า หากได้รับเลือกตั้งป็นประธานาธิบดี รัสเซีย เกาหลีเหนือ สามารถคุยได้ สงครามเหมือนจะหยุด แต่พอย้อนกลับมาที่ สมรภูมิอิสราเอล-ฮามาสจะหยุดด้วยหรือไม่ ก็ไม่เป็นเช่นนั้น เพราะทรัมป์มองว่า สมรภูมิตรงนี้ยังเอาอยู่

“ทรัมป์ถูกมองเป็นบุคคลที่อยู่เหนือการคาดการณ์ ตอนหาเสียงพูดเพื่อให้ตัวเองกลับมาสู่ชัยชนะ แต่เมื่อชนะแล้ว ผมไม่มั่นใจว่าเขาจะดำรงตามที่หาเสียง หรือกลับลำ สำหรับไทยเป็นประเทศเล็ก จะยืนตรงไหนให้ถูกทิศถูกทาง ยอมรับว่าคาดการณ์ยาก เพราะในแต่ละสมรภูมิรบ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ใด ส่งผลกระทบต่อไทยทั้งสิ้น เพราะเราต้องยืนถูกจังหวะ ถูกเวลา” พล.ท.ภราดร กล่าวและว่า

นอกจากนี้ ไทยยังมีสถานการณ์สั่นคลอนความมั่นคงเช่นกันคือ ชายแดนไทย-เมียนมา และเบื้องหลังเมียนมา มีมหาอำนาจ 2 ขั้ว จีน-สหรัฐฯ ดังนั้นต้องดูว่าทรัมป์ ให้น้ำหนักสมรภูมิสู้รบตรงนี้อย่างไร หน่วยงานความมั่นคงของไทยต้องจับตาและวางบทบาทท่าทีให้ดี

รวมภาพใหญ่ของยุทธศาสตร์โลก เมื่อทรัมป์ชนะเลือกตั้ง ก็เป็นผู้นำของโลก เราต้องมองภาพให้ดีว่า เราจะเห็นภาพของสมรภูมิรบที่เกิดขึ้นซึ่งเกี่ยวพันกับประเทศไทยทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น มิติความมั่นคง พื้นที่ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจที่จะต้องไหลมาถึงไทย มีผลมากที่เราต้องจับตา และเป็นผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเรานับเป็นเรื่องใหญ่ทางเศรษฐกิจ ความมั่นคง สังคมของโลก ซึ่งไทยก็ต้องอยู่ในกรอบตรงนั้น เพราะฉะนั้นมันจะมีความซับซ้อนมากขึ้น

พล.ท.ภราดร กล่าวต่อว่า รัฐบาลไทยต้องเกาะติดสถานการณ์ใกล้ชิด ประเมินท่าที อ่านทรัมป์ให้ขาด ต้องกลับมาทบทวนวางบทบาทใหม่กันพอสมควร เพื่อจัดวางน้ำหนักให้เหมาะสม เพราะสองขั้วมหาอำนาจส่งผลต่อประเทศไทยทุกด้าน ทั้งการค้าขาย การลงทุน การทหาร เศรษฐกิจ สังคม ดังนั้นเราต้องอ่านทิศทางประเทศมหาอำนาจให้ออก แต่ที่ยุ่งยากเพราะทรัมป์อยู่เหนือการคาดการณ์ อ่านไม่ออก เดายาก ว่าจะวางบทบาทอย่างไร ตั้งรับไม่ถูก เพราะอ่านเขาไม่ขาด

ขณะเดียวกัน ต้องยอมรับว่าสหรัฐฯ มีความรวดเร็ว เห็นได้ว่าทรัมป์ให้น้ำหนักไปในเรื่องทางเศรษฐกิจ เราก็จะเริ่มเห็นงบประมาณด้านความมั่นคง โดยเฉพาะการช่วยเหลือต่างประเทศ จะเป็นอย่างไร ตรงนั้นเราก็จะอ่านออกได้ทันที เขาจะตัดงบประมาณมากน้อยแค่ไหน จะส่งผลต่อการฝึกร่วม การปฎิบัติการร่วมหรือไม่ รวมถึงยุทธศาสตร์พื้นที่ความมั่นคงในพื้นที่เราจะเป็นอย่างไร เราก็จะอ่านออกเพราะเมื่อเขาได้เป็นประธานาธิบดี เราก็จะได้เห็นนโยบายของเขาเช่นกัน

  • คาดกองทัพถูกตัดงบฯช่วยเหลือทางทหาร

พล.ท.ภารดร กล่าวต่อว่า ในขณะเดียวกัน อีกมุมหนึ่งของทรัมป์ หากสหรัฐฯพร้อมสนับสนุน เขาพร้อมบังคับวิถีว่า การที่สนับสนุนเขา สนับสนุนเรา เขาไม่ควักกระเป๋าเพียงฝ่ายเดียว(ไม่ยอมเสียฝ่ายเดียว) เราต้องควักกระเป๋าพอสมควร(ต้องเสียด้วย)จึงจะลงตัวได้

โดยที่ผ่านมาการช่วยเหลือทางทหารของไทยซึ่งยึดแบบสหรัฐฯมาโดยตลอดดังนั้น เมื่อทรัมป์ เป็นประธานาธิปดี การช่วยเหลือทางทหารแบบในอดีตที่เคยมีให้ไทย อาจไม่เหมือนเดิม เราต้องพึ่งพาตัวเองมากขึ้น แต่ขณะเดียวกัน กองทัพไทยมีหลักนิยมมีสหรัฐฯเป็นตัวยึดแบบมายาวนาน ก็จะเป็นภาระของเรามากขึ้น เพราะเราไม่สามารถเปลี่ยนไปใช้ชาติตะวันออก เช่นจีนได้ แม้ปัจจุบันเรามีอาวุธยุทโธปกรณ์ของจีน แต่ก็เป็นสัดส่วนน้อย

ส่วนการฝึกร่วมเช่น คอบร้าโกลด์ เป็นสิ่งที่จะต้องดูต่อไป เพราะสหรัฐฯเป็นเจ้าภาพชุดใหญ่มาตลอด ปัจจุบันไทยไม่ได้อยู่ในสมการสหรัฐฯ แม้การฝึกยังมีอยู่ แต่ไทยอาจมีบางอย่างที่ต้องเสียบ้าง แต่ไม่ถึงกับยกเลิก เพราะการฝึกเป็นในแง่ทางยุทธศาสตร์ระดับโลกที่จะต้องดำรงไว้อยู่แล้ว แต่ปัญหาสหรัฐฯอาจสนับสนุนลดน้อยลง เราอาจต้องช่วยเหลือตัวเองมากขึ้น

  • ชี้ปม F-16-กริพเพนปะทุอีกระลอก

พล.ท.ภราดร ยังบอกอีกว่า กองทัพอากาศไทย ได้รับผลกระทบเช่นกันเพราะเครื่องบินรบใช้อยู่มีสองตระกูล F-16 สหรัฐฯ และ กริพเพน สวีเดน เมื่อ ทรัมป์เข้ามาจะรุกอะไรหรือไม่ เพื่อต้องการเน้นขายเครื่องบินให้ได้ เพราะการขายอาวุธ ทำให้จีดีพีของสหรัฐฯเพิ่มขึ้น อาจมีนโยบายบังคับวิถี ทำให้ต้องซื้อ เพื่อแลกกับการไม่ต้องเสียการช่วยเหลือต่างๆไป

เชื่อว่าประเด็นนี้จะต้องเกิดขึ้น อยู่ระหว่างกระบวนการตัดสินใจ เขาอาจจะมีข้อต่อรอง ข้อเสนอเข้ามา ส่งผลต่อการคัดเลือกเครื่องบิน ดังนั้น F-16 และ กริพเพน จะเป็นประเด็นขึ้นมาอีก ต้องยอมรับว่าทรัมป์เป็นนักธุรกิจและนักต่อรอง

  • จับตาน้ำมันพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา

พล.ท.ภราดร กล่าวทิ้งท้าย โดยแสดงความกังวลว่า การแบ่งผลประโยชน์พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา ก็มีส่วนที่เกี่ยวข้อง เพราะพื้นที่นี้มีการแบ่งสัมปทานให้บริษัทต่างๆไปหมดแล้ว เพียงแต่ดำเนินการไม่ได้ เพราะยังไม่บรรลุวัตถุประสงค์ของเอ็มโอยู 44 และบริษัทเหล่านั้นก็มาจากสหรัฐฯ เป็นโจทย์ที่ต้องพิจารณาว่า เป็นสิ่งที่น่าห่วงอยู่เช่นกัน เป็นข้อที่ต้องระมัดระวัง เพราะว่าทรัพยากรน้ำมันบริเวณดังกล่าวถูกมองเป็นยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก เป็นที่ตั้งที่ต้องใช้พลังงาน ก็ต้องระมัดระวัง

การเปลี่ยนแปลงผู้นำสหรัฐฯ เปรียบเหมือนเปลี่ยนผู้นำโลก ที่ทุกประเทศต้องจับตา เตรียมตั้งรับ ปรับบทบาทประเทศตัวเองให้อยู่ในจุดที่เหมาะสม