'กมธ.มั่นคง' คาใจมาตรฐานเรือนจำ-ค่ารักษา 'ทักษิณ'

'กมธ.มั่นคง' คาใจมาตรฐานเรือนจำ-ค่ารักษา 'ทักษิณ'

"กมธ.มั่นคง" คาใจมาตรฐาน "เรือนจำ" ดูแลนักโทษ แฉส่งตัว "ทักษิณ" จากเรือนจำไป รพ.ตำรวจ17นาที เค้นถามใครจ่ายค่ารักษาหลักล้าน ด้าน "เด็กพท." พยายามเบรกเกมสอบ

ที่รัฐสภา มีการประชุมของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาฯ ​ที่มีนายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน เป็นประธานกมธ. ได้พิจารณาศึกษาปัญญหาและแนวทางในการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมกรณีกรมราชทัณฑ์ให้ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ พักรักษาตัวในโรงพยาบาลตำรวจกับการใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย โดยเชิญบุคคลและตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ นพ.วัฒน์ชัย มิ่งบรรเจิดสุข ผอ.ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์  พล.ต.ต.สรวุฒิ เหล่ารัตนวรพงษ์ อดีตรองนายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ

ขณะที่พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย และ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ หักพาล อดีตรองผบ.ตร. ไม่ได้มาชี้แจงต่อกมธ.ตามที่มีหนังสือเชิญ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการซักถามของกมธ. ได้พุ่งไปที่รายละเอียดเกี่ยวกับการพักรักษาตัวของ นายทักษิณ รวมถึงหลักฐานและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรคของนายทักษิณ รวมถึงขั้นตอนปฏิบัติของกรมราชทัณฑ์ โรงพยาบาลตำรวจที่มีข้อสงสัยว่าไม่เป็นไปตามมาตรฐานหรือระเบียบของกรมราชทัณฑ์

ทั้งนี้ตอนหนึ่งของการพิจารรณา นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ฐานะประธาน กมธ.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สภาฯ ตั้งคำถามถึงอาการป่วยของนายทักษิณที่ระบุว่าเป็น ภาวะฉุกเฉิน คือ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ที่เป็นเหตุให้ต้องส่งตัวด่วนจากเรือนจำไปยังโรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งมีรายละเอียดระบุว่ามีการใช้เวลาส่งตัวใน 21 นาที

\'กมธ.มั่นคง\' คาใจมาตรฐานเรือนจำ-ค่ารักษา \'ทักษิณ\'

“ผมลองวัดระยะทางและการเดินทางจากเรือนจำไปยังโรงพยาบาลตำรวจ มีระยะทาง 17 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางโดยทางด่วนพิเศษ 17 นาที ดังนั้นการปฏิบัติหน้าที่ของแพทย์หรือพยาบาลที่เรือนจำมีเวลาปฏิบัติการ 3 นาทีเท่านั้นถือว่าเป็นความรวดเร็ว ทั้งนี้ผู้ป่วยรายชื่อที่มีเหตุหรือภาวะฉุกเฉินมีความเร่งด่วนได้รับการปฏิบัติมาตรฐานแบบเดียวกันหรือไม่ นอกจากนั้นแล้วการรักษาตัวในภาวะฉุกเฉินนั้นมีระยะเวลาจำกัดหรือไม่ อีกทั้งการอนุญาตให้นายทักษิณพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลเป็นเวลานานใครคือผู้ให้ความเห็น หมอคนไหน” นพ.วาโย ตั้งคำถาม

ขณะที่น.ส.พรรณิการ์ วาณิชย์ ซึ่งเข้าร่วมประชุมได้ซักถามตอนหนึ่งว่าสำหรับการพักรักษาตัวที่ชั้น 14 มีค่าห้องและค่ารักษา จำนวนเท่าไร ขอให้แสดงหลักฐาน ซึ่งตนอยากทราบว่าใครเป็นผู้ออกค่ารักษาให้

ทั้งนี้ตอนหนึ่งของการซักถาม นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ฐานะที่ปรึกษากมธ. ได้พยายามเบรกการซักถามในเรื่องรายละเอียด โดยกล่าวว่า การซักถามในหลักเกณฑ์ไม่มีอะไรคืบหน้า คนมาชี้แจงต้องบอกไปตามหลักการ คำถามยังวนไปเวียนมา ถามแบบนี้ไม่น่าฟัง สิ่งที่ต้องตั้งคำถามจริงๆ คือ  การพักที่ชั้น 14 แต่ไม่ใช่ถามถึงภาพถ่าย กล้องวงจรปิด ที่จะสะท้อนว่าโรงพยาบาลตำวจทำอย่างไร  ทั้งนี้การซักถามคือ การพักชั้น 14 เป็นการจำคุกหรือไม่ ใครเป็นคนขอ กรมราชทัณฑ์หรือศาลสั่ง ทั้งนี้เป็นไปตามกฎหมายหรือไม่

\'กมธ.มั่นคง\' คาใจมาตรฐานเรือนจำ-ค่ารักษา \'ทักษิณ\'

“การสอบถามหมอ ก็วนไปวนมาผมฟังไม่รู้เรื่อง เพราะไม่ได้จบจากแพทย์ หากจะเอาเนื้อหาจริงๆ ต้องถามว่าทำอะไรที่ชั้น14 เป็นไปตามข้อกฎหมาย ใครขออนุญาต” นายประยุทธ์ กล่าว

ทำให้นายรังสิมันต์ กล่าวตอบว่า ไม่ง่าย เพราะมีคำถามที่ค้างอยู่มาก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าต่อว่าในประเด็นที่กมธ.ซักถามต่อพยานหลักฐานกล้องวงจรปิดหรือภาพถ่ายการพักรักษาตัวของนายทักษิณ ซึ่ง พล.ต.ต.สรวุฒิ เหล่ารัตนวรพงษ์ อดีตรองนายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ กล่าวสั้นๆ ว่า “ไม่ทราบ” นอกจากนั้นยังได้ตอบข้อซักถามถึงการให้ความเห็นเรื่องการรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจต่อเนื่องและไม่ส่งตัวกลับไปยังโรงพยาบาลของเรือนจำด้วยว่า การพักรักษาตัวในโรงพยาบาลตำรวจจะสั้นหรือยาว ขึ้นอยู่กับภาวะของโรค ส่วนตัวไม่เคยไปรักษาชั้น14 ไม่สามารถตอบได้  

 "ผมไม่ได้เป็นผู้ผ่าตัดนายทักษิณ ส่วนนายทักษิณจะผ่าตัดหรือไม่ ผมไม่ทราบ เพราะตอนนั้นลาพักร้อน 3สัปดาห์ และอยู่ในระหว่างของเออรี่รีไทร์" พล.ต.ต.สรวุฒิ กล่าว  

ขณะที่ นพ.วัฒน์ชัย นายวัฒน์ชัย มิ่งบรรเจิดสุข ผอ.ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ชี้แจงว่า กรณีการส่งตัวนายทักษิณจากเรือนจำไปโรงพยาบาลตำรวจ ไม่ได้ผ่านโรงพยาบาลราชทัณฑ์ เพราะพยาบาลในสถานพยาบาลพิจารณาแล้วว่ามีความเสี่ยง  อีกทั้งมีเครื่องมือการแพทย์ไม่เพียงพอ จำเป็นต้องส่งไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลภายนอก ทั้งนี้การวินิจฉัยการส่งตัวนอกเวลานั้นพยาบาลแต่ละแดนสามารถประเมินผู้ป่วยฉุกเฉินได้ ถ้าเป็นกรณีฉุกเฉินคนเซ็นอนุญาตคือ ผู้บัญชาการเรือนจำ

\'กมธ.มั่นคง\' คาใจมาตรฐานเรือนจำ-ค่ารักษา \'ทักษิณ\'

นพ.วัฒน์ชัยกล่าวว่า ส่วนเรื่องค่าห้องและค่ารักษานายทักษิณนั้น อยู่ที่ 8,500บาทต่อวัน รวมค่ารักษาอยู่ที่ประมาณ 1ล้านบาท ไม่มีข้อมูลว่า ใครเป็นผู้จ่าย แต่ผู้ต้องขังทุกคนที่อยู่ในโรงพยาบาล จะได้รับการรักษาโดยไม่มีค่าใช้จ่ายในทุกกรณี ยกเว้นกรณีที่เกินสิทธิ ผู้ต้องขังหรือญาติผู้ต้องขังต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนนี้ ยืนยันว่ากรณีผู้ต้องขังเจ็บป่วยฉุกเฉินจะได้รับการรักษาตัวทันท่วงทีเป็นบรรทัดฐานเดียวกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าภายหลังการประชุม นายรังสิมันต์ แถลงผลประชุมว่าจากการรับฟังข้อมูลพบว่ามีประเด็นปัญหาคือ บุคคลที่ประเมินสุขภาพของนายทักษิณเป็นพยาบาล และ ไม่ถูกนำตัวไปที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ขณะที่แพทย์ของโรงพยาบาลราชทัณฑ์ไม่ได้มีโอกาสพิจารณาตรวจวินิจฉัยสุขภาพของนายทักษิณ จึงเป็นข้อเคลือบแคลงถึงกระบวนการ  และสงสัยว่านายทักษิณป่วยจริงหรือไม่

"นายทักษิณอาจแสดงบทบาทบางอย่าง ทำให้เกิดการหลงเชื่อว่ามีความเจ็บป่วยและทำให้การตัดสินใจของเจ้าหน้าที่รัฐ ต้องส่งไปยังโรงพยาบาลตำรวจ ดังนั้นกรณีที่นายทักษิณไปอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ อยู่ด้วยความชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  ส่วนการประชุมเรื่องนี้ในครั้งต่อไปยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะประชุมเพื่อเชิญใครมาชี้แจงหรือไม่ เพราะอยู่ในช่วงปิดสมัยประชุม" นายรังสิมันต์ กล่าว.