‘เขากระโดง’พท.-ภท.ใครไพ่เหนือ? บ่วงป.ป.ช.เกมปลดเปลื้อง‘ศักดิ์สยาม’
‘เขากระโดง’โยงเกมการเมือง ถอดรหัส‘เพื่อไทย-ภูมิใจไทย’ ใครถือไพ่เหนือ จับตาคดีค้าง ป.ป.ช. สัญญาณปลดเปลื้อง‘ศักดิ์สยาม’
KEY
POINTS
- ปมร้อนเขากระโดงภายใต้อำนาจต่อรอง 2 พรรคใหญ่ “พรรคเพื่อไทย”ที่คุมกระทรวงคมนาคม และ“พรรคภูมิใจไทย”ที่มี “ครูใหญ่” เนวิน ชิดชอบ” ตัวละครสำคัญในประเด็นเขากระโดง เป็นผู้นำพรรคตัวจริง
- เวลานี้ไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถืออำนาจเบ็ดเสร็จ “เพื่อไทย” ถือดุลอำนาจบริหาร+เสียงสภาล่าง 141 เสียง ภูมิใจไทย” ถือเสียงในสภาล่าง 70 เสียง + “สภาสูง” จับตาเกมต่อรองวัดพลัง
- ภายใต้อำนาจต่อรองที่กำลังก่อตัว จากประเด็นเขากระโดง ถึงที่สุดอาจไม่ใช่แค่พุ่งเป้าไปที่ “ครูใหญ่เมืองบุรีรัมย์”แต่อาจเหมารวมไปถึงบรรดาคดีความของคนในตระกูลชิดชอบ
- เปิด2ปมร้องป.ป.ช. ไต่สวน “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” จริยธรรมอย่างร้ายแรง-ละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
ข้อพิพาทที่ดินเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ ระหว่าง “กรมที่ดิน” กระทรวงมหาดไทย กับการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ “รฟท.” กระทรวงคมนาคม หลังจากคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน มีมติ“เอกฉันท์” เห็นสมควร“ไม่เพิกถอน” หรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินบริเวณเขากระโดง
ประเด็นนี้ นอกเหนือจากจะนำมาซึ่งข้อสงสัย รวมถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นความย้อนแย้งไปในคนละทิศทางกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 และศาลฎีกา ที่เคยมีคำพิพากษาอย่างน้อย 2 คดี ตัดสินให้ที่ดินพิพาทบริเวณเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ เป็นของรฟท.
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 10 พ.ย.2567 “รฟท.”ได้ยื่นขอต่อศาลปกครองกลาง แจ้งว่าอธิบดีกรมที่ดินปฏิบัติตามคำพิพากษาไม่ครบถ้วน ขอให้ศาลปกครองพิจารณา หรือไต่สวนกำหนดวิธีการดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ในการร่วมกันชี้แนวเขตที่ดินของ รฟท.และให้พิจารณามีคำสั่งในประเด็นต่างๆ นั้น
ในเชิงนโยบาย ประเด็นข้อถกเถียงเวลานี้ ต่างฝ่ายยังต้องไปต่อสู้ทั้งในข้อกฎหมาย รวมถึงการหาพยานหลักฐานเพื่อมายืนยันสิทธิของตน
เช่นเดียวกับใน “มิติการเมือง” ประเด็นดังกล่าวย่อมสะท้อนนัยทางการเมือง ภายใต้อำนาจต่อรองระหว่าง 2 พรรคใหญ่ นั่นคือ “พรรคเพื่อไทย”ที่คุมกระทรวงคมนาคม และ“พรรคภูมิใจไทย”ที่มี “ครูใหญ่” เนวิน ชิดชอบ” ตัวละครสำคัญในประเด็นเขากระโดง เป็นผู้นำพรรคตัวจริง
มิหนำซ้ำ เวลานี้ “พรรคสีน้ำเงิน” ยังกำกับดูแลกระทรวงมหาดไทย ต้นสังกัดของ“กรมที่ดิน” อีกด้วย
ฝั่งภูมิใจไทย "ทรงศักดิ์ ทองศรี" รมช.มหาดไทย ประกาศกร้าว ยืนยันเรื่องจบแล้ว ไม่มีการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดินเขากระโดงเด็ดขาด
ต่างจาก “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รมว.คมนาคม จากพรรคเพื่อไทย ที่สั่งการให้ รฟท. ยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง พร้อมวรรคทอง “การรถไฟฯ จะไม่ยอมเสียที่ดินแม้ตารางวาเดียว”
ขณะที่ “ทวี สอดส่อง” รมว.ยุติธรรม หัวหน้าพรรคประชาชาติ ในฐานะ สส.ที่อภิปรายเปิดประเด็นนี้ ในรัฐบาลชุดที่แล้ว สมัยเป็นฝ่ายค้าน พุ่งเป้าโดยตรงไปที่ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.คมนาคม และเลขาพรรคภูมิใจไทยในเวลานั้น
ก่อนหน้านี้ ทวีได้พูดด้วยน้ำเสียงหนักแน่น คำสั่งศาลฎีกาในประเทศไทยถือว่าศาลฎีกาสูงสุด ถ้าจะเปลี่ยนคำวินิจฉัยของศาลฎีกา ต้องให้ศาลฎีกาเปลี่ยนคำวินิจฉัย
“จะไม่มีใครใหญ่กว่าคำพิพากษาศาลฎีกา ในเรื่องของคณะกรรมการฯก็ต้องไปตรวจสอบดู แม้แต่ศาลปกครองก่อนที่จะไปถึงตามมาตรา 66 ชี้ว่าที่ดินแห่งนี้เป็นที่ดินของรัฐอยู่แล้ว เราต้องอยู่ในหลักนิติธรรม หลักนิติธรรมต้องมีข้อยุติ เมื่อคำพิพากษาถึงที่สุดคือศาลฎีกา ก็ต้องยุติตามนั้น”
“รมว.ยุติธรรม”กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ใช่ศาลฎีกาอย่างเดียว กฤษฎีกาก็วินิจฉัยแล้ว ป.ป.ช.ก็วินิจฉัยแล้ว ก็ถือว่าสิ้นสุด ที่สำคัญมีการบังคับคดีและยึดที่คืน โดยศาลฎีกาวินิจฉัยว่าที่ 5,083 ไร่เป็นที่ดินของการรถไฟ ก็เป็นเรื่องของการรถไฟที่ต้องดำเนินการต่อ
แม้วินาทีนี้บรรดา “บิ๊กเนมพรรคร่วมรัฐบาล” จะออกมาประสานเสียง เรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็นการเมือง แต่หากจับสัญญาณล่าสุดจาก “ทวี” จากที่แสดงท่าทีดุเดือดในคราวแรก
ทว่าคล้อยหลังเพียง1วันท่าทีของ "ทวี" กลับเปลี่ยนไปเลือกที่จะสวมบทโนคอมเม้น โดยให้กระทรวงคมนาคมเป็นผู้ตอบ แถมยอมรับแบบกลายๆ “อยากรักษาบรรยากาศของพรรคร่วมรัฐบาล”
แน่นอนว่า ย่อมเป็นการตอกย้ำศึกวัดพลังท่ามกลางแรงต่อรองทางการเมืองที่อาจกำลังก่อตัวขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะสัญญาณจาก“2 นายใหญ่” ทั้ง “ฝั่งบ้านจันทร์ฯ” และ“ฝั่งบุรีรัมย์”
อย่าลืมว่า เวลานี้ไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถืออำนาจเบ็ดเสร็จต่างฝ่ายต่างเฉลี่ยดุลอำนาจซึ่งกันและกัน “เพื่อไทย” ถือดุลอำนาจบริหาร และเสียงสภาล่าง 141 เสียง
ขณะที่ “ภูมิใจไทย” ถือเสียงในสภาล่าง 70 เสียง ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลลำดับสอง ยังไม่นับรวม “สภาสูง” ที่ถูกปกคลุมด้วยสีน้ำเงินเกือบทั้งสภา
ภายใต้อำนาจต่อรองที่กำลังก่อตัวเห็นชัดจากกรณีที่ "ลูกพรรคภูมิใจไทย" ทั้ง "พลพีร์ สุวรรณฉวี" สส.นครราชสีมา และ "แนน บุณย์ธิดา สมชัย" สส.อุบลราชธานี
ล่าสุดออกมาทวงถามรัฐบาลแบบสคริปเดียวกัน ถึงความคืบหน้า โครงการเงินช่วยเหลือชาวนา ไร่ละ 1,000 บาท และไม่เกิน 20 ไร่ต่อครัวเรือน ยังไม่มีความชัดเจน หลังจากชาวบ้านไม่ตอบรับโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง ทำให้เกิดห้วงเวลาแห่งสูญญากาศ
ทำไปทำมาจากประเด็นเขากระโดง ถึงที่สุดอาจไม่ใช่แค่พุ่งเป้าไปที่ตัว “ครูใหญ่เมืองบุรีรัมย์”ในฐานะตัวละครสำคัญแต่เพียงเท่านั้น แต่อาจเหมารวมไปถึงเกมต่อรอง เพื่อปลดเปลื้องบรรดาคดีความของคนในตระกูลชิดชอบ ที่ค้างคาอยู่ในองค์กรอิสระจนถึงขณะนี้
อย่าลืมว่า ในช่วงที่พรรคเพื่อไทยเป็นฝ่านค้านในรัฐบาลชุดที่แล้ว หลังเสร็จสิ้นศึกซักฟอกในเดือน ก.ย.2565 “พรรคร่วมฝ่ายค้าน” เวลานั้นมีทั้งพรรคเพื่อไทย รวมถึงพรรคประชาชาติ ซึ่งเป็นรัฐบาลเวลานี้ ได้เข้าชื่อยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช. ไต่สวน “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.คมนาคม และเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย น้องชายครูใหญ่เนวิน จำนวน 3 เรื่อง ซึ่งจำนวนนี้มีคำร้องเกี่ยวกับกรณีเขากระโดง 2 เรื่อง
1.ฝ่าฝืนมาตรฐาน “จริยธรรมอย่างร้ายแรง” ที่ยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐกรณีการครอบครองที่ดินบริเวณเขากระโดง อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ ให้ ป.ป.ช .ไต่สวนส่งเรื่องให้ศาลฎีกา เหมือนกรณี ปารีณา ไกรคุปต์ อดีต สส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ และกนกวรรณ วิลาวัลย์ อดีต รมช.ศึกษาธิการ
2.กรณีปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต ยึดถือ ครอบครองที่ดินรัฐโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีการครอบครองที่ดินบริเวณเขากระโดงรวมอยู่ด้วย
ฉะนั้นภายใต้อำนาจต่อรองที่ต่างฝ่ายต่างถือในมือจนถึงนาทีนี้ ยังทิ้งไว้ซึ่งคำถามที่ว่า ถึงที่สุดแล้วระหว่าง “พรรคเพื่อไทย”และ “ภูมิใจไทย” ฝ่ายไหนจะถือไพ่เหนือกว่ากัน!