'อนุดิษฐ์' แนะ 'ทัพฟ้า' ชะลอซื้อเครื่องบินรบฝูงใหม่ 1.9 หมื่น ล.
“อนุดิษฐ์” แนะ “ทัพฟ้า” ชะลอซื้อเครื่องบินรบฝูงใหม่ 1.9 หมื่น ล. หลัง “ทรัมป์” คืนเก้าอี้ ปธน.มะกัน เชื่ออาจได้ข้อเสนอที่คุ้มค่ามากขึ้น ชี้ทำการค้ากับ “สวีเดน” ที่วันนี้เป็นสมาชิก NATO อาจทำให้ “รัสเซีย” ไม่ปลื้ม หวั่นสูญงบฯมหาศาลแล้วยังเสี่ยงกระทบสัมพันธ์ “มหาอำนาจ” อีก
น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ อดีตผู้บังคับฝูงบิน F-16 และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายสมัย ได้ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับการที่กองทัพอากาศไทย (ทอ.) กำลังพิจารณาจัดซื้อเครื่องบินรบแบบ JAS 39 Gripen จากประเทศสวีเดนว่า การเลือกซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ในครั้งนี้ถือเป็นการใช้จ่ายงบประมาณที่มีนัยสำคัญ ทั้งในแง่มูลค่างบประมาณที่ไม่ใช่แค่กว่า 1.9 หมื่นล้านบาทในเฟสแรก หรือ 4 ลำ แต่หมายถึงเกือบ 6 หมื่นล้านบาทเพื่อให้ครบฝูงบิน 12 ลำในอนาคตอันใกล้ และยังต้องคำนึงถึงในแง่ยุทธศาสตร์การป้องกันประเทศ ตลอดจนผลดีผลเสียเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทั้งกับประเทศคู่ค้า และกับชาติอื่นๆ ที่อาจจะมีความสัมพันธ์ที่ดีหรือไม่ดีกับชาติคู่ค้าที่ประเทศไทยจะไปซื้อเครื่องบินขับไล่ฝูงใหม่ในครั้งนี้ด้วย
“การพิจารณาเลือกซื้อเครื่องบินรบ Gripen จากสวีเดนในครั้งแรกนั้นเป็นผลจากการเปรียบเทียบกับ F-16 block 70/72 ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งทางสวีเดนได้นำเสนอนโยบายชดเชย (Offset Policy) ที่เหนือกว่าทางสหรัฐฯ แต่ในขณะนี้สหรัฐฯ มีการเปลี่ยนแปลงผู้นำเป็นประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ การทบทวนข้อเสนอใหม่กับสหรัฐฯ อาจช่วยให้ประเทศไทยได้รับเงื่อนไขที่คุ้มค่ากว่าเดิมหรือไม่” น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว
น.อ.อนุดิษฐ์ เปิดเผยด้วยว่า ก่อนหน้านี้ในสมัยประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีสมัยแรก กองทัพอากาศไทยได้จัดซื้อเครื่องบินฝึกแบบ T-6 และเครื่องบินโจมตีแบบ AT-6 จากสหรัฐฯ ซึ่งในขณะนั้น สหรัฐฯ ได้เสนอนโยบายชดเชยโดยตรง (Direct Offset) ที่ชัดเจน ซึ่งครอบคลุมถึงการให้ภาคอุตสาหกรรมไทยมีส่วนร่วมในการผลิตชิ้นส่วนและการมอบ Software Source Code ของเครื่องบินให้ไทยได้ใช้งานจริง สิ่งเหล่านี้เป็นประโยชน์ที่จับต้องได้และช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมในประเทศ แม้ว่าทางสวีเดนจะเคยนำเสนอนโยบายชดเชยแบบทางอ้อมในการจัดซื้อ Gripen ฝูงบินแรก แต่กลับมีข้อสงสัยในด้านความโปร่งใสและชัดเจนของข้อเสนอดังกล่าว
“การที่นโยบายชดเชยทางอ้อมไม่สามารถตรวจสอบและวัดผลได้อย่างชัดเจน จึงเป็นประเด็นที่ควรนำมาพิจารณาอย่างจริงจัง ในการจัดซื้อ Gripen ครั้งนี้ ควรมีการระบุข้อเสนอชดเชยที่เป็นรูปธรรมและสามารถตรวจสอบได้ในสัญญา เพื่อป้องกันความไม่ชัดเจนที่อาจเกิดขึ้น” น.อ.อนุดิษฐ์ ระบุ
น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาเมื่อครั้งที่ไทยซื้อกริพเพนฝูงแรกนั้น สวีเดนยังไม่ได้เข้าร่วมสมาชิกนาโต้เพราะต้องการรักษาสถานะภาพประเทศเป็นกลางเพื่อไม่ต้องการสร้างความหวาดระแวงจากรัสเซีย แต่ครั้งนี้การเลือกซื้อเครื่องบินจากสวีเดน ซึ่งเข้าเป็นสมาชิก NATO แล้วนั้น อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศมหาอำนาจอย่างรัสเซียก็เป็นได้ การที่ประเทศใน NATO มีบทบาทในภูมิภาคเอเชียและยุโรปเหนือ อาจสร้างความกังวลให้กับรัสเซีย ซึ่งอาจมองว่าสวีเดนอยู่ในฝั่งตรงข้าม การพิจารณาประเด็นนี้อย่างถี่ถ้วนจะช่วยให้ไทยรักษาสมดุลในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
“การจัดซื้อเครื่องบินรบครั้งนี้ใช้เงินงบประมาณของชาติเป็นจำนวนมาก จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่เพียงแต่ตอบสนองความต้องการทางยุทธการเท่านั้น แต่ยังต้องส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประเทศมหาอำนาจด้วย หากไทยต้องใช้งบประมาณมหาศาล แต่ได้รับความสัมพันธ์ที่ลดต่ำลง นั่นอาจถือเป็นความเสี่ยงที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ” น.อ.อนุดิษฐ์ ระบุ
น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวว่า ในกรณีที่การเจรจาซื้อเครื่องบินครั้งนี้ หากไม่สามารถได้รับเงื่อนไขที่เหมาะสมจากทั้งสวีเดนและสหรัฐฯ การชะลอการจัดซื้อออกไปอาจเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดเพื่อรอข้อเสนอที่ตรงตามความต้องการของประเทศในระยะยาว เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาทุกปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อครั้งนี้อย่างรอบคอบ
โดยให้ได้ข้อสรุปที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์สูงสุดสำหรับประเทศไทย ทั้งในด้านการป้องกันประเทศ และการสร้างสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ แต่หากมีความจำเป็นทางด้านยุทธการอย่างยิ่งยวด ก็ยังสามารถหาเครื่องบินรบยุค 4.5 จำนวน 12 เครื่องเข้ามาทดแทนเครื่องรุ่นเก่าได้ไม่ยาก แถมราคายังประหยัดมากกว่า 50% อีกด้วย ซึ่งผู้เชี่ยวชาญใน ทอ.คงทราบดีว่าต้องทำอย่างไร เพราะในอดีตก็มีผู้ที่ทำสำเร็จมาแล้ว
"หากไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมาย แต่รัฐบาลยังยืนยันที่จะจัดซื้อให้ได้ ย่อมสะท้อนให้เห็นความบกพร่องและต้องการแต่การใช้งบประมาณแผ่นดินอย่างไม่คุ้มค่าเท่านั้น"