ศึกบ้านใหญ่ ชิงอบจ.อุบลฯ ‘กัลป์ตินันท์’ วัดพลัง‘มาดามกบ’
ศึกชิงนายก อบจ.อุบลราชธานี จะมีขึ้น 22 ธ.ค. 67 จะเป็นการวัดพลังฐานเสียงของ 3 ค่าย "เพื่อไทย-พรรคประชาชน-หวังศุภกิจโกศล" อีกทั้งยังเป็นการวัดพลังว่าบ้านใหญ่ "กัลป์ตินันท์" จะยังครองใจคนอุบลฯหรือไม่ เมื่อส่งแชมป์เก่าลงสมัครในนามพรรคเพื่อไทย
KEY
POINTS
- บ้านใหญ่ตระกูล "กัลป์ตินันท์" ส่ง "กานต์" อดีตนายก อบจ.อุบลฯ ลงป้องกันแชมป์ในการเลือกตั้ง นายก อบจ.อุบลฯ ชูแคมเปญ "4 ปีซ่อม 4 ปีสร้าง" ได้เปรียบตรงมีฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยทั้งจังหวัด
- ตระกูล "หวังศุภกิจโกศล" ส่ง "มาดามกบ" จิตรวรรณ ส่งชิงนายก อบจ.อุบลฯ เป็นตัวแทนของ "พรรคไทรวมพลัง" ซึ่งเคยเอาชนะ สส.อุบลฯ พรรคเพื่อไทย ใน 2 เขต
- "พรรคประชาชน" ส่ง "สิทธิพล เลาหะวนิช” ชูแคมเปญ “เปลี่ยนอุุบลราชธานี ให้พี่น้องอยู่ดีมีแฮง” อาศัยพลังฐานเสียงคนรุ่นใหม่และความสด
- ศึกชิงนายก อบจ.อุบลฯ รอบนี้ วัดขุมกำลังของ 2 ค่าย "บ้านใหญ่กัลป์ตินันท์" มี "เพื่อไทย" เป็นกองหนุน เปิดหน้าสู้กับ "บ้านใหญ่หวังศุภกิจโกศล" ที่มีค่ายสีน้ำเงิน ค่ายไทยสร้างไทยเป็นพันธมิตร
คนอุบลราชธานี เตรียมนับถอยหลังใช้สิทธิเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุบลราชธานี ในวันอาทิตย์ที่ 22 ธ.ค. 2567 แน่นอนว่าศึกชิงเก้าอี้พ่อเมืองอุบลฯ จะเป็นการวัดพลังกันเพียง 3 ผู้สมัคร หรือ ศึก 3 เส้าเท่านั้น
ผู้สมัครนายก อบจ.อุบลราชธานี ต่างได้เบอร์กันพร้อมหน้า
เริ่มที่ “กานต์ กัลป์ตินันท์” แชมป์เก่าอดีตนายก อบจ.อุบลราชธานี จากพรรคเพื่อไทย น้องชายของ “เกรียง กัลป์ตินันท์” สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยและอดีต รมช.มหาดไทย บ้านใหญ่แห่งเมืองอุบลฯ จับได้หมายเลข 1
รอบนี้ “กานต์” ชูแคมเปญ “4 ปีซ่อม 4 ปีสร้าง” และ “คนอุบล พัฒนาคนอุบล” เข้าสู้กับคู่แข่งฝั่งตรงข้าม พร้อมทั้งสานต่อนโยบายเก่า นึกถึงแคมเปญของ “กานต์” แล้วทำให้ชวนนึกถึง แคมเปญของ “พรรคไทยรักไทย” ในอดีตที่เคยชนะถล่มทลาย
“กานต์” น้องชาย “เกรียง” แม้จะเป็นแชมป์เก่าถือแต้มต่อ เพราะต้องอาศัยจากผลงานเก่าสมัยเป็นนายก อบจ. แต่การเป็นผู้สมัครหน้าเดิมก็มีจุดที่ทำให้เสียเปรียบผู้สมัครหน้าใหม่ได้เช่นกัน
นอกจากนี้ “กานต์” ยังชูดัชนีคุณธรรมและความโปร่งใสที่เคยได้รับจากสำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในการดำเนินงานของหน่วยงาน 98.19 คะแนนจากในอดีตที่ อบจ.อุบลฯ เคยได้รับคะแนนเพียง 39.22 คะแนน
“กานต์” ได้เปรียบตรงมีฐานเสียงพรรคเพื่อไทย ที่หนาแน่นใน 11 เขตของอุบลฯ ผสมกับคะแนนภาพรวมของพรรคที่เหนือกว่าทุกพรรคการเมือง เพราะเป็นที่รับรู้กันในจังหวัดว่า เลือกตั้ง สส.ครั้งล่าสุด พรรคอื่นๆ มุ่งไปที่คะแนนฐานเสียงรายเขตเท่านั้น ไม่ได้ทำแต้มคะแนนพรรคในการเลือกตั้งเมื่อปี 2566 และยังได้เปรียบตรงที่ “พรรคเพื่อไทย” เป็นแกนนำรัฐบาล
หากดูคะแนน สส.บัญชีรายชื่อ ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่14 พ.ค. 2566 ขุมกำลังของ “เพื่อไทย” มี สส.อุบลฯ เป็นฐานเสียงสำคัญได้รับเลือกตั้ง 4 เขต ประกอบด้วย วรสิทธิ์ กัลป์ตินันท์ เขต1 กิตติ์ธัญญา วาจาดี เขต 4 ธัญธารีย์ สันตพันธุ์ เขต 6 และ สุดารัตน์ พิทักษ์พรพัลลภ เขต 7
ขณะเดียวกัน "กานต์" ยังได้กองหนุนจาก “วุฒิพงษ์ นามบุตร” เขต 2 จากพรรคประชาธิปัตย์ ออกแรงหนุนเพื่อให้ “เพื่อไทย” คว้าชัยในสนามท้องถิ่นด้วย
“พรรคเพื่อไทย” ยังมีฐานคะแนนจังหวัดเหนือกว่าทุกพรรค เพราะกวาดแต้มปาร์ตี้ลิสต์ มาเป็นที่1 คว้าไปทั้งจังหวัด 411,239 คะแนน ส่วน “พรรคก้าวไกล” มาเป็นที่ 2 คว้าไป 320,831 คะแนน
ส่วน “สิทธิพล เลาหะวนิช” ผู้สมัครจากพรรคประชาชน ได้หมายเลข 2 ชูแคมเปญ “เปลี่ยนอุุบลราชธานี ให้พี่น้องอยู่ดีมีแฮง”
แน่นอน “สิทธิพล” อดีตรองนายก อบจ. ต้องอาศัยความสด บวกพลังกระแสคะแนนฐานเสียงเดียวกันกับ “พรรคเพื่อไทย” คอยตัดแต้ม “พรรคเพื่อไทย” เพื่อคว้าชัยในศึกชิงนายก อบจ.อุบลฯ
ขณะที่ “มาดามกบ” จิตรวรรณ หวังศุภกิจโกศล ผู้สมัครนายก อบจ. หมายเลข 3 ตัวแทนจากพรรคไทรวมพลัง ดีกรีเป็นประธานบริษัทเอี่ยมอุบล จำกัด หรือ "โรงแป้งเอี่ยมอุบล" ซึ่งมีฐานกำลังอยู่ที่ อ.น้ำยืน จ.อุบลฯ
"มาดามโรงแป้งมัน" ถือว่าเป็นสายตรงตระกูล “หวังศุภกิจโกศล” ของ “เสี่ยโรงแป้งมัน” แห่ง “โคราช” ขยายอำนาจทางการเมืองมาสู่ จ.อุบลราชธานี สร้างผลงานแบบช็อกแวดวงการเมือง คว้า สส. 2 เขตในพื้นที่ อ.ม่วงสามสิบ อ.เหล่าเสือโก้ก อ.ดอนมดแดง อ.ตาลสุม อ.น้ำยืน อ.น้ำขุ่น ให้กับ “พรรคเพื่อไทยรวมพลัง” ชื่อขณะนั้น
“จิตรวรรณ” ถูกยกให้เป็นคู่ต่อสู้ที่แข็งที่สุดของ “เพื่อไทย” ในชั่วโมงนี้
เพราะ “มาดามกบ” มีฐานเสียงสำคัญ มี 2 สส.เขตของ “พรรคไทรวมพลัง” คือ พิมพกาญจน์ พลสมัคร สส.อุบลฯ เขต 3 ที่ล้ม “ชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ” จากพรรคเพื่อไทย และ "สมศักดิ์ บุญประชม" สส.อุบลฯ เขต 10 พรรคไทรวมพลัง ที่คว่ำ "สมคิด เชื้อคง" อดีต สส.อุบลฯ 2 สมัยของพรรคเพื่อไทย
นอกจากนี้ “มาดามกบ” ยังได้พันธมิตรทางการเมืองอย่างพรรคภูมิใจไทยใน 3 เขต ประกอบด้วย สุทธิชัย จรูญเนตร สส.อุบลฯ เขต 5 “แนน บุณย์ธิดา สมชัย” สส.อุบลฯ เขต 8 และ ตวงทิพย์ จินตะเวช สส.อุบลฯ เขต 11 เป็นกำลังสำคัญจากกลุ่มบ้านใหญ่ “ภููมิใจไทย” ที่มีเงา “ครูใหญ่” อยู่ฉากหลัง เป็นฐานเสียงกำลังสำคัญเพื่อเอาชนะ “บ้านใหญ่กัลป์ตินันท์”
อีกทั้งยังมี “รำพูล ตันติวณิชชานนท์” สส.อุบลฯ เขต 9 พรรคไทยสร้างไทย ที่จะเป็นพันธมิตรทางลับให้กับ “จิตรวรรณ”
พลิกย้อนถึงผลการเลือกตั้งนายก อบจ.อุบลฯ เมื่อปี 2563 ครั้งนั้น “กานต์” ได้รับเลือกตั้ง 288,567คะแนน ส่วนที่ 2 คือ เชิดศักดิ์ โภคกุลกานนท์ กลุ่มอุบลคนดี ได้ 269,435 คะแนน
อันดับที่ 3 “สมปรารถนา วิกรัยเจิดเจริญ” กลุ่มคุณธรรม 131,362 คะแนน อันดับ 4 เชษฐา ไชยสัตย์ จากคณะก้าวหน้า ได้ 100,164 คะแนน
ต้องยอมรับว่า “ศึกชิงนายก อบจ.อุบลฯ” ปี 2567 รอบนี้ เป็นศึกหนักของ “เพื่อไทย” เพราะ จ.อุบลฯ เป็นที่รับรู้กันว่า ตระกูล “หวังศุภกิจโกศล” เล่นการเมืองหลายขา จ.นครราชสีมา มี สส.อยู่กับ “พรรคเพื่อไทย” ขณะที่ “อุบลฯ” อาศัยฐานเสียงในชื่อ “พรรคไทรวมพลัง”
แน่นอนว่าเกมกระดานเลือกตั้ง อบจ.อุบลฯ รอบนี้เป็นเรื่องที่ “นายใหญ่” แห่ง “เพื่อไทย” คงต้องปล่อยให้ในพื้นที่ต้องต่อสู้และวัดพลังกันเอง ซึ่ง 2 ตระกูลที่สู้กันใน จ.อุบลฯ ต่างมี สส.อยู่กับ “เพื่อไทย”ด้วยกัน
อีกทั้งมิติทางการเมือง จ.อุบลฯ มีฐานเสียงหลายพรรคการเมือง ไม่เหมือน จ.อุดรธานี ไม่เหมือน จังหวัดบ้านใหญ่บางจังหวัดที่ผูกขาดทางการเมือง แบบนอนมา
โอกาสของ “พรรคเพื่อไทย” จะยังผูกขาดเมืองอุบลฯ ได้ต่อหรือไม่ จึงขึ้นอยู่กับขุมกำลังและสรรพกำลังของ “บ้านใหญ่กัลป์ตินันท์”
หากศึกรอบนี้ ยังหยุดคู่แข่งได้อีกสมัย ก็จะเป็นการหยุดไม่ให้ฝั่งตรงข้ามขยายอำนาจ “บ้านใหญ่” แห่ง “อีสานใต้” สายสีน้ำเงิน มารุกคืบด้วยทางหนึ่ง